ชวนรู้จักแอปฯ ‘iNaturalist’ ตัวช่วยทำความรู้จักระบบนิเวศรอบตัวให้กว้างขึ้น อีกทั้งยังให้ AI ช่วยระบุชื่อสิ่งมีชีวิตที่เราพบเจอได้!
แอปฯ iNaturalist นี้พัฒนาโดย National Geographic และ California Academy of Sciences มาให้พวกเราได้โหลดฟรี ใช้ฟรีกันได้ตามสะดวกได้เลย แอปนี้ชวนให้เราทั้งได้ทำความรู้จัก สำรวจระบบนิเวศใกล้ตัวและทั่วโลก รวมถึงทำตัวเป็นนัก ‘สืบ’ ถ่ายรูปสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นลงในแอปฯ เพื่อหาชื่อของเจ้าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นและเป็นการบันทึกข้อมูลว่ามีสิ่งมีชีวิตนี้อยู่ในพื้นที่สภาพแวดล้อมตรงนี้ด้วย
ภาพรวมของแอปต้องบอกว่าใช้ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน และฐานข้อมูลแน่นมาก! สมกับเป็น Big Data ระบบนิเวศทั่วโลก ใครที่อยากรู้ว่าใช้ยังไงก็เตรียมโหลดแอปฯ iNaturalist มาให้พร้อมแล้วไปลองใช้กันเลย!

สืบ สืบ สืบ! เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว (มั้ง) แอปฯ นี้บอกชื่อสายพันธุ์จากรูปถ่ายได้
ฟังก์ชั่นหนึ่งที่น่าสนใจของแอปฯ นี้คือการที่ระบบ AI สามารถระบุชื่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้ผ่านรูปหรือเสียงที่เราอัพโหลดลงไป ซึ่งเราก็สามารถอัพภาพได้มากกว่า 1 ภาพนะเธอ เยอะ ๆ ปัง ๆ รัว ๆ เลยก็ได้ เพื่อความแม่นยำ ยิ่งเราถ่ายรูปให้เห็นรายละเอียดเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการจับคู่ข้อมูลสายพันธุ์กับฐานข้อมูลที่เคยมีอยู่มากเท่านั้น
เมื่อเราอัพโหลดภาพแล้ว แอปฯ ก็จะบังคับให้กรอกข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อบันทึกไว้อยู่ในฐานข้อมูล และรูปภาพ จะถามว่า ‘What did you see?’ หรือประเภทสิ่งมีชีวิตที่เราอัพไปนั่นเองว่าคืออะไร หากรู้ชื่ออยู่แล้วเราก็สามารถกรอกไปได้เลย แต่หากยังไม่แน่ใจหรือไม่รู้ ก็สามารถกด View Suggestion เพื่อดูคำแนะนำจากระบบ AI ที่ลองแมตช์มาให้เราก็ได้ ก็จะพบกับสายพันธุ์ที่ใช่หรือใกล้เคียงมากมาย ขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลที่มีและรายละเอียดภาพที่เราอัพโหลดไปด้วย
แล้วคนเขาอัพโหลดรูปอะไรกัน?
อย่างที่เราบอกไปว่าผู้คนอัพกันหลากหลายมากทั้งพืชและสัตว์ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นที่นิยมหรือคนมักหลีกเลี่ยงคือการอัพโหลดภาพของน้อง ๆ หมาแมวสัตว์เลี้ยงในบ้าน เพราะอาจไม่ได้ข้อมูลเท่าที่ควร เมื่อลองอัพแล้วเนี่ยก็อาจจะได้คำตอบเพียงแค่ว่า ‘Domestic Dog’ หรือสุนัขบ้าน อะไรทำนองนี้ ที่สำคัญก็อาจไม่ตรงกับจุดประสงค์ของแอปฯ ที่ต้องการบันทึกข้อมูลความหลากหลายในธรรมชาติมากกว่าสัตว์เลี้ยงในระบบปิด

ส่อง ส่อง ส่อง! ตามไปดูกรุงเทพฯ ทุกซอกทุกมุม ส่องสิ่งมีชีวิตทั่วกรุงเทพฯได้
อยากดูสิ่งมีชีวิตตรงไหนก็เอาแผนที่มากางกันได้เลยจ่ะ! ส่องในที่นี้เราขอแบ่งออกเป็น 2 ฟังก์ชั่น ส่องแรกคือ #ส่องตามโลเคชั่น ในเมนูหน้า ‘Explore’ ที่ให้เราส่องสิ่งมีชีวิตได้ตามโลเคชั่นฟีล Google Map แล้วเราก็ไถ ๆ ดูได้เลย โดยในแมปก็จะมีหมุดขึ้นว่าตรงไหนที่มีสิ่งมีชีวิตถูกบันทึกเอาไว้บ้าง ข้อดีอย่างหนึ่งคือเราว่าฐานข้อมูลมันกว้างมาก (ตอนแรกก็แอบคิดว่าจะไม่คนไทยเล่นเยอะไหม เพราะเราไม่คุ้นเคยชื่อ) แต่ก็พบว่ามีเยอะและหลากหลายมากนะเออ ตื่นเต้นเหมือนตอนเล่น Hi5 ใหม่ ๆ เลย ฮ่าๆๆ ที่นี้ก็ส่องได้ทั่วเมือง ทั่วประเทศ ทั่วโลกกันไปเลย
สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากคือ มันทำให้เห็นสภาพแวดล้อมในระแวกชุมชนเราได้ระดับหนึ่งเลย เช่น บ้านเดี้ยนเองอยู่ติดริมคลองซะมาก แต่ปัจจุบันสวนหายไปกลายเป็นที่ท่องเที่ยว สร้างคอนโดซะเยอะ เลยคิดว่าความอุดมสมบูรณ์คงเปลี่ยนไป แต่พอลองจิ้มในแมปแถวบ้านก็ยังเห็นคนมาอัพภาพน้องตัวเงินตัวทองเอาไว้หลายที่อยู่เหมือนกัน ทำให้ยังพออุ่นใจได้ว่าแถวบ้านก็ยังสมบูรณ์พอที่จะเป็นแหล่งอาศัยของน้อง ๆ เขาอยู่นะ แหะ ๆ
ต่อมา #ส่องตามกรุ้ป ในหน้า ‘Projects’ ที่จะมีการรวบรวมกรุ้ปต่าง ๆ เอาไว้เพื่อให้เราสามารถเข้าไปดูตามความสนใจได้ เช่น ‘Urbandiversity in Bangkok’ ที่รวมความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองกรุงเต้บเอาไว้ , ‘Butterfiles of Thailand’ ที่รวบรวมผีเสื้อทั่วประเทศ ไปจนถึง ‘Species in Trade’ ของ WWF ที่ชาวเน็ตส่งภาพกันมาเพื่อรวบรวมสัตว์ป่าและสัตว์แปลก ๆ ที่ถูกนำมาค้าขายนั่นเอง

สำรวจ สำรวจ สำรวจ! เป็นนักสำรวจช่วยกันระบุชนิดพันธุ์ได้
นอกจากความเป็นมิตร ใช้งานง่ายของแอปนี้แล้ว สิ่งที่เราชอบคือฐานข้อมูลและผู้ใช้งานที่หลากหลาย คอยช่วยเราสำรวจธรรมชาติไปด้วยกันนี่แหละ ในขั้นตอนการอัพโหลดรูปสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เนี่ย หลายคนน่าจะจำกันได้ว่าเขามีช่องให้กรอกว่าสิ่งมีชีวิตประเภทนี้คืออะไร? ซึ่งถ้าเราไม่รู้จริง ๆ ชาวแอปฯ ก็ช่วยตอบให้ได้ค่ะ!
อย่างที่บอกคือการระบุสิ่งมีชีวิตนั้นจะมี 2 แบบคือ AI ช่วยบอกให้ โดยประมวลภาพที่เราถ่ายเข้ากับฐานข้อมูลที่มี และอีกแบบคือ ชาวแอปฯ ช่วยตอบ เวลาเราอัพโหลดข้อมูลอะไรไปก็จะมีเพื่อน ๆ คอยเข้ามาตอบ แสดงความเห็นกันว่านั่นคือสิ่งมีชีวิตอะไร (จากตอนแรกที่ดิชั้นคิดว่าจะถูกหมางเมิน แต่เพียงก็ไม่กี่ชั่วโมงก็มีคนมาตอบแล้วเหมือนกัน!) ซึ่งตรงนี้เราก็สามารถไปคอมเมนท์ในโพสต์ของคนอื่น ๆ ได้เหมือนกันนะ
ยิ่งไปกว่านั้นคือ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดไม่ว่าเราจะเจอเองหรือที่คนอื่นโพสต์ไว้ เราก็สามารถสำรวจข้อมูลของมันได้เหมือนกัน เมื่อกดเข้าไปแล้วก็จะพบกับแผนที่โลกที่ระบุไว้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ปัจจุบันมีอยู่ในพื้นที่ประเทศไหน ทวีปใดบ้าง
แต่ ๆ ทั้งนี้ก็จะมีบางจุดที่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง เช่น การระบุชื่อสายพันธุ์ส่วนมากนั้นจะเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เราไม่คุ้นชินและนำมาเชื่อมโยงกับชื่อภาษาไทยยากซะหน่อย และที่สำคัญตัวแอปฯ ยังเป็นภาษาอังกฤษล้วน ไม่มีรองรับภาษาไทยน้า (แต่ก็ไม่ต้องกังวลเพราะแอปฯ ไม่ซับซ้อน เรียนรู้แปปเดียวก็คล่องแน่นอน!)
ใครที่ใช้แล้วก็อย่าลืมมาแชร์ประสบการณ์หรือฟีดแบคกันบ้างน้า รอฟังรีวิวของเพื่อน ๆ อยู่!
ท้ายที่สุดแล้ว ในชีวิตประจำวันนับตั้งแต่ตื่น-ทำงาน-เดินออกจากบ้าน-กลับมานอน เราอาจไม่ทันได้สังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตรอบข้าง หรือแทบจะละเลยแบบไม่ได้ตั้งใจไปเลยว่า ‘แถวบ้านเราอุดมสมบูรณ์ขนาดนี้เลยหรอ’ ซึ่งเจ้า iNaturalist นี้ก็จะเข้ามาเป็นเพื่อนอีกคนที่ทำให้เราได้เห็นว่าจริง ๆ แล้ว รอบตัวเรามีความหลากหลายมากกว่าที่คิด แม้จะเป็นในซอกหลืบพื้นที่เมืองก็ตาม เพราะฉะนั้นอย่าลืมที่จะสังเกตและรักษาธรรมชาติเหล่านี้เอาไว้นะ