ฟางเส้นสุดท้ายก่อน 14 ตุลา: คดีลอบล่าสัตว์ป่าของอภิสิทธิ์ชนคนรวย - EnvironmanEnvironman

ฟางเส้นสุดท้ายก่อน 14 ตุลา: คดีลอบล่าสัตว์ป่าของอภิสิทธิ์ชนคนรวย

ซากกระทิง 16 สู่เสือดำ 61 สังคมไทยเรียนรู้อะไร?

ฟางเส้นสุดท้ายก่อน 14 ตุลา 2516 การลักลอบล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของกลุ่มนายทหารและอภิสิทธิ์ชน

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา เราจะนึกถึงอะไรกัน? เหตุการณ์การต่อสู้ของประชาชน การปราบปรามผู้ประท้วง การต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา หรือความไม่พอใจต่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร รึเปล่า?

ย้อนกลับไปในห้วงเวลา ‘ก่อน 14 ตุลา’ ความไม่พอใจของประชาชนและเหล่านักศึกษาที่ก่อตัวจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวในช่วงทศวรรษ 2510 มีมากมายหลายชนวน ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่ความไม่พอใจของผู้คนคือเรื่องฉาวในทุ่งนเรศวรที่พบว่านักการเมืองและอภิสิทธิ์ชนมีส่วนในการลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่จังหวัดกาญจนบุรี

5 เดือนก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2516 เกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์กองทัพบกหมายเลข ทบ.6102 ที่บินกลับจากทุ่งใหญ่นเรศวรตกที่ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตมีทั้งดาราชื่อดังและนายทหารชั้นสูง รวมถึงพบซากสัตว์ป่าจำนวนมาก

เมื่อตรวจสอบจึงพบว่า คณะเดินทางเป็นกลุ่มคณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จำนวนประมาณ 60 คนที่เดินทางมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี จากการไปตั้งค่ายพักแรมเพื่อฉลองวันเกิด และมีการใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ป่าภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายนและยังมี พันเอกณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร และดาราสาว เมตตา รุ่งรัตน์ ร่วมเดินทางไปด้วย

ภายในฮ. ยังพบซากสัตว์ป่า เนื้อสัตว์จากการล่า อาทิ กระทิง และอาวุธล่าสัตว์หลายชนิด เรื่องนี้จึงถูกนำไปเชื่อมโยงถึงการลักลอบล่าสัตว์ป่าของผู้มีอิทธิพลและชนชั้นนำ

ภาพบนหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2516

ความสูญเสียที่ทุ่งใหญ่ฯ สู่การเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ

ก่อนหน้าฮ. ตกนั้นมีข่าวลือการลักลอบล่าสัตว์ของกลุ่มพรานบรรดาศักดิ์มาอย่างหนาหู ทำให้สื่อ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีการลงพื้นที่ซุ่มเก็บหลักฐาน นำมาซึ่งข้อมูลและรูปภาพยืนยันว่า มีคณะนายทหารตำรวจและพ่อค้าเข้ามาล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรจริง หลายคนเป็นคนสนิทของบุคคลในรัฐบาล โดยมีทั้งการตั้งแคมป์โดยใช้ทรัพย์สิน อาวุธของราชการ รวมถึงพบซากสัตว์ที่ถูกล่าตายทิ้งอยู่เป็นจำนวนมากอย่างกีบกระทิง หนังกวาง หนังชะมด

ที่มา: Facebook เมืองเก่าเล่าใหม่

คำอธิบายตอบกลับของรัฐบาล -“เนื้อสัตว์ป่าเป็นของคนอื่นฝากมา”

หน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2516 พาดหัวว่า “นายกฯ ยืนยัน คณะคอปเตอร์ตกไปราชการลับ นักศึกษาแฉเผชิญนักล่ากลางป่า”

โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯ ในขณะนั้นได้ชี้แจงว่าการเดินทางไปยังเขตป่าสงวนพันธุ์สัตว์นั้นเป็นราชการลับ ‘ที่เปิดเผยไม่ได้’ และเป็นการดูแลความสงบชายแดนในช่วงที่ นายพลเน วิน นายกรัฐมนตรีพม่ามาเยือนไทยเท่านั้น ส่วนเนื้อสัตว์ที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์ได้ให้ความเห็นว่า “อาจจะมีคนถือโอกาสฝากมาก็ได้”  

ฟางเส้นสุดท้ายก่อน 14 ตุลาฯ

ด้วยการกระทำนี้เกิดจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชนและผู้มีบทบาททางการเมือง รวมถึงเป็นความผิดตามพรบ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จึงยิ่งเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องและเลือกปกป้องกลุ่มคนที่กระทำผิดด้วยหรือไม่ จนกลายเป็นอีกชนวนสำคัญที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมฯ

ประชาชนและกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ออกมาแสดงท่าทีต่าง ๆ เช่น จัดเสวนาถกเถียงปัญหา ออกแถลงการณ์เปิดโปงข้อมูล ในช่วงเดือนเมษายน ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติประท้วงกรณีกลุ่มพรานบรรดาศักดิ์ได้ใช้ ฮ. เข้าไปล่าสัตว์สงวนในทุ่งป่าใหญ่นเรศวร และกรณีโรงงานน้ำตาลปล่อยของเสียจนแม่น้ำแม่กลองเน่า

ที่มา: หนังสืออนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516

รวมไปถึงศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ได้มีการตีพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ที่วิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี และรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกรณีนี้ ซึ่งเป็นที่สนใจจนขายหมดหลายพันเล่มในไม่กี่ชั่วโมงและตีพิมพ์ซ้ำเป็นแสนเล่มในเวลาต่อมา 

และหนังสือ “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ” โดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่ม “ชมรมคนรุ่นใหม่” ซึ่งการออกหนังสือครั้งนี้นำไปสู่การคัดชื่อนักศึกษา 9 คน ออกจากมหาวิทยาลัย ด้วยข้อหาว่าเป็นการเสียดสีรัฐบาล และเป็นจุดเริ่มต้นของการประท้วงอย่างต่อเนื่อง ความไม่พอใจในกลุ่มนักศึกษาหลายสถาบันนำไปสู่การรวมตัวกันประท้วงหน้าทบวงมหาวิทยาลัยและเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันต์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะลาออก และกลุ่มนักศึกษายอมสลายตัว และเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน 

ภาพบนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2516

นอกจากลุ่มนักศึกษายังมี ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนการเมืองชื่อดังที่มีผลงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ก็หวนกลับมาจับปากกาวาดการ์ตูนถึงกรณีนี้อีกครั้ง ด้วยภาพฝูงกระทิงนอนตายมีธงชาติไทยคลุมตัว สะท้อนให้เห็นความสูญเสียที่ทุ่งใหญ่นเรศวร 

“ผมหักปากกาทิ้งแล้วเชียว ว่าจะไม่เขียนการ์ตูนการเมืองอีกเด็ดขาด แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ผมทนอยู่ไม่ไหว ไฟในหัวใจคนแก่ของผมคุโชนขึ้นมาอีกจนได้”

ตุลาคม 2516 

ความครุกรุ่นก่อตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม เมื่อ ‘กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ’ รวมตัวแถลงข่าวที่บริเวณอนุสาวรีย์ทหารอาสา สนามหลวง โดยมีนายธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้ประสานงาน แถลงเรียกร้องให้ 

1. เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว 

2. จัดหลักสูตรสอนอบรมรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชน 

3. กระตุ้นประชาชนให้สำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน โดยดำเนินงานอย่างเปิดเผย

หลังจากนั้นการเรียกร้องได้กระจายตัวเป็นไฟลามทุ่ง หลังจากที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดนจับกุมจากการเดินแจกหนังสือ ใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ในข้อหา ‘มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน’ และ ‘เป็นกบฏต่อราชอาณาจักรตามกฎหมายอาญา มาตรา 116’ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงออกแถลงการณ์คัดค้าน เริ่มชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่บริเวณลานโพธิ์โดยมีนักศึกษา นักเรียนพาณิชย์ อาชีวะ วิทยาลัยครูหลายแห่งเข้ามาร่วมชุมนุมนับหมื่น รวมถึงการชุมนุมที่ขยายไปหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครสวรรค์ มหาสารคาม สงขลา ปัตตานี ฯลฯ โดยส่วนมากจะเริ่มจากจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่และจังหวัดที่มีวิทยาลัยครู 

ที่มา: หนังสืออนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516

การชุมนุมยืดเยื้อไปถึงวันที่ 14 ตุลาคม ประชาชนเคลื่อนขบวนออกจากธรรมศาสตร์และเกิดความโกลาหล ปะทะกันนำไปสู่การนองเลือด จนศูนย์กลางนิสิตฯ ออกแถลงการณ์สลายฝูงชนในวันที่ 15 ตุลาคม และสามทรราชย์ ‘สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส’ เดินทางออกนอกประเทศ และมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์  เป็นนายกฯ พระราชทานหลังจากนั้น

ซากกระทิงสู่เสือดำ ปัญหาอำนาจล้นฟ้าของอภิสิทธิ์ชน

หลังเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกในกรณีการล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรฯ ปี 2516 รูปคดีอยู่ในกระบวนการศาลจนวันที่ 1 กันยายน 2517 ที่ศาลพิพากษาให้พรานแกละ หมื่นจำปา พรานที่เดินทางไปกับคณะ ถูกจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน แต่จำเลยที่เหลือนั้นถูกยกฟ้อง ไม่ได้รับโทษใด ๆ

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่การประกาศให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า นับแต่ 24 เมษายน 2517 เนื้อที่ทั้งหมด 2,000,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี ใน จ.กาญจนบุรี และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จนมาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายหลัง ในปี พ.ศ. 2534 ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 

แม้การต่อสู้ของประชาชนในนามเหตุการณ์ 14 ตุลา จะเป็นที่รู้จักในฐานะการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่ ‘คณะสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส’ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่มีมานานและยังคงมีให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันคือเรื่องการกระทำของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทยที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เฉกเช่นในกรณีล่าสัตว์ป่าที่มีการลักลอบเข้าไปกระทำผิดและกลับพ้นโทษในภายหลัง ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นชนวนปลุกความไม่พอใจของผู้คนให้ออกมาต่อต้าน ขับไล่กลุ่มผู้มีอำนาจที่เป็นเหมือนภาพแทนของ “ความอยุติธรรม” ในสังคม

ตัดภาพกลับมาในปี 2561 หากหลายคนยังจำกันได้ สังคมไทยต้องพบเจอกับข่าวสะเทือนใจอย่าง คดีเสือดำ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ชุดเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเข้าจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกอีก 4 คนขณะตั้งแคมป์พร้อมพบซากสัตว์ป่าคุ้มครองไก่ฟ้าหลังเทา อาวุธปืนที่ใช้ยิงสัตว์  และ ‘ซากเสือดำ’ อย่างน่าสะเทือนใจ โดยนายเปรมถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี 14 เดือน และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท แต่เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ได้รับพิจารณาพักโทษ 51 วันจนครบกำหนดพักโทษเมื่อ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

คำถามที่ตามมาคือจากปี 2516 ถึง 2561 สังคมไทยได้เรียนรู้กับความสูญเสียเหล่านี้อย่างไรบ้าง?

ในข่าวร้ายยังคงมีความโชคดีที่เราได้เห็น ‘ความหวัง’ ในสังคมนี้ผ่านกระแสสังคมที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนทั้งในช่วงปี 2516 อันเป็นชนวนก่อตัวสู่การเคลื่อนไหว 14 ตุลา รวมถึงคดีเสือดำปี 2561 ที่ส่งผลให้คนออกมาประท้วงเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา

แต่อีกหนึ่งคำถามที่ยังคงไม่ได้คำตอบคือ แล้วกระบวนการยุติธรรมในประเทศเรานั้นตรงไปตรงมาแค่ไหน? เสียงของคนในสังคมที่ส่งไปนั้นมีผลกับความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด หรือมันเพียงพอไหมที่จะทำให้ซากกระทิงและซากเสือดำนี้กลายเป็น ‘กรณีสุดท้าย’ ที่จะเกิดขึ้น

อ้างอิง

http://14tula.com/document/2book14tula.pdf

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_830577

https://www.voicetv.co.th/read/B1cq9sUIf?fbclid=IwAR2C0R7frDoclwF4H1RyVq4jyMvpwTDpogfwx_WASqgXoEsecQU826Pj1H0

https://www.facebook.com/Khonanurak/photos/a.178805445568535/455781897870887

https://www.thaipbs.or.th/news/content/279059

https://www.silpa-mag.com/history/article_40175

https://workpointtoday.com/14oct/

https://www.seub.or.th/bloging/into-the-wild/จากป่าทุ่งใหญ่ฯ-สู่ถนนร/

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

สิ่งแวดล้อมกับ “การมูเตลู” มูผิด ชีวิตเปลี่ยน โลกเปลี่ยน

เมื่อการ ‘มูเตลู’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่สามารถสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว

Not Just Labor : งานที่ให้รูปถ่ายในโทรศัพท์เล่าเรื่องแรงงานผ่านความเป็นมนุษย์

มากกว่าการถูกเป็นแรงงาน คือเข้าใจถึงความรู้สึก ความฝัน ความหวังในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

Qualy แบรนด์ที่ชุบชีวิตวัสดุรีไซเคิลและใช้ความคิดสร้างสรรค์พูดแทนธรรมชาติ

เมื่อการผลิตแบบสปอยล์ผู้บริโภคยิ่งเพิ่มขึ้น การผลิตอย่างคิดถึงโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญ

friends & forest: eco space พื้นที่ปลอดภัย ในวันที่โลกรวนมากขึ้นทุกวัน

น้ำท่วมจะกลัวอะไร ถ้าเรามีที่หลบภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม