เพอร์มาคัลเจอร์เกิดขึ้นราวปีค.ศ. 1978 จากคำว่า ‘Permanent Agriculture’ หรือ การเกษตรแบบยั่งยืน ดังนั้น เพอร์มาคัลเจอร์จึงเป็นรูปแบบการทำสวนที่เน้นการอยู่ร่วมกันเป็นวงจร มีการพึ่งพาอาศัยกันตามระบบนิเวศธรรมชาติ ซึ่งรวมทั้งพืช สัตว์ มนุษย์ และที่อยู่อาศัยไปจนถึงชุมชนไว้ด้วยกัน

ไม่ว่าจะมีที่อยู่อาศัยแบบไหนก็สามารถทำสวน Permaculture ได้
จากข้างต้นหลายๆ คนอาจจะคิดว่าการทำสวนเพอร์มาคัลเจอร์จำเป็นต้องมีที่ดิน มีบ้านเป็นหลังๆ จึงจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้ชีวิตและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ แต่ความจริงแล้วสวนเพอร์มาคัลเจอร์นั้นสามารถประยุกต์ได้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแฟลต อพาร์ตเม้น คอนโด บ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮมก็ตาม ขอแค่มีพื้นที่ระเบียง ดาดฟ้า หรือพื้นที่เล็กๆ บริเวณบ้าน เพียงเท่านี้ก็สมารถทำสวนเพอร์มาคัลเจอร์ได้แล้ว!

แล้ว Permaculture ช่วย #อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้อย่างไร?
การทำเกษตรปัจจุบันแน่นอนว่าต้องมีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมหาศาล ยาฆ่าแมลง และการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อให้พืชแตกกิ่งก้านออกดอกออกผลอย่างงดงาม แต่สำหรับเพอร์มาคัลเจอร์แล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหัวใจของเพอร์มาคัลเจอร์คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เน้นส่งคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงต้องเลือกพืชพรรณให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการปลูก ดิน อากาศ แสดงแดด หรือการปลูก ‘พืชคู่หู’ (companion plants) ที่จะช่วยแลกเปลี่ยนสารอาหารและป้องกันศัตรูพืชให้กันและกัน รวมถึงอาจเลี้ยงเป็ด ไก่ หรือห่าน ที่จะเป็นนักล่าศัตรูพืชชั้นเยี่ยมให้กับเรา แล้วเอาผลผลิตหรือสิ่งที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์มาใช้ปลูกพืชต่อด้วยก็ได้ เช่น การเอาน้ำเสียจากการเลี้ยงปลามารดน้ำต้นไม้ต่อ

แม้ไม่มีความหลากหลายมากตามธรรมชาติอย่างดิน และไม้น้ำ แต่เราสามารถรองน้ำฝน และปลูกพืชคลุมดินเพื่อกักเก็บความชื้นให้แก่พืชได้ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำประปา
นอกจากนี้เพอร์มาคัลเจอร์จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเด็ดขาด ซึ่งดินและปุ๋ยสำหรับการบำรุงพืชพรรณนั้นล้วนมาจากซากพืชที่ตายแล้ว และเศษอาหารประเภทผักมาหมักจุลินทรีย์เป็นปุ๋ยหมุนเวียนให้กับพืชต้นใหม่ๆ นั่นเอง
มาถึงตรงนี้แล้วบางคนอาจเกิดคำถามขึ้นว่า ‘แล้วผักจากสวนเพอร์มาคัลเจอร์นั้นต่างจากผักออร์แกนิคอย่างไร’ ถึงจะไม่ได้ใช้สารเคมีตั้งแต่กระบวนการปลูกเหมือนกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างอยู่บ้าง นั่นคือ การปลูกผักออร์แกนิคจะเน้นวิธีทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมี และเพิ่มผลผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เพอร์มาคัลเจอร์มุ่งเน้นการเกษตรที่ยั่งยืน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งให้ระบบต่างๆ เกื้อกูลกันในลักษณะของระบบนิเวศ เช่น การปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อส่งเสริมกันและกัน รวมถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมศัตรูพืชและให้ปุ๋ย ถ้าให้สรุปสั้นๆ ออแกร์นิคจะเน้นตอบโจทย์ตลาด แต่เพอร์มาคัลเจอร์ตอบโจทย์ธรรมชาติมากกว่า

เพอร์มาคัลเจอร์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้คนที่ต้องการวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน อย่างน้อยๆ ก็ได้ผักปลอดสารพิษสำหรับการบริโภคโดยที่ไม่ต้องให้การดูแลเยอะเหมือนการทำเกษตรประเภทเดียว รวมถึงยังช่วยลดปริมาณขยะเศษอาหาร และใช้ทรัพยากรน้ำน้อยลงอีกด้วย
ที่มา
https://www.baanlaesuan.com/217991/ideas/garden-ideas/how-to-permaculture
https://hhcthailand.com/permaculture-garden/