Rare Finds Bookstore and Cafe ร้านหนังสือผสมคาเฟ่ในเชียงใหม่ที่อบอวลด้วยกลิ่นกาแฟ-หนังสือ-ของสะสม และเป็นพื้นที่กลางที่ให้คนมาพบกัน

บรรยากาศร้านสุดโฮมมี่ที่เต็มไปด้วยของคัดจากใจ และเป็นพื้นที่สบายๆ ให้ผู้คนที่แวะเวียนมา

ช่วงเดือนก่อนเรามีโอกาสได้แวะไปเยือนเชียงใหม่ช่วงหน้าฝน อากาศเย็น คนไม่เยอะ เหมาะสำหรับการสงบจิตสงบใจทีเดียวเชียว

และอีกหนึ่งหมุดหมายที่เราตั้งใจจะแวะไปเจิมก็คือ Rare Finds Bookstore and Cafe  ในย่านช้างม่อย ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราตั้งใจจะมาเยือนที่ร้านนี้ เราเคยเห็น Rare Finds Bookstore and Cafe ผ่านตาบนโลกโซเชียลมาหลายต่อหลายครั้ง เมื่อปลายปีก่อนก็ตั้งใจว่าจะต้องมาเยี่ยมเยียนให้ได้เลย แต่ปรากฏว่าระหว่างที่กำลังเปิด Google Maps ก็ดันพบว่าร้านปิด 5 โมง ผ่าม คนใช้ชีวิตตอนเย็นแบบเราก็เลยต้องแพ้ไป (ออกบ้านไม่ทัน แหะ) เป็นอันว่าได้ฤกษ์มาเจอกันในหน้าฝนปีนี้แทน

หากสมมติว่าเจ้าบทความนี้เป็นเสมือนกูเกิลรีวิวที่เราจะต้องเขียนถึงร้านนี้ 3 สิ่งที่เราจำได้และอยากจะบอกต่อคนอื่นก็น่าจะเป็น..

‘ระวังแมวออก’

‘ขอความร่วมมือถ่ายรูปในร้านแต่พอประมาณ และงดใช้แฟลชนะคะ’

‘We don’t charge for plant-based milk’

นี่แหละ 3 ข้อความในร้านที่เตะตาเตะใจเรา ไม่ค่อยเคยเจอป้ายแบบนี้ใช่มั้ยละ (ยกเว้นข้อแรก ฮ่า) โดยเฉพาะข้อ 2-3 เราโค้งคำนับเจ้าของร้านในใจที่กล้าเขียนเรื่องขอความร่วมมือถ่ายรูปในห้วงเวลาที่สังคมเราถ่ายรูปกันเยอะมาก ๆ ฮ่า ๆ แต่ก็ต้องยกนิ้วให้เพราะโทนของการแปะเหล่านั้นมันดูน่าให้ความร่วมไปมือซะหมด และยิ่งทำให้รู้สึกว่าบรรยากาศในร้านนั้นยิ่ง ‘เป็นมิตร’ ใส่ใจผู้คนที่มาเยือน อีกทั้งสัมผัสได้ถึงมวลบรรยากาศที่อยากให้ที่แห่งนี้กลายเป็น ‘พื้นที่สบาย ๆ’ ให้ใครก็ตามได้เข้ามาใช้เวลาตรงหน้าอยู่กับตัวเอง คนรอบตัว หรือแม้กระทั่งเจ้าแมวที่วิ่งซ่าไปมา มากกว่าการก้มหน้าใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์

พอคุยไปคุยมาก็ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว Rare Finds แห่งนี้ เคยปรากฏตัวที่กรุงเทพฯ แถวพระโขนงมาก่อน ก่อนที่จะย้ายมาเป็น ‘Rare Finds Bookstore and Cafe’ แห่งย่านช้างม่อยเก่า เชียงใหม่แห่งนี้

Rare Finds ที่ไม่ Rare Finds

เอาจริง ๆ ไม่ถามก็คงจะไม่ได้ว่าชื่อร้าน Rare Finds นี้ล้อมาจากการที่ทำเลร้านนั้นหายากรึเปล่า แต่คุณเอิร์ธ อธิษฐ์ อนุชปรีดา หนึ่งในเจ้าของร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ก็บอกปนขำว่า ไม่ใช่ ๆ ความจริงมันเป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งจากเพลง Time Has Told Me ของ Nick Drake ต่างหาก

ในแง่ผู้มาเยือนแบบเราก็บอกเลยว่า ร้านหนังสืออิสระที่ตั้งอยู่ในย่านช้างม่อยเก่าแห่งนี้ก็ไม่ได้หายากอย่างที่เดาเอาเองตอนแรกจากชื่อเลย คู่สีแดงเขียวกับลายมือขีดเขียนชื่อ ‘Rare Finds Bookstore and Cafe’ บนกระจกบานใหญ่หน้าร้านที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงต้นไม้หน้าตาอุดมสมบูรณ์มากมายที่โผล่มารอต้อนรับเราอยู่หน้าร้าน (ร้านนี้เลี้ยงต้นไม้เก่งมาก!) ถึงไม่ค้นหาจาก Google Maps ไปก่อน แต่เชื่อว่าถ้าเพื่อน ๆ ไปเดินสุ่มหาเองตามคำบอกทางข้างต้นนี้ก็คงจะหาเจอได้ไม่ยากแน่

อิสระของร้านหนังสืออิสระ

สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากคือความเป็นเอกลักษณ์ของร้านนี้ หลาย ๆ อย่างแสดงความเป็นตัวเองออกมาอย่างชัดเจน บนชั้นหนังสือมีบรรดาวรรณกรรมการเมืองสุดคลาสสิคของจอร์จ ออร์เวลล์ วางเด่น รวมถึงวรรณกรรมคลาสสิคภาษาอังกฤษเล่มอื่น ๆ และหนังสือวิชาการเชิงประวัติศาสตร์การเมืองบ้าง ซึ่งบางส่วนก็เป็นหนังสือที่เจ้าตัวมี บางส่วนก็อาจารย์สมัยเรียนให้มา หรือเป็นหนังสือร่วมสมัยที่รับมาจากสำนักพิมพ์

แต่ชั้นหนังสือก็ไม่ได้เหงาเปล่าเปลี่ยวซะทีเดียว ถึงคุณจะไม่ได้อุดหนุนหนังสือเล่มไหน ๆ ในร้าน แต่เราเชื่อว่าต้องมีโดนกระชากทรัพย์จากของน่ารัก ๆ เหล่านี้บ้างล่ะ เพราะนอกจากหนังสือแล้ว ในร้านยังเต็มไปด้วยของสะสมร้อยแปดพันเก้า ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ชวนคิดถึงบ้านตัวเองไม่น้อย เพราะมีสารพัดของมือสองสะสมอยู่เยอะมาก ทั้งเสื้อผ้า ถ้วยชามเซรามิค จนแม่จะบ่น แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งที่เราคิดในใจว่า.. เสียเงินอีกแน่เรา.. 

หรือนอกจากของมือสอง ก็มีจำพวกของมือหนึ่งงานคราฟท์แบบ Made by heart จากญาติสนิทมิตรสหายของคุณเอิร์ธ แจกันจากศิลปินในเชียงใหม่ โปสการ์ดภาพถ่าย ภาพวาด หรือตู้หมุนกาชาปองสติกเกอร์แมว เข็มกลัดสามนิ้ว ฯลฯ คือเรียกได้ว่ามีอะไรให้เล่นเยอะมาก โดนเส้นเราสุด ๆ ถ้าอยู่นานก็มีหวังหมดตัว แฮ่ แพ้ความน่ารักก

เดินถัดเข้ามาสักหน่อยที่มุมคาเฟ่ เมนูเครื่องดื่มในร้านมีนมทางเลือกให้ลูกค้า 3 แบบ คือ นมวัว นมถั่วเหลือง และนมข้าวโอ๊ต และก็มีคำทิ้งท้ายเมนูว่า นมทุกชนิดราคาเท่ากันหมด ไม่มีการชาร์จราคาเพิ่มสำหรับนมทางเลือกจากพืช

หลาย ๆ คาเฟ่ที่เราได้แวะเวียนไปก็จะพบว่ามีการบวกเพิ่มหากใช้นมพืชทางเลือก ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้สุด ๆ ด้วยต้นทุนที่สูงกว่า แต่สำหรับ Rare finds Bookstore and Cafe คุณเอิร์ธเล่าว่าด้วยสัดส่วนของลูกค้าที่เลือกนมพืชในแต่ละวันก็ไม่ได้มีจำนวนมากนัก หากเทียบกับการสนับสนุนให้คนหันมาดื่มนมพืชทางเลือก ก็ไม่ได้ทำให้ขาดทุนสักเท่าไหร่ 

ด้วยความที่ทริปนี้เราโซโล่เดี่ยวเชียงใหม่ครั้งแรกก็กลัวจะเหงา ๆ หน่อย แต่อีกใจก็คิดว่าคงเป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้เวลาแบบไปเรื่อย ไม่ต้องรีบร้อน ขอแค่พกแลปท็อปไปและฝังตัวอยู่ที่ไหนก็ได้ที่สบายใจก็คงพอ

ซึ่ง Rare Finds แห่งนี้ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง 

ร้านหนังสือเล็ก ๆ ย่านช้างม่อยแห่งนี้ยินดีต้อนรับทุกคน

ก่อนแวะไปเราก็ทำการบ้านอ่านรีวิวพอตัว (ขอโทษที เป็นเยาวรุ่นติดอ่าน Google Reviews แหะ ๆ) สิ่งที่เห็นได้ชัดคือมีผู้คนที่แวะเวียนเข้ามารีวิวร้านทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างอะไรจากบรรยากาศตรงหน้าที่เราเห็นตลอดช่วงที่นั่งเล่นอยู่ในร้าน มีทั้งต่างชาติแวะเวียนมา ทั้งคนไทยที่มาจิบกาแฟ ดูหนังสือ หรือเพื่อนบ้านแวะมาทักทาย จนเราก็อดคุยกับพี่เจ้าของร้านไม่ได้ว่า “รีวิวร้านพี่บนกูเกิ้ลน่ารักมากเลยค่ะ ฮ่า ๆ” 

ถ้าต้องขยายความให้คุณผู้อ่านเข้าใจคำว่า ‘รีวิวน่ารัก’ นี่อาจจะแปลไทยเป็นไทยยากหน่อย แต่ในมวลรวมมันคงเป็นอะไรที่ดูจริงใจดีที่ได้เห็นว่าร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นที่หย่อนใจให้กับบรรดาผู้ที่แวะเวียนมายังไงได้บ้าง

Very very cozy + cool store 

so much like home

(-มิตรสหายนักรีวิวบนกูเกิลท่านหนึ่ง)

บ่ายฤดูฝนวันฟ้าทึมที่เราไปเยือนนั้นกลายเป็นเหมือนงานไพรเวทกลาย ๆ ร้านบรรยากาศค่อนข้างสงบ เพราะเป็นช่วงวันธรรมดา ฝนตกตลอดวัน ผสมโรงกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่น้ำปิงมีแนวโน้มว่ากำลังจะเอ่อล้นตลิ่งจนทำให้ร้านรวงในเมืองดูเงียบเหงากว่าปกติ 

ในร้านที่มีกันอยู่สามคนก็เกิดบทสนทนาแบบสุดจะแรนด้อมขึ้นมา ด้วยความที่คุณเอิร์ธเรียนเอกวรรณคดีอังกฤษ เราเรียนประวัติศาสตร์ และอีกคนหนึ่งที่แวะเวียนมาก็เป็นชาวรัฐศาสตร์ อันกลายเป็นว่ามีความสนใจร่วมกันอย่างบังเอิญจนบทสนทนาไหลไปไกล ฮ่า ๆ นี่อาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของร้านหนังสืออิสระที่มักจะพาคนที่สนใจอะไรคล้าย ๆ กันมาเจอกัน 

การมีอยู่ของร้านหนังสืออิสระทำให้เรานึกถึงแนวคิดหนึ่งที่เคยอ่านเจอว่าด้วยเรื่อง Third place หรือพื้นที่ที่ 3 ที่เสนอโดยนักสังคมวิทยา Ray Oldenburg ซึ่งใช้เรียกสถานที่ที่ผู้คนออกไปใช้ชีวิตเพื่อเชื่อมต่อกับผู้อื่น พื้นที่ที่เราสามารถออกไปเชื่อมต่อกับผู้คน ไปดู ไปฟังอะไรก็ตามที่เราชอบ จนทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดและความเหงาภายในลงได้ ซึ่งความเหงาในที่นี้มันไม่ใช่แค่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ไม่มีแฟน หรือไม่มีใครสักเคียงข้างนะ แต่ยังหมายถึงภาวะที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกเหมือนไม่มีใครรับฟัง ไม่มีใครคิดเหมือนเราหรือเข้าใจเรา จนนำมาซึ่งความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับสังคมนั้น ๆ 

แล้วไอการได้ออกไปแลกเปลี่ยน ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ณ ไอเจ้าพื้นที่ที่ 3 ที่เขาว่ากันนี้ก็อาจจะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นได้ไม่น้อย คล้ายได้ย้อนกลับไปโมเมนต์วันวานที่นั่งคุยกับเพื่อนที่ใต้ตึกคณะ หรือเหมือนกับเมาท์มอยกับเพื่อนที่ไปคอนเสิร์ตเดียวกันมา หรือใครก็ตามที่พึ่งไถฟีดแล้วขำมีมเดียวกับเรา ซึ่งตัดกลับมาในชีวิตประจำวัน เราก็อาจจะไม่ได้มีคนที่บ้านหรือในที่ทำงานที่พร้อมจะคุยเรื่องเหล่านี้กับเราได้ จนไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปแชร์เรื่องราวเหล่านี้กับใครดี

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรมี Third place ดี ๆ ที่เข้าถึงได้และเข้าถึงง่ายอยู่ในเมือง อาจไม่ต้องมีผู้คนที่คุยเรื่องเดียวกันมากมาย แต่อย่างน้อยที่สุด แค่การที่ได้เอาตัวเองมาอยู่ในสถานที่ที่รายล้อมไปด้วยสิ่งที่เราชอบ ก็อาจช่วยบรรเทาความเหงาได้ไม่น้อยแล้ว และนี่ก็อาจเป็นเสน่ห์ที่ร้านใหญ่ ๆ ตามห้างสรรพสินค้าให้เราไม่ได้เหมือนกัน

นิยาม Third place ของแต่ละคนนั้นก็คงแตกต่างกันไปตามความสนใจตัวเอง ส่วน Rare Finds Bookstore and Cafe แห่งนี้จะตอบโจทย์แต่ละคนไหมก็คงเป็นโจทย์ให้คนที่มาได้หาคำตอบกันเอง (ซึ่งขออภัยที่รีวิวนี้ก็คงไม่ได้ช่วยด้านข้อมูลเพิ่มเติมสักเท่าไหร่ แหะ ๆ ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง!) แต่สำหรับเราแล้ว ที่แห่งนี้ก็ Very very cosy, cool store, so much like home อย่างที่เขาว่ากันจริง ๆ ล่ะ

——-

✱ Rare Finds Bookstore and Cafe

✱ 18, 2 ถนน ช้างม่อยเก่า ตำบล ช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 

https://maps.app.goo.gl/CzkjGgj7hA8LZ1Mw8 

✱ 083 879 9521

Credit

Chayanit S.

Related posts

สิ่งแวดล้อม กับ Slow Fashion แค่ยืดอายุผ้า ก็ยืดเวลาโลก

เมื่อการซื้อเร็วตามเทรนด์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การซื้อช้า ใช้ซ้ำ ควรเป็นทางออกใหม่

ฟางเส้นสุดท้ายก่อน 14 ตุลา: คดีลอบล่าสัตว์ป่าของอภิสิทธิ์ชนคนรวย

ซากกระทิง 16 สู่เสือดำ 61 สังคมไทยเรียนรู้อะไร?

โลกได้รับผลกระทบอะไร เมื่อ ‘เอลนีโญ’ สิ้นสุดแล้ว ‘ลานีญา’ กำลังเข้ามา

ลานีญากำลังมา ในขณะที่มนุษย์โลกก็ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลกจึงไม่ได้หยุดพัก แต่มันจะรุนแรงขนาดไหน?

จากแพขยะ สู่ บ้านพลาสติกของสิ่งมีชีวิตในกองขยะขนาดใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อสัตว์น้ำใช้แพขยะเป็นที่อยู่อาศัย อาจทำให้กลายพันธุ์รุกรานต่อระบบนิเวศใกล้เคียง