คุยกับ ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ว่าด้วยกาก้าวไกล สิ่งแวดล้อมไทยไม่เหมือนเดิม

ว่าด้วยกาก้าวไกล สิ่งแวดล้อมไทยไม่เหมือนเดิม? เมื่อ ‘อนาคตดี’ ไม่ได้อยู่ที่แค่ GDP โตเท่าไหร่ แต่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน

#GREENCHECK คุยกับ ‘เดชรัต สุขกำเนิด’ ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ว่าด้วยกาก้าวไกล สิ่งแวดล้อมไทยไม่เหมือนเดิม? เมื่อ ‘อนาคตดี’ ไม่ได้อยู่ที่แค่ GDP โตเท่าไหร่ แต่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน

การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าถามว่าต้องเริ่มที่ใครอาจจะอยู่ที่ว่ามองไหนฐานะอะไร ถ้าในฐานะประชาชน ผมมองว่าเราทำในสิ่งที่เราทำได้

ถ้าในฐานะพรรคการเมือง เราไม่ควรผลักภาระให้ใคร แต่ควรเพิ่มทางเลือกและปกป้องทางเลือกให้ประชาชน เช่น ปกป้องอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานในการมีชีวิตก็ต้องเอากลับมา หรือภาคขนส่งก็ต้องให้เขาเลือกได้ ใช้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น

วันนี้เราขอแวะมาเช็คความกรีนกับพรรคก้าวไกลที่มองว่าการผลักดันให้เกิด ‘สิ่งแวดล้อมดี’ นั้นเป็นกลไกหลักที่จะนำไปสู่อนาคตที่ดี ปากท้องที่ดีได้ อีกทั้งจุดอ่อนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ นั้นคือการมองสิ่งแวดล้อมแยกจากระบบเศรษฐกิจหรือเอาภาคธุรกิจนำ ทั้งที่เราควรตั้งต้นว่าภาคเศรษฐกิจจะปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันกับปัญหาสภาวะโลกรวนที่กำลังทวีความรุนแรง และมองถึงนโยบายสร้างโอกาสทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะช่วยหยุดเศรษฐกิจแบบเก่าที่ล้าหลังได้

คำขวัญในการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลครั้งนี้คือ ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’ ซึ่งเรามองว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ในทุกอัน เพราะการจะมีอนาคตที่ดีได้นั้นต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดีซะก่อน มันไม่ได้อยู่ที่ว่า GDP จะโตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ที่ว่าเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีและสภาพแวดล้อมจะยั่งยืนด้วยรึเปล่า

สิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะเชื่อมไปที่ปากท้องที่ดีด้วย เราจะสร้าง Green Job คือสร้างอาชีพและเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นศักยภาพใหม่ ๆ แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการเมืองที่ดี 

ความท้าทายหนึ่งคือถ้าเรามองการเมืองแค่ระยะสั้น เราจะไม่เห็นภัยโลกร้อน ไม่เห็นภัยพิบัติ เราจึงต้องมองอย่างระยะยาวและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พี่น้องที่โดนผลกระทบจากนโยบายของรัฐ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองต่างต้องถูกรับฟัง สุดท้ายมาตรการรัฐต้องจริงจังเพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีและมีกรีนจ๊อบขับเคลื่อนปากท้อง และมีอนาคตดีได้

จงให้คะแนนการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ เมื่อเทียบกับระดับโลก? (5 คะแนน)

ผมให้ที่ 2 จาก 5 คะแนน

ซึ่งคะแนนแรกมาจากการที่พวกเรารับรู้ปัญหาที่มีอยู่แล้วว่าจะต้องแก้มัน และอีกคะแนนคือ หลาย ๆ ปัญหานั้นมีกลุ่มคนที่กำลังลงมือทำหรือพยายามจะแก้อยู่เช่นกัน เช่น ฝุ่น มลพิษ หรือขยะก็ตาม

แต่คะแนนที่ยังไม่ได้ก็คือ

  • ความชัดเจนของทิศทางเชิงนโยบายที่บอกว่าเราจะไปทางไหนกัน จะเห็นว่าเมื่อมีคนถามนายกฯ ตอบทีก็ขอความร่วมมือที หรือบูรณาการทางนู้น ประสานทางนี้
  • กลไก (How) ​ที่จะบอกเราว่าทำอย่างไรถึงจะไปตรงนั้นได้ ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้มีกลไกแปลกใหม่ที่จะลองมาตอบให้ตรงโจทย์ขึ้น เช่น ขยะอินทรีย์ที่เอามาสร้างมูลค่าได้ พรรคก้าวไกลก็เสนอนโยบายขอรับซื้อขยะเศษอาหารจากประชาชนเพื่อนำไปแปรรูปต่อไป เช่นนี้ก็จะสร้างรายได้ และเห็นภาพมากกว่าการรณรงค์แยกเฉย ๆ
  • มุมมองที่ยังมองสิ่งแวดล้อมแยกจากภาคธุรกิจ จริง ๆ เราควรมองว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะไปเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจอย่างไรให้ปรับตัว เดินหน้าและเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน เพราะมันคือส่วนหนึ่งของภาคเศรษฐกิจและเราควรมองว่าจะปรับอย่างไร ชะลอการใช้ถ่านหินปีไหนหรือหยุดใช้น้ำมันในปีไหน
ภาพ: พรรคก้าวไกล – Move Forward Party

ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้?

เป็นเรื่องยากถ้าจะต้องเลือกปัญหาด้านใดด้านหนึ่ง แต่ปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดในตอนนี้คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก เรื่องเหล่านี้เราไม่สามารถแก้ได้เพียงแค่ใช้การผลักดันโซลาเซลล์หรือรถเมล์ไฟฟ้าอย่างเดียว แต่จะต้องมีการเจรจากับเพื่อนบ้าน ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น 

ในปัจจุบันแน่นอนเรามีข้อบังคับที่ระบุไว้ว่าห้ามใช้การเผาในการปลูกข้าวโพดหรืออ้อยโรงงาน แต่ข้อบังคับนี้ไม่ได้นำมาใช้กับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งภาคธุรกิจเรานี่แหละที่ไปส่งเสริมเขา มันจึงกลายเป็นว่าทุนเราไปส่งเสริมเขาทำเกษตรที่ต้องเผาและฝุ่นควันเหล่านั้นก็กระจายกลับมาบ้านเรา ดังนั้น เมื่อกฎมีแล้วก็ต้องบังคับใช้กับสินค้านำเข้าเหล่านั้นด้วย คืองดการเผาตามข้อบังคับ GAP หรือคนที่จำเป็นต้องเผาก็ค่อย ๆ เปลี่ยน โดยรัฐจะเพิ่มตัวเลือกการใช้เครื่องจักรให้ เพิ่มแรงจูงใจและมองไปถึงการสร้างรายได้จากเหล่านั้น

รวมถึงมาตรการควบคุมไฟป่า เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านที่จะดับไฟป่า มีคน มีความตั้งใจ มีความรู้ชำนาญพื้นที่ แต่ปัญหาคืองบประมาณและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ เราก็ต้องกระจายงบประมาณไปพื้นที่ตำบลที่เสี่ยง 3,000,000 บาท/ปี ซึ่งเขาก็อาจจะนำไปจัดการเชื้อเพลิง ซื้อเครื่องพ่นใบไม้เพื่อทำแนวกันไฟ ฯลฯ ก็เป็นการสร้างทางเลือกให้พวกเขา

ในแง่กฎหมายเอง พรรคก้าวไกลเราผลักดันทั้ง #พรบอากาศสะอาด เพื่อให้มีกลไกขับเคลื่อนทุกภาคส่วน มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เตรียมรับมือในช่วงเร่งด่วนได้ รวมถึง #พรบเปิดเผยข้อมูลมลพิษ (PRTR) ที่จะทำให้รู้ว่าแต่ละโรงงานครอบครองสารเคมีอะไรบ้าง เท่าไหร่ และปล่อยมลพิษอะไร เพื่อเฝ้าระวังได้ และสุดท้าย #พรบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่จะกำหนดเพดานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคธุรกิจต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า Cap and Trade ใครที่ปล่อยเกินก้ต้องเสียค่าปรับ ใครปล่อยน้อยก็สามารถนำไปทำให้เกิดประโยชน์ได้

ปัญหาหนึ่งที่ครอบคลุมและยึดโยงกับทุกประเด็นก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เช่น เราบอกว่าวิธีลดโลกร้อนคือควรยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน สิ่งนี้ก็ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มันยังรวมถึงออกไซด์ของไนโตรเจนซึ่งมีส่วนทำให้เกิดหมอกควัน PM2.5 ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ

หรือในภาคขนส่งเอง การที่จะมีรถเมล์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมันก็จะตอบโจทย์การใช้รถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ตอบโจทย์เรื่องลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สุดท้าย การหยิบโลกร้อนมาก็จะโยงกับทุกอย่าง โยงกับการรับมืออนาคต การปรับตัว (Adaptation) ว่าจะไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตร ประมงได้ยังไง

มีสี่แนวทางที่พรรคก้าวไกลนำเสนอแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่เมืองคือ

  • เปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่เอื้อขึ้น ในสิบปีก็อาจจะเยอะขึ้นแล้ว 
  • ตรวจสภาพรถและควันดำฟรี 3 เดือนก่อนช่วงฤดูฝุ่นควัน ตรวจและให้สติกเกอร์แปะยืนยัน 
  • เพิ่มทางเลือกขนส่งสาธารณะ เมื่อไปดูงบแล้วคุณจะตกใจมากว่างบขนส่งอีก 77 จังหวัดรวมกันยังไม่เท่ากรุงเทพฯ จังหวัดเดียว ดังนั้น การมีรถเมล์ที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าได้เป็นสิ่งที่สำคัญและต้องขยายในทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ 
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น นอกจากสวนสาธารณะที่สร้างโดยรัฐแล้วยังมีพื้นที่สีเขียวที่อยู่ในมือเอกชนเยอะมาก เราจึงเสนอใช้ ‘มาตรการส่วนลดภาษีที่ดิน’ (Negative Land Tax) แลกกับการที่เอกชนรักษาพื้นที่สีเขียวเอาไว้เพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งประเมินการลดหย่อนจากเงื่อนไขว่าเมืองนั้นขาดแคลนพื้นที่สีเขียวแค่ไหน, ระยะสัญญาที่ทำกับเทศบาลกี่ปี และเป็นการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือสาธารณะเข้าฟรี กลไกเช่นนี้จะทำให้หน่วยงานรัฐทำงานกับคนในพื้นที่ได้ โดยที่ไม่ต้องมาปลูกกล้วย ปลูกมะนาว หรือทำเป็นที่จอดรถเพื่อเลี่ยงภาษีที่ดินกัน
ภาพ: พรรคก้าวไกล – Move Forward Party

นโยบายสิ่งแวดล้อมแบบก้าวไกล?

เราประเมินเรื่องสิ่งแวดล้อมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

สายกรีน: เรื่องที่ดีต่อทุกคน โจทย์คือทำอย่างไรให้ไปสู่เป้าหมายได้เร็วที่สุด

สายบราวน์: เรื่องมลพิษทั้งหลายที่จะต้องมีการจัดการและควบคุมอย่างเร่งด่วน

สายเรด: เรื่องที่มีความเห็นต่างกัน ต้องอาศัยการรับฟังทั้งสองฝั่งอย่างละเอียดหลายรอบเพื่อให้ได้มาตรการที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ เราจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน-เป็นธรรม-สร้างโอกาส ไปพร้อม ๆ กัน โดย

  • เร่งด่วน: หลายปัญหาเร่งด่วนนั้นจะต้องใช้กลไกที่ชัดเจนและจริงจังกว่าปัจจุบัน เช่น เรื่องมลพิษจากภาคเกษตรก็ต้องบังคับใช้มาตรฐานการอย่างเข้มงวด ผลผลิตที่นำเข้าจากเพื่อนบ้านก็ต้องงดเว้นการเผาด้วย หรือโลกร้อนก็ต้องมีการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง
  • เป็นธรรม: สิ่งแวดล้อมไม่สามารถมองแยกจากสิ่งอื่นได้ เราต้องพิจารณาว่าใครได้รับผลกระทบบ้างและแก้ไขอย่างไร เช่น สิทธิที่ดินทำกินที่เกษตรกรอาจอยู่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวน ก็ต้องพิสูจน์และออกเอกสารสิทธิ์อย่างเป็นธรรม หรือพื้นที่ที่กองทัพครอบครองมากมายก็ต้องดูว่าได้ใช้ประโยชน์จริงไหม สมควรมอบคืนให้แก่ประเทศชาติเพื่อมาแจกจ่ายให้ประชาชนทำกินหรือเปล่า 
  • สร้างโอกาส: เรามีการนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้กับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดโอกาสการสร้างงานมากขึ้น เช่น การติดตั้งโซลาเซลล์ 3,000 เมกกะวัตต์ในครัวเรือน และ 5,000 เมกกะวัตต์ในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล การสูบน้ำชลประทาน ที่จะนำไปสู่การจ้างงาน 30,000 – 50,000 คน เป็นโอกาสทางการเงินและช่วยหยุดเศรษฐกิจแบบเก่าที่ล้าหลังได้

ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต?

การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาต้องเริ่มที่ใครอาจจะอยู่ที่ว่ามองไหนฐานะอะไร ถ้าในฐานะประชาชน ผมมองว่าเราทำในสิ่งที่เราทำได้ แต่ถ้าในฐานะพรรคการเมือง เราไม่ควรผลักภาระให้ใคร แต่ควรเพิ่มทางเลือกและปกป้องทางเลือกให้ประชาชน เช่น ปกป้องอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานในการมีชีวิตก็ต้องเอากลับมา หรือภาคขนส่งก็ต้องให้เขาเลือกได้ ใช้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น พรรคเราจึงเน้นการเพิ่มทางเลือกเพราะหลายเรื่องนั้นเขาไม่สามารถเริ่มต้นได้เองซะทีเดียว

ในแง่การเริ่มต้นกับภาคเอกชน คำถามคือกติกาทั้งโลกเปลี่ยนไปแล้ว นายทุนประเทศเราจะไม่เปลี่ยนหรอ? อย่างกติกา Cap and Trade เอง เมื่อคุยกับหลายเจ้าก็ยินดีและเห็นด้วย เพราะการที่เรามีกติกาในประเทศไล่เลี่ยทันกับกติกาโลกก็ทำให้พวกเขายังสามารถส่งออกสินค้าได้ ปกป้องตลาดภายในประเทศได้ สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าเอกชนเองก็พร้อมที่จะหมุนตามโลกและเห็นโอกาสในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

สุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกลเรามองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่จะต้องลงมือทำจริงจัง ทั้งระดับปัจเจก ชุมชน ระดับประเทศ และนานาประเทศ เพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศและนำโอกาสมาสู่พี่น้องและชุมชน 

เรามองสิ่งแวดล้อมในฐานะประเด็นที่มีอนาคตและโยงสู่ปากท้องที่ดี และต้องมีการเมืองดีมาทำให้มันเกิด ดังนั้น สิ่งแวดล้อมจึงเป็นประเด็นที่ดึงทุกเรื่องเข้าหากัน ไม่ได้ปลีกย่อยหรือแยกออกมา แต่เป็นคำตอบของสังคมและเศรษฐกิจจริง ๆ

สามารถไปติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่  https://youtu.be/BUjQuJ55tbY

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

สิ่งแวดล้อม กับ Slow Fashion แค่ยืดอายุผ้า ก็ยืดเวลาโลก

เมื่อการซื้อเร็วตามเทรนด์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การซื้อช้า ใช้ซ้ำ ควรเป็นทางออกใหม่

ค่าไฟแบบ TOU คืออะไร ?

สิ่งนี้จะช่วยให้ลดค่าไฟฟ้าที่แสนโหดร้ายได้หรือไม่อย่างไร ?

สิ่งแวดล้อมกับ “การมูเตลู” มูผิด ชีวิตเปลี่ยน โลกเปลี่ยน

เมื่อการ ‘มูเตลู’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่สามารถสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว

Qualy แบรนด์ที่ชุบชีวิตวัสดุรีไซเคิลและใช้ความคิดสร้างสรรค์พูดแทนธรรมชาติ

เมื่อการผลิตแบบสปอยล์ผู้บริโภคยิ่งเพิ่มขึ้น การผลิตอย่างคิดถึงโลกจึงเป็นเรื่องสำคัญ