วังการี มาไท สตรีเคนยาผู้ผลักดันให้ผู้หญิงสร้างพื้นที่สีเขียวให้โลกและตัวเอง

จากเป้าหมายต้นไม้ 30 ล้านต้นในเคนยา สู่ชีวิตที่อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรม

วังการี มาไท เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1940 ในเมืองเนียริ (Nyeri) ประเทศเคนยา สมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ ถึงแม้จะเกิดมาในครอบครัวชาวนาที่ยากจน แต่พ่อแม่ก็ผลักดันเต็มที่ให้เธอได้ร่ำเรียนหนังสือ ถึงแม้ในยุคนั้น ผู้หญิงจะไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษามากนัก

มาไทเป็นเด็กที่ฉลาดและขยันขันแข็ง ทำให้ผลการเรียนของเธอโดดเด่นเป็นที่จับตามอง ในปี 1960 เธอได้รับทุนให้ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในอเมริกาและจบการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาวิชาชีววิทยา ในช่วงที่เธอเรียนปริญญาโทอยู่นี่เองที่เธอได้เห็นขบวนการนักสิ่งแวดล้อมออกมาเรียกร้องให้แก้ปัญหามลพิษในอากาศ ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่ทำให้เธอได้ตระหนักถึงความสำคัญของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หลังจากเรียนจบปริญญาโทที่อเมริกา มาไทกลับมาบ้านเกิดที่เคนยาและเรียนจบปริญญาเอกด้านกายวิภาคสัตว์ (Veterinary Anatomy) ทำให้เธอกลายเป็นสตรีแอฟริกันกลางคนแรกที่เรียนจบการศึกษาระดับนี้

ในระหว่างที่เธอทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่นั้น เธอประสบทั้งปัญหาการกีดกันทางเพศและปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง และไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมใด ๆ ได้ ซึ่งปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าก็เป็นปัญหาใหญ่ที่คุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงในเคนยา และมันยังตอกย้ำประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศมากยิ่งขึ้นไปอีก 

มาไทเล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้ก่อตั้ง The Green Belt Movement (ขบวนการแนวพฤกษ์สีเขียว) ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากผู้หญิงเคนยาทั่วประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ความไม่เทียมทางเพศไปพร้อมกับการพิทักษ์ไว้ซึ่งธรรมชาติ 

http://www.womenaid.org/images/greenbeltmarchw.jpg

กิจกรรมหลักที่พวกเธอทำนั้นคือการปลูกต้นไม้เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงและลดการถางป่าลง เป้าหมายของขบวนการคือการปลูกต้นไม้ให้ได้ทั้งหมด 30 ล้านต้น มาไทสามารถปลุกระดมผู้หญิงให้ออกมาร่วมกิจกรรมได้ถึง 30,000 คน ขบวนการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและกลายเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่น ๆ พากันทำตาม

อย่างไรก็ดี ความตั้งใจดีของมาไทกลับกลายเป็นการท้าทายอำนาจของเหล่าผู้นำที่ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน มาไทถูกจับหลายครั้งในรัฐบาลประธานาธิบดีเผด็จการ Daniel arap Moi จากการออกมาประท้วงรัฐบาลเรื่องการสนับสนุนการพัฒนาโครงการบ้านและตึกหรูกลางสวนสาธารณะอูฮูรู ซึ่งเป็นสวนสาธารณะสำคัญในเมืองหลวงของเคนยา 

การประท้วงของมาไทในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ จนในที่สุดโครงการก็ถูกยกเลิกไป และเป็นอีกครั้งที่มาไทประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมจากการแสดงพลังของเธอออกมา แต่อย่างไรก็ดี

“คงไม่มีใครมาหาเรื่องฉันหรอกถ้าสิ่งที่ฉันทำคือแค่การบอกให้ผู้หญิงออกมาปลูกต้นไม้”

ในปีต่อมา เธอก็ได้รับบาดเจ็บจากการออกไปประท้วงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง สำหรับมาไทแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเมืองเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้ รากของหลาย ๆ ปัญหาในสังคมล้วนพันกันยุ่งเหยิง ทำให้เธอมองว่าการจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ออกมาเรียกร้องปัญหาอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

มาไทต่อสู้และเรียกร้องตลอดช่วงรัฐบาลของ Moi จนเมื่อรัฐบาลชุดนี้ยุบไป เธอก็ได้ลงสมัครแข่งขันในตำแหน่งประธานาธิบดี ถึงแม้จะต้องผิดหวังไปแต่ในที่สุดเธอก็ได้ขึ้นมาทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2002 โดยได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 98 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า จากประธานาธิบดี Mwai Kibabi ในปี 2003 

คุณูปการที่เธอทำตลอดมาทั้งด้านการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียม ประชาธิปไตย การส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสันติภาพ ทำให้คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควรที่จะมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้เธอในปี 2004

ตลอดช่วงชีวิตของเธอที่ผ่านมา มาไททั้งต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและโรคร้ายไปในเวลาเดียวกัน เธอเข้าออกโรงพยาบาลอย่างเงียบเชียบ แทบไม่มีใครรับรู้เรื่องอาการป่วยของเธอจนสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่เธอจะสิ้นใจ ข่าวอาการป่วยของเธอถึงได้เผยแพร่ออกไป และแล้วคืนวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2011 มาไทก็ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งรังไข่ เธอใช้ชีวิตตลอด 71 ปีที่ผ่านมาอย่างเต็มที่และกล้าหาญ และไม่ปล่อยให้อุปสรรคใด ๆ ในชีวิตขัดขวางความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศบ้านเกิดของเธอให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างเท่าเทียม

นับตั้งแต่วันที่ The Green Belt Movement ได้ก่อตั้งขึ้นจนถึงวันนี้ มีต้นไม้กว่า 51 ล้านต้นถูกปลูกบนผืนดินเคนยาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเด็กหญิง สตรี และผู้คนที่เห็นความสำคัญของธรรมชาติ Green Belt Movement ไม่เพียงแต่มุ่งประสงค์ที่จะสงวนไว้ซึ่งระบบนิเวศอันเป็นแหล่งอาหารและบ้านของชาวเคนยา แต่ยังต้องการเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อผู้หญิงยากไร้ และคนทุกคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

แม้มาไทจะจากไป แต่ Green Belt Movement ยังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้หญิงในเคนยาและทำให้ผู้คนหันมาลงมือปลูกต้นไม้มากขึ้น

คุณูปการที่วังการี มาไท สตรีชาวเคนยาได้ผู้อุทิศตัวสรรสร้างขึ้นมาจะยังคงสร้างประโยชน์ต่อรุ่นลูกรุ่นหลาน และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทั่วโลกได้มองเห็นถึงศักยภาพที่ตัวเองมีและออกมาช่วยกันต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราอยากเห็นบนโลกใบนี้

ที่มา

– Greenbeltmovement.org

– Nobelprize.org

– Wangarimaathai.org

– Biography.com

ภาพ

– The Green Belt Movement 

– Womanaid

– Wangarimaathai

– Prabook

Credit

Natticha Intanan

Related posts

โลกได้รับผลกระทบอะไร เมื่อ ‘เอลนีโญ’ สิ้นสุดแล้ว ‘ลานีญา’ กำลังเข้ามา

ลานีญากำลังมา ในขณะที่มนุษย์โลกก็ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลกจึงไม่ได้หยุดพัก แต่มันจะรุนแรงขนาดไหน?

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่ใช้ขยะมาเล่าเรื่องของเต่าและปัญหาในท้องทะเล

ของเหล่านี้มนุษย์เป็นคนใช้ แต่ใยไปจบอยู่ในท้องเต่า

4 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับหมาป่าที่เราอาจยังไม่รู้

เมื่อภาพจำของหมาป่าในวัยเด็กอาจทำให้เผลอเชื่อเรื่องเล่าว่าเป็นความจริงไปโดยไม่รู้ตัว

คุณกำลังรักความเป็นระเบียบหรืออยู่ในวังวน Perfectionism เกิดเหตุรึเปล่า? 

พฤติกรรมที่คอยกวนใจ ผลาญพลังงานเราไปเท่าไหร่กับคำว่า ต้องเป๊ะ ต้องปัง