ก่อนหน้านี้ในพื้นที่ของ อ.สันติสุข จ.น่าน มีการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งไม่ใช่พืชท้องถิ่นของ อ.สันติสุข ส่งผลให้ดินบริเวณของชุมชนขาดแร่ธาตุ หน้าดินเสีย ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นหรือคุณภาพต่ำ ทำให้ชาวเกษตรกรสูญเสียรายได้หรือมีรายได้น้อย
โครงการ ‘ต้นไม้ของเรา’ หรือ Trees4All ภายใต้รีคอฟ (RECOFTC) องค์กรไม่แสวงผลกำไร ผู้เชี่ยวชาญด้านวนศาสตร์ชุมชน เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 กับการระดมทุนปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่า ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพ พร้อมมุ่งหวังสร้างแหล่งรายได้ใหม่ให้คนในชุมชน ณ อ.สันติสุข จ.น่าน
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ทางรีคอฟได้พาเราไปลงพื้นที่ติดตามผลของโครงการ ณ แปลงเกษตรและเรือนเพาะชำของเกษตรกรในท้องที่ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อ.สันติสุข จ.น่าน มีเกษตรกรในโครงการ 97 รายที่ปลูกและดูแลไม้ยืนต้นในแปลง คทช. ของตนเองไปแล้วถึง 12,532 ต้น และในปีนี้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 76 ราย
จากการลงพื้นที่ติดตามผลของโครงการ ทำให้เราทราบว่าเกษตรกรในพื้นที่ อ.สันติสุข ได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและช่วยฟื้นฟูที่ดิน คทช. ที่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรม เช่น ต้นยางนาที่สามารถให้เห็ด ต้นสมอไทยที่ให้ผล ทั้งยังเริ่มส่งเสริมการทำปศุสัตว์เศรษฐกิจในแปลงปลูกอย่างการเลี้ยงผึ้งชันโรง
ชันโรงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะเข้ามาช่วยฟื้นฟูป่าไม้ ด้วยธรรมชาติของชันโรงที่จะช่วยผสมเกสรดอกไม้เช่นเดียวกับผึ้ง ทำให้พืชพรรณสามารถเติบโตได้ และผลผลิตอย่างน้ำผึ้งจากชันโรงก็มีแร่ธาตุที่สูง ทำให้ราคาของน้ำผึ้งชันโรงสูง จึงสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกทาง
นอกจากนี้ เกษตรกรยังเลือกปลูกพืชอีกหลายชนิดในแปลง โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น ทุเรียน โดยพันธ์ุที่มีการปลูกมี 2 พันธุ์ด้วยกัน คือ พวงมณีและหมอนทอง โกโก้ แก้วมังกร และส้มโอ รวมถึงพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างยางพารา
แม้ผลผลิตทางการเกษตรจะเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่ก็ยังไม่ใช่ปลายทางในการสร้างรายได้และแรงจูงใจที่จะช่วยให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชหลากหลายมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูป่า โครงการต้นไม้ของเรายังคำนึงถึง ‘ตลาด’ ซึ่งจะตอบเป้าหมายในการสร้างอาชีพอย่างแท้จริงและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเกษตรกรไปอีกขั้น ก้าวต่อไปที่สำคัญเพื่อฟื้นฟูป่าและชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นการหาตลาดและทำ ‘การตลาด’ ให้กับชุมชน
ขณะนี้เกษตรกรยังกังวลเรื่องช่องทางซื้อ – ขาย
โดย 1 ในเกษตรกรผู้ปลูก ‘โกโก้’ ได้เล่าว่า ตนต้องผันตัวเองจากสถานะ ‘ผู้ปลูก’ เป็น ‘ผู้ประกอบการ’ เพราะเดิมทีพื้นที่ จ.น่าน แม้จะปลูกโกโก้ได้ แต่ยังขาดผู้รับซื้อ เขาจึงจำเป็นต้องผันตัวมาเป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อที่คนในชุมชนจะสามารถมีรายได้ และไม่ถูกกดราคาจากกลุ่มนักลงทุน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โกโก้ม่วงพญาภูดอย เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตในตลาดได้สูง เนื่องจากเอกลักษณ์สำคัญอย่าง ‘สีม่วง’ ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์จากโกโก้ของชุมชน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่ปลูกโกโก้ เพราะโกโก้ที่ได้รับสารอาหารที่มากพอตามธรรมชาติจะเป็น ‘สีม่วง’
รีคอฟเล็งเห็นความสำคัญของช่องทางซื้อ – ขาย หรือตลาด เพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรไม่สูญเปล่า ภายในงานแถลงความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายในอ.สันติสุข เพื่อยกระดับการฟื้นฟูพื้นที่คทช. และชีวิตของชุมชน เมื่อวันที่ 16 ก.ค. จึงได้มีโซนพูดคุยประเด็นด้านการตลาดอย่างจริงจัง โดยชาวเกษตรกรกล่าวว่าตัวโครงการสามารถสร้างความมั่นใจในการประกอบอาชีพระยะยาวได้ เนื่องจากรีคอฟ ไม่ใช่แค่นำต้นไม้มาปลูกแล้วจากไป แต่ยังสร้างรากฐานสำคัญอย่างการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพืชท้องถิ่น การดูแลต้นไม้หลังปลูก การทำปศุสัตว์ การเพาะต้นกล้า และช่องทางซื้อขาย
นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรในโครงการได้บอกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับซื้อขาย ทุกวันนี้รายได้ส่วนหนึ่งก็มาจากการไลฟ์ขายของบน TikTok หรือ Facebook
คุณวรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อำนวยการรีคอฟ ประเทศไทย ได้เล่าว่าแนวทางต่อไป คือ ‘สร้างการรับรู้’ โดยสื่อมวลชนเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการรับรู้จากคนภายนอก เนื่องจากถ้าทำให้คนนอกพื้นที่สามารถรับรู้ถึงศักยภาพของผลผลิตจากเกษตรกรในโครงการได้ นอกจากจะประชาสัมพันธ์ตัวโครงการแล้ว ยังเสมือนเป็นโฆษณาชิ้นดีให้กับชาวชุมชน อาจนำไปสู่การเปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกร
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือความร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เพื่อสร้างตัวตนและเอกลักษณ์ให้กับผลผลิตจากเกษตรกร อ.สันติสุข และชูจุดเด่นให้แตกต่างและดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้น เช่น
– ช็อกโกแลตสีม่วงที่ไม่แต่งสีเป็นผลผลิตธรรมชาติจากต้นโกโก้ของน่าน
– ผลผลิตทางเกษตรปลอดสารพิษ 100%
– น้ำผึ้งของชันโรงจากเกสรดอกไม้ในท้องถิ่น
ท้ายที่สุด ‘ต้นไม้ของเรา’ ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เข้ามาส่งเสริมอาชีพ แหล่งรายได้ รวมไปถึงคืนความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ป่าของชุมชน ทั้งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยผู้บริจาคเงินสนับสนุนโครงการสามารถติดตามความคืบหน้าและการเติบโตของต้นไม้ทาง trees4allthailand.org เพื่อตอกย้ำอุดมการณ์ที่ ‘ป่ากับคน’ เติบโตไปด้วยกันได้