ปิดหน้าจอแล้วออกไปจัดสวนขวด สโลว์ใจให้เย็นขึ้นกับชาวเอ็นไวรอนแมน

ถ้าหน้าฟีดมันเร็วไป ถอยมาอยู่กับต้นไม้ เสกโลกจิ๋วของตัวเองกันดีกว่า

เคยได้ยินกันใช่มั้ยละว่า ‘ธรรมชาติ’ หรือพื้นที่สีเขียวนั้นเป็นหนึ่งในฮีโร่ที่ช่วยปลอบประโลมใจเจ้าพวกมนุษย์ ลดความเครียด เพิ่มความผ่อนคลายได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ แต่ ชีวิตของหลาย ๆ คนโดยเฉพาะในเขตเมืองยังคงวนเวียนอยู่กับความวุ่นวาย ตื่น-รถติด-ทำงาน-กลับบ้าน-นอน แบบนี้วนไป การจะออกไปหาพื้นที่สีเขียวหรือทำกิจกรรมเยียวยาใจเหล่านี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน

ปฏิทินวนมาที่ปลายปีอีกครั้ง สำหรับกิจกรรมสุดท้ายของปี เรานัดเจอกับชาวแก๊งเอนไวรอนแมนที่สวนรถไฟในช่วงสาย ๆ เพื่อให้แดดยังไม่ร้อนนัก แดดอ่อน ๆ ยามสายชวนกระตุ้นวิตามินดีออกมาวิ่งเล่น เสียงนก เสียงต้นไม้พริ้วไหวชวนให้ผ่อนคลาย คล้ายเป็นสัญญาณที่บอกว่า ‘วันพักผ่อน’ ของพวกเรามาถึงแล้ว 

กิจกรรมหาทำของพวกเราในวันนี้เริ่มจากเดินชมนกชมไม้ระยะสั้น ๆ ในสวนรถไฟให้พอได้ขยับร่างกายกัน จากนั้นก็ไปต่อกันที่ไฮไลต์หลักที่ทำให้เรายอมตื่นเช้ามาก็คื๊อออ เวิร์คช็อปจัดสวนจิ๋วในขวดแก้ว กับพี่ ๆ ทีมงานจาก Mini Garden นั่นเอง

ถ้าให้ย้อนคิดกลับไปไว ๆ ครั้งล่าสุดที่เราได้จัดสวนขวด สวนถาด หรือเนรมิตพื้นที่สีเขียวจิ๋วของตัวเองแบบนี้ก็คงจะเป็นตอนมัธยมฯ ปลาย (และตอนนั้นก็ตื่นเต้นมาก!!) แต่ก็ตื่นเต้นจนเน้นสนุก วิธีดูแลก็.. งู ๆ ปลา ๆ ตามที่คุณครูว่าไป แหะ ครั้งนี้ก็เลยเป็นโอกาสดีที่จะได้รื้อตำราและมาแก้ตัว เสกสวนขวดของตัวเองใหม่ซะหน่อย

หลังจากรับวิตามินดี เอาร่างกายปะทะกับสายลมแสงแดดกันไปแล้ว เราก็โยกย้ายกันมาที่ ‘ห้องสมุดสิ่งแวดล้อม’ ที่อยู่ภายในสวนรถไฟ ซึ่งที่แห่งนี้ก็มีดีตามชื่อห้องสมุดเขาเลย เพราะมีหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเยอะมาก ๆ พี่เจ้าหน้าที่เองก็ดูแลอย่างดี ชนิดที่ว่าเราเห็นถึงความตั้งใจในการดูแลห้องสมุดนี้อย่างเต็มเปี่ยม

เริ่มเลอ วิชาสวนขวด 101

เมื่อกายพร้อม ใจพร้อม อุปกรณ์พร้อมก็เริ่มกันได้! จากที่เราได้คุยกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายคนที่มาจอยกันก็มีทั้งคนที่เคยทำสวนขวดและไม่เคยทำมาก่อนเลย ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะพี่สต๊าฟก็คอยให้ความช่วยเหลือและแนะนำเราตลอดการทำอย่างดี

อุปกรณ์ทำสวนขวดที่ถูกเตรียมไว้ในเวิร์คช็อป

◦ สแฟ็กนัมมอส

◦ พีทมอส

◦ หินกรวด 

◦ ต้นมอสส์และเฟิร์น

◦ ตุ๊กตาตกแต่ง

◦ ขวดแก้ว

◦ คีมสำหรับคีบวัตถุต่าง ๆ

ซึ่งถ้าใครอยากจะไปลองจัดตามกันก็ลองหาวัตถุดิบมาปรุงแต่งในแบบของตัวเองได้เลย เพียงแต่ใจความสำคัญของสวนขวดเหล่านี้จะต้องถูกปิดฝาเพื่อคง “ความชื้น” ภายในเอาไว้ตลอดและพืชข้างในยังอยู่ได้ โดยที่เราดูแล รดน้ำเพียงเดือนละ 1 ครั้งก็พอ

ขอย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นสวนขวด หรือ Terrarium สักนิด แท้จริงไอเดียการทำสวนขวดนี้ก็เกิดขึ้นจากการที่เขาอยากจะให้พืชหลีกเลี่ยง “มลพิษอากาศจากอุตสาหกรรม” นี่แหละ แรกเริ่มการทดลองของนักพฤกษศาสตร์อังกฤษที่ชื่อว่า Nathaniel Bagshaw Ward ที่สนใจและสังเกตพฤติกรรมของแมลงในโถแจกันแก้ว วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นไอน้ำตามผิวขวดในช่วงเช้าและระเหยออกในช่วงเย็น จึงลองหยิบเอาต้นกล้าของเฟิร์นและหญ้า ไม้เมืองร้อนที่เขาทดลองปลูกแต่ไม่เคยสำเร็จมาลองใส่ในโถแจกันนี้และพบว่าต้นไม้กลับอยู่รอด ซึ่งต่างจากภายนอกที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมในอังกฤษ (เอ๊ะ แล้วมลพิษตอนนี้ก็ไม่น่าต่างกันเท่าไหร่นะคะเนี่ย)

นี่มันวิชาสวนขวดและการฝึกความอดทน?!

ด้วยความที่ขวดแก้วไซส์ที่เราเลือกทำกันจะเล็กซะหน่อย การจะแต่งเติมโลกใบจิ๋วของเราได้นั้นก็ต้องอาศัย “ความใจเย็น” เป็นหลัก แหะ ๆ เพราะต้นไม้ที่ใช้ก็ค่อนข้างเล็ก พื้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงต้องละเอียดและใจเย็นมาก ๆ อุปกรณ์ที่เราใช้ก็จะเป็นคีมหรือที่คีบในการจัดวางแทนมือ

ขั้นตอนแรกเราจะต้องใส่สแฟ็กนัมมอสไปก่อน ซึ่งเป็นอาหารของพืช หลังจากนั้นก็ถมดินให้เป็นสโลปเล็กน้อยเพื่อง่ายต่อการปลูกแต่งโลกจิ๋ว แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรสูงเกินไป เพราะจะต้องเหลือความสูงเอาไว้ให้น้อง ๆ เขาเติบโตด้วยนะ

สำหรับใครที่เป็นสายหัวร้อน มือร้อน ก็บอกเลยว่ากิจกรรมนี้จะเหมาะกับพวกเธอมาก ๆ แหละ เพราะมันจะช่วยให้เรามีสมาธิ ได้อยู่กับตัวเอง และมีความอดทนมากขึ้น

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้มันวิ่งไวฉิว อะไรที่ไม่ถูกใจเราก็อาจจะแค่ไถฟีดหนีไป ไม่อยากดูก็อาจจะแค่กด Skip ข้ามหนีไปได้ ทุกอย่างมนุษย์เราแทบจะควบคุมได้หมด  รวมถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน บางทีเราก็เลือกทางเลือกที่สะดวกกว่า เร็วกว่า ง่ายกว่าจนชิน เช่น การเลือกกิน เลือกใช้ เลือกซื้อของแบบใช้แล้วทิ้ง ทั้งที่ถ้าเราช้าลงอีกนิดมันก็อาจจะลดผลกระทบต่อโลกได้ไม่ใช่น้อย ดังนั้น การลองห่างออกจากเทคโนโลยีหรือความสะดวกแบบติดดาว แล้วมาลองทำกิจกรรม ลองใช้ชีวิตแบบวิถีทางเลือกก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยให้เราปรับพฤติกรรมและสนิทกับโลกได้มากขึ้น

สวนขวด: พื้นที่แต่งเติม ‘โลก’ ในจินตนาการ

ในอีกทางหนึ่ง เรื่องของการจัดสวนขวดก็ดูจะเป็น ‘งานศิลปะ’ ไปด้วยในตัว สิ่งหนึ่งที่เราชอบมาก ๆ คือ ทุกคนได้อุปกรณ์ชุดเดียวกัน แต่สวนขวดที่ออกมา หน้าตาไม่เหมือนกันเลยสักคน! ผลงานแต่ละชิ้นก็จะมีเสน่ห์ในแบบของมันและถูกตกแต่งตามความชอบของเจ้าของสวน โดยไม่ต้องมานั่งเปรียบเทียบว่าใครสวยใคร มีแต่คำว่า สวยในแบบของฉันก็พอ! 

อย่างของเราก็แอบสลับตุ๊กตากับเพื่อนเพราะตั้งใจอยากให้ออกมาเป็นเกาะที่มีแต่หญ้า ภูเขา และนก (แม้มันจะดูไม่ค่อยออกว่าเป็นเกาะก็ตาม ฮ่า)

ถ้าเลือกได้ ใคร ๆ ก็คงไม่อยากแต่งสวนตัวเองแบบที่มีขยะเละตุ้มเป๊ะ หญ้าสีเหลืองแห้งโกร๋น ไร้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ใช่มั้ยล่ะ โลกนี้ก็เช่นกัน ถ้าเลือกได้ เราก็คงไม่อยากเห็นภาพแบบนั้น 

“ระหว่างทำก็ชวนให้คิดถึงโลกเราเหมือนกันว่าบางทีการที่โลกมันสกปรก หรือมีมลพิษ มันจะหายไปได้ก็ต้องเริ่มจากเราด้วย เหมือนที่ทำสวนขวดนี้แล้วเราต้องคอยเช็ด คอยจัดให้มันสวยงาม หรือตกแต่งแบบที่เราอยากให้เป็น”

นี่เป็นหนึ่งในคำที่ชาวเราแชร์ให้ชวนคิดต่อว่าแบบ เอ้อ! อยากได้โลกแบบไหน ก็ต้องทำแบบนั้นสินะ 

สำหรับเรา สวนขวดนี้เลยกลายเป็นหนึ่งในภาพจำลองของโลกที่เราอาศัยกันอยู่ ด้วยมลภาวะจากมนุษย์ที่เข้ามาทำลายสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนไปจนทำให้พืชพันธุ์และสัตว์โลกอาจปรับตัวไม่ทัน สำหรับบางชนิดก็อาจจะโชคดีที่หาทางปรับตัวได้ แต่ก็สิ่งมีชีวิตบางอย่างก็อาจจะไม่โชคดีเช่นนั้นและอาจถึงขั้นสูญพันธุ์จากระบบนิเวศในพื้นที่ไปก็เป็นได้

การจัดสวนขวดแม้จะเป็นเพียงกิจกรรมเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เราสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวของตัวเองได้ไม่ใหญ่โตนัก แต่สิ่งสำคัญมันคือความรู้สึกที่ได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติ จากการออกแบบ ‘ธรรมชาติ’ ในจินตนาการของเราให้เป็นจริงและการได้ดูแลต้นไม้น้อย ๆ ของเราเอง ซึ่ง เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ครั้งหนึ่งที่เรารักและหวงแหนในธรรมชาติไม่ว่าจะในรูปแบบไหน สุดท้ายมันก็จะพาเราไปยังการรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้ แบบที่ไม่ต้องหาใครมาบังคับเราแน่นอน : )

Credit

Chayanit S.

Related posts

KBank ชวนธุรกิจอาหารปรับตัวอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การลด Food Waste

ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและแรงกดดันจากกฎระเบียบโลก KBank ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรสำคัญเพื่อช่วยธุรกิจอาหารเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

ฝีดาษลิง โควิด-19 อาจพบได้แรงและบ่อยขึ้น เพราะโลกรวนและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม? 

70 ปีที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักไวรัสเหล่านี้ เพราะอะไรถึงทำให้มันกลายเป็นหายนะใหญ่?

การซื้อของชุมชนท้องถิ่น ของใกล้ตัวที่เรามองข้าม อาจช่วยโลกได้มากกว่าที่คิด

ยิ่งซื้อของในชุมชนท้องถิ่น ยิ่งมีส่วนในการลดมลพิษที่เกิดจากการขนส่ง ช่วยโลกทางอ้อม และยังสามารถพัฒนาชุมชนได้ในทางตรงด้วย

ไม่ต้องควงเด็กจุฬาก็มาเดินได้! พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ฟรีในจุฬาฯ เดินง่าย ๆ แบบวันเดียวจบ

รู้จักสารพัดความเป็นมาของโลกผ่านพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ กัน

มองโลกรวน ไซโคลน สงคราม ผ่านผู้ลี้ภัยในโมซัมบิกกับภารกิจของ UNHCR

ชะตากรรมในศูนย์พักพิงของคนที่ฝันอยากกลับบ้าน แต่กลับถูกซ้ำเติมด้วยภัยจากมนุษย์