หากใครเป็นแฟนเพลงแนวอินดี้โฟล์คร็อค เราเชื่อว่าเพลงของพวกเขาต้องเคยผ่านหูคุณมาบ้างล่ะ อาจจะมีเจ้าอัลกอริทึมจากยูทูปเป็นกามเทพแนะนำมา หรือบังเอิญได้ยินตามร้านกาแฟช่วงหน้าหนาวก็เป็นได้ แต่ แต่ แม้ครั้งแรกอาจเป็นเรื่องไม่ตั้งใจ แต่ครั้งถัดไป เราเชื่อว่าบทเพลงของ The Paper Kites จะเข้าไปอยู่ในลิสต์เพลงโปรดของพวกคุณแน่นอน
แม้จะเคยฟังบทเพลงของพวกเขาบนโลกออนไลน์มาหลายครั้งนับไม่ถ้วน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบรรยากาศ เสียงเพลง และภาพที่อยู่ตรงหน้าในงาน Pelupo Festival 2025 ยิ่งเพิ่มความอิ่มเอมใจ พาเราหลงใหลไปในบทเพลงที่เปลี่ยนอากาศที่ร้อนระอุของเมืองไทยให้กลายเป็นความเย็นสบายคล้ายฤดูใบไม้ร่วงได้อย่างไร้ที่ติ เอ้ย! แต่ของไทยก็ขอเป็นปลายฝนต้นหนาวก็แล้วกัน : )
การเดินทางจากอัลบั้มแรกในปี 2010 จนวันนี้ The Paper Kites ได้เดินทางผ่านเส้นทางแห่งเสียงเพลงที่อบอุ่นและลึกซึ้งมาถึง 6 อัลบั้มในปัจจุบัน โดยสมาชิกประกอบไปด้วย 5 คน ได้แก่ Sam Bentley, Christina Lacy, David Powys, Sam Rasmussen และ Josh Bentley โดยทุกเนื้อร้อง ทุกทำนองที่ได้ยินล้วนสะท้อนความคิดและความรู้สึกจากสองสมาชิกหลักอย่าง Sam Bentley และ Christina Lacy ที่บอกเล่าเรื่องราวระหว่างทางของพวกเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ธรรมชาติ | แรงบันดาลใจ | การสร้างสรรค์บทเพลง
เลซี่: “ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นคือเรารู้จักกันตั้งแต่สมัยมัธยมเลยค่ะ ฉันกับแซมสนิทกันก่อนแล้วเราก็ทำเพลงด้วยกัน หลังจากนั้นก็มี แซม เดวิด และจอร์ชเข้ามา ส่วนในพาร์ทของการแต่งเพลงก็เป็นฉันและแซมที่แต่งด้วยกัน แซมจะเป็นคนแต่งเพลงหลัก แล้วเราก็จะคอยมาเวิร์คด้วยกันบ้างเมื่อมีโอกาส”
ความน่ารักอย่างหนึ่งคือการที่เราได้รู้ว่าสมาชิกในวงล้วนรู้จักกันมาก่อน และพวกเขาทั้งหมดก็เป็นชาวเมลเบิร์น เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีธรรมชาติที่สวยงามและความหลากหลายทางวัฒนธรรม คำถามหนึ่งที่เราอดสงสัยไม่ได้คือ ในออสเตรเลียที่ดูจะเต็มไปด้วยธรรมชาติที่งดงามนั้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานของพวกเขาแค่ไหน? และอะไรที่ทำให้บทเพลงของพวกเขาออกมาเป็นกลิ่นอายอบอุ่นได้เช่นนี้
แซม: “เวลาคนนึกถึงเมลเบิร์นก็อาจจะนึกถึงแต่ตึกมากมายใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้วเมืองมันใหญ่มาก แล้วมันก็มีธรรมชาติที่สวยมากมาย หลายครั้งเราก็จะออกไปชานเมืองกัน ใช้เวลาที่นั่น ทั้งในการเขียนเพลง ซ้อมเพลงกันอยู่บ่อย ๆ”
เลซี่: “มีธรรมชาติที่นึงที่เราชอบมากๆ ค่ะ ซึ่งเราก็เติบโตมาจากแถวนั้นแหละ นั่นก็คือ Yarra Valley อยู่แถบตะวันออกของเมลเบิร์น มันเป็นพื้นที่ที่สวยงามและน่ารักมากจริง ๆ มีภูเขาลาดชัน มีไร่องุ่น และก็สถานที่ต่างๆ ที่ไปเที่ยว ไปหย่อนใจได้ พวกเราเองก็รักพื้นที่นี้มาก เพราะเราเติบโตมาในแถบนี้และตอนนี้เราก็ยังอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ด้วยค่ะ”

ภาพบรรยากาศของ Yarra Valley ถูกโพสต์บนอินสตาแกรมของพวกเขา
(Photo: Instagram/thepaperkites)
สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือเมลเบิร์นแห่งนี้ไม่ใช่แค่เมืองที่พวกเขาอยู่อาศัย แต่เป็นแหล่งเติมเต็มแรงบันดาลใจที่ทำให้การแต่งเพลงของพวกเขาถ่ายทอดบางอย่างออกมาได้ดีเยี่ยมอยู่เสมอ การถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติมักเป็นเหมือนช่วงเวลาพิเศษที่เงียบสงบและมีชีวิตชีวาในพร้อม ๆ กัน แล้วบางทีธรรมชาติก็เติม ‘พลังงานแห่งความสร้างสรรค์’ บางอย่างให้กับเราด้วยท้องฟ้า สายลม แสงแดด ที่ปะทะร่างกายเราอย่างไม่รู้ตัว
แล้วกว่าจะมาเป็นแต่ละเพลงล่ะ หยิบแรงบันดาลใจมาจากไหนกัน?
“จริง ๆ เรื่องแรงบันดาลใจมันก็แล้วแต่เพลงเลยครับ โดยทั่วไปมันจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของเราในตอนนั้น ๆ ทุกครั้งผมเลยพยายามคิดว่าอะไรที่เราอยากจะพูดออกไปและมันมีวิธีที่จะพูดออกมายังไงบ้าง
แล้วผมก็จะพยายามดึงความรู้สึกเหล่านี้ออกมาจากชีวิตของตัวเองแหละ แต่บางที มันก็จะมีช่วงเวลาที่คุณรู้สึกว่าชีวิตเรามันนิ่ง มันลงตัวเกินไป จนไม่ได้มีอะไรเศร้า ๆ ดราม่าให้เราได้ดึงมาเขียน (หัวเราะ) ช่วงเวลาเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องพยายามดึงเรื่องราวจากชีวิตของคนอื่น ๆ มาเขียนแทน หรือหาแรงบันดาลใจจากพวกกวีต่าง ๆ ผมเป็นคนที่อ่านหนังสือและบทกวีเยอะมาก ดังนั้น เรื่องแรงบันดาลใจมันเลยไม่ตายตัว แต่เป็นอะไรก็ได้ที่มีความหมายกับผมมากกว่าครับ”
“เรื่องของการแต่งเพลง สำหรับผมมันคือการหาเพียง ‘หนึ่งวรรค’ ที่แทนทุกอย่างในเพลงให้ได้ก่อน พอเราเจอใจความที่อยากจะเล่าทุกอย่างออกไปแล้ว มันก็ง่ายมากที่จะไปต่อ สิ่งที่ผมมักทำเลยก็คือการเริ่มจากหนึ่งวรรคที่เป็นจุดตั้งต้นของความรู้สึก และค่อยสร้างสรรค์มันออกมาอย่างมีเอกลักษณ์”
อย่างในอัลบั้มล่าสุดของพวกเขา At the Roadhouse ก็ได้แรงบันดาลใจจากการใช้เวลาเดือนกว่าที่เมืองเล็ก ๆ อย่าง Campbells Creek ในรัฐวิคตอเรีย ที่พวกเขาหยิบเอาร้านขายของเก่ามาดัดแปลงเป็นบาร์แสดงดนตรีสด ใช้เวลาเขียนเพลงกันที่นั่นและหยิบมันมาแสดงให้ผู้คนในท้องถิ่นฟัง โดยความประทับใจทั้งหลายก็ได้ถูกถ่ายทอดลงในบทเพลงและ Music Video ความยาว 1 ชั่วโมง 44 นาทีนี้ (ใช่ ฟังไม่ผิด! หรือจริง ๆ เรียกว่าภาพยนตร์ก็อาจจะเหมาะกว่า)
โดยตอนเริ่มต้นวิดิโอ ก่อนบทเพลงแรกจะเริ่มขึ้นก็ได้ฉายข้อความว่า “we recognise and acknowledge the Dja Dja Wurrung people as the traditional owners and custodians of the land and we pay our respects to elders past and present” กล่าวถึงการแสดงความเคารพกลุ่มชนพื้นเมืองในรัฐวิคตอเรียด้วย
“เราตระหนักและยอมรับชาว Dja Dja Wurrung ในฐานะเจ้าของดั้งเดิมและผู้ดูแลผืนดิน และเราขอแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโสทุกท่านทั้งในอดีตและปัจจุบัน”


แล้วอย่างเพลง Bloom ซิงเกิลแรกของพวกคุณก็เริ่มมาจากแบบนี้ไหม?
เลซี่: “โอ้ เพลงนั้นนานมาก (หัวเราะ) เกือบทั้งเพลงนั้นพวกเราเขียนด้วยกันค่ะ แล้วแซมเขียนคอร์ดกีตาร์ในเพลงนี้ได้ดีมาก มันมีริฟฟ์กีต้าร์ท่อนสั้น ๆ ในช่วงต้นเพลง ฉันคิดว่าคอร์ดกีตาร์ที่แซมเขียนนี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งบทเพลงมันออกมาได้ละมุนแบบนั้น และถ่ายทอดเรื่องราวความรักในเพลงได้อย่างดี ริฟฟ์กีตาร์อะคูสติกของแซมที่เป็นจุดเริ่มต้นของเพลงนี้จริง ๆ ค่ะ”
“In the morning when I wake
And the sun is coming through,
Oh, you fill my lungs with sweetness,
And you fill my head with you.
…
…Can I be close to you…”
(บางท่อนจากบทเพลง Bloom ผลงานแรกของวง The Paper Kites)

ในช่วงอัลบั้มต้น ๆ เสียงเพลงของพวกเขาเต็มไปด้วยเสน่ห์ของอินดี้โฟล์คที่นุ่มละมุน จนเมื่อเวลาผ่านไป เสียงเพลงของ The Paper Kites ได้เพิ่มความแปลกใหม่โดยใส่ส่วนผสมของดนตรีอิเล็กทรอนิกเข้าไปได้อย่างกลมกลืน และแม้ว่าจะมีการผสมผสานแนวทางใหม่ ๆ เข้ามา แต่พวกเขาก็ไม่เคยทิ้งความเป็นตัวเอง ความอบอุ่นที่เคยปรากฏในบทเพลงตั้งแต่แรกยังคงอยู่ ไม่ว่ากาลเวลาจะพาพวกเขาไปในทิศทางไหน
แล้วพวกคุณมองว่าบทเพลงที่ออกมาเติบโตไปตามกาลเวลาด้วยไหมคะ?
แซม: “จริง ๆ ในช่วงหลายปีให้หลัง ผมคิดว่าแต่ละอัลบั้มที่เราปล่อยออกมามันมีความแตกต่างกันหมดเลยครับ รวมถึงที่มา แรงบันดาลใจในแต่ละเพลงด้วย”
เลซี่: “ใช่ค่ะ แต่มันก็มีบางสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเสน่ห์ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปแม้แนวเพลงของเราอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย นั่นก็คือเทคนิคแบบ Singer-Songwriter ที่ถ่ายทอดบทเพลงออกมา หลังจากนั้นเราจึงค่อยนำเสียงใหม่ ๆ เทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาปรับ ซึ่งอาจจะเป็นแนวที่เติบโตขึ้น นั่นแหละค่ะ ถ้าพูดตามตรง… อืม ฉันก็คิดเหมือนกันว่าเพลงของเรามันได้เติบโตขึ้นทุกวันและพัฒนาไปตามกาลเวลาด้วยค่ะ”
สำหรับผู้ฟังอย่างเรา ๆ เสน่ห์หนึ่งของศิลปินที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้คือการเป็น ‘Singer-Songwriter’ หรือการที่เป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลงได้ในเวลาเดียวกัน พลังวิเศษที่พวกเขามีก็คงจะเป็นการสังเกตสิ่งรอบตัวได้ดีเยี่ยมเหมือนมีแว่นขยาย หยิบจับมวลความรู้สึกที่มีมาถ่ายทอดลงในบทเพลงได้ราวกับกวี คิดเหมือนกันไหมล่ะว่านี่จึงไม่ใช่แค่ทักษะเรื่องการร้องเพลงหรือเล่นดนตรี แต่มันคือทักษะของการเป็นศิลปินไปอีกขั้นต่างหาก
ย้อนกลับไปครั้งแรกที่เราได้รู้จักกับบทเพลงของ The Paper Kites ก็สารภาพตามตรงว่ามันอยู่ในลิสต์ Christmas Song ที่เปิดฟังวนเป็นประจำแล้วดันสะดุดหู สะดุดใจจนต้องเอาชื่อเพลงไปค้นต่อและกลายเป็นเอฟซีของวงจนถึงปัจจุบัน สำหรับเราแล้ว ห้วงดนตรีโฟล์คร็อคเช่นนี้มักมาพร้อมกับภาพบรรยากาศการซุกตัวอุ่นอยู่สักแห่งกลางฤดูหนาวหรือกลางป่าสนสักที่ ประดุจว่าฟังทีไรก็ดูจะเป็นไวบ์ฤดูหนาวตลอดเวลา (แม้ว่าประเทศเราจะมีแค่ร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุดดดก็ตาม ฮ่า) เราเองก็อยากจะรู้ว่าสำหรับพวกเขาเองจะรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกันไหมนะ?
อืม.. แล้วถ้าต้องเปรียบเพลงของพวกคุณเป็นฤดูกาลล่ะ? คิดว่าจะเป็นฤดูอะไรดีคะ?
แซม: “ผมคิดว่าหลายคนน่าจะนึกถึงฤดูร้อน เมื่อได้ฟังเพลงอย่าง Bloom เพราะมันเชื่อมโยงกับช่วงเวลานั้นของปี แต่สำหรับผมแล้ว ผมกลับมองว่าเพลงของเราเป็นฤดูหนาวนะ ไม่ก็อาจจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงครับ”
เลซี่: “ใช่เลยค่ะ ฉันกำลังจะพูดว่าฤดูใบไม้ร่วงเลยล่ะ ฤดูใบไม้ร่วงเป็นช่วงเวลาหลักที่รู้สึกเชื่อมโยงที่สุดเลย เพราะเวลาเราพูดถึงองค์ประกอบต่าง ๆ หรือภาพถ่ายที่อยู่ในเพลงของเรา เช่น พวกภาพปก ภาพ Music Video มักจะเป็นโทนสีที่อบอุ่นและเรียบง่ายซึ่งทำให้ฉันนึกถึงฤดูใบไม้ร่วงอยู่เสมอ อีกอย่างคือเรามักจะออกทัวร์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงกันอยู่บ่อย ๆ ก็เลยมักจะมีช่วงเวลาที่น่าจดจำในฤดูเหล่านี้ค่ะ”

แล้วความรู้สึกตอนได้ออกเดินทางไปทัวร์ทั่วโลกล่ะคะ? ความรู้สึกไหนที่คุณชอบมากที่สุด?
แซม: “ผมคิดว่าความรู้สึกของตอนอยู่บนเวทีคือสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น เมื่อเรายืนอยู่ตรงนั้นและได้โชว์ดนตรีให้ผู้คนฟัง ได้เจอพวกเขา ถึงแม้ตอนนี้เราอาจจะไม่ได้เห็นหน้าทุกคนครบเหมือนเมื่อก่อนเพราะโชว์ของเรามีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมันก็ยากที่จะเข้าถึงทุกคน แต่เมื่อเราอยู่บนเวที เราก็ยังรู้สึกถึงการเชื่อมโยงกับพวกเขาได้เหมือนเดิม เรามองเห็นหน้าพวกเขา เห็นพวกเขาร้องตาม นั่นแหละ ความรู้สึกที่ยากที่จะอธิบายออกมา แต่ผมว่ามันคือการเชื่อมต่อกัน เป็นการสื่อสารที่ไม่ต้องใช้คำพูดเลย”
แซม: “แล้วมันคือช่วงเวลาที่คุณสบตากับใครสักคน และรู้สึกได้ทันทีว่าเขากำลังรู้สึกเหมือนกับคุณ มันคือสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้คุณหวนคิดถึงเหตุผลที่คุณยังคงสร้างสรรค์ผลงานและขึ้นแสดงโชว์อยู่ตรงนี้ เพราะคุณรู้ว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกอะไรบางอย่างในตอนนั้น แต่มันเป็นความรู้สึกของผู้คนทั้งหมดที่อยู่ตรงหน้า”
เลซี่: “และมันเป็นความรู้สึกที่น่าทึ่งอย่างยิ่งสำหรับเราจริง ๆ ค่ะ เรามักจะรู้สึกขอบคุณและยังทึ่งในทุก ๆ ครั้งที่เราเดินทางไกลจากบ้านและกลับพบว่ามีผู้คนที่เดินทางมาเพื่อพบเรา เราเองก็ยังคิดในใจว่า “เราอยู่ในอีกปลายฝั่งของโลกเลยนะ แล้วทำไมยังมีคนมาเจอเราและอยากฟังเพลงเหล่านี้ของพวกเรามากมาย” หรือพูดง่าย ๆ คือ “ไม่น่าเชื่อว่ามีคนมาดูเรา” มันคือความรู้สึกที่ไม่เคยหายไป มันทำให้เรารู้สึกขอบคุณอย่างมาก และเรายังคงรู้สึกแบบนี้เสมอ”

สุดท้ายนี้ ฝากอะไรที่แฟน ๆ ชาวไทยหน่อย
แซม: “พวกเราดีใจมาก ๆ ที่ในที่สุดก็ได้มาเจอทุกคนที่ประเทศไทยครับ นี่เป็นโชว์ครั้งแรกของพวกเราในประเทศไทย และพวกเราก็หวังว่าในอนาคตเราจะได้กลับมาเล่นที่นี่อีกและได้ใช้เวลาทำความรู้จักประเทศไทยและคนไทยมากขึ้นครับ”