‘กาแฟเดอม้ง’ แบรนด์กาแฟรักษาป่า จากคนต้นน้ำในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน

“เมล็ดกาแฟไทยที่คุณภาพดีที่สุด” ที่ส่งต่อความอร่อยและความรักและใส่ใจในธรรมชาติที่พวกเขาพึ่งพา

ท่ามกลางบทสนทนาตามร้านกาแฟ หากใครมีโอกาสได้พูดคุยกับฅ.ฅนรักกาแฟ เราเชื่อว่าชื่อของ ‘หมู่บ้านมณีพฤกษ์’ ก็อาจเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาของใครหลายคน  

‘กาแฟเดอม้ง’ (Coffee De Hmong) หนึ่งในเมล็ดกาแฟจากหมู่บ้านมณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน ที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 จากเวที THAI SPECIALTY COFFEE AWARDS 2023 เมื่อปีก่อน ทั้ง 3 สาขา ได้แก่ Washed, Natural และ Honey Process จากงาน Thailand Coffee Fest 2023 ที่ผ่านมา เมื่อได้ยินเช่นนี้จึงทำให้เราสงสัยจนเข้าไปชวนคุยกันว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้พวกเขาปลูกกาแฟจนได้ชื่อว่าเป็น “เมล็ดกาแฟไทยที่คุณภาพดีที่สุด” ทั้ง 3 ด้าน 

เราขอตั้งต้นแนะนำพวกเขาให้ทุกคนได้รู้จักสั้น ๆ ผ่าน ‘คำนิยามตัวเอง’ ของพวกเขาบนแฟนเพจเฟสบุค กาแฟเดอม้ง ที่ว่า

กาแฟปลูกใต้ร่มเงา แบบเกษตรอินทรีย์ กาแฟรักษาป่า เพื่อคนอยู่คู่กับป่าอย่างยั่งยืน

จากการซุ่มติดตามแฟนเพจของพวกเขามาเรื่อย ๆ คำหนึ่งที่เราจะเห็นคุ้นตาคือ  ‘กาแฟจากคนดูแลป่า’ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าอย่างหนึ่งที่กาแฟเดอม้งไม่ได้มองตัวเองเป็นเพียงแบรนด์ที่ส่งต่อเมล็ดกาแฟถึงมือผู้ดื่มด่ำและคิดถึงแต่กำไร หากแต่ยังมองถึงคุณค่าต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนบ้านเกิด

นอกเหนือจากรสชาติที่นุ่มลึกของเมล็ดกาแฟเดอม้ง เราเชื่อว่าสตอรี่ของเมล็ดกาแฟเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน หากได้รู้จักกันเพิ่มอีกนิด ทำความเข้าใจกันอีกหน่อย อาจทำให้คุณยิ่งรู้สึกดีกับแก้วกาแฟตรงหน้าไม่น้อย

Photo: Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง/FB

Made in ดอยมณีพฤกษ์ by ชาวม้ง

กาแฟเดอม้งนี้ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟเดอม้งมณีพฤกษ์ที่ตั้งขึ้นในพื้นที่ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน โดยมีพี่วิชัย กำเนิดมงคล ชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่ที่นี่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจนี้ในชุมชน โดยนำความสนใจและความถนัดที่ร่ำเรียนมาต่อยอดผนวกกับศักยภาพของพืชผักในชุมชนอย่างกาแฟที่มีอยู่แล้วหลากหลายสายพันธุ์ รวมถึงสภาพพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกกาแฟเป็นอย่างยิ่ง

กุญแจสำคัญคือระบบนิเวศที่สมบูรณ์และความพิถีพิถันที่ช่วยบ่มเพาะเสน่ห์แห่งเมล็ดกาแฟ

พี่วิชัย เล่าถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเป็นกาแฟบ้านมณีพฤกษ์ว่า อย่างแรกคือระบบนิเวศและพื้นที่ป่าที่ดี ยิ่งปริมาณต้นไม้สมบูรณ์ก็จะยิ่งส่งผลให้ความชื้นในดินเหมาะสม รวมถึงปริมาณแสงแดดที่มากพอ องค์ประกอบรวมพวกนี้จะเป็นระบบนิเวศที่ส่งผลโดยตรงกับรสชาติของกาแฟ

อย่างที่สองคือกระบวนการการเก็บกาแฟ เพราะการเก็บรักษาที่ดีทำให้เกิดกลิ่นและรสในระหว่างการคั่ว ด้วยการตากเมล็ดกาแฟด้วยอุณหภูมิที่ไม่สูงเกินไปและต้องตากด้วยลม เพื่อคงสภาพโปรตีน และคาร์โบไฮเดรตในเมล็ด ไม่ให้สูญเสียไปกับความร้อน กาแฟที่เก็บและ Process จะต้องบ่มไว้อีกประมาณ 4 เดือน เพื่อให้ความชื้นในเมล็ดเท่ากัน เพราะการตากกาแฟไว้มันจะมีทั้งโดนแดดบ้างไม่โดนแดดบ้าง ทำให้ความชื้นไม่เท่ากัน เมื่อนำมาคั่ว บริเวณที่ความชื้นต่ำจะไหม้ก่อน ส่วนตรงไหนที่ความชื้นสูงก็จะไม่สุก เพราะฉะนั้น กระบวนการของบ้านมณีพฤกษ์ จะมีการบ่มเมล็ดไว้ประมาณ 4 เดือนให้ความชื้นมันกระจายตัวให้มันให้มันเท่ากัน

ซึ่งอีกความได้เปรียบของกาแฟที่นี่ คือที่ที่ปลูกอยู่บนดอย อากาศค่อนข้างหนาวเหมาะกับการทำกาแฟ รวมไปถึงกรรมวิธีในการหมักกาแฟต้องหมักที่อุณหภูมิต่ำ เพราะเชื้อจุลินทรีย์และยีสต์ที่ทำงานในอุณหภูมิต่ำจะให้กลิ่นรสที่ดี จึงเป็นเหตุผลที่ว่าการทำกาแฟ ‘ในเมือง’ จะต้องสร้างห้องมักขึ้นมาเพราะว่าอุณหภูมิมันสูง จึงต้องสร้างห้องเย็นขึ้นมาหมัก

Photo: Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง/FB

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย 

แต่ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอนอีกเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศที่เรารู้กันว่าแปรปรวนมากขึ้นในทุก ๆ วัน ทุก ๆ นาที ทั้งอากาศที่แห้ง แล้ง หรือหนาวจัดต่างจากเดิม สิ่งนี้ส่งผลต่อเมล็ดกาแฟ ซึ่งจะส่งผลทั้งในแง่ราคาที่พุ่งสูงขึ้นและรสชาติที่เปลี่ยนไป 

เมื่ออากาศร้อนขึ้น จากกาแฟที่เคยสุกช้าก็จะสุกไวขึ้น ในสภาวะปกติที่อากาศเย็นพอ เมล็ดกาแฟจะบ่มสุกนานกว่า ดูดซับสารอาหารได้ดีกว่า รวมถึงเรื่องของโรคและแมลงที่ไม่เคยมี ก็จะกลับมามี หรือความชุ่มชื้นในดินที่มีก็จะหายไป ส่งผลต่อรสชาติของกาแฟให้ต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งกลิ่นและสัมผัสเวลาดื่มที่ดีก็อาจหายไป อย่างเรื่องของเวลาการสุกงอมของเมล็ดกาแฟ แทนที่จะสุกตามวัย แต่เมื่อสุกไวขึ้น ความหนาแน่นในเมล็ดกาแฟก็หาย 

เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจใครธุรกิจหนึ่ง แต่เป็นวาระสำคัญที่ต้องใส่ใจให้มาก ทั้งสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ และชาวไร่ชาวนาที่ปลูกพืชผลชนิดอื่น เพราะอย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดเป็นผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

Photo: Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง/FB

ด้วยความที่เห็นปัญหาเหล่านี้กองอยู่ตรงหน้าแล้ว การก่อตัวขึ้นของ ‘กาแฟเดอม้ง’ จึงไม่ใช่แค่การตักตวงผลผลิตจากธรรมชาติแล้วจบ หากแต่เน้นแนวทางการทำการเกษตรแบบปราณีต ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ใส่ใจคนในชุมชน มุ่งเน้นที่คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ 

คุณค่าของความเป็นกาแฟเดอม้งพี่วิชัยเล่าว่า พวกเขามีความตั้งใจที่จะใช้ผลิตภัณฑ์กาแฟนี้แหละเป็นตัวกระตุ้นชุมชนให้หันมาดูแลพื้นที่ป่า หันมามองเรื่องความยั่งยืน และหันมาใส่ความปราณีตลงไปในการทำเกษตรมากขึ้น  

Photo: Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง/FB
Photo: Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง/FB

จากเดิมในหมู่บ้านแห่งนี้มีการปลูกกาแฟอยู่ที่ประมาณ 10% ในความตั้งใจของพี่วิชัยนั้นอยากจะผลักดันเรื่องกาแฟในชุมชนไปให้ถึง 20% เพราะชาวบ้านที่นี่ยังมีที่ปลูกขิงและกะหล่ำปลีเป็นอาชีพหลักอยู่ด้วย ซึ่งการที่กาแฟเดอม้งมีชื่อเสียงมากขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น เขาก็หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ผู้คนในชุมชนเห็นถึงลู่ทางความสำเร็จและการเติบโตของเศรษฐกิจในชุมชนที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการทำเกษตรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ได้

แต่ก็ต้องยอมรับการวาดฝันมันง่าย จากก้าวแรกที่เขาเรียนรู้ที่จะปลูกกาแฟและจำหน่ายตั้งแต่ปี 2558 จบจนปัจจุบันก็นับเป็นเวลาเกือบสิบปี สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นจากการเดินทางของกาแฟเดอม้งคือ การเติบโตที่ดึงคนรอบข้างไปด้วยกัน ด้วยความตระหนักและรู้คุณค่าของคุณธรรมชาติที่พวกเขาพึ่งพาอาศัย การดูแลป่าต้นน้ำในพื้นที่บ้านเกิด รวมถึงการลงทุนกับทรัพยากรบุคคลในชุมชนที่ผลักดันให้คนที่มีใจรักการทำกาแฟได้เรียนรู้และเติบโตได้ด้วยตัวเอง จนนำไปสู่ระบบนิเวศทางธุรกิจในชุมชนที่แข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ 

หากถามว่าความสำคัญของรางวัลที่พวกเขาได้มานี้มันมีคุณค่าในเชิงไหน พี่วิชัยก็ฉายภาพให้เราเห็นชัดเจนมากกว่าเรื่องของชื่อเสียง ความสำเร็จ หรือการเป็นเครื่องพิสูจน์ตีฝีมือของพวกเขา 

 “เราหวังว่าระวังที่รางวัลที่เราได้รับมาจะเป็นแรงกระตุ้นไม่ใช่เฉพาะแค่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ แต่จะเป็นแรงกระตุ้นให้ทุก ๆ หมู่บ้านหันมาทำกาแฟอินทรีย์ เพื่อส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างและรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำให้คนทั้งประเทศได้ใช้กัน” 

——————

ติดตามและสนับสนุนกาแฟเดอม้ง ได้ที่

✱ Facebook Fanpage: Coffee De Hmong กาแฟเดอม้ง

✱ 265 ม.11 ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน

✱ 063 562 6696

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

สักวันหนึ่งเราจะไม่มีปลาทูไทยกิน

ปลาทูเป็นอาหารจานคุ้นเคยที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ทุกวันนี้ปลาทูที่เรากินอาจเป็นปลาทูที่อิมพอร์ตเข้ามา เพราะว่าปลาทูไทยกำลังจะหายไปตลอดกาล

How to แก้ปัญหาฉบับไทย ๆ ทำยังไงกับเหล่าเอเลี่ยนสปีชีส์?

ไล่ก็ไม่ได้ กินก็ไม่ไหว พลิกวิกฤตยังไงล่ะทีนี้?

คุณกำลังรักความเป็นระเบียบหรืออยู่ในวังวน Perfectionism เกิดเหตุรึเปล่า? 

พฤติกรรมที่คอยกวนใจ ผลาญพลังงานเราไปเท่าไหร่กับคำว่า ต้องเป๊ะ ต้องปัง

สารคดี ‘Lost in Mekong’ กับจิตวิญญาณแห่งแม่โขงที่กำลังจางหาย 

การเข้ามาของเขื่อนไฟฟ้าที่กระทบทุกสรรพสิ่ง