สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน คือ การมูเตลู
กรุงเทพมหานคร ศูนย์รวมความเชื่ออันหลากหลาย ทุกศาสนา ทุกความเชื่อ กระจายอยู่ทั่วเมืองหลวงแห่งนี้ ผู้คนต่างหลั่งไหลมาสักการะขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียกได้ว่าเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมขนานแท้ แต่ว่า…จำนวนคนที่หลั่งไหลแปรผันตรงกับจำนวนเครื่องสักการะ ยิ่งคนมาก เครื่องบูชาก็มากตาม นำไปสู่ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา
มากกว่าเรื่องเหนือธรรมชาติ คือ ธรรมชาติที่กำลังถูกทำลาย ทั้งฝุ่นควัน ขยะที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และ Food Waste ที่มีผลต่ออุณหภูมิของโลก แม้ทุกคนจะมีเจตนาที่ดีสำหรับการสักการะบูชา แต่หากเราสักการะผิดวิธี จากบุญที่จะได้รับ อาจเป็นโทษที่เราก่อให้กับโลกใบนี้
เมื่อการ ‘มูเตลู’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย บทความนี้จะพาทุกคนไปทราบถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และวิธีปรับตัวที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานที่ศักดิ์สิทธิ์กัน
ถวายผิดเกิด FoodWaste
อาหารสด ผลไม้ นม น้ำแดง เครื่องสักการะยอดนิยมที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปตามสถานที่มูเตลู แต่หารู้ไม่ว่าของไหว้เหล่านี้ หากนำมาถวายอย่างไม่ถูกวิธี จากของไหว้อันศักดิ์สิทธิ์อาจกลายเป็น ‘ขยะ’ ภายในพริบตา
จากการลงพื้นที่ไปสำรวจศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง พบว่า ‘ส้ม’ เป็นผลไม้ที่ถูกนำมาถวายมากที่สุด ทุกเย็นจะมีส้มจำนวนมากที่ถูกมัดใส่ถุงไว้ ส้มเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในระแวกใกล้เคียงและคนงานก่อสร้าง อีกส่วนหนึ่งจะถูกมัดใส่ถุงตั้งไว้ที่หน้าศาลเจ้า แจกฟรีให้กับผู้คนที่แวะเวียนมาที่ศาลเจ้าแห่งนี้
อีกสถานที่หนึ่ง คือ ศาลพระแม่ลักษมี ตึกเกษรวิลเลจ ผลไม้และขนมสีชมพูเป็นของไหว้ที่ถูกนำมาถวายอยู่ตลอดเวลา พนักงานดูแลศาลต้องคอยเก็บทุก 10 – 20 นาที พวกเขาจะนำไปจัดเรียงไว้ในถังสีเขียวอ่อน เพื่อรอส่งมอบให้กับมูลนิธิแบบวันต่อวัน หลังจากนั้นมูลนิธิจะนำไปบริจาคต่อให้กับเด็กและคนยากไร้
และถ้าไม่จัดการอย่างที่บอกข้างต้น อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องทิ้งในแต่ละวันจะมีอยู่จำนวนมากและ นำไปสู่ปัญหาใหญ่อย่าง Food Waste หรือขยะจากอาหารเหลือทิ้ง ซึ่ง การทิ้งอาหารที่ถูกสะสมมากมายอย่างไม่ถูกหลัก อาจกลายมาเป็นมลพิษได้ เพราะปัญหา Food Waste ไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนขยะ แต่ยังหมายรวมไปถึง ‘ก๊าซมีเทน’ ที่ถูกปล่อยออกมา จำนวนของก๊าซมีเทนที่มากขึ้น สามารถส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากก๊าซมีเทนคือส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก สาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน และก๊าซมีเทนสามารถกักเก็บความร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 84 เท่า
ทว่า ไม่ใช่ทุกชิ้นจะถูกนำไปบริจาค บางชิ้นไม่สามารถนำไปบริจาคได้ เนื่องจากมีการเจาะ แกะ เปิดบรรจุภัณฑ์ นมที่ถูกเจาะ น้ำแดงที่ถูกเปิด ผลไม้ที่ถูกแกะออกมาจัดเรียง แม้จะสวยงามตอนถวาย แต่หลังไหว้ต้องนำไป ‘ทิ้ง’ เท่านั้น การจะนำของไหว้ไปบริจาคต่อนั้นจะต้องมั่นใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้รับ การเปิดบรรจุภัณฑ์ส่งผลให้คุณภาพของอาหารและเครื่องดื่มลดลง อาหารเน่าเสียเร็วขึ้น แบคทีเรียในอากาศมีโอกาสสัมผัสกับอาหารมากขึ้น อาจส่งผลเสียด้านสุขภาพให้กับผู้รับของบริจาค เช่น อาหารเป็นพิษ ท้องเสีย
ดังนั้น หลายที่จึงพยายามรณรงค์ให้นำเครื่องสักการะกลับทุกครั้งหลังถวายเสร็จ (การลาของไหว้) หากไม่ประสงค์นำกลับ ขอความร่วมมือทุกคนไม่เปิดบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาถวาย เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของอาหารไว้ให้สามารถส่งต่อได้ และช่วยลดปัญหา Food Waste ที่อาจจะเกิดขึ้น
ควันธูป ฝุ่นควัน เสี่ยงโรคร้าย
การจุดธูปเทียน คือ วิธีแสดงความเคารพต่อสิ่งที่เรานับถือ เป็นวิธีที่คุ้นชินกันเป็นปกติ แต่การจุดธูปก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพราะพื้นที่ที่มีการจุดธูปจำนวนมาก จะมีค่าของฝุ่นละอองที่สูงกว่าพื้นที่บริเวณอื่น ย่อมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่นั้น ๆ เนื่องจากควันจากธูปมีสารก่อมะเร็งอย่างเบนซิน บิวทาไดอีน และเบนเอไพรีน การได้รับสารดังกล่าวสะสมเป็นเวลานาน สามารถทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้
หลายพื้นที่เริ่มมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจุดธูปสักการะ เช่น ศาลพระแม่ลักษมี ตึกเกษรวิลเลจ และศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ มีการงดจุดธูปแต่ยังมีการใช้ธูปเพื่อไหว้ขอพรอยู่ (ไม่เผาไหม้) ในขณะที่วัดไทยอย่างวัดอรุณฯ กับวัดโพธิ์ ใช้การพนมมือขอพรกับองค์พระประธานแทนการใช้ธูปเทียน หากจำเป็นต้องจุดธูป จะมีการจัดพื้นที่เฉพาะและจัดเวรเก็บธูปอย่างเป็นเวลา เพื่อลดเวลาการเผาไหม้
เวียนของไหว้ ลดขยะ
นอกเหนือจากธูป อีกหนึ่งสิ่งที่มาคู่กัน คือ ดอกไม้ เฉพาะอย่างยิ่งดอกไม้สดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำกลับมาเวียนเพื่อเช่าสักการะได้ อย่างไรก็ตาม สถานที่มูเตลูในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ จะมีวิธีจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะเน่าสะสมจากดอกไม้ โดยจะมีการประสานงานกับทางกรุงเทพมหานคร ดอกไม้ที่ถูกถวายจะถูกเก็บใส่ถุงและส่งมอบให้ทาง ก.ท.ม. นำไปจัดการอย่างถูกวิธี
ทั้งนี้ วัดหัวลำโพงเป็นหนึ่งในวัดที่มีการเวียนเครื่องสักการะ โดยมีพวงมาลัยดอกไม้เป็นองค์ประกอบด้วย เนื่องจากพวงมาลัยดอกไม้ที่ทางวัดใช้เป็นดอกไม้ประดิษฐ์สีแดง จึงไม่เน่าเสียและสามารถนำกลับมาวนได้ ขณะที่วัดโพธิ์มีการทำบุญสักการะผ่านวิธีหยอดเหรียญลงบาตร ผู้ที่มาสักการะสามารถนำเหรียญ 50 สตางค์และ 1 บาท ของตนเอง หรือจะซื้อชุดเหรียญที่ทางวัดจัดจำหน่าย เพื่อทำบุญขอพรกับพระพุทธไสยาสน์ วิธีสักการะนี้สามารถนำเหรียญมาเวียนใช้ได้ตลอด ถือว่าช่วยลดขยะได้เป็นอย่างดี
ร่วมด้วยช่วยกัน มูได้ ไม่ทำลายโลก
ปัจจุบันมีหลายวัด หลายศาลเจ้า หลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เริ่มปรับรูปแบบการสักการะให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น มีการคำนึงถึงปัญหาขยะและปัญหาฝุ่นควัน พร้อมทั้งมีวิธีจัดการขยะอย่างเป็นระบบ พวกเราในฐานะผู้สักการะบูชา สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาดังกล่าว เพียงให้ความร่วมมือกับข้อปฏิบัติของแต่ละสถานที่ นอกจากจะช่วยให้การขอพรไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเคารพต่อความเชื่อด้วยเจตนาบริสุทธิ์อีกด้วย