มองโลกรวน ไซโคลน สงคราม ผ่านผู้ลี้ภัยในโมซัมบิกกับภารกิจของ UNHCR

ชะตากรรมในศูนย์พักพิงของคนที่ฝันอยากกลับบ้าน แต่กลับถูกซ้ำเติมด้วยภัยจากมนุษย์

376 ล้านคน คือตัวเลขของผู้พลัดถิ่นจากวิกฤตสภาพอากาศทั่วโลก

21.5 ล้านคน คือตัวเลขเฉลี่ยต่อปี 

และ 1.2 พันล้านคน คือตัวเลขจำนวนผู้พลัดถิ่นที่ถูกคาดการณ์ในปี 2050

ข้ามจากประเทศไทยไปยังอีกฟากฝั่งของโลก ในประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาติดริมมหาสมุทรอินเดียชื่อว่า ‘โมซัมบิก’ ที่คนไทยเราอาจไม่คุ้นหูกันซักเท่าไหร่ นอกจากสภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี พื้นที่นี้อาจเป็น ‘โลกใบจำลอง’ ที่ทำให้เราเห็นภาพรวมของดาวเคราะห์โลกที่กำลังเผชิญมหันตภัย ทั้งความรุนแรงของวิกฤตสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และ สงคราม ความรุนแรง ที่ล้วนมาจากฝีมือของเผ่าพันธุ์มนุษย์เราทั้งสิ้น

‘วิกฤตสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง’

‘วิกฤตสงครามในแอฟริกา’

เมื่อขึ้นชื่อว่า ‘วิกฤต’ แน่นอนว่านำมาซึ่งหายนะอย่างรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินจนบางครั้งก็เกินกว่าเรา ๆ จะจินตนาการได้ ในพื้นที่ประเทศโมซัมบิกที่สองสื่อไทยอย่าง กิตติ สิงหาปัด และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ได้ไปเห็นความเป็นอยู่ของพวกเขาในศูนย์พักพิง Corrane (คอร์รานี) พื้นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) ในชุมชนคอร์รานีที่เมืองนัมปูลา และพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัย Maratane (มาราทานี) ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยแห่งเดียวของนัมปูลา ที่พักพิงของผู้ลี้ภัยจากหลายประเทศ เช่น คองโก ซูดาน บุรุนดี และอีกหลายประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ความช่วยเหลือในแคมเปญ ‘Nowhere to run’ หรือวิกฤตที่ไม่มีทางออก โดย UNHCR 

วิกฤตที่ทับซ้อนกันในพื้นที่นี้คือ วิกฤตจากสงครามทางตอนเหนือที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ต้องลี้ภัยลงมา มิหนำซ้ำ ยังเจอกับผลกระทบจาก Climate Change ในพื้นที่ศูนย์พักพิง เนื่องจากภูมิประเทศของโมซัมบิกที่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ต้องเจอกับไซโคลนเกือบทุกปี และสภาพอากาศที่แปรปรวนสุดขั้วเป็นสาเหตุที่ทำให้ภัยพิบัติทวีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น

“การไปโมซัมบิกครั้งนี้มันเหมือนการเอาทุกอย่างที่เราสนใจมาขมวดรวมกัน ทั้งเรื่องสงครามและ Climate Change ซึ่งมันเป็นการช่วยให้เราค่อย ๆ เชื่อมโยงในหัวทั้งหมดเข้าด้วยกัน 

โปรเจคนี้ทำให้เห็นว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งบนโลกจำนวนเป็นสิบล้านคนและกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่พบชะตากรรมที่โหดร้ายเกินกว่าที่คุณและผมจะเข้าใจได้ และเป็นสถานการณ์ที่เขาเลือกไม่ได้เลย ด้านหนึ่งคือสงคราม อีกด้านคือ Climate Change” วรรณสิงห์เปิดประเด็นให้เราฟัง

แม้ที่นี่จะไม่ใช่สมรภูมิแรกที่เขาได้มาเห็นผู้ลี้ภัย สงคราม หรือมหันตภัย แต่ภาพตรงหน้าที่เห็นมันคือหลักฐานชั้นดีที่ทำให้เห็นว่าความรุนแรงของสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง เชื่อมโยงถึงกัน โดยมีมนุษย์เป็นผู้กระทำและถูกทำลายไปพร้อม ๆ กัน ต่างกันแค่เพียงผู้มีส่วนได้และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น

ในมุมของ กิตติ สิงหาปัด ก็เช่นกัน การมาเข้าร่วมกับโครงการ Nowhere to run นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญและไม่ใช่เพียงเพราะความเป็นผู้สื่อข่าว แต่เป็นความสนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอดที่ชวนให้เขามาสื่อสารปัญหานี้กับ UNHCR

“พอเป็นงานที่เกี่ยวกับปัญหา Climate Change เราก็สนใจ เพราะมันก็เป็นงานที่พี่จับมาตลอด ทำข่าวโลกร้อน ทำประชุม COP เป็นสิบ ๆ ครั้ง เราเห็นความรุนแรงของปัญหาสภาพภูมิอากาศที่แรงขึ้นมาตลอด ก็เลยอยากไปดูจริง ๆ ว่าเกิดอะไรที่โมซัมบิก แล้วจะช่วยอย่างไร 

สิ่งที่เราเห็นคือมีวิกฤตที่ซ้อนกัน ทั้งสงครามและภัยธรรมชาติที่มาเจอในค่ายอีก พวกเขาต้องมาอยู่ศูนย์ลี้ภัยก็ลำบากแล้ว มันไม่เหมือนบ้าน พอมาเจอไซโคลนที่ทำให้พืชผล สิ่งปลูกสร้างเสียหายอีกก็ยิ่งลำบาก อยู่ที่นี่ไม่รู้ว่าไซโคลนจะมาเมื่อไหร่ นี่คือสิ่งที่เราเห็นแล้วอยากเอามาบอกคนข้างนอก”

 ‘Nowhere to run’ โดย UNHCR เป็นแคมเปญที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนช่วยเหลือ หาทางออกให้เด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศทั่วโลก จาก 22 ประเทศที่ต้องเผชิญกับความขัดแย้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไม่มีทางออก 

“ความฝันของผู้ลี้ภัยทุกคนก็คือการได้กลับบ้าน ซึ่งส่วนมากก็กลับไม่ได้ เพราะพื้นที่ของเขายังไม่สงบ” 

ประโยคของกิตติสรุป ‘ความเปราะบาง’ ของผู้ลี้ภัยให้เราเห็นได้อย่างดี พวกเขาต้องรับมือกับความไม่มั่นคงทั้งชีวิตและทรัพย์สินอยู่ตลอด รวมถึงต้องโยกย้ายมาอาศัยอยู่ในศูนย์ลี้ภัยชั่วคราวเป็นเวลาหลายปี ซึ่งในที่นี้ก็ไม่อาจเรียกว่าบ้านได้เต็มปาก สุดท้ายแล้ว ชีวิตคงไม่ซับซ้อนมากไปกว่าการเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน 

การลี้ภัยของ “ผู้พลัดถิ่น” และ “ผู้ลี้ภัย” ทั่วโลก เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทั้งทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ แต่กลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจากวิกฤตโลกรวนเป็นเรื่องใหม่ที่คนยังรับรู้น้อยสวนทางกับจำนวนผลได้รับผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้น

หลายครั้งเราพูดถึงการแก้ปัญหาโลกรวน พูดถึงการลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ แต่สำหรับในบางพื้นที่ สิ่งที่เขาทำได้มีเพียง ‘การปรับตัวและรับมือ’ กับมหันตภัยที่เกิดขึ้นตรงหน้าแล้ว เฉกเช่นในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้

วรรณสิงห์ : “สิ่งสำคัญที่ UNHCR เข้าไปช่วยคือ ’ปัจจัยพื้นฐาน’ การสร้าง Resilient Home บ้านปูนที่ปรับให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ ต้านทานไซโคลนได้ เพราะบ้านดิน หรือเต็นท์ไม่ไหวแน่

การสร้างบ้านปูนต้องใช้หลังละ 100,000 บาท และเขาพยายามสร้างให้ได้ 100 หลัง ซึ่งเป็นเงินสิบล้านบาทได้ เราจะเห็นได้ว่าสภาวะ Climate Change ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทุกวงการ และหลายอย่างที่เราเคยใช้ได้ในอดีตก็อาจจะไม่ได้อีกต่อไป

ในอีกแง่หนึ่งคือการที่ UNHCR เข้าไปช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับ Climate Change กระจายสิ่งเหล่านี้ไปทั้งกลุ่มผู้ลี้ภัยและชุมชนรอบข้าง โดยพยายามให้ข้อมูลว่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้คืออะไร ทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และการปรับตัวด้วย”

กิตติ : “เมื่อต้องอยู่ มันก็เป็นคำถามต่อมาว่าแล้วที่นี้จะอยู่อย่างไร? อยู่ไปวัน ๆ หรืออยู่อย่างมีความหวัง ผู้ลี้ภัยที่เคยเจอในทุกที่คือเขาต้องเอาทางกายภาพให้รอดก่อน  ในแง่ว่าบ้านเรือนต้องปลอดภัยจากสภาพอากาศ และปราศจากทั้งการคุกคามทางเพศและความรุนแรง ถ้าทางกายภาพไม่ดีก็อยู่ไม่ได้

ในเรื่องการทำงาน รัฐบาลเขากับ UNHCR ก็ช่วยกันผลักดันให้ผู้ลี้ภัยได้ออกไปทำงาน หารายได้ได้ บางบ้านก็จะมีบางกลุ่มวิทยากรมาสอน เป็นช่างเย็บผ้า ช่างเหล็ก ทำขนมปัง หรือปลูกผักกินในครอบครัวเอง

สิ่งสำคัญคือต้องการที่พักที่ต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และในเรื่องการใช้ชีวิตก็ต้องพยายามลดการพึ่งพาจากภายนอกให้ได้มากที่สุด ปกติเขาอาจจะนั่งรออาหารจากศูนย์ นั่งรออาทิตย์ตกดิน เพราะมันไม่มีอะไรทำ ก็เปลี่ยนให้เขาลดการพึ่งพาจากการหารายได้ที่เข้ามา ต้องหาทาง หรือสร้างทักษะตัวเอง คืออย่างน้อยถ้าได้กลับบ้านก็มีทักษะติดตัวไปด้วย”

Climate Change กระทบทั่วโลก แต่เหตุใดความเดือดร้อนจึงไม่เท่ากัน?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของ Climate Change ส่งผลรุนแรงไปทั่วโลกอย่างไม่แบ่งแยก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่ามันมีเรื่องของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในความสามารถการปรับตัว รับมือ หรือกระทั่งวิ่งหนีปัญหาตรงหน้าที่ทำให้คนทั่วโลกได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน

กลุ่มผู้ลี้ภัยมักเป็นกลุ่มคน ‘เปราะบาง’ แนวหน้าที่มักได้รับผลกระทบทั้งทางตรง ทางอ้อมอย่างเลือกไม่ได้ ด้วยอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า และชีวิตที่ต้องแบกรับความไม่แน่นอนในชีวิตแต่ละวันจึงทำให้พวกเราต้องยอมรับชะตากรรมที่ต้องพบเจอ

“ในเรื่อง Climate Change เราโดนกันหมดทั่วโลก แต่ความสามารถในการรับมือนั้นไม่เท่ากัน จึงต้องพึ่งการบริจาคจากความมีใจของคน” 

วรรณสิงห์ : แต่สำหรับผู้ลี้ภัยเขาไม่มีสิ่งเหล่านี้เลย ทุนทรัพย์ในการสร้างบ้านดี ๆ ต้องอาศัยเงินบริจาค ผ่าน UNHCR ที่เข้ามาช่วยดูแลความเป็นอยู่ตอนลี้ภัยมาแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่สามารถไปแก้ที่ต้นเหตุสงคราม ไปลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะทำให้คนรับมือสิ่งเหล่านี้ หรือสร้างห้องวิจัยให้เขาแก้ปัญหาด้วยตัวเองกันได้ 

มันก็ทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้รับไปเต็ม ๆ ทั้งที่เขาปล่อยคาร์บอนกันน้อยมาก เมื่อความเหลื่อมล้ำมันมีทั่วโลกเราจะจัดการมันยังไง โดยเฉพาะผลกระทบจากมหันตภัยที่เกิดพร้อมกัน ซึ่งมนุษยชาติยังไม่มีกลไกนี้ ก็ต้องพึ่งกลไกบริจาคจากความมีใจของคน 

กิตติ : เรารู้สึกว่าประเทศของเรายังโชคดีที่ภัยแบบนั้นยังมาไม่ถึงหรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที แต่การที่ภัยพิบัติมันเกิดถี่ขึ้น มันทำให้เรารู้ว่า วันหนึ่งมันจะต้องมาถึงเราแน่ ๆ การที่เราไปเห็นมันทำให้รู้ว่าเรายังพอมีกำลัง เรามีโอกาส เรามีหน้าที่ต้องไปช่วยเขา ซึ่งโมซัมบิกเป็นประเทศที่มีเอื้อเฟื้อกับเพื่อนบ้านมาก เปิดให้ผู้ลี้ภัยมาอยู่ในบ้านประเทศ แม้เขาเองจะไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย พอเรายิ่งไปเห็นความเป็นอยู่เขาก็ยิ่งอยากจะบอกให้คนรู้เยอะ ๆ เพราะคนส่วนมากไปไม่ถึงตรงนั้น ถ้าทำอะไรได้ก็ต้องทำ ทั้งเห็นระดับการดำรงชีพ โครงสร้างพื้นฐาน ความเป็นอยู่ ทำให้เห็นว่าเขายังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก”

เรื่องนี้จะไปจบที่ตรงไหน?

วรรณสิงห์ : ผมมองว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด มันมีแต่จะแย่ลงไปเรื่อย ๆ ปีนี้เราเปิดข่าวมาเจอแต่สงคราม กาซ่า ยูเครน เมียนมา นอกนั้นก็ยังมีคองโกที่มีเรื่องซัพพลายแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวพัน หรือซีเรียที่ค้างมาสิบกว่าปี ซูดาน ไนจีเรีย แชด ฯลฯ ถ้าให้ลิสต์ก็มีอีกหลายประเทศ” 

“พอเชื่อมกลับไปต้นเหตุจริง ๆ มันก็คือการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าตรงนั้นจะเป็นที่ดิน แร่ธาตุ น้ำมันก็ตาม”

“ด้วยเทรนด์ที่คนจำนวนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับความสามารถของดาวเคราะห์นี้ที่รองรับคนได้น้อยลงด้วย Climate Change และทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงในขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น บางอย่างมันเติมไม่ได้ในชั่วอายุคน หรืออาจต้องรอล้านปีด้วยซ้ำอย่างน้ำมัน เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่เราใช้กัน สุดท้ายเมื่อตกลงกันด้วยสันติไม่ได้ การแย่งชิงทรัพยากรเหล่านี้ก็ต่อไปยังโต๊ะเจรจา เริ่มใช้กำลัง และนำไปสู่การเกิดผู้ลี้ภัย เพราะโต๊ะเจรจามันมีแค่สองสามฝ่าย แต่ผู้ได้รับผลกระทบมันเยอะมาก

สุดท้ายงานของ UNHCR ที่เป็นงานบรรเทาทุกข์ก็จำเป็นมาก ๆ ที่ต้องมีในทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุเพราะเกิดเรื่องแล้วค่อยมาช่วยเหลือความทุกข์คน แต่ลองคิดว่าถ้าไม่มีคนทำ มันจะมีคนที่สภาพชีวิตแย่กว่านี้อีกเป็นร้อยล้านคน ผู้ลี้ภัยทั่วโลกมี 114 ล้านคน คิดเป็นมากกว่า 1% ของคนทั้งโลกแล้ว ซึ่งถือว่าเยอะสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติตอนนี้

Photo: UNHCR

สิ่งที่อยากส่งต่อให้คนอ่าน

วรรณสิงห์ : “หลายเรื่องเราอาจจะรู้จากแบบเรียนหรือดูจากสื่อ แต่พอไปเห็นด้วยตาตัวเองมันอิมแพคสูงมากในการทำให้เข้าใจว่าโจทย์ของโลกคืออะไร สิ่งที่เรากำลังเผชิญคืออะไร แล้วจุดที่เราอยู่ตรงนี้เราทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่อยากบอกต่อไปคือ มันไม่ใช่แค่การลดคาร์บอนแต่มันคือการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ด้วย ไม่ว่าผมเป็นสื่อ คุณเป็นชาวนา ผู้ประกอบการ หรือใด ๆ เราก็ต้องปรับตัวหมดในแบบของตัวเอง อยู่ที่ว่าปรับอย่างไร 

อนาคตที่เคยมองว่าเป็นของเจเนอเรชั่นถัดไป มันถึงยุคของพวกเราแล้ว มนุษย์เจนแรกที่ต้องนั่งคิดว่าเราจะทำดาวเคราะห์ดวงนี้พังไหม ซึ่งเป็นโจทย์ที่คนในยุคสงครามโลกครั้งที่สองไม่เคยเจอ คนโรมันไม่เคยเจอ แต่มันอยู่ตรงนี้แล้ว 2024 ถ้าเราทำไม่ได้ก็…จบครับ” 

กิตติ : “การเข้ามาร่วมกับ UNHCR มันเหมือนเป็นการเติมเต็มในส่วนที่เราหายไปที่เมื่อก่อนเราไม่ได้มีโอกาสทำงานสื่อสารเรื่องผู้ลี้ภัย การไปโมซัมบิกก็เป็นอีกโอกาสที่ได้ทำข่าวพวกปัญหามนุษยธรรมและเกี่ยวกับปัญหา Climate Change ที่พี่จับมาตลอด ด้วยความที่พี่เป็นคนที่ใกล้ชิดประเด็นและตามข้อมูล Climate Change ค่อนข้างเกาะติด ก็สามารถยืนยันได้ว่าตั้งแต่วันแรกที่เราทำประเด็นนี้จนถึงวันนี้ สถานการณ์มันแรงขึ้นจริง ๆ  

สำหรับเรื่องในโมซัมบิกนี้เราอยากให้คนทั่วไปได้เห็น เวลาเราพูดเรื่องโลกร้อน โลกรวน คนไม่เห็นภาพชัดว่ามันกระทบคนยังไง เพราะคนส่วนมากก็ไม่ได้อยู่ในเขตที่มันเสี่ยง หรือบางคนที่โดนเขาก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจดี มีฐานะ ได้รับผลกระทบน้อย แต่นี่มันชัดที่สุด นี่ไง ไซโคลนมันมากขึ้นและแรงขึ้น เห็นชัดเจนว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติส่วนหนึ่งมันเหนี่ยวนำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ทุกงานที่เราทำออกไป เราอยากให้คนได้เห็น เห็นครั้งเดียวไม่พอ เราทำหลาย ๆ เคส หลายครั้ง ทำบ่อยเข้าจนคนก็ต้องตระหนักว่าที่บ้านเราไม่โดนไม่ใช่ไม่มี มันเกิดขึ้นที่อื่น แต่วันใดวันหนึ่งข้างหน้ามันก็ต้องแรงขึ้น ซึ่งทุกคนมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นและแรงขึ้น เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องปรับพฤติกรรมตัวเองว่าทำยังไงให้มันเป็นภาระกับโลกน้อยลง นี่คือเป้าหมายสูงสุดของคนทำสื่อ

อีกอย่างคือเราอยากให้คนไทยได้คิดใหม่ การที่เราจะช่วยคน อย่าไปคิดแค่ว่าช่วยคนไทยด้วยกันหรือคนรอบ ๆ พอ คือช่วยที่ไหนก็ได้ช่วยคนที่เดือดร้อนเหมือนกัน เป็นเรื่องของมนุษยธรรม สิ่งที่เราอยากเห็นคือให้คนที่ดูแล้วเขาอยากลงมือทำอะไรสักอย่าง เราไม่ได้เรียกร้องว่าทุกคนจะต้องมาช่วยกันหมด มันอยู่ที่กำลัง ความแตกต่าง 

ส่วนเราอยู่ตรงไหน เราช่วยอะไรได้ก็ทำเท่าที่สะดวก สุดท้ายเมื่อคนลงมือทำ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นแสน เป็นสิบล้าน กลายเป็นร้อยล้านได้”

อ้างอิง: 

There could be 1.2 billion climate refugees by 2050. Here’s what you need to know 

The concept of ‘climate refugee’ – European Parliament

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถร่วมบริจาคช่วยสร้างที่พักพิงที่แข็งแรง ช่วยผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติได้ที่

 1. ร่วมบริจาคคนละ 10 บาท ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB) เลขที่ 004-225-8596 ชื่อบัญชี UNHCR Special Account 

2. หรือร่วมบริจาคผ่านเว็บไซต์ที่ https://unh.cr/665fe8e60 หรือ www.unhcr.org/th

Credit

Chayanit S.

Related posts

นี่เรากำลังกินอาหารพร้อมกับพลาสติกอยู่หรือเปล่า?  เช็ค 5 ของในครัวที่อาจปนเปื้อนไมโครพลาสติก

เลี่ยงได้เลี่ยง! ของ 5 อย่างในครัวที่แฝงไมโครพลาสติกแบบไม่รู้ตัวและอาจทำลายสุขภาพเรา

พา ‘ต้นไม้ของเรา’ สู่ตลาด เพิ่มช่องทางซื้อ – ขาย สร้างรายได้แก่เกษตรกร

อีกหนึ่งโครงการส่งเสริมอาชีพ และคืนความสมบูรณ์ให้ป่าของชุมชน อ.สันติสุข จ.น่าน

ปิด BOOK เปิด BOARD (เกม) ลงชุมชนผ่านสนามจำลองกับเกม ‘เครื่องมือเจ็ดชิ้น’

สืบเสาะเบาะแสในชุมชน เก็บข้อมูลด้วยการจดๆๆๆ และจดเพื่อคว้าคะแนน!

สักวันหนึ่งเราจะไม่มีปลาทูไทยกิน

ปลาทูเป็นอาหารจานคุ้นเคยที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ทุกวันนี้ปลาทูที่เรากินอาจเป็นปลาทูที่อิมพอร์ตเข้ามา เพราะว่าปลาทูไทยกำลังจะหายไปตลอดกาล