ชนพื้นเมืองเมารีประท้วงอะไรในกฎหมายใหม่นิวซีแลนด์? 

จากสนธิสัญญาไวทังกิของคนผิวขาว-เมารี สู่ส.ส.ลุกขึ้นเต้นฮากาประท้วงกลางสภา

ชนพื้นเมือง ‘เมารี’ คือใคร กำลังได้รับผลกระทบอะไรจากกฎหมายใหม่ในนิวซีแลนด์?

ก่อนหน้านี้มีคลิปวิดิโออันเดือดดาลในรัฐสภานิวซีแลนด์ที่กลายเป็นไวรัลและถูกพูดถึงบนอินเตอร์เน็ต เมื่อฮานา ฮาวฮิตี ไมปี คลาร์ก (Hana-Rawhiti Maipi-Clarke) สมาชิกผู้แทนราษฎรชาวเมารี จากพรรคเตปาติเมารี (Te Pāti Māori) ได้ลุกขึ้นประท้วงกลางสภา เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการลงมติแก้ไขกฎหมายที่จะกระทบต่อสิทธิของชาวเมารี โดยเธอได้ฉีกร่างกฎหมายในมือทิ้งพร้อมลุกออกมาแสดง “ฮากา” ท่าเต้นตามประเพณีเมารี ก่อนที่จะมี ส.ส. อีกหลายคนที่เห็นด้วยลุกออกมาระบำตาม

ฮานา ฮาวฮิตี ไมปี คลาร์ก (Hana-Rawhiti Maipi-Clarke) ขณะลุกขึ้นฉีกกฎหมายก่อนเต้นฮากาประท้วงกลางสภา
ภาพ: BBC

แล้วชนพื้นเมืองเมารีคือใคร? กฎหมายอะไรในนิวซีแลนด์ที่กำลังส่งผลกระทบต่อพวกเขา?

ชาวเมารีคือใคร?

ชาวเมารี (Maori) ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในนิวซีแลนด์ โดยพวกเขาเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่กระจายอยู่ในหมู่เกาะแถบโพลีนีเซีย กล่าวคือทางตอนกลางและตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิปิกไปจนถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 

พวกเขามีวัฒนธรรมหลายอย่างที่เป็นที่รู้จักเช่น การเต้นฮาก้า (Haka) ,​ การแกะสลักวาไกโร (Whakairo) บนหิน ไม้ เพื่อบันทึกเรื่องราว บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ และทาโมโกะ (Tāmoko) รอยสักบนใบหน้าที่แสดงถึงสถานะ บทบาททางสังคม และอัตลักษณ์ของพวกเขา

โดยชาวเมารีส่วนหนึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์มาช้านาน ก่อนที่จะมีชาวยุโรปเข้ามาติดต่อครั้งแรกช่วงศตวรรษที่ 16-17 และเกิดการผสมผสานในสังคมมากขึ้น  

การสักทาโมโกะ (Tāmoko) ในหมู่ชนเผ่าเมารีที่แสดงที่บทบาท สถานะทางสังคม และอัตลักษณ์ของพวกเขา
ภาพ: @waally/unsplash

จุดเริ่มต้นจากยุคจักรวรรดินิยมสู่การอยู่ร่วมกันของชาวเมารี-คนขาว

หลังการค้นพบเกาะนี้โดยชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม การติดต่อค้าขายก็นำไปสู่การตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปในนิวซีแลนด์ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แม้จะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ตะวันตกกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีสิ่งที่ชาวเมารีไม่คุ้นเคยและรับมือไม่ทันอย่าง “เชื้อโรค” ตามมา เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้ทรพิษ โรคหัด ที่ทำให้ชาวเมารีเสียชีวิตกว่า 10-50% จนทำให้ประชากรชาวเมารีลดลงอย่างมาก 

ในปี 1840 มีการลงนามเพื่อการแบ่งอำนาจระหว่างผู้นำชนเผ่าเมารี 450-500 คน กับราชวงศ์อังกฤษใน สนธิสัญญาไวทังกิ (Waitangi) ที่เนื้อหาระบุถึงการแบ่งอำนาจ รับรองสิทธิในทรัพย์สินและการปกครองตนเองของชนเผ่าเมารี เพื่อแลกกับการยอมรับอำนาจอธิปไตยของอังกฤษ และการผนวกนิวซีแลนด์เป็นอาณานิคมในจักรวรรดิอังกฤษ 

ซึ่งหลังจากการลงนามก็ยังมีก็ยังมีการปะทะและเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่เรื่อยมา เช่น Wairau Affray จากความขัดแย้งในที่ดินที่นำไปสู่สงครามนิวซีแลนด์ระหว่างอังกฤษและชาวเมารีที่สู้กันหลายสิบปี 

ภาพวาดการลงนามสนธิสัญญาไวทังกิ (Waitangi) ปี 1840
ภาพ: Wikipedia

รวมถึงช่วงหลายปีหลังการลงนามสนธิสัญญา ได้มีข้อพิพาทว่าภายในสนธิสัญญาไวทังกิอาจมีการแปลเนื้อหาภาษาที่ต่างกันจนทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เช่น ฉบับภาษาเมารีไม่ได้มีข้อความเรื่องการสละอำนาจอธิปไตยให้กับราชวงศ์อังกฤษ จนเกิดเป็นคดีความ และในปี 1975 รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติสนธิสัญญาไวทังกิขึ้น เพื่อจัดตั้งศาลที่รับพิจารณาข้อเรียกร้องและการชดเชยจากความผิดพลาด โดยศาลระบุว่า “หลักการของร่างกฎหมายตีความสนธิสัญญาไวทังกิผิด และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อชาวเมารี”

รัฐบาลจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐจากความเสียหายที่ผ่านมาที่ทำให้ชาวเมารีขาดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ เช่น สิทธิเหนือที่ดิน การใช้ป่าไม้ ทำประมง เป็นต้น รวมถึงในปี 2008 รัฐบาลก็เสนอข้อตกลงมูลค่ากว่า 900 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ เพื่อดำเนินการชดเชยเกี่ยวกับข้อตกลงด้านที่ดิน

นับตั้งแต่ปี 1840 จนถึงปัจจุบัน แม้สนธิสัญญาไวทังกิจะไม่ได้ถูกบรรจุในกฎหมายโดยตรง แต่ก็จำเป็นต้องคำนึงถึง “หลักการ” เหล่านี้ในกฎหมาย อันได้แก่ 

– รัฐบาลมีสิทธิในการปกครอง และรัฐสภามีสิทธิเต็มที่ในการตรากฎหมาย 

– สิทธิของชาวเมารีได้รับการเคารพจากราชวงศ์อังกฤษ

– ทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายและมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย

ร่างกฎหมายใหม่นี้กำลังละเมิดสิทธิของชาวเมารีอย่างไร?

หลักการข้างต้นดูเหมือนจะกลายเป็นความคลุมเครือ เมื่อรัฐบาลใหม่นิวซีแลนด์ปัจจุบันที่นำโดย National Party มีแผนทบทวนแก้ไขหลักการสนธิสัญญาไวทังกิอีกครั้ง ประกอบกับการปรับเปลี่ยนกฎหมายบางตัว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมารีและกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย เช่น การปิด Te Aka Whai Ora หน่วยงานดูแลด้านสาธารณสุขของชาวเมารีที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และการประกาศนโยบายเปลี่ยนชื่อหน่วยงานจากภาษาเมารีมาเป็นภาษาอังกฤษ ไปจนถึงการปรับ “โควตาทางชาติพันธุ์ในสถาบันภาครัฐ” 

David Seymour ผู้นำพรรค ACT 
ภาพ: @dbseymour/X

ซึ่งพรรค Act พรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอกฎหมายนี้มองว่านโยบายที่มีนั้นออกแบบมาเพื่อยกระดับชีวิตชาวเมารี แต่กำลังทำให้ประชากรคนอื่น ๆ เสียเปรียบ และกำลังกลายเป็นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ

ซีเมอร์ จากพรรค Act ยังระบุว่า หลักการเหล่านี้ไม่เคยถูกตีความทางกฎหมายอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่ควรหยิบเอามาตีความใหม่ใต้กฎหมายไม่ใช่ศาลเพื่อให้เกิดหลักสิทธิเท่าเทียมที่มากขึ้นได้ 

ในขณะที่ความเห็นของชาวเมารีและผู้สนับสนุนมองว่า ร่างนี้กำลังทำลายสิทธิของชนพื้นเมือง และกำลัง “ละเมิด” หลักการของสนธิสัญญาไวตังกิอย่างจงใจที่จะไม่ปรึกษาหารือกับชาวเมารี ทำลายหลักการ ซึ่งการตีความที่ผิดเช่นนี้อาจนำไปสู่ความไม่ยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นต่อชาวเมารีได้

แต่ทั้งนี้ พรรครัฐบาล National Party และ พรรคร่วม New Zealand First ระบุว่าพวกเขาจะโหวตสนับสนุนร่างนี้เพียงครั้งแรกจาก 3 ครั้งเท่านั้น และจะไม่สนับสนุนร่างนี้ในการโหวตครั้งที่ 2 และ 3 แน่นอน และมองว่านี่คือร่างกฎหมายที่กำลัง “สร้างความแตกแยก” ให้กับนิวซีแลนด์ 

นอกจากเรื่องของกฎหมาย ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมเมารียังถูกทำให้กลืนไปกับวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามากับประชากรยุโรปผ่านข้อบังคับทางกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติโรงเรียนพื้นเมือง ปี 1867 ที่ห้ามพูดภาษาเมารีในโรงเรียน, พระราชบัญญัติปราบปราม Tohunga ปี 1907 ที่แทนที่หมอพื้นบ้านด้านจิตวิญญาณด้วยแพทย์ตะวันตก ก่อนที่วัฒนธรรมเมารีจะถูกกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 

ในภาวะที่หลายมหาอำนาจทั่วโลกกำลัง “หันขวา” สถิติการลงคะแนนเลือกตั้งทั้งสหรัฐฯ​ และหลายประเทศในยุโรปช่วงที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่า ผู้คนอาจหันมาคำนึงถึงปากท้องและปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น เบื่อหน่ายผู้ลี้ภัยและสงครามมากขึ้น แต่ให้ความสำคัญกับประชากรรองน้อยลง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่พรรคฝ่ายขวาชนะเลือกตั้งและเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในหลายประเทศ 

นี่จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า นิวซีแลนด์ที่พรรคแรงงานขั้วซ้ายกลาง แชมป์เก่าพ่ายการเลือกตั้งเมื่อ 2023 ไป และพรรค National Party ชนะการเลือกตั้ง ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค New Zealand First และพรรค Act จนกลายเป็นขั้วกลางเอนขวานี้ จะหันหลังให้กับชนพื้นเมืองในประเทศด้วยหรือไม่ และจะมีที่ท่าในการจัดการกับสังคมแบบพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างไร

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/12/as-maori-language-use-grows-in-new-zealand-the-challenge-is-to-match-deeds-to-words

https://deadlystory.com/page/culture/articles/World_s_Indigenous_Peoples_Day/Maori_people

https://www.bbc.com/news/articles/cvgwve4j176o

https://www.nzherald.co.nz/nz/act-party-leader-david-seymour-takes-aim-at-high-ranking-critics-of-treaty-principles-bill/4TXY6TNEMRBUHH73SJ6UFUW324

https://blogs.loc.gov/law/2016/11/indigenous-rights-in-new-zealand-legislation-litigation-and-protest

https://www.aljazeera.com/news/2024/2/27/new-zealand-moves-to-abolish-maori-health-authority-despite-protests

Credit

Chayanit S.

Related posts

เกเลพู : ‘เมืองแห่งสติ’ ของภูฏานและอนาคตของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เมืองแห่งการฝึกสติแห่งใหม่ของภูฏาน ที่จะเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยการผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับการฝึกสติ สะท้อนให้เห็นการท่องเที่ยวของภูฏานที่หยั่งรากลึกในความเป็นอยู่ที่ดีท่ามกลางแวดล้อมธรรมชาติ

Yuru Camp อนิเมะที่ดูแล้วอยากเก็บกระเป๋าออกไปตั้งแคมป์

อนิเมะฮีลใจสายรักธรรมชาติ ที่ดูแล้วผ่อนคลายจนอยากเก็บกระเป๋าไปเข้าป่า

‘RECYCLE DAY Thailand’ แพลตฟอร์มที่เชื่อว่าการแยกขยะต้องง่ายและทำได้ทุกวัน

เห็นด้วยกับพวกเขาไหมว่า ต้นทางแยกขยะดีเท่าไหร่ กลางทางและปลายทางก็ง่ายมากขึ้นเท่านั้น?