คุยกับ “เดียร์-วทันยา บุนนาค” ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ว่าด้วยโจทย์ใหญ่ในการรับมือ Climate Change อย่างไรให้เกิดการสร้างโอกาสไปพร้อมกัน

ว่าด้วยโจทย์ใหญ่ในการรับมือ Climate Change อย่างไรให้เกิดการสร้างโอกาสไปพร้อมกัน ในวันที่ไทยเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change เป็นอันดับ 5 ของโลก

GREENCHECK: คุยกับ “เดียร์-วทันยา บุนนาค” ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ว่าด้วยโจทย์ใหญ่ในการรับมือ Climate Change อย่างไรให้เกิดการสร้างโอกาสไปพร้อมกัน ในวันที่ไทยเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change เป็นอันดับ 5 ของโลก

“จากสถิติเราจะพบว่าประเทศไทยเป็นอันดับ 5 ที่จะได้ผลกระทบจากโลกร้อน หากถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาประเทศไทยจะได้ผลกระทบ GDP ลดลงถึง 4.3%”

วันนี้เราเลยจะชวน ‘เดียร์-วทันยา’ คุยเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้อง รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ ที่คล้ายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช้งบประมาณแบบกระจัดกระจายและไม่สามารถวัดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้

โค้งสุดท้ายก่อน #เลือกตั้ง66 ชวนมาเช็คความกรีนของแต่ละพรรคกันแบบรัว ๆ ไปกับ ‘GREENCHECK’ บทสัมภาษณ์ตัวแทนพรรคการเมืองในประเด็นสิ่งแวดล้อม มาดูกันว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ตรงไหนในนโยบายแต่ละพรรคกันบ้าง ติดตามกันได้หลังจากนี้ที่เพจ Environman เท่านั้น 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมจากปัญหา Climate Change เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและปากท้องของผู้คน จากสถิติเราจะพบว่าประเทศไทยเป็นอันดับที่ 5 ที่จะได้ผลกระทบจากโลกร้อน จากการคำนวณว่าถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาประเทศไทยจะได้ผลกระทบ GDP ลดลงถึง 4.3%

ดังนั้น ภาครัฐต้องทำความเข้าใจคือปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แต่มันคือการบริหารจัดการแบบองค์รวมทั้งประเทศ ไม่ว่าจะภาคการเงินหรือธนาคารก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขได้เช่นเดียวกัน

อีกทั้งการให้ความรู้กับประชาชน สิ่งหนึ่งที่ยังเห็นน้อยมากคือการสร้างความตระหนักตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เวลาเราไปประเทศในยุโรปจะพบว่าประชาชนตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก อาจเป็นเพราะเขาเป็นเขตเมืองหนาว เมื่ออุณหภูมิโลกเปลี่ยนไป เขาสัมผัสได้ชัดเจน แต่ในไทยอาจเพราะบริบทเราร้อนอยู่แล้ว เมื่อพูดถึงฤดูก็มีแต่ร้อน ร้อนมาก ร้อนมากกว่า ทำให้เรื่องของโลกร้อนหรือ Climate Change จึงอาจเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ค่อยตระหนักถึง”

จงให้คะแนนการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ เมื่อเทียบกับระดับโลก? (5 คะแนน)

ให้ 1.5 จาก 5 คะแนน 

3.5 คะแนนที่หายไปเพราะ ยังไม่เห็นแผนในเชิงยุทธศาสตร์ว่าเรามีการเตรียมตัวอย่างไร เช่น การรับมือในเรื่องของ European Green Deal (แผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป)  ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือการตั้งหมุดหมายเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ประกาศในที่ประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลก COP ก็ยังไม่มีแผนเชิงยุทธศาสตร์ของภาครัฐเป็นรูปธรรมว่าเราจะไปถึงเป้าอย่างไร ยังเป็นการทำงานแบบกระจัดกระจายของแต่ละองค์กร แต่ไม่ได้ทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นภาพรวมของประเทศอย่างจริงจัง

ส่วนข้อดี 1.5 คะแนนที่ให้นั้นมาจากงบประมาณที่เรามีอยู่แล้วในส่วนการบริหารด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา เช่น งบการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ แต่ต้องยอมรับว่างบยังมีความกระจัดกระจาย แต่ละกระทรวง ทบวง กรมใช้ในส่วนของตัวเอง ไม่มีการบูรณาการ

เช่น มีการบริหารงบเพื่อจัดการน้ำในการใช้ประโยชน์เชิงเกษตรกรรม แต่ไม่ได้มองถึงการจัดการน้ำเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก น้ำแล้งซ้ำซาก และที่สำคัญคือไม่ได้มองถึงการบริหารจัดการน้ำจะนำไปผนวกกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืองบถูกใช้ไปกระจาย กะปริบกะปรอย ไม่สามารถวัดผลได้ในเชิงคุณภาพและเชิงเป้าหมายใหญ่ได้ เป็นการทำงานแบบตำนำพริกละลายแม่น้ำ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในแต่ละปีเราใช้งบหลายหมื่นล้านได้เพียงแค่เยียวยาประชาชนเท่านั้น

ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้?

“ทุกอันมีประเด็นที่น่าสนใจในตัวหมด อย่างมลพิษฝุ่นนั้นคือเรื่องอากาศบริสุทธิ์นั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์และพลเมืองทุกคนควรพึ่งมี เพราะอากาศมลพิษที่เราสูดเข้าไปมันเอาออกไม่ได้ ระยะหนึ่งที่เราสะสมไปเรื่อย ๆ มันกระทบสุขภาพเราและคนที่เรารัก สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจของประเทศ 

เรื่องนี้ต้องมองถึงหลายภาคพื้นที่ ทั้งกทม.และทั่วประเทศ เพราะมีหลากหลายแหล่งปัญหาที่แตกต่างกันไปเช่น ในพื้นที่ภาคเหนือ ดูจากพื้นที่ดาวเทียมเราก็จะเห็นว่ามาจากการเผาไหม้ในประเทศเพื่อนบ้าน ป่าไม้ที่คอยเป็นแหล่งดูดซับมลพิษก็หายไป ประกอบกับการเผา การกำจัดขยะในประเทศไทยที่อาจยังผิดวิธี ทำให้ปัญหายิ่งเพิ่มขึ้น 

เรื่องนี้ควรต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติจริง ๆ เพราะความร่วมมือต้องเกิดจากทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งต้นตอฝุ่นพิษด้วย และแน่นอนว่าหากพรรคเรามีส.ส.เข้าไปนั่งในสภา เราก็จะขับเคลื่อนเรื่องพรบ.อากาศแน่นอน”

นโยบายสิ่งแวดล้อมแบบประชาธิปัตย์?

“พรรคประชาธิปัตย์เรามองว่านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมิติเศรษฐกิจ โดยเราได้ประกาศแล้วว่า ‘Green Economy’ (เศรษฐกิจสีเขียว) จะเป็นหนึ่งในหมุดหมายหลักที่ดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างไรให้สามารถสร้างตลาดและสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยได้

ด้านพลังงาน การใช้พลังงานทุกวันนี้คือบ่อกำเนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นโจทย์ว่าเราจะยกเลิกหรือลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลแล้วเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดหมุนเวียนให้มากขึ้นได้อย่างไร 

แม้หลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐจะมีการหาประมูลโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ปัญหาคือเรามีปัญหาทับซ้อนในการบริหารจัดการพลังงานที่มันทับซ้อนกันมากกว่านั้น การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่แค่การหาพลังงานหมุนเวียน แต่คือการแก้ปัญหาองค์รวมของประเทศซะมากกว่า

นอกจากนี้ยังต้องมองถึงการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด โดยที่เสริมสร้างเศรษฐกิจ การเริ่มมองที่ระบบขนส่งสาธารณะให้เคลื่อนย้ายประชากรได้และนำไปสู่การเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างไม่กระทบสิ่งแวดล้อม 

เมื่อมีภาพชัดเจนแบบนี้ การขับเคลื่อนก็จะเห็นแนวทางชัดเจนว่าทุกส่วนต้องไปด้วยกัน เพราะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องขึ้นตรงกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่มันสัมพันธ์กันในทุกภาคส่วน”

ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต?

“เรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีหลายมิติและต้องบูรณาการจัดการไปพร้อม ๆ กัน ที่สำคัญคือต้องเริ่มไปพร้อมกัน ประชาชนต้องเริ่มตระหนัก ภาครัฐก็ต้องถ่ายทอดข้อมูลให้เขาเข้าถึง เพื่อให้เขารู้ว่าจะได้รับภัยหรือผลกระทบอย่างไร ในประเทศเมืองหนาว ผู้คนอาจตระหนักมากเพราะเขาได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในไทยเองอาจมีข้อจำกัด แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้รับผลกระทบ ในทางกลับกันคือ เราได้รับผลกระทบเป็นอันดับ 5 ของโลก 

นี่คือโจทย์ว่าเราจะถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้อย่างไร เราจะร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมและอุณหภูมิโลกอย่างไร ภาครัฐต้องทำให้มันเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่แค่องค์ประกอบหนึ่งในด้านงบประมาณ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างตั้งแต่การทำงานของภาครัฐ การวางระบบงานเชิงยุทธศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่นโยบายเป็นโครงการกระปริบกระปรอยเล็ก ๆ แบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำแต่ไม่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม

อีกทั้ง สิ่งแวดล้อมที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้นยังต้องมองไปถึงการที่ผู้คนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะปกป้องสุขภาพตัวเองและคนที่รักที่ได้ ไม่ต้องเผชิญกับฝุ่นพิษ สารเคมี แบบที่ยังต้องทำมาหากิน พึ่งลำแข้ง แต่ก็ยังไม่มีความปลอดภัยในชีวิต รวมถึงการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างไรจากเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ซึ่งเราต้องไม่มองเพียงว่าเป็นปัญหาแต่ต้องมองว่าเป็นโอกาสอีกทางที่สร้างรายได้และเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้คนไทยได้”

สามารถไปติดตามสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/d6CG47noQy8

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

การกินอาหาร Plant-based ช่วยโลกได้อย่างไร

วิจัยมากมายสนับสนุนว่าการทานเนื้อสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน และการหันมาทานผักผลไม้อาจเป็นทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาว

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า

Wastic Thailand – แบรนด์แว่นกันแดดไทยที่อยากให้คนหลงรักในดีไซน์ไปพร้อม ๆ กับรักษ์โลก

จุดเริ่มต้น เป้าหมาย และการเติบโต ของแบรนด์แว่นกันแดดไทยที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล

ฝีดาษลิง โควิด-19 อาจพบได้แรงและบ่อยขึ้น เพราะโลกรวนและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม? 

70 ปีที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักไวรัสเหล่านี้ เพราะอะไรถึงทำให้มันกลายเป็นหายนะใหญ่?