ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบเมืองที่เต็มไปด้วยมลพิษจากทั้งสารเคมี ยานพาหนะ บุหรี่ อากาศร้อน และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เด็กในปัจจุบันเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังเป็นกันจำนวนมาก) แต่วิทยาศาสตร์บอกเราทุกคนว่า ธรรมชาติช่วยได้ และเราไม่ได้คิดไปเอง
การศึกษาจำนวนมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาชี้ให้เห็นว่า การสัมผัสกับสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติอย่างดินโคลนบ้าง ที่แม้จะดูสกปรกแต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่เด็ก ๆ จะเป็นโรคภูมิแพ้ และโรคภูมิแพ้ตัวเองได้ (โรคที่ภูมิคุ้มกันโจมตีตัวเอง) โดยเฉพาะในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิต
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เซลล์ป้องกันร่างกายกำลังเรียนรู้วิธีแยกแยะเซลล์พวกเดียวกันออกจากสารแปลกปลอมต่าง ๆ ที่ทั้งไม่เป็นอันตรายและตัวที่ก่อให้เกิดโรค ภูมิคุ้มกันของเราต้องเรียนรู้ที่จะตรวจจับเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสที่สร้างการติดเชื้อเพื่อทำลายพวกมัน
“ในสถานรับเลี้ยงดูเด็ก ๆ และโรงเรียนหลายแห่งมีความตระหนักเพิ่มขึ้นว่าเด็ก ๆ มีพื้นที่เปิดโล่งให้เล่นน้อยลง” Marilisa Modena สถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงเรียน และเป็นผู้ก่อตั้ง Zeroseiplanet ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมของอิตาลีที่เน้นไปที่ประโยชน์ของการเล่นกลางแจ้ง กล่าว “และเรากำลังมองหาวิธีที่จะนำกิจกรรมเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว กิจกรรมเหล่านั้นถือเป็นประสบการณ์ที่เด็ก ๆ (สมัยก่อน) คุ้นเคยกันดี”
ปรากฏว่าสัญญาณระดับโมเลกุลที่ผลักดันและสนับสนุน หรือพูดง่าย ๆ คือเพิ่มพลังให้กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ส่วนใหญ่มาจากจุลินทรีย์ในลำไส้ที่เรียกกันว่า ไมโครไบโอมในลำไส้ และมันมีความสำคัญกับสุขภาพโดยรวมของเรา
การศึกษาในช่วงปี 2019-2020 ได้แสดงให้เห็นว่าการสัมผัสกับความหลากหลายของจุลินทรีย์ต่าง ๆ นั้นเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดี ซึ่งในปีแรกของชีวิต ทารกจะได้รับแบคทีเรียจากช่องคลอดกับน้ำนมแม่ และเมื่อพวกเขาโตขึ้น ก็จะได้สัมผัสกับจุลินทรีย์จากแหล่งต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
แต่ยังไงก็ตามในงานวิจัยเมื่อปี 2020 จากสถาบันทรัพยากรธรรมชาติของประเทศฟินแลนด์ ได้จงใจทดลองเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตของเด็กในเมือง 75 คนเปลี่ยนไปอยู่ในธรรมชาติ และพวกเขาพบว่ามันส่งผลลัพธ์ที่น่าทึ่งมาก
“เมื่อเราเห็นผลที่ได้ เราประหลาดใจมากเพราะมัน (ผลลัพธ์) แข็งแกร่งมาก” Aki Sinkkonen ผู้เขียนงานวิจัยกล่าว “การศึกษาของเราสามารถปูทางสำหรับแนวทางปฏิบัติในการป้องกันใหม่ ๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทั่วโลก”
งานวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสาร Science Advances โดยได้ศึกษาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ สถานรับเลี้ยงเด็กในเมืองสองเมืองของฟินแลนด์ ในศูนย์ 4 แห่งจากทั้ง 10 แห่งของการทดลอง จะมีสนามหญ้าที่เป็นพื้นป่าธรรมชาติ พร้อมด้วยพุ่มไม้เตี้ยและต้นไม้ต่าง ๆ ขณะที่เหลือจะเป็นแบบปกติซึ่งเป็นพื้นที่เล่นเปล่า ๆ ในการทดลองนี้ทีมวิจัยได้สนับสนุนให้เด็ก ๆ ออกไปวิ่งเล่นกับดินและต้นไม้เป็นเวลาเฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน
“มันเป็นเรื่องง่ายเพราะพื้นที่สีเขียวเป็นสถานที่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในสนาม” Sinkkonen กล่าว หลังผ่านการทดสอบไป 28 วัน พวกเขาพบว่าจุลินทรีย์บนผิวหนังของเด็กที่ได้อยู่กับพื้นที่สีเขียวนั้น สูงกว่าเด็กที่อยู่ในลานสนามเปล่า ๆ มากถึง 1 ใน 3 อีกทั้งยังพบว่าความหลากหลายของแบคทีเรีย หรือ ไมโครไบโอมในลำไส้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าคือเมื่อนำเลือดมาวิเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าสารประกอบในเลือดเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อโปรตีน และเซลล์หลายหลากชนิดที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งรวมถึงไซโตไคน์ที่ต้านการอักเสบ
“ความผิดปกติหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นในประชากรเมืองทางตะวันตกนั้นเกิดจากกลไกที่คอยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันนั้นล้มเหลว” ศาสตราจารย์ Graham Rook นักจุลชีววิทยาทางการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจ กล่าว
“การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การให้เด็กได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพช่วยเพิ่มตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหลายตัวในกลไกการควบคุมที่จำเป็น” เขาเสริม “ทีมวิจัยจากฟินแลนด์เหล่านี้เป็นผู้นำในการนำความรู้ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ”
แต่เพราะอะไรธรรมชาติถึงช่วยเรา ?
มีทฤษฏีหนึ่งที่เรียกกันว่า สมมติฐานเพื่อนเก่า (Old-friends hypothesis) ซึ่งเสนอครั้งโดยศาสตราจารย์ Rook เมื่อปี 2003 โดยระบุว่ายิ่งเราสัมผัสกับจุลินทรีย์ในวัยเด็กได้หลากหลายมากเท่าไหร่ ไมโครไบโอมของเราก็ยิ่งหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น และด้วยเหตุนั้นระบบภูมิคุ้มของเราก็จะรู้จักจุลินทรีย์ทั้ง ดีและไม่ดี ได้มากขึ้น
กลับกัน การไม่สัมผัสกับเชื้อโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องมากขึ้น การศึกษาเมื่อปี 2008 แสดงให้เห็นว่าเด็กที่เติบโตในฟาร์มหรือบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับเด็กที่อยู่ในเมืองหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่มีสัตว์เลี้ยง
ศาสตราจารย์ Rook เน้นย้ำว่าปัจจุบันแนวคิดด้านสุขอนามัยสำหรับเด็กนั้น สะอาดเกินไป โดยหมายความว่าไม่ให้เด็กสัมผัสอะไรเลย หรืออยู่ในสถานที่ปลอดเชื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งส่งผลกระทบตอนโต ไม่เพียงเท่านั้นเขายังชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปในวัยเด็ก ก็สามารถกำจัดไมโครไบโอมที่ดีในลำไส้ได้มาก และการคลอดแบบผ่าตัดก็ทำให้ทารกไม่ได้สัมผัสแบคทีเรียเพื่อพัฒนาตัวเอง
ท้ายที่สุดแล้ว ปัจจัยดังกล่าวทำให้เด็กเสี่ยงที่จะภูมิแพ้มากขึ้น นอกจาไมโครไบโอมที่มีความสำคัญแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากที่ส่งผลไม่ว่าจะเป็น คุณภาพอากาศ คุณภาพอาหาร หรือความเครียด แต่ยังไงก็ตาม ดร. Robert Wood ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วควรส่งเสริมให้เด็ก ๆ ออกไปข้างและเดินเล่นบนดิน
“ระบบภูมิคุ้มกันที่กำลังพัฒนานั้นคล้ายกับสมอง” Thom McDade นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น กล่าว “ไม่มีใครเคลือบเคลงว่าทารกจำเป็นต้องได้ยินการสนทนาเพื่อผลักดันกระบวนการทางระบบประสาท ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาคำพูด ระบบภูมิคุ้มกันก็คล้ายกัน การพัฒนานั้นถูกผลักดันโดยการสัมผัสสิ่งแวดล้อม”
เอาล่ะ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำตรงนี้คือ เมื่อเราพูดถึงความสกปรก ไม่ได้หมายความว่าเด็ก ๆ ควรจะว่ายน้ำในแม่น้ำที่เต็มไปด้วยขยะ หรือวิ่งเล่นท่ามกลางซากเน่าเปื่อยของอาหารหรือขยะเปียกจนเชื้อราขึ้น แต่สกปรกในที่นี้คือการเปื้อนดินเปื้อนทรายที่เป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งมีการรักษาความสะอาดอย่างเหมาะสม
หากเด็ก ๆ อยากลงไปเล่นโคลนในสนามเด็กเล่น ก็อย่างกลัวที่จะเปื้อนเสื้อผ้าเลย เพราะผลที่ได้นั้นคุ้มค่ากับการไม่เป็นภูมิแพ้ที่ทำให้คุณไม่สบายในทุกฤดู
“การสัมผัสจุลินทรีย์ที่ช่วยให้ร่างกายของเราเรียนรู้ที่จะควบคุมการอักเสบที่มักไม่ติดเชื้อ” McDade บอก “พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมปกติของมนุษย์มานานนับพันปี”
พร้อมที่จะเปื้อนกันหรือยัง ?