ความทรงจำที่ชำรุดคงยากที่จะให้กลับมาเหมือนเก่า แต่เขาคนนี้สามารถ ‘คุณตุ๊ก พนิดา เตียวตระกูล’ หญิงสาวเจ้าของ Sewing_thing ที่เป็นที่รู้จักในนาม นักซ่อมความทรงจำ เมื่อเธอนั้นได้รับเคสซ่อมตุ๊กตาให้กลับมาเหมือนมีชีวิตอีกครั้งจนเป็นที่ไวรัลกันในช่วงหนึ่ง
หลังจากนั้นเหล่าคนไข้น้อยใหญ่ต่างพากันมาแวะเวียนกันเป็นว่าเล่น จนเรียกได้ว่าเธอควรได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘คุณหมอที่เคยรักษาความทรงจำของใครหลาย ๆ คน’ รอยแผลของตุ๊กตาไม่เพียงแต่เป็นความไม่สมบูรณ์ภายนอก แต่ยังสะท้อนถึงความรู้สึกภายในของเจ้าของได้ในอีกมุมหนึ่ง
ความรู้สึกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นงานของเธอจึงต้องทวีคูณความใส่ใจมากเป็นพิเศษแต่แลกมากับคำขอบคุณ รอยยิ้มที่มักปรากฏขึ้นบนใบหน้าของลูกค้าทุกครั้งที่ได้รับตุ๊กตากลับไป สะท้อนให้เห็นถึงความดีใจที่ได้ความทรงจำดี ๆ กลับมาอีกครั้ง เท่านี้เธอก็อาจเรียกว่าคุ้มค่าในมุมของเธอแล้ว
เย็บรอยต่อของชีวิต
เมื่อชีวิตเกิดรอยแยกครั้งใหญ่ บริษัทประจำรีไซส์จึงเลย์ออฟพนักงานซึ่งเธอคือหนึ่งในนั้น ตุ๊ก พนิดา เตียวตระกูล หญิงสาวพนักงงานประจำถึงวันที่เธอต้องหางานเลี้ยงชีพต่อไป
จนวันหนึ่งเธอได้มาสะดุดกับโพสต์คุณยายชาวญี่ปุ่นซ่อมตุ๊กตาโดเรม่อน ด้วยความชอบส่วนตัวในด้านของความญี่ปุ่น งานคราฟต์ รวมถึงตุ๊กตาโดเรม่อนจึงอดไม่ได้ที่จะเข้าไปส่องจนได้เจอเข้ากับ คอมเมนต์มากมายใต้โพสแต่เธอสะดุดเข้ากับ ‘อยากซ่อมบ้างเลย มีที่ไหนรับซ่อมบ้าง’ คอมเมนต์จากทางชาวไทย เธอจึงลองเสนอกลับไปว่าสนใจช่วยซ่อม หลังจากที่ได้พูดคุยตกลงกันเสร็จสรรพผลลัพธ์การซ่อมก็ผ่านไปด้วยดี
ตุ๊กตาถูกชุบชีวิตกลับมาเหมือนใหม่ด้วยฝีมือการซ่อมของคุณตุ๊ก นี่จึงเป้นก้าวแรก ๆ ที่เธอตัดสินใจเดินต่อในเส้นทางของการซ่อมจนได้ฉายานาม นักซ่อมความทรงจำ
‘ตุ๊กตาก็ไม่ได้เล่น การซ่อมไม่ได้เก่ง’ นี่คือคุณตุ๊กเมื่อก่อนหน้านี้ แต่ด้วยคุณแม่เธอเองเป็นช่างเสื้อจึงได้สืบทอดฝีมือมาบ้าง ไม่ได้เก่งมาแต่แรกแต่มีใจที่อยากจะทำ อยากทำให้ตุ๊กตากลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ลูกค้าที่ยิ้มออก แต่เป็นเธอด้วยที่ยิ้มดีใจกับความสำเร็จในมือและสร้างความสุขให้ผู้อื่นได้อีกครั้ง ตุ๊กตาที่เธอเริ่มพัวพันหลังจากอาชีพนี้ก็เริ่มเอ็นดูพวกมันเหมือนเป็นคนไข้ขาประจำรายหนึ่ง
ปักผ้าเยียวยาใจ
เยียวยาทั้งคนให้คนรับ แต่อุปสรรคของอาชีพล่ะมีมั้ย ? หลาย ๆ คนอาจมองอาชีพการซ่อมเป็นอาชีพที่ง่าย แค่เย็บปักถักร้อยแค่นั้น จริงหรือ ? จากที่ได้พูดคุยกับพี่ตุ๊ก ได้รู้ถึงกระบวนการซ่อม จึงได้เข้าใจว่าไม่ใช่ต้องมีดีแค่ฝีมือ ระยะเวลา ความเอาใจใส่ และสำคัญที่สุดคือการ ใจเย็น คือองค์ประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้กัน
เราคิดว่าขั้นตอนการเย็บปักจะเป็นช่วงที่ยากที่สุดแต่หาไม่ ช่วงที่คุณตุ๊กลงแรงมากที่สุดกลับเป็นช่วงของการพูดคุยกับลูกค้าและการตามหาวัสดุแต่ละรายเพื่อเก็บดีเทลให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด ความปลื้มปริ่มที่ได้จากสายตา รอยยิ้มของลูกค้าแต่ละคนผลักดันให้เธออยากทำผลงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
แต่เธอจะเคารพตัวเองอยู่เสมอ มีมาตรฐานว่าตัวนี้เราทำได้ประมาณนี้ ลูกค้าโอเคมั้ย ค่ารักษาอาการบาดเจ็บเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่ตกลงกันก่อนที่จะเริ่มกระบวนรักษาทุกครั้ง เพื่อไม่ให้มีใครต้องมานั่งผิดหวังทีหลัง แต่เท่าที่ได้รับกลับมามักเป็นรอยยิ้ม คำชม น้ำตาของความดีใจเสมอที่ได้เห็นสิ่งที่ตัวเองรักกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ราคา ต้นทุน ถือว่ายังไม่เป็นเรื่องหนักใจของคุณตุ๊กมากนักเพราะมีการตกลงกันอย่างดีก่อนเริ่มชิ้นงานเสมอ แต่ให้สัมภาษณ์ว่า ณ ตอนนี้เรายังพอที่จะเดินต่อไปได้ การลงแรง ค่าเสียเวลา ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกขาดทุนทั้งในด้านต้นทุนรวมไปถึงความรู้สึก
ถักทอความทรงจำ
คนเล่นไม่ลืม คนซื้อไม่อยู่ เหตุผลหลัก ๆ ของลูกค้าที่มักแวะเวียนมาใช้บริการประจำ ไม่ลืมกลิ่น ไม่ลืมสัมผัส ไม่ลืมวันที่คนเคยให้มา เหตุผลหลักคืออยากยืดเวลาให้สิ่งนั้นเหมือนเดิมตลอดไป ของที่มักส่งมาซ่อมจึงมักเป็นตุ๊กตาที่คอยเยียวยาใจเหล่าเจ้าของอย่างแน่นอน
นอกจากความเนี้ยบหน้าตาภายนอกแล้วความยากคือการที่เราต้องเนี้ยบภายในด้วย เพราะในเรื่องของความรู้สึกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน บางเคสอยากให้กลิ่นเดิมอยู่ก็ต้องระวังเรื่องกลิ่น บางเคสเค้าโครงเก่าแทบไม่เหลือแต่ต้องแกะหน้าตาให้เหมือนเก่ามากที่สุดเพื่อคงความรู้สึกเดิมที่เคยมีไว้
ยกตัวอย่างเช่น เคสน้องหมูที่ไวรัลในโลกโซเชียลช่วงหนึ่ง เค้าโครงเดิมแทบไม่เหลืออยู่เลยถ้าให้เราเดาเล่น ๆ อาจเดาไม่ออกด้วยซ้ำว่าน้องเคยเป็นตัวอะไรมาก่อน สตอรี่น้องคือเป็นตุ๊กตาที่คุณแม่ให้ เมื่อไหร่ที่น้องบาดเจ็บคุณยายก็จะคอยช่วยซ่อมอยู่เสมอจนถึงวันที่คุณยายจากไปจึงไม่มีใครรักษาอาการบาดเจ็บของน้องต่อได้จนน้องมาถึงมือคุณตุ๊ก
คุณตุ๊กจึงต้องใช้ความใจเย็นตั้งแต่การพูดคุยกับเจ้าของตุ๊กตาเพื่อเก็บดีเทล รวมถึงต้องคอยหาวัสดุที่เหมือนเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้น้อง ๆ เหล่าตุ๊กตาออกมาคล้ายเดิมมากที่สุด
เวลาที่เธอเสียไปส่วนมากมักไปลงอยู่กับการหาวัตถุดิบให้คล้ายต้นฉบับมากที่สุด ดังนั้นการคุยกับลูกค้าจึงต้องใช้เวลาเพื่อให้ผลงานออกมาตรงกับความต้องการเช่นกัน เวลาในการซ่อมจึงลดหลั่นตามผลงานแต่ละชิ้นไป แต่ตามปกติมักลากยาวมากกว่า 1 อาทิตย์อย่างต่ำแต่หากได้เห็นผลงานของคุณตุ๊กตามโซเชียลที่ออกมาหน้าตาคล้ายต้นฉบับเหมือนใหม่ถือว่าเป็นเวลาที่ไม่นานเกินรอเลย
ร้อยเรียงรักที่มี
ด้วยความที่เธอมีฝีมือการซ่อมเป็นที่บอกต่อ จึงมีความคิดที่ว่าอยากให้ทุกคนเข้าถึงการซ่อมได้อย่างทั่วถึง เข้าใจได้ว่างานซ่อมอาจเป็นเรื่องง่ายสำหรับเราแต่อาจจะยากสำหรับใครบางคน
คงจะดีถ้ามีแพลตฟอร์มหรือพื้นที่ที่เปิดให้คนเข้ามาศึกษาการซ่อมเพื่อที่จะยืดอายุการใช้งานของใช้ต่าง ๆ ให้ยาวขึ้นได้โดยไม่พึ่งการซื้อของใหม่ หันมาคิดว่าเราจะทำยังไงกับของในมือที่เรามีอยู่แล้วให้สนุกมากขึ้น
‘ลดการใช้พลาสติก แยกขยะ ส่งN15 เดิมทีเราทำอยู่แล้ว ลองทำแล้วคิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนสามารถทำได้หากเริ่มลงมือทำ’ พี่ตุ๊กกล่าว
เนื่องจากเราทำอาชีพที่ข้องเกี่ยวกับวัสดุสิ่งทอที่นับว่าเป็นวัสดุย่อยยากชนิดหนึ่ง จึงมักคำนึงอยู่เสมอถึงการทิ้งให้ถูกที่ เธอย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า ‘สิ่งที่ธรรมชาติย่อยสลายไม่ได้ สิ่งนั้นเราต้องเป็นคนรับผิดชอบ’ ดังนั้นพวกใยสังเคราะห์เก่าของเหล่าตุ๊กตาจะถูกนำส่งไป N15 ในลำดับต่อไป
เสื้อผ้า กระเป๋าเก่า นำมาปรับให้เป็นตุ๊กตา แนวคิดแพลนในอนาคตที่เธออยากลองทำดู หรือหากมีใครสนใจอยากลองส่งของมาปัก มาซ่อมแบบไหน สามารถส่งมาพูดคุยกับพี่ตุ๊กได้ที่ช่องทาง IG : sewing_thing แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าคิวคุณหมอตุ๊กประสบการณ์ 2 ปี คนไข้ 500 กว่าตัว ตอนนี้ยาวไปถึงเดือนพฤศจิกายนแล้วนะ หากใครสนใจต้องรีบจับจองบัตรคิวกันด่วน ๆ