Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

No cookies to display.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

No cookies to display.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

No cookies to display.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

No cookies to display.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

No cookies to display.

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

ย้อนกลับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 22 พฤษภาคม 2565 หลายคนคงจำกันได้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งไปแบบถล่มทลาย อีกทั้งเป็นที่จดจำในแง่การสร้างมาตรฐานการหาเสียงแบบใหม่ การทำงานแบบใหม่ที่แข็งแกร่ง ลุย เป็นกันเอง รับฟังคนทำงานและชาวเมืองมากขึ้น

ในแง่ชาวกรุงเทพฯ อย่างเรา ก็ยอมรับตรง ๆ ว่าคาดหวังกับการเข้ามาทำงานของทีมผู้ว่าฯ ชุดนี้ไม่น้อย ก่อนหน้านี้ชาวกทม.ต้องรอกว่าเกือบ 10 ปี เลยทีเดียว กว่าจะได้กลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง นับจากภาวะไม่ปกติที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 นู่นแหนะ (โชคดีมากที่เราเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ และหวังว่าในอีกหลายจังหวัดจะได้มีผู้แทนของตัวเองในเร็ว ๆ นี้)

หลังจากรับตำแหน่งไม่กี่วันถัดมา ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็ได้เปิดตัว ทีมชัชชาติ ชุดแรกที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมงานพัฒนาเมืองร่วมกัน ซึ่งภายในรายชื่อจาก 1 ใน 18 คนนั้น ปรากฏเป็นชื่อของ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ด้วย

จากวันนั้นก็ถือเป็นวันที่พลิกโฉมมนุษย์กรุงเทพฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ สู่บทบาทรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน

การตัดสินใจมารับตำแหน่งนี้ มันอาจเหมือนการต้องลาออกจากงานเก่ามาเริ่มต้นงานใหม่ เริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ที่ดูท้าทายไหมนะ? เราสงสัย แต่สุดท้ายบทสนทนาก็ทำให้เราเห็นความยินดีและพร้อมมาก ๆ ของเขาที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ เขาบอกว่าเป็นเหมือน ‘งานในฝันที่ทำมาทั้งชีวิต’ เพียงแต่มาอยู่ในบทบาทของภาครัฐ และมีทรัพยากรคนมาช่วยกันมากขึ้นก็เท่านั้น

โจทย์สำคัญนอกเหนือจากการทำงาน ทำงาน ทำงาน ของทีมกทม.ชุดนี้ ศานนเล่าว่าคือการทำอย่างไรให้ รับฟังผู้คนได้มากขึ้น ให้ประชาชนกับคนทำงานได้สื่อถึงกันเหมือนกับเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมกับเส้นเลือดฝอย ซึ่งก็มีกลไกหลายอย่างไม่ว่าจะ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์), ผู้ว่าสัญจร ไปจนถึงในพาร์ทของเขาเองกับการตั้งเพจ หวังสร้างเมือง ที่หวังจะให้เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของการสร้างเมือง และเป็นคอมมูนิตี้ที่ให้คนมาคุย มาดู มาแชร์ข้อมูลกัน เพราะเขาเชื่อว่า เมืองที่น่าอยู่นั้นสร้างให้เสร็จภายในวันเดียวไม่ได้ แต่เราทุกคนช่วยกันทำให้ดีขึ้นในทุกวันได้

ว่าแล้วก็ชวนไปคุยกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ผู้ดูแลด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวกีฬา การพัฒนาสังคม สวัสดิการ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มาคุยกันผ่านแว่นมนุษย์กรุงเทพฯ ว่าด้วย เมืองที่ดี ในแบบของแต่ละคน และบทบาทของเขาที่อยากทำให้เมืองนี้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน เป็นเมืองที่ดีต่อสุขภาพกายและใจ และดีขึ้นได้ในทุก ๆ วัน

ทำความรู้จักในฐานะมนุษย์กรุงเทพฯ กันก่อน 

ช่วยเล่า ‘กรุงเทพฯ’ ในความทรงจำให้ฟังหน่อย

“ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ .. ตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ย้ายบ้านไปกว่าห้ารอบ” แม้ประโยคหลังจะเซอร์ไพรส์เรามากหน่อย แต่ก็รู้สึกว่าคน ๆ นี้น่าจะรู้จักกรุงเทพฯ หลากหลายซอกซอยอยู่ไม่น้อย

ศานนเล่าว่า ตอนเด็กอาศัยอยู่เขตดุสิตและเรียนที่ร.ร.เซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นย่านใกล้บ้าน ก็เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์หรือรถเมล์ได้ค่อนข้างสะดวก แต่เมื่อชีวิตเกิดต้องโยกย้ายไปเป็นชาวลาดพร้าวก็เริ่มเจอกับชั่วโมงเร่งรีบ ไปเรียนก็ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้า จนโยกย้ายไปเป็นชาวเมืองนนท์ฯ ก็เจอสภาวะเดียวกัน ซึ่งจังหวะชีวิตเหล่านี้ก็ทำให้เขาเห็นว่า เมือง ก็มักจะมีช่วงเวลาเร่งรีบ (Busy Time) ที่เราเองก็อาจจะต้องหาจังหวะการใช้ชีวิตที่เหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิตของเราให้เจอ

ตลอดช่วงชีวิตของเขาในเมืองนี้ สิ่งหนึ่งที่โตไปพร้อม ๆ กัน คือ การเดินทาง ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามเวลา ศานนท์เล่าว่า เมืองนี้มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ความเป็นเมืองถูกกระจายขยายออกไป ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เชื่อมต่อกันได้มากขึ้น ซึ่ง การเดินทางที่ง่ายขึ้น นี่แหละ ที่เป็นหัวใจสำคัญให้ผู้คนเชื่อมถึงกัน ออกไปใช้ชีวิตได้ และย่านต่าง ๆ ห้างต่าง ๆ ก็เริ่มผุดขึ้นตามแต่ละมุมเมือง

ภาพ: Instagram @sorsala

มนุษย์กรุงเทพฯ + ความสนใจในกรุงเทพฯ = ?

สมการนี้อาจไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับทุกคน แต่สำหรับศานนท์แล้ว ด้วยความคุ้นชินกับเมืองนี้ประกอบกับความสนใจในเรื่องเมือง ชุมชุน และผู้คน ทำให้เขาได้กลายเป็นทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ประกอบธุรกิจ ฯลฯ ที่ได้มีส่วนพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองให้น่าอยู่ ยั่งยืนและผู้คนมีส่วนร่วมกับ ‘บ้าน’ ของพวกเขามากขึ้น

“ผมชอบที่จะชวนคนในบ้านลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง มาทำอะไรให้บ้านเขาดีขึ้นด้วยตัวเขาเอง” ประโยคนี้ดูเหมือนจะสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ก็อธิบายความเป็นเขาได้ดี 

“ตอนชนะเลือกตั้ง ท่าน (ผู้ว่าฯ ชัชชาติ) ก็ชวนมาร่วมทีม ก็เป็นอะไรที่ปฏิเสธยาก และเป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว ผมพูดกับเพื่อนเสมอว่ามันเป็นเหมือนงานในฝันที่เราทำมาทั้งชีวิต ก่อนหน้านี้ที่ได้ทำงานร่วมกันกับทีม Better Bangkok เรารู้สึกสนุก ได้มีส่วนร่วม ได้ทำ ได้แนะสิ่งที่เราอยากทำ ท่านก็รับไปทำนโยบาย พอยิ่งมาทำในบทบาทภาครัฐ ยิ่งมีทรัพยากรมากขึ้น 

ผมว่าหัวใจมันไม่ใช่ภาครัฐในการเปลี่ยนแปลง มันเป็นชุมชนเหมือนเดิม แต่เราจะทำยังไงให้รัฐหันมามองชุมชนและผู้คนมากขึ้น นี่ก็เป็นบทบาทที่ผมอยากให้ภาครัฐเป็นแบบนั้นมากขึ้น”

แล้วในมุมมองของมนุษย์กรุงเทพฯ คนนี้ เมืองที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ?

“สำหรับผม ในเชิงกายภาพ คงเป็นการเดินทางที่ง่าย มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีอาหาร สิ่งต่าง ๆ ที่ราคาถูก อยู่อาศัยได้ง่าย มีธรรมชาติ สวนสาธารณะ มีที่ออกกำลังกาย ที่พักผ่อนหย่อนใจ 

.. มีสวัสดิการที่ดี ไม่ต้องต่อสู้กับระบบทุนนิยม หาเงินมากเกินไป และมีโรงพยาบาลที่ดูแลเราได้ตั้งแต่เราเกิดจนตาย มีครอบครัวที่อบอุ่น .

ส่วน เมืองที่ดี ในความรู้สึก อาจจะเป็นเมืองที่ รับฟังเรา สื่อสารกับเราได้ง่าย ให้รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ห่างหรือสูงจนเกินไป หรือถ้ามีอะไรที่อยากบอกเมืองนี้ก็มีคนที่รับฟังเราได้ ถ้าเราเจออะไรไม่ดีหรืออยากจะทำอะไรให้ดีก็บอกได้ เป็นเมืองที่ทำให้เรามีหวังและอยากอยู่ในเมืองนั้น

ถ้าเมืองนี้ทำให้เราภูมิใจ ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะอยากทำให้เมืองนี้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน

หรืออย่างคำว่า เมืองที่น่าอยู่ นอกจากการจะทำให้เรื่องพื้นฐานให้ดีแล้ว การทำให้เมืองมีชีวิต มีความสนุก ชุบชูจิตใจผู้คนได้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งหนึ่งที่ทีม กทม. ให้ความสำคัญมากคือเรื่องของ สุขภาพจิต ของผู้คน 

พอพูดถึงเรื่องนี้ก็ชวนเรานึกถึงกิจกรรมดนตรีในสวน กรุงเทพฯกลางแปลง หนังสือในสวน ดูดาวกลางกรุง ฯลฯ ที่เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะเคยไปสักครั้งหรืออาจจะเล็ง ๆ ไว้บ้าง สำหรับเราแล้ว กิจกรรมพวกนี้ก็ไม่ใช่แค่เครื่องชุบชูจิตใจ แต่ในหลายครั้งก็เป็นเครื่องค้นหาความชอบ ความถนัดให้ตัวเองหรือเด็ก ๆ เยาวชนอีกหลายคน รวมถึงเป็นแหล่งรวมพลคนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน

“เราเหนื่อยมาละ 5 วัน เสาร์อาทิตย์ก็ควรจะมีอะไรที่ชุบชูจิตใจหน่อย เราอยากให้มีกิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมในเมืองที่ชุบชูชีวิตคนในเมืองมากขึ้น เช่น ดนตรีในสวน กรุงเทพกลางแปลง กิจกรรมงานศิลปะ การจัดไฟตอนกลางคืน ฯลฯ

ในทางตรงคือช่วยสร้างเศรษฐกิจให้คนออกจากบ้านมาใช้สอยมากขึ้น และในทางอ้อมคือมันทำให้คนรู้สึกว่าเมืองนี้มีสีสัน สนุก มีอะไรที่เขาสามารถเข้าถึงได้ แล้วไม่ใช่ลิมิตแค่คนบางกลุ่ม แต่เราทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นย่านชุมชน ห้างสรรพสินค้า พื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าได้ฟรี ไม่เก็บเงิน 

เรื่องพวกนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่ที่จะช่วยปลูกฝังให้คนยังรู้สึกมีหวัง ภูมิใจในเมืองนี้ ให้มันมีอะไรที่ยังชุบชูชีวิต”

ภาพ: Instagram @sorsala

เมืองน่าอยู่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่เราช่วยกันให้ดีขึ้นได้ในทุกวัน

“ทุกวันนี้บางคนรู้สึกหมดหวังกับเมือง ข้าวของแพง เดินทางไม่ง่าย ที่อยู่อาศัยต้องเช่า ธรรมชาติก็น้อยลงทุกวัน เรื่องเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่หมดหวังกับเมืองและอยากย้ายไปอยู่เมืองใหม่ที่มันดีเลย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถพลิกให้เกิดเมืองที่ดีขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่อาจทำได้คือปลูกฝังการศึกษาตั้งแต่เด็ก” 

“แต่เดิมเราอาจจะเอาอุตสาหกรรมตั้ง แล้วผลิตคนตามความต้องการของตลาด  ซึ่งอุตสาหกรรมมันเปลี่ยนบ่อยมาก ทุกวันนี้อาชีพนับไม่ถ้วน เพราะงั้นสิ่งที่เราควรมุ่งเน้นในการศึกษาอาจเป็นการทำให้เขาเข้าใจในตัวเอง รู้ว่าสกิลที่มีคืออะไร แล้วเดี๋ยวสกิลนั้นจะไปต่อยอดอาชีพให้กับเขาได้โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าอาชีพนั้นจะต้องเป็นวิศวะ หมอ สถาปนิกใด ๆ ก็ตาม เมื่อเขาเข้าใจก็จะภูมิใจในตัวเอง แล้วมันจะเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้เขาอยากอยู่ในเมืองนี้ หรือภูมิใจที่จะมีชีวิตต่อไปได้”

“และความโชคดีของเมืองนี้คือการที่ คนยังมีความหวัง”

“อย่างที่บอกว่า เมืองนี้มันไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้แบบพลิกฝ่ามือ มันจะต้องพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ต่อให้เราไปมองเมืองที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้ เขาก็มีปัญหาเหมือนกัน 

ผมเคยคุยกับเพื่อนจากเดนมาร์ก เราก็ชวนคุยว่าเมืองคุณมีความสุขอันดับต้น ๆ เลยนะ เขาก็บอกว่า เขาไม่เห็นรู้สึกแบบนั้น รู้สึกแต่ว่าเมืองเขาคนไม่ค่อยคุยกัน ข้าวของแพง คือเขาก็มีปัญหาของเขา แต่ของบ้านเราเองก็ยังมีปัญหาที่เบสิคอยู่อย่างทางเท้า น้ำท่วม จราจร รอระบายที่ต้องแก้ คือเราก็ต่างมีปัญหาที่มันต่างกัน” 

“อย่างเพจ ‘หวังสร้างเมือง’ นี่เกิดจากว่าพอทำงานมาระยะหนึ่ง เราก็เหนว่ามีความคาดหวังและความร่วมมือเยอะมาก ซึ่งก็ยังเชื่อว่ามันมีอีก บางเรื่องเรานั่งคุยกันบนโต๊ะเล็กๆ ก็รู้สึกว่าจริง ๆ น่าจะมีคนอีกมากที่เคยทำ รู้เรื่องนี้ดีกว่า หรือรู้เรื่องชุมชนตัวเองดีกว่า เลยอยากสร้างกลไกที่ให้มีส่วนร่วมกับเขาได้ ก็เลยมีช่องทางเพจนี้ขึ้นมา ชื่อเพจ “หวังสร้างเมือง” จริง ๆ ก็ล้อ ๆ กับนามสกุลผม หวังสร้างบุญ เราก็มาปรับกันตลก ๆ ให้รีเลทกับตัวเองจนเป็น “หวังสร้างเมือง”

“สิ่งหนึ่งที่ผมว่ากรุงเทพฯ โชคดีกว่าเมืองอื่น ๆ เลยคือ เรายังมีคนที่มีหวังกับเมืองนี้มาก ผมไปเจอใครก็มีแต่บอกว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เขาอยากช่วยเรื่องนั้นนี้ เรื่องท่อระบายน้ำ เรื่องจักรยาน เรื่องจะทำไงให้คนเลิกใช้รถ มาใช้จักรยาน หรือทำยังไงให้ชุมชนดีขึ้น ทุก ๆ วันผมจะเจอคนแบบนี้เยอะมาก เพจนี้เลยอยากให้เป็นช่องทางพูดคุยกับคนที่ยังมีหวังกับเมือง พยายามจะพูดคุยกับเขา 

“เราเลยรู้สึกว่าโชคดีที่ยังเจอคนที่มีหวัง เราอยากทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเมืองนี้กำลังดีขึ้น อาจจะไม่ใช่แบบพลิก แต่ก็กำลังดีขึ้น ๆ ในทุก ๆ วันแน่นอน”

Credit

Chayanit S.

เป็นคนกรุงเทพฯ ชอบเดินเที่ยวเมือง ฟังเพลงซ้ำ ๆ นั่งโง่ ๆ ดูคนคนใช้ชีวิต :-)