สินค้าอาหารเหลือทิ้ง ของคู่ห้าง ซูเปอร์ฯ ที่หมดอายุแล้ว…ไปไหน ?? - EnvironmanEnvironman

สินค้าอาหารเหลือทิ้ง ของคู่ห้าง ซูเปอร์ฯ ที่หมดอายุแล้ว…ไปไหน ??

ห้างร้านต้องปรับตัวเมื่อ 1 ใน 3 ของอาหารที่เรากิน ถูก ‘ทิ้ง’ ทั้งที่ยังกินได้

ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต มีวิธีจัดการกับสินค้าอาหารที่ ‘ใกล้หมดอายุ’ หรือ ‘ขายไม่ทัน’ อย่างไร เพื่อช่วยลดปัญหา Food Waste หรือ ขยะอาหาร ปัญหาใหญ่ระดับนานาชาติที่หลายประเทศต้องเผชิญ 

เพราะเมื่อขยะอาหารเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายจะก่อให้เกิด ‘ก๊าซมีเทน’ ขึ้น ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

ห้างร้านค้าปลีกจึงเสมือนเป็นแหล่งเกิดของขยะอาหารขนาดใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการหลายราย ต้องมีมาตรการรองรับกับสินค้าอาหารที่เหลือทิ้งในแต่ละวัน เพื่อสอดคล้องกับมาตรการของรัฐ และเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ (UN) ที่ต้องการลดปริมาณขยะอาหารให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2030

บทความนี้ อยากพาทุกคนไปสำรวจวิธีจัดการต่าง ๆ ของเหล่าร้านค้าที่ช่วยโลกจากขยะอาหารกัน

สินค้าป้ายเหลืองแนวหน้ากอบกู้ #FoodWaste

รู้ไหมว่า ข้อมูลจาก Food Wastage Footprint : Impacts on Natural Resources โดย องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ชี้ว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่เรากิน ถูก ‘ทิ้ง’ ทั้งที่ยังกินได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งเลยมีมาตรการที่เป็นมิตรกับคนงบน้อย แต่ช่วยจัดการอาหารใกล้หมดอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงเวลาใกล้ปิดร้าน ด้วยการแปะด้วยป้ายราคาสีเหลือง ที่เป็นที่รู้กันดีของสายช็อปปิ้งว่าคือสัญลักษณ์ของสินค้าลดราคา

สินค้าอาหารส่วนใหญ่ที่นำมาจัดโปรโมชันป้ายเหลืองช่วงใกล้ปิดร้าน มักเป็นสินค้าที่ปรุงสุกแบบวันต่อวัน ขนมปัง นม ขนมคบเคี้ยว ที่ไม่สามารถขายข้ามวันได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าอาหารเหล่านี้ต้องกลายมาเป็นขยะเหลือทิ้ง ที่ต้องถูกทิ้งเพียงเพราะขายไม่ทันเวลา

บางร้านมีจัดนาทีทอง หรือช่วงเวลาโปรโมชันในช่วงหลัง 4 โมงเย็น (16.00 น.) สำหรับสินค้าป้ายเหลือง เช่น พวกอาหารสด เนื้อสัตว์ ผลไม้ เพราะเป็นสินค้าที่ปกติผู้บริโภคจะซื้อในปริมาณที่เยอะอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นสินค้าที่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ยังทานได้อยู่ ยังไม่หมดอายุ เพียงแต่มีจัดจำหน่ายจำนวนมาก การจัดช่วงนาทีทองเหมาจ่ายเป็นกิโล จะช่วยดึงดูดคนให้มาซื้อได้มากกว่า

ตัวอย่างในไทยที่สามารถพบเห็นกันได้

– Big C และ Tops มักจัดสินค้าป้ายเหลืองกับสินค้าอาหารจำพวกอาหารพร้อมทาน ขนมปัง เบเกอรี่ต่าง ๆ ในช่วงหลัง 18.00 น.

– Shinkanzen Go จัดโปรโมชันลดราคาซูชิ 10% หลังเวลา 19.30 น.

Photo: SCHOLARS OF SUSTENANCE

ส่งต่อวัตถุดิบให้กลุ่มเปราะบาง

ไม่ใช่ทุกสินค้าอาหารที่จะสามารถจัดโปรลดราคาได้ สินค้าประเภทวัตถุดิบบางอย่างก็ขายไม่ออก เช่น ผัก ผลไม้ เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอก เช่น สีคล้ำ รูปร่างเบี้ยว เปลือกเป็นรอย ผลมีขนาดเล็กเกินไป ลักษณะดังกล่าวมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค และส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ซื้อ แม้ผักหรือผลไม้ดังกล่าวจะสามารถทานได้ปกติก็ตาม

นำไปสู่อีกหนึ่งวิธีจัดการอย่าง ‘การส่งต่อ’ โดยจะเป็นการส่งมอบวัตถุดิบ อาหาร ผัก ผลไม้ ที่ไม่ถูกซื้อแต่ยังรับประทานได้ ให้กับมูลนิธิหรือองค์กรเพื่อกลุ่มคนเปราะบางต่าง ๆ เช่น บ้านพักคนชรา บ้านเด็กกำพร้า เพื่อไม่ให้วัตถุดิบคุณภาพกลายเป็นสินค้าหมดอายุ ในไทยมี สสปน. หน่วยงานภาครัฐที่อุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการขยะอาหาร โดยมีผู้ประกอบการไทย เช่น เครือโรงแรม และ ร้านค้าปลีก เข้าร่วมกับโครงการของ สสปน. ทั้งยังมีโครงการธนาคารอาหารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นต้นแบบระบบจัดการอาหาร และส่งต่ออาหารไปยังกลุ่มเปราะบาง

นอกจากนี้ ยังมีองค์กร SOS Thailand ที่เข้ามาเป็นตัวกลางเสมือน Delivery ระหว่างผู้ประกอบการ กับ กลุ่มเปราะบาง โดยมีทั้งห้างค้าปลีก เช่น โลตัส และร้านค้ารายย่อยจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการกับ SOS เพื่อส่งมอบวัตถุดิบหรือสินค้าอาหารที่เหลือจากการขายในแต่ละวัน โดยทาง SOS Thailand จะเข้ารับสินค้าอาหารต่าง ๆ จากร้านค้า ห้าง ร้านสะดวกซื้อ จากนั้นจะคัดแยกคุณภาพสินค้าอาหาร ก่อนนำส่งให้กับโรงเรียน ชุมชน หรือสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ เมื่อแต่ละองค์กรได้รับสินค้าอาหารจากทาง SOS ก็จะนำไปประกอบอาหารกันในครัวเรือน ทำให้วัตถุดิบที่ถูกมองข้ามในตอนแรกไม่สูญเปล่า

ทั้งยังช่วยลดปัญหา Food Loss หรือ การสูญเสียอาหารจากการเหลือทิ้งอาหารในช่วงต่าง ๆ ของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเก็บเกี่ยว และการแปรรูปเป็นสินค้าอาหาร ซึ่ง Food Loss ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด Food Waste 

ไม่กินเหลือ #กินหมดจาน แยกขยะอาหารจริงจัง ใน FoodCourt 

เรามักเห็นป้ายรณรงค์ #ไม่กินเหลือ แปะอยู่ตามโต๊ะอาหารของศูนย์อาหาร และป้าย #ไม่เทรวม เมื่อต้องนำจานไปคืนที่จุดคืนภาชนะ 

หลายศูนย์อาหาร แม้จะมีมาตรการจัดการอาหารส่วนเกินจากการขายในแต่ละวัน เช่น เข้าร่วมโครงการกับ SOS แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีขยะอาหารเกิดขึ้นจำนวนมากจากการทิ้งเศษอาหารของผู้บริโภค การแยกขยะอาหารจึงสำคัญมาก แต่ละศูนย์อาหารจึงมีถังสำหรับเทเศษอาหารโดยเฉพาะ เนื่องจากการทิ้งเศษอาหารไปพร้อมกับขยะประเภทอื่น เช่น กระดาษทิชชู ไม้แคะฟัน หลอดพลาสติก อาจทำให้กระบวนการจัดการขยะยากยิ่งขึ้น เช่น หากจะนำขยะอาหารไปทำปุ๋ย จะไม่สามารถนำไปทำได้ เพราะมีการปนเปื้อนของขยะชนิดอื่น

ทั่วโลกต่างจริงจังกับ Food Waste

นอกจากไทย ยังมีอีกหลายประเทศที่มีกฎหมายจัดการ Food Waste อย่างจริงจัง เช่น ประเทศฝรั่งเศสกำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 400 ตารางเมตร ขึ้นไป จะต้องบริจาคสินค้าอาหารที่ยังทานได้แก่มูลนิธิต่าง ๆ ทั้งยังมีนโยบายจูงใจผู้ประกอบการด้วยการรับเครดิตภาษี 60% ของมูลค่าอาหารที่บริจาค

สหรัฐอเมริกาก็มีนโยบายจูงใจเช่นเดียวกัน เช่น ร้านอาหารที่บริจาคอาหารจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ในรัฐแคลิฟอร์เนียมีเครดิตภาษีให้กับผู้ประกอบการ 10% ของมูลค่าสินค้าที่บริจาคให้ประชาชน 

สำหรับในไทย แม้จะมี พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ระบุเกี่ยวกับวิธีจัดการขยะมูลฝอย แต่ก็ยังไม่พบมาตการจัดการหรือควบคุมกับอาหารส่วนเกินที่ชัดเจน แม้ว่าภาคเอกชนกับครัวเรือนจะมีแนวทางในการจัดการกับขยะอาหารที่เกิดขึ้นก็ตาม 

การสร้างนโยบายจูงใจ เช่น tax credit นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ร้านค้าปลีกไม่รู้สึกว่าต้องแบกรับค่าใช้จ่ายอยู่เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งการออกกฎหมายที่เป็นรูปธรรม ยังเป็นตัวสะท้อนความจริงจังของภาครัฐ เพราะการออกมาตรการควบคุมหรือจัดการกับขยะอาหารอย่างชัดเจน เป็นวิธีหนึ่งที่จะสามารถสื่อสารกับประชาชนถึงความรุนแรงของปัญหา และวิธีจัดการที่ถูกต้องได้

อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอกฎหมายจัดการกับขยะอาหารส่วนเกินที่ชัดเจน ผู้บริโภคเองก็สามารถร่วมกันช่วยแก้ปัญหา Food Waste กันได้ ผ่านการทานอาหารให้หมด เมื่อซื้อวัตถุดิบอาหารมาแล้ว ต้องใช้ทุกส่วนของวัตถุดิบให้คุ้มค่า แยกขยะอาหารทุกครั้ง ไม่ซื้อสินค้าอาหารมากจนเกินไป และต้องไม่ลืมสินค้าอาหารไว้ในตู้เย็นนานจนกลายเป็นสินค้าหมดอายุไปเสียก่อน

ใครที่เคยลองวิธีไหน หรือมีไอเดียเจ๋ง ๆ สำหรับจัดการกับอาหารส่วนเกินไม่ให้เป็น ‘ขยะอาหาร’ สามารถมาร่วมแบ่งปันความคิดเห็นกันได้ เพื่อส่งต่อวิธีดี ๆ ให้กับทุกคนได้ร่วมแก้ปัญหา Food Waste ไปด้วยกัน

อ้างอิง

https://www.tei.or.th/th/article_detail.php?bid=157

https://tdri.or.th/foodwaste

https://ngthai.com/science/40756/food-waste-food-loss/

https://www.facebook.com/share/12GX2459yUh

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/PPJ/article/download/263845/178847

No tags found for this post.

Credit

uniPoP

เราสามารถเขียนบทความรักษ์สิ่งแวดล้อม ไปพร้อม ๆ กับรักแฟนได้