Trophy Hunting ธุรกิจทำเงิน บนความทุกข์ของสัตว์ป่า

เป็นที่รู้กันดีว่าปัญหาการล่าสัตว์ เป็นภัยคุกคามทำให้เพื่อนร่วมโลกหลาย ๆ สายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ยิ่งกว่าปัจจัยอื่น ๆ

เป็นที่รู้กันดีว่าปัญหาการล่าสัตว์ เป็นภัยคุกคามทำให้เพื่อนร่วมโลกหลาย ๆ สายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ยิ่งกว่าปัจจัยอื่น ๆ

แต่ทุกวันนี้บางประเทศก็ยังอนุญาตให้ผู้คนเข้าไปล่าสัตว์ได้อย่างถูกกฎหมาย และยังให้นำชิ้นส่วนของสัตว์กลับบ้านไปเป็น “รางวัล” ได้อีก เลยเป็นที่มาของคำว่า Trophy Hunting

Trophy Hunting หรือการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงประเภทหนึ่ง คือการล่าสัตว์เพื่อนำหัว หนัง หรือส่วนต่าง ๆ กลับไปเป็นของรางวัลหรือของที่ระลึก ส่วนใหญ่มักจะเป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ซึ่งหายากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะ “เจ้าป่าทั้งห้า” ที่ในวงการนักล่าจะเรียกว่า Big Game ได้แก่ สิงโต เสือดาว ช้าง แรด และควายป่า หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์

ใช่ อ่านกันไม่ผิดแล้ว ในบางประเทศอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ได้ แถมยังได้รับการรับรองจากไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species หรือ CITES) อีกด้วย โดยธุรกิจแบบนี้ส่วนใหญ่จะพบได้เยอะในประเทศแถบแอฟริกา

จากสถิติตั้งแต่ปี 2005-2014 สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ก็นำเข้าชิ้นส่วนสัตว์จากการล่าไปกว่า 1.26 ล้านชิ้นแล้ว ถ้าจะให้เฉลี่ยก็ตกปีละ 126,000 ชิ้น ตั้งแต่ปี 2008-2017 ชิ้นส่วนช้างแอฟริกาเกือบ 40,000 ชิ้น ชิ้นส่วนเสือดาว 8,000 ชิ้น และชิ้นส่วนสิงโตแอฟริกากว่า 14,000 ชิ้น ถูกส่งออกไปทั่วโลก

สำหรับประเทศที่เปิดให้ล่า การล่าสัตว์แบบ Trophy Hunting ถือเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้พวกเขามหาศาล เพราะเหล่าเศรษฐีจะต้องนำเงินมาเปย์ เช่น การล่าสิงโตมีราคาเริ่มต้นที่เกือบ 1.5 ล้านบาท และอาจจะสูงสุดถึง 6.3 ล้านบาท โดยที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากจะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อไปล่าสัตว์แล้ว ขั้นตอนการล่าสัตว์นั้นไม่ได้ง่ายแค่จ่ายเงินแล้วจะออกไปล่าได้เลย แต่ยังมีขั้นตอนขอใบอนุญาตอีกมากมาย เช่น ใครอยากล่าสัตว์ในประเทศแทนซาเนียจะต้องล่าในช่วงที่กำหนด ขอใบอนุญาตแจ้งระยะเวลาที่จะล่าสัตว์ ที่สำคัญสัตว์ที่จะล่าได้จะต้องเป็นสายพันธุ์ที่กำหนดในใบอนุญาตเท่านั้น รวมถึงยังมีข้อกำหนดยิบย่อยอีกเพียบ

ซึ่งเรื่องเงินที่สะพัดเข้ามานี้มักเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่คนจะยกกันขึ้นมาสนับสนุนการล่า และมีการชี้แจงต่อว่าเงินจำนวนมากที่จะกระจายไปยังสู่ชุมชน เจ้าหน้าที่คุ้มครองสัตว์ป่า ไปจนถึงการใช้พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์แทนที่การทำเกษตรกรรม

ถึงแม้ว่าหลักการนี้จะดูมีเหตุผล แต่เงินที่เหล่าเศรษฐียอมจ่ายเพื่อแลกกับรางวัลของพวกเขา ก็ยังไม่ชัดเจนว่าถูกนำไปใช้กับโปรเจกต์อนุรักษ์สัตว์อย่างเหมาะสมและยั่งยืนหรือไม่ เนื่องจากไม่มีผู้ตรวจสอบ รวมถึงบริษัททัวร์ล่าสัตว์ก็ยังให้ความร่วมมือกับชุมชนน้อยมาก

จากรายงานของสภาระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า (International Council for Game and Wildlife Conservation) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN Food and Agriculture Organization) บริษัททัวร์ล่าสัตว์แบ่งรายได้จากการล่าให้กับท้องถิ่นเพียง 3% เท่านั้น ที่สำคัญยังไม่มีงานวิจัยไหนที่พิสูจน์ว่าเงินจากทริปล่าสัตว์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกับโครงการอนุรักษ์สัตว์ได้

ทางด้าน WWF (World Wide Fund for Nature) หรือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลมองว่า Trophy Hunting มีโอกาสที่จะส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจริง แต่จะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และจะต้องแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าส่งผลดีต่อทั้งชุมชนและงานอนุรักษ์สัตว์

ถึงแม้ว่าการล่าสัตว์แบบ Trophy Hunting อย่างถูกกฎหมาย จะมีค่าใช้จ่ายสูง และข้อกำหนดเยอะแยะมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากการล่าสัตว์ยังถูกกฎหมายอยู่ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ทั้งหลายก็ยังมีความเสี่ยงมากอยู่ดี เพราะเป้าหมายของนักล่าส่วนใหญ่ก็มักจะต้องเป็นสัตว์หายากอยู่แล้ว

จากรายงานในปี 2019 พบว่าพื้นที่ล่าสัตว์ใหญ่ในแซมเบียกว่า 40% และในแทนซาเนียกว่า 72% กำลังกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เนื่องจากยังมีการล่าสัตว์ใหญ่หายากอยู่

คิดว่าดีไหม (หรือเป็นไปได้ไหม) ที่เงินจากการล่าสัตว์ จะนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ และสนับสนุนคนในท้องถิ่น

หรือจะดีกว่าไหม… หากไม่มีเหยื่อผู้บริสุทธิ์ตัวใดจะต้องถูกล่า เพียงเพราะมนุษย์อยากได้ “รางวัล” กลับบ้าน

ที่มา

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

เขื่อนแก่งเสือเต้น ทาง(ไม่)ออก น้ำท่วมลุ่มน้ำยม

การสร้าง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ถูกปลุกให้ตื่น หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แล้วมันจะแก้ปัญหาได้ จริงหรือไม่

สิ่งแวดล้อมกับ… วังวนมลพิษ ที่ผังเมืองลิขิตไว้ 

‘กรุงเทพ.. เมืองเทพสร้าง’ ที่การวางผังเมือง และทิศทางการพัฒนาไม่ได้เป็นไปดั่งใจเทพเสียเท่าไหร่

‘Local Alike’ ธุรกิจท่องเที่ยวที่หยิบวิถีชุมชนมาให้คนไปเรียนรู้มากกว่าเสพย์ความสวยงามให้ตื่นตาตื่นใจ

โจทย์คือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้าใจวิถีชุมชน มากกว่าเป็นความตื่นตาตื่นใจแล้วจบ

ดิน ทราย และโคลนเปื้อน ๆ ดีต่อสุขภาพของเด็ก

การให้เด็ก ๆ ได้อยู่กับธรรมชาติ เล่นดิน เล่นทราย ลุยโคลน อยู่กับต้นไม้บางครั้งบางคราวช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันและดีต่อสุขภาพภายใน 1 เดือน