Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

No cookies to display.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

No cookies to display.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

No cookies to display.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

No cookies to display.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

No cookies to display.

CONCUR. Patchwork แบรนด์เสื้อผ้าอัพไซเคิลที่เพิ่มมูลค่าเสื้อมือสองและพัฒนาความเป็นอยู่ในชายแดนใต้

จากพ่อค้าเสื้อผ้ามือสองสู่การตอบแทนบ้านเกิด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชุน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากพูดถึงแวดวงเสื้อผ้ามือสอง หรือการเปิดกระสอบเสื้อผ้า ชื่อของจังหวัดปัตตานีจะต้องเป็นอีกหนึ่งชื่อสำคัญที่เด้งขึ้นมาในใจพ่อค้าแม่ขาย รวมถึงสำหรับนักช็อปเสื้อผ้ามือสองในฐานะ ‘แหล่งรวมขนาดใหญ่’ 

แม้จะเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่เทรนด์เสื้อผ้ามือสองเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัญหาอีกข้อที่ควรคำนึงเช่นกันก็คือ ไม่ใช่เสื้อผ้ามือสองทุกตัวที่จะถูกซื้อ และหลาย ๆ ครั้งเสื้อผ้าที่ไม่ถูกเลือกจำนวนมหาศาลก็ถูกทิ้งเป็นภาระโลก โยนลงทะเล หรือทิ้งที่อื่นไปอย่างง่าย ๆ

นี่คือปัญหาที่ ‘ฮุสนีย์ สาแม’ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า CONCUR. Patchwork จากปัตตานีเล่าให้เราฟัง ด้วยความที่เขาคลุกคลีกับแวดวงเสื้อผ้ามือสองมานาน เคยรับเสื้อผ้ากระสอบมาขายและได้เห็นปัญหาที่ผู้ค้าขายเผชิญและผลกระทบที่โลกต้องแบกรับ จากนั้นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเริ่มต้นแบรนด์เสื้อผ้าตัดเย็บของตัวเองอย่าง CONCUR. Patchwork ที่หยิบเอาเสื้อผ้ามือสองที่หมดราคาในตลาดมาอัพไซเคิล ปรับเปลี่ยนสไตล์ให้กลายเป็นสินค้าชิ้นใหม่ขึ้นมา

“เราขายเสื้อผ้ามือสองมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่มหาลัยฯ ปัตตานี ตรงหน้ามอก็จะมีตลาดนัดขนาดใหญ่ เราก็หาเสื้อผ้ามาขายเป็นรายได้เสริมในช่วงระหว่างเรียนไป 

จุดพลิกผันก็คือตอนที่ผมเปิดกระสอบเนี่ย ในตัวกระสอบมันจะมีเสื้อผ้า 3 เกรดตามคุณภาพคืองานหัวคือเกรด A งาน B แล้วก็งาน C อย่างงานเอ งานบีเนี่ยเราขายได้ แต่งาน C มันก็จะกองรวมใหญ่อยู่ในหอพัก เป็นภูเขาเลย ซึ่งเสื้อผ้าที่พวกนั้นมันกลายเป็นภาระของเรา เงินทุนมันก็ไปกองอยู่กับตัวที่ขายไม่ได้นี่แหละครับ”

Pain Point อะไรที่นำมาสู่การเกิดแบรนด์ CONCUR. Patchwork

“เสื้อผ้ากระสอบที่เราเปิด ส่วนมากเกรด A จะอยู่แค่ 10% B อยู่ที่ 30% แล้วที่เหลือ 60% ก็จะเป็นหางหรือเกรด C” 

สัดส่วนตัวเลขนี่ทำให้เห็นง่าย ๆ เลยว่า เสื้อผ้าคุณภาพดีกับตัวที่คุณภาพต่ำนั้นสูสีครั้งต่อครึ่ง ซึ่งในคำว่า ‘เสื้อผ้าตัวหาง’ หรือเกรด C นี้มักจะเป็นเสื้อผ้าที่หน้าตาไม่ค่อยสวย ไซส์เล็กมาก ๆ หรือไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดนัก ไปจนถึงแย่ที่สุดก็คือเหล่าเสื้อผ้าที่มีรอยเลอะ รอยขาดที่ยากจะเอาไปทำความสะอาด แก้ไขและนำมาขายต่อได้

ฮุสนีย์ ยังเล่าต่อไปว่าปัญหาเหล่านี้ทำให้เขาเริ่มมาคิดว่าจะหาทางออกอย่างไร หรือเอาเสื้อผ้าตัวหางกลับมาทําประโยชน์อย่างไรได้บ้าง? จนในที่สุดก็ไปคลิกกับไอเดียการเย็บตัดปะที่เรียกว่า Patchwork ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานญี่ปุ่น ช่วงแรกก็เลยลองเอากางเกงยีนส์ที่มีตําหนิขาดมาซ่อม เย็บเข้ากับผ้าสีสวย ๆ จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในการทํางานเทคนิค Patchwork กับกางเกงยีนส์

“ผมเริ่มต้นทำมาตั้งแต่ประมาณช่วง 2019 ครับ ช่วงก่อนโควิดเราทำเป็นล็อตขายส่งให้จตุจักรอยู่ แต่พอเจอช่วงโควิด ผมก็ไม่ไหวถ้าจะรอลูกค้าสั่งอย่างเดียว ประกอบกับเวลามีออเดอร์เข้ามา หลายคนเขาสั่งทีละ 50-60 ตัว แปลว่ามันต้องมีความต้องการอะไรบางอย่าง พอเราเห็นตรงนั้นก็เลยหันมาทําแบรนด์ของตัวเองดู”

“เรามองว่าในอนาคตถ้าเปิดกระสอบขายไปเรื่อย ๆ เนี่ยมันก็อาจจะไม่โต เพราะเหมือนเราต้องลุ้นอยู่กับดวงตลอดเวลา ไม่รู้ว่าข้างในจะเจออะไร มีค่าหรือเหมือนแค่ใส่ ๆ ยัดมา เราเองก็จะไม่ได้คุมของคุณภาพของที่มีราคา บางกระสอบมาแบบของดี 5% 2% เราก็ต้องรับสภาพ เหมือนเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาตลอด เลยพลิกกลับมามองว่าถ้ามาหยิบมาต่อยอดเอง เราก็จะคุมตรงนี้ได้ ปิดจุดที่เรารู้สึกไม่โอเคและมาสร้างรายได้ให้กับตัวเองด้วย

แทนที่จะเอากางเกงไปทิ้ง เลยเลือกเอามาอัพไซเคิล เพิ่มมูลค่ากางเกงแทน

นอกเหนือจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดมูลค่าให้กับกางเกงได้แล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนไปในตัว ฮุสนีย์เล่าว่า กางเกงที่นำมาใช้ผลิตทั้งหมดก็คือกางเกงที่เหลือค้างจากการจำหน่าย ดังนั้นจึงไม่ได้เสียต้นทุนใหม่ ๆ เพิ่มเติม มีแค่เพียงต้นทุนค่าเย็บอย่างเดียวเท่านั้น

“เราขายเสื้อผ้ามือสองมา 8 ปี เราเห็นดีไซน์มาเยอะมากแบบคุ้นชิน ผมขายพวกกางเกงวอร์ม กางเกงทหารครับ ทีนี้มันเลยเป็นประสบการณ์แบบเห็นแล้วเราก็นึกภาพในหัวออก ทางภาคใต้เองก็มีเสื้อผ้ามือสองเยอะมาก ทั้งปัตตานี สงขลา แต่อย่างในปัตตานีเองก็จะไม่ได้มาทางเรือ ส่วนมากจะเป็นเส้นทางขนส่งทางบกจากอรัญประเทศ จากมาเลเซีย ปีนัง เชียงใหม่”

“ผมเลือกใช้โมเดลธุรกิจที่เอาเรื่องอัพไซเคิลมาใช้ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มันก้าวไปข้างหน้าได้ แล้วก็เอาของที่มันเป็นปัญหาในพื้นที่นี่แหละมาทำให้มันเกิดราคา ซึ่งถามว่าทุกคนทําธุรกิจนี้ได้ไหม ทำได้หมดเลยครับ เพราะพวกวัสดุพวกนี้มันราคาต่ำมาก เช่น เสื้อที่ผมทำแล้วขายอยู่ที่ 890 บาท ต้นทุนเสื้ออยู่ที่ตัวละ 2 บาท ใช้ประมาณ 5 ตัว ก็ 10 บาท แล้วก็ต้นทุนค่าจ้าง ค่าทำความสะอาด ดังนั้น ต้นทุนมันไม่ได้สูงครับ โมเดลนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถทำได้ มันมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจพวกนี้เติบโตขึ้นได้ในพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นอะไรที่คนมักมองข้าม”

“การโตของยอดขายเราตั้งแต่เมื่อปีแรก ๆ เราได้ประมาณหลักหมื่น จนปีที่สองก็เพิ่มมาอยู่ที่ประมาณแสนนึง ปีที่สามขยับมาที่ประมาณแสนห้า จนปัจจุบันเราเข้าปีที่ 5 ยอดขายเพิ่มขึ้นมาถึงประมาณ 600,000 บาท แต่นี่ก็เป็นยอดขายครับ ไม่ใช่กำไรทั้งหมด กำไรเราก็จะอยู่ที่ประมาณ 30% และวิธีการขายเราก็ต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มาด้วย ไม่ใช่แค่กางเกงยีนส์อย่างเดียว แต่ต้องออกตัวอื่น ๆ ออกมา เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เหมือนกัน”

“ตอนเริ่ม ผมก็จ้างชาวบ้านมาตั้งแต่ต้นเลย เพราะว่ามันใช้ทักษะการเย็บอย่างเดียว ซึ่งทักษะผมก็สู้ชาวบ้านไม่ได้ครับ ก็เลยให้เขาเย็บก็แลกกับค่าจ้างที่มันสมเหตุสมผล ทั้งเราและชาวบ้านมีจุดร่วมกันคือ เราไม่รู้แต่ก็เรียนรู้ไปด้วยกัน ผมอยากสร้างแบรนด์ก็ต้องหาแบบใหม่ ๆ ชาวบ้านที่อยากได้รายได้ก็ต้องเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง แต่ในการสื่อสารกับเขา เราจะพูดแบบง่าย ๆ ไม่ให้มันไกลตัวเขาเกินไป ไม่อย่างนั้นเขาก็จะนึกไม่ออก เช่น เดี๋ยวจะผลิต 100-200 ตัว งี้ เขาก็จะนึกแค่ว่าแล้วปัจจุบันจะเอาตรงไหนกินใช้? เราเจอปัญหาแนวนี้ตลอด ก็เลยจบที่ว่าทำไปเป็นตัว ๆ เลยครับ เราจ่ายตรงเวลา นับเป็นตัวไปเลย เพื่อให้เขารู้สึกมีกำลังใจในการทำงานต่อด้วย”

CONCUR ที่แปลว่าการรวมตัว สู่การพัฒนาบ้านเกิดด้วยการทำสิ่งที่รัก

เมื่อถามถึงที่มาของชื่อแบรนด์ CONCUR. Patchwork ฮุสนีย์เล่าว่า เขามองว่าการก้าวไปของ CONCUR. Patchwork มันมาจากการรวมตัวกันของผู้คน ซึ่งความหมายคําว่า Concur ก็คือการรวมตัว จึงอยากสื่อสารถึงการที่คนได้มารวมกันสร้างสรรค์งาน มาทำอัพไซเคิลด้วยกัน จนกลายเป็นการรวมพลังที่ใหญ่ขึ้น

“ผมเองก็เติบโตมาในพื้นที่นี้ ก็อยากจะกลับมาตอบแทนที่บ้านเกิดด้วย”

“เราชวนคนในชุมชนมาทำ โดยเลือกจากคนที่ไม่มีงานแต่แรกครับ เพราะว่ากลุ่มผู้หญิงแถวบ้านผมส่วนใหญ่ก็จะต้องอยู่เลี้ยงลูก ออกไปข้างนอกไม่ได้ หรือถ้าจะออกไปก็ต้องฝากคนอื่นเลี้ยงลูกใช่ไหม นั่นก็ตามมาด้วยราคาค่าใช้จ่าย วัน ๆ หนึ่งถ้าออกไปทำงานได้มา 200 – 300 บาท แต่ค่าเลี้ยงดูลูกไม่ต่ำกว่า 150 บาท/คน ถ้ามีลูก 4 – 5 คนก็เสียเพิ่มไปอีก มันไม่คุ้มสำหรับเขาเลยที่จะออกไปทำงานข้างนอก เราเห็นปัญหานี้ก็เลยเอางานนี้มาให้ทำถึงบ้าน ซึ่งรายได้น่าจะดีกว่าข้างนอกด้วย”

‘ปัตตานี’ หนึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถิติชี้ให้เห็นถึงความยากจน ปัญหาค่าครองชีพ และขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งมีผลพวงมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตจนทำให้ภาพลักษณ์เหล่านั้นถูกแปะป้ายและยังไม่หายไป 

สำหรับวัยรุ่นในพื้นที่ จุดหนี่งของการเติบโตคงมีคำถามที่ว่า “เราจะเลือกเติบโตอยู่ที่นี่” หรือ เลือกที่จะ “โยกย้าย” ไปที่อื่นเพื่อแสวงหาอนาคตที่มีโอกาสมากกว่า บางคนเลือกที่จะไปเติบโตในที่ใหม่ ๆ หลายคนเลือกออกไปและใช้องค์ความรู้กลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลือกเดินทางออกจากบ้านเกิดของตัวเองได้ด้วยข้อจำกัดด้านภาระและค่าใช้จ่ายที่มี

ฮุสนีย์ เป็นหนึ่งในคนที่ยังเลือกที่จะเติบโตที่บ้านเกิดของตัวเองและอยากสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้คนรอบตัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กันเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่เขาเลือกทำอาจไม่ใช่การออกมาเป็นนักเคลื่อนไหวหรือการเป็นนักพัฒนาโดยตรง แต่เป็นการทำในสิ่งที่รัก และเลือกที่จะทำธุรกิจที่ส่งเสริมรายได้ของคนในชุมชนให้มากขึ้น

“3 จังหวัดนี่เป็นที่รู้กันว่าท็อปลิสต์จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยเลย มันมีข้อมูลที่ออกมาให้เห็นว่าคนยังติดกับภาพที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลพวงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งมันก็ทําให้การลงทุนในพื้นที่ยังค่อนข้างมีข้อจํากัดอยู่ ปัญหาลักษณะนี มันส่งผลโดยตรงกับชาวบ้าน บางคนอาจได้รับโดยตรงคือ โดนยิงทีก็ไม่สามารถไปกรีดยางหรือทํางานได้ หรือสมมติหน้าบ้านระเบิดเนี่ยก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องอยู่บ้านเพื่อความปลอดภัย มันส่งผลหมดทุกคน”

“เรื่องค่าแรง เราก็จ่ายให้เขาเป็นรายสัปดาห์ สมมติว่าทําออกมาได้ 45 ตัว ก็จ่ายตามนั้น ในพื้นที่มันยังมีเรื่องเจ้าของกิจการที่เอาเปรียบคนงานด้วยนะ เช่น ที่ได้ยินมาคือวันนึงได้ 180 บาท ก็ยังมีอยู่ให้เห็นครับ เหมือนเขาเอาเปรียบคนไม่มีทางเลือก สำหรับบางคน ถ้าไม่มีงานเลยก็จะรายได้ 0 บาท แต่ถ้าไปทำอย่างนั้นก็ยังได้ 180 บาท แต่มองในเชิงความยุติธรรมมันก็คือการเอาเปรียบ เพราะว่าค่าจ้างพื้นฐานมันควรอยู่ที่ 300 – 325 บาทแล้ว ถ้าจำไม่ผิด แล้วทำงาน 8 ชั่วโมง ถ้าลองเอา 180 บาท มาหารก็ตกชั่วโมงละไม่กี่บาทเอง” 

นอกเหนือจากการสร้างมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นธรรมแล้ว ยังมีการแจกข้าวสารติดไม้ติดมือเป็นโบนัสให้แก่พี่ ๆ ช่างเย็บ ซึ่งก็ทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคเริ่มทำแบรนด์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว รวมถึงการบริจาคเงินกําไร 3-4% จากกําไรสุทธิไปเป็นทุนการศึกษาหรือว่าซื้อข้าวสารแจกชาวบ้าน ซึ่งภาพที่สะท้อนกลับมาว่าสิ่งนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ชาวบ้าน ทำให้เขามีเงินเหลือที่จะส่งลูกหลานไปเรียนต่อได้ ก็สิ่งที่ทำให้ฮุสนีย์ยังยืนยันที่จะทำสิ่งนี้ต่อไป และทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ส่งผลไปยังปลายน้ำได้จริง ๆ

นอกจากปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นจากขยะเสื้อผ้า?

ด้วยสัดส่วนตัวเลขเสื้อผ้าเกรด C หรือแบบ ‘หาง’ กว่า 60% ต่อหนึ่งกระสอบตามที่ฮุสนีย์เหล่าให้ฟัง ยิ่งทำให้เราเห็นภาพกองภูเขาเสื้อผ้าที่อาจถูกทิ้งเพราะไม่มีที่ไปได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัญหานี้ดูเผิน ๆ อาจจะกระทบผู้ประกอบในแง่กำไรขาดทุน แต่คำถามต่อมาคือ พวกเขาจะจัดการกับมันอย่างไร? หากขายออกไม่ไหว จะเก็บไว้ก็แทบจะไม่มีที่ 

“คือบางคนเขาก็เอาไปทิ้งตามขยะ ก็ต้องเป็นภาระเทศบาลที่ต้องเก็บ ปัจจุบันเราเริ่มเห็นปัญหาฟาสแฟชั่นที่เกิดขึ้นในปัตตานี ในอําเภอหนองจิก คือตอนช่วงน้ําท่วม ขยะเสื้อผ้ามันก็ไหลลงทะเล จนตอนนี้เราก็เริ่มเห็นภาพมันซัดขึ้นฝั่งมาหมดเลย ซึ่งเราก็ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้เขาเรื่อย ๆ ว่าคุณไม่ควรทำแบบนี้นะ คุณต้องมีจิตสำนึกนะ แล้วจากคนที่เขาไม่รู้ปัญหาก็อาจจะพยายามศึกษาและเข้าใจไปเรื่อย ๆ”

ที่มาภาพ IG: concur.patchwork

CONCUR.Patchwork กับเป้าหมายที่อยากให้สังคมและสิ่งแวดล้อมเติบโตไปด้วย

ฮุสนีย์แชร์ในมุมมองของคนที่อยู่แวดวงเสื้อผ้ามือสองเองและการติดตามเทรนด์ของตลาดก็จะพบว่า แนวโน้มการความต้องการของผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ารักษ์โลก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ จะยังคงเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมันจะมีความต้องการเกี่ยวกับงานเหล่านี้เพิ่มขึ้นในอนาคต และเมื่อย้อนกลับมาดูตลาดในเมืองไทยเองก็จะพบว่ามีหลายแห่งที่เป็นแหล่งทรัพยากรเสื้อผ้าเหล่านี้ ทั้งปริมาณเยอะและราคาถูก จึงมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งตลาดที่คนไทยมีโอกาสจะลงไปเป็นผู้เล่นและสร้างกำไรได้จนเป็นอีกหนึ่งทางที่จะสร้างรายได้และยกระดับในแต่ละพื้นที่ของตัวเอง

“ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อม ปกติคนที่ทํางานด้านสิ่งแวดล้อมจะมีจิตวิญญาณแรงกล้ามากในการแก้ไขปัญหา แต่บางคนก็จะลืมนึกถึงการทำให้มันยั่งยืน ทำให้ท้องอิ่ม หรือสิ่งที่จะทำให้เรามีแรงในการสู้ต่อ ในมุมผมก็มองว่าถ้านอกจากการรณรงค์แล้วเรามองเห็นหรือเริ่มทำอะไรที่มันช่วยสร้างรายได้ได้ มันก็จะจุนเจือครอบครัวที่อยู่ด้านหลังได้ด้วย ผมเลยเลือกที่จะทำโมเดลธุรกิจแบบ Social Enterprise (SE) ธุรกิจเพื่อสังคมแล้วก็จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน Concur ขึ้นมา

“ถ้าให้ฝากถึงคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจ ผมว่าอย่าไปกลัวหรือคิดว่าเราไม่พร้อม เริ่มทำเลยครับ อย่างผมเองก็เริ่มจากแบบนั้น ซึ่งถ้าวันนั้นเราไม่ได้ลองทำตัวแรก มันก็จะไม่มีล็อตสอง ล็อตสามตามมาแน่นอน ยังไงก็ต้องลองก่อน แล้วผลลัพธ์จะเป็นยังไงก็ว่ากัน และสิ่งสำคัญอย่างการทำงานร่วมกับชุมชน ก็ต้องดูว่าพื้นฐานทักษะเขาเป็นยังไง มีความถนัดด้านไหนบ้าง อย่างชุมชนผมเองก็เคยทำอาชีพถักหมวกกันมาก่อน สิ่งนี้มันเลยยังทำต่อได้และทำให้เขาได้เติบโตขึ้นด้วย”

ก่อนจะจบบทสนทนา เราเลยถามฮุสนีย์ด้วยประโยคพื้นฐานสุดท้ายก่อนลากันว่า “ยังสนุกอยู่ไหมกับการเดินทางของ CONCUR. Patchwork 

“ยังสนุกครับ สนุกที่ได้เห็นชาวบ้านเขาแฮปปี้ในการทํา”

เขาตอบพร้อมรอยยิ้มทิ้งท้าย

Credit

Chayanit S.

เป็นคนกรุงเทพฯ ชอบเดินเที่ยวเมือง ฟังเพลงซ้ำ ๆ นั่งโง่ ๆ ดูคนคนใช้ชีวิต :-)