Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

No cookies to display.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

No cookies to display.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

No cookies to display.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

No cookies to display.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

No cookies to display.

บันทึก 1 วัน ตามติดชีวิตพนักงานเก็บขยะ ที่ว่าไม่เทรวมนี่มันยังไงซิ? - EnvironmanEnvironman

บันทึก 1 วัน ตามติดชีวิตพนักงานเก็บขยะ ที่ว่าไม่เทรวมนี่มันยังไงซิ?

ร้อน-เหม็น-หนัก แถมเจ็บตัว ชะตากรรมที่ต้องเผชิญจากกองขยะ

ถ้าพูดถึงปริศนาธรรมเกี่ยวกับเรื่องของขยะ เชื่อว่าคำถามที่แว๊บขึ้นมาเป็นประโยคแรก ๆ ก็ต้องเป็นเรื่อง ‘เทรวม’ ประเภทที่ว่า “จะแยกขยะไปทำไม เดี๋ยวเขาก็เทรวมอยู่ดี” แน่นอน ถึงจะพยายามสื่อสารกันมากเท่าไหร่ แต่ก็คงมีคนที่บอกว่าเจ้าหน้าที่เขาเทรวมอยู่ดี 

ก็เลยเกิดเป็นคำถามว่า พีอาร์กันปาว ๆ แบบนี้ ยังเทรวมอยู่จริงหรอ? แล้วถ้าไม่เทรวมเนี่ย เขาจัดการขยะบนรถเขียว ๆ คันนั้นเวลาออกไปซิ่งยังไงบ้าง?

ความสงสัยเหล่านี้ก็เลยเป็นที่มาของ “บันทึก 1 วัน ตามติดชีวิตพนักงานเก็บขยะ”

เช้าวันนั้น ยังจำได้ขึ้นใจว่าทีมเรานัดหมายกับพี่ ๆ เจ้าหน้าที่เก็บขยะของ กทม. กันแต่เช้า เรียกได้ว่าเอาให้เหมือนตื่นไปทำงานและจบงานพร้อมพี่เขากันไปเลย! 

ถึงจะเช้ามากแต่ก็ต้องบูสต์ๆ เอเนอร์จี้ออกมาให้ได้เท่ากับพี่ ๆ เจ้าหน้าที่เก็บขยะที่มาเตรียมพร้อมเข้างานอยู่ก่อนแล้ว วันนี้เราออกเดินทางไปกับเจ้าหน้าที่ 4 หนุ่มที่จะพาเราไปทัวร์เขตยานนาวาพร้อมรถ vvip สีเขียว ที่ไม่ใช่คนพิเศษจริงก็นั่งไม่ได้นะ (เพราะที่นั่งจำกัด แฮ่!)

พี่ไพโรจน์ ทองดี หัวหน้าชุดในวันนั้นเหล่าให้เราฟังว่าปกติแล้วการออกเก็บขยะจะแบ่งออกเป็น 2 กะ คือ 03.00 – 12.00 น. และ 12.00 – 20.00 น. โดยที่รถหนึ่งคันก็จะใช้วนไปสองกะแบบนี้ และมีพี่ ๆ ออกปฏิบัติการชุดละ 4 คน

4 เทพที่ว่านี้ก็จะมีหัวหน้าชุดแบบพี่ไพโรจน์คอยขับรถและดูแลความเรียบร้อยอยู่ 1 หน่วย ที่เหลือก็จะมีอีก 3 คนยืนท้ายรถเพื่อคอยจัดการ เก็บและแยกขยะตามเส้นทางที่เขาจะไปในแต่ละวัน

ก่อนเข้างานพี่ ๆ เขาก็จะต้องมาเซ็นชื่อเข้างานแสดงตัวกันซะหน่อย จากนั้นก็เตรียมความพร้อมรถเก็บขยะที่จะเอาออกไปลุยกัน ซึ่งตรงนี้แม้จะดูเป็นเรื่องที่แล้วแต่เทคนิคใครเทคนิคมัน แต่เท่าที่เห็นรถหลาย ๆ เขตของกทม. (และปริมณฑลที่เคยเจอ) ทุกคันก็มักจะมีถังหรือถุงกระสอบห้อยระโยงระย้าที่หลังรถ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยแยก “ขยะรีไซเคิล” ออกจากบรรดาขยะที่ทุกคนทิ้งรวมไป ซึ่งพอไปเห็นภาพจริงแล้วก็เข้าใจเลยว่า การที่ต้นทางแต่ละบ้านไม่แยกขยะนั้นมันทำให้การเก็บขยะลำบากและอันตรายขึ้นยังไง

เมื่อพร้อมแล้วก็ออกได้เดินทางได้! ระหว่างนั่งรถไปตามทางเราก็ชวนพี่ ๆ คุยถึงเรื่องไม่เทรวมกันซะหน่อย แต่พี่เขาก็บอกว่า “ส่วนมากเขตผมนี่เทรวมฮะ หมายถึงตามบ้านน่ะ.. เขาเทรวมมาให้ แหะๆ” แกยังเล่าเพิ่มเติมว่า เวลาไปเก็บตามบ้านก็มีส่วนที่แยกขยะมาดี หรืออย่างน้อย ๆ แยกขยะรีไซเคิลออกมา กล่องกระดาษต่าง ๆ ก็จะวางแยกไว้ แต่ส่วนที่เป็นปัญหาหนัก ๆ เจอกันบ่อยคือขยะที่ควรแยกเนี่ย ดันไม่ได้แยกออกมา ตั้งแต่ขยะอันตรายไปจนของมีคม รวมถึงขยะเศษอาหารตัวดีย์ ต้นตอของกลิ่นเหม็นเน่าตั้งแต่มือพวกเขาไปจนถึงปลายทาง

“เศษอาหารถ้าแยกได้ก็ดี ไม่ไปเละเทะ เลอะเทอะอยู่ในนั้น ที่เจอคือกลิ่นมีอยู่แล้ว ยิ่งไปเก็บช้า ยิ่งเน่าบูด หมู่บ้านหนึ่งเราจะอาทิตย์ละ 2 ครั้ง น้อยกว่านั้นไม่ได้ เพราะอาทิตย์ละครั้งเน่าหมด”

จากที่เราได้ติดสอยห้อยตามไปกับพวกพี่เขาก็พบว่า ร้านอาหารหลาย ๆ แห่งไม่ได้ทิ้งแยกเศษอาหารมา มิหนำซ้ำก็ยังมีพวกน้ำซุปต่าง ๆ ติดมาด้วย คอมโบด้วยการใส่ถุงดำมาจนทำให้มองไม่เห็นขยะที่อยู่ในถุง ดังนั้นเวลาพี่ ๆ เขาจะกรีดถุงออกมาดูว่าข้างในคืออะไร จะแยกอะไรได้บ้าง ก็เป็นอันว่าน้ำขยะไหลโจ๊ก ส่งกลิ่นเหม็นเลอะเทอะไปตามระเบียบ

นอกจากเรื่องของกลิ่นเหม็นเน่า สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสามัญประจำตัวคือของมีคมและขยะอันตรายที่หลายคนมักจะชอบทิ้งรวมไปในถุง ไม่ได้แยกออกมาหรือทำสัญลักษณ์อะไรให้เจ้าหน้าที่รู้ ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุมาก ๆ 

“พวกเศษแก้ว ของมีคม ถ้าทิ้งแบบไม่ได้แยกมาให้ ถึงเราใส่ถุงมือก็ทิ่มมือ อันตรายอยู่ดี ที่เจอบ่อย ๆ คือเขาจะใส่ถุงดำ ถุงก้อบแก้บ ถุงหูหิ้วมา แล้วไม่ได้ซ้อนถุง ไม่ได้เขียนบอกไว้เลย 

คือถ้าเป็นพวกเศษแก้วแตก เราอยากให้ใส่ถุงซ้อนชั้นแล้วเขียนไว้หน่อยว่าเป็นแก้วแตก เวลาคนไปเก็บก็จะได้รู้

เคยมีเคสหนึ่งที่เราไปเจอพวกกระเบื้องที่มีคนใส่ถุงมาทิ้ง เราไปหิ้วเก็บมา แต่ถุงดันฉีกขาดออกมา กระเบื้องก็บาดขา เลือดไหลกันไป กับอีกอย่างก็คือไม้ลูกชิ้น ไม้จิ้มฟัน ตอนมันอยู่ในถุงเราไม่เห็นหรอก พอไปหยิบเข้าก็ทะลุทิ่มอีก จริง ๆ ถ้าแยกออกมาให้ก็จะดีกว่า ถึงเขาหักมา มันก็จะช่วยได้นิดหน่อย เพราะถ้ายกมายังไงก็ยังมีโอกาสทิ่มอยู่ดี”

ย้อนกลับมาที่คนต้นทางแบบเรา เอาจริง ๆ ตอนได้ยินพี่เขาพูดมันก็ไม่ได้รู้สึกเซอร์ไพรส์เลยว่าของแต่ละอย่างนี่มันจะสร้างอันตรายต่อพวกเขา แต่พอได้ฟังจากปากของคนที่ทำงานจริงขึ้นมา มันก็เหมือนมีพลังบางอย่างที่ทำให้ต่อมสามัญสำนึกของเราทำงานมากขึ้นโดยอัตโนมัติ พอเราได้เห็นว่าคนที่เขาทำงานต่อจากขยะบ้านเรามีตัวตนจริง มีความรู้สึก ได้รับผลกระทบแบบนี้จากการกระทำของเราจริง ๆ มันยิ่งทำให้เรามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากขึ้น ไม่ใช่ว่าทิ้งขยะไปส่ง ๆ แล้วคิดว่า ‘เดี๋ยวก็มีคนมาเก็บ’ ล่ะ เพราะคนที่ว่าเขาก็มีความรู้สึกและเดือดร้อนจากความมักง่ายจากต้นทางอยู่เหมือนกันนะ!

แล้วที่เขาบอกว่าถึงแยกไป เขาก็เทรวมอยู่ดีนี่จริงไหม?

ใช่ค่ะ ก็เทจริง! แต่ที่เขาเท คือเทออกจากถุงเพื่อดูแล้วคัดขยะ ไม่ใช่เทเอาที่คนแยกแล้วมาทิ้งรวม!! พูดง่าย ๆ คือ เขาจะกรีดถุงแล้วเทขยะรวมที่หลังรถ เพื่อคัดแยกขยะที่มีอันจะทำประโยชน์ได้ออกไป (คือจะให้คุ้ยจากปากถุงทีละถุง ๆ มันก็ไม่ได้ใช่ป่ะละ) ขยะที่ใช้ต่อได้ก็จะถูกแยกออกไป ส่วนขยะที่เละเทะ เขาก็จะกดปุ่มให้รถกลืนขยะเหล่านี้เข้าไป เพื่อเอาไปปล่อยลงอีกทีที่ปลายทาง

พื้นที่ทำงานบนรถของพวกพี่เขาก็จะแบ่งได้ง่าย ๆ ประมาณนี้คือ

1. ถาดตรงกลางหลังรถที่เป็นพื้นที่กลางใช้คัดแยกขยะ

2. ถุงกระสอบที่ห้อยหลังรถเพื่อใส่พวกขวด กระดาษ กระป๋อง ขยะรีไซเคิลต่าง ๆ

3. คอกบริเวณกลางคันรถที่แบ่งเป็นฝั่งซ้ายขวา สำหรับใส่ถุงขยะรีไซเคิลและขยะอันตรายที่คัดแยกแล้ว

ป๊อก! ป๊อก! ครืดดดด

อันนี้ไม่ใช่เสียงจากเรื่องผีนะ ใจเย็นก่อน! แต่เป็นเสียงที่พี่ ๆ ข้างหลังเขาใช้ขวดเคาะรถเป็นสัญญาณให้พี่ไพโรจน์ กดปุ่มดั๊มพ์ขยะ บีบอัดขยะเข้าไปในตัวรถ พี่ ๆ เขาก็จะทำวนอยู่อย่างนี้ 2-3 รอบ ต่อการจอดเก็บครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นการเคลียร์พื้นที่หลังรถให้ใช้ทำงานแยกได้ง่าย

ทั้งการหยิบขวดมาใช้เป็นเครื่องส่งสัญญาณ หยิบกระสอบที่ไม่ใช่แล้วมาเป็นถังแยกขยะเฉพาะกิจ ก็ล้วนเป็นวิธีแบบไทย ๆ ที่สุดจะครีเอทีฟในการเอาของรอบตัวมาใช้ให้เกิดสารพัดประโยชน์และทุ่นแรง ทุ่นเวลา

“อย่างกล่องกระดาษนี้ บางบ้านเขาทิ้งแยกมาให้แต่ก็ไม่ได้แกะ ทิ้งมาเป็นกล่องเลย เราก็ต้องมาทำแบบนี้ ถอยรถทับเพื่อพับกล่องเอา แบบนี้ก็ง่ายและก็ประหยัดเวลาหน่อย”

ขยะดีเอาไปขาย แล้วขยะที่เหลือล่ะไปไหน?

หลังเจ้ารถเขียวตระเวนเข้าเก็บขยะในหมู่บ้านตามรูทที่บอกไว้จนเสร็จแล้ว อีกหนึ่งความในใจที่เรายังสงสัยคือ ‘เอ๊ะ แล้วขยะที่มันไม่ได้ถูกแยกไปขาย ไปใช้ประโยชน์ แล้วมันไปไหนนะ?’ เราก็พอจะรู้มาบ้างว่าสิ่งเหล่านี้มันจะถูกส่งไปที่บ่อฝังกลบแน่นอน แต่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนคือ ระหว่างโอนถ่ายจากรถขยะไปสู่รถอีกคนที่จะนำไปฝังนั้นเป็นยังไงบ้าง?

พี่ ๆ แปะพิกัดให้เราขับรถอีกคันตามไปที่โรงกำจัดขยะท่าแร้ง สายไหม ซึ่งเป็นที่พักขยะของเขตใกล้เคียงแถวนั้น และนี่ก็คงต้องใช้คำว่าที่นี่คือ “มหากาพย์ขยะ” ที่ใหญ่มากเท่าที่เราเคยเห็น

ปลายทางการออกเก็บขยะแต่ละวันของพี่ ๆ จะต้องมาจบที่ศูนย์พักขยะ แรกเริ่มก็จะต้องชั่งน้ำหนักก่อนว่าขยะที่มีนั้นมีปริมาณกี่กิโลกรัม และหลังจากนั้นก็จะต้องวนรถขึ้นไปปล่อยขยะบน ‘โรงขยะ’ ที่เป็นพื้นที่ให้คัดกรองขยะกันอีกที

“อยากให้ทุกคนได้มาเห็นภาพนี้ ดมกลิ่นนี้สักครั้งในชีวิตอะ”

นี่คือสิ่งที่เราทุกคนหันมาพูดอย่างตรงกัน 

ภาพที่เห็นคือโรงใหญ่ ๆ แบบปิด ไม่มีที่ระบายอากาศมากนัก และมีเหล่าขยะเทรวมเอามาปล่อยไว้ที่นี่ และมีพี่ ๆ แรงงานสิบกว่าคนมาช่วยกันเดินคัดแยกขยะรีไซเคิลออกอีก 

เราอยู่ในนั้นกันแค่ไม่กี่นาที แต่ก็รับรู้ได้ทั้งกลิ่นเหม็น ไอร้อนที่ระอุขึ้นมาจากขยะ และสภาพที่ ‘เละตุ้มเป๊ะ’ ของขยะ แบบที่ว่า ถ้าเดินผ่าน ๆ ก็คงจะแยกชนิดขยะไม่ออกแน่

หลังจากวนรถออกมาจากโรงขยะ ดูเหมือนว่านอกจากกลิ่นเหม็น ไอร้อน ที่ติดตัวเรามา ก็คงจะเป็นความรู้สึกหดหู่แบบบอกไม่ถูกจากภาพขยะที่เห็นและคนหลายสิบคนที่ต้องรับผิดชอบในขยะที่เราเป็นคนใช้ที่ต้นทาง

บางทีเราอาจจะคิดแค่ว่า ขยะชิ้นนั้นมันสิ้นอายุขัยไปตั้งแต่ออกจากมือเรา ขอแค่ทิ้งถูกที่ก็คงจะถูกแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ซะเดียว ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นขยะ ยังไงก็ต้องมีคนมาคอยจัดการ กำจัดสิ่งเหล่านั้นอยู่ดี อยู่ที่ว่าจะทิ้งดีให้จัดการง่ายหรือทิ้งยากให้กลายเป็นภาระคนและโลกกว่าเดิม

ดังนั้น นอกจากการทิ้งแบบถูก เราก็อยากชวนทุกคนมาขยับเพดานกันขึ้นไปอีก โดย ‘ลดใช้’ ของใด ๆ ให้ได้มากที่สุดเพื่อลดการสร้างขยะกันและลดภาระให้กับคนที่ต้องคอยจัดการขยะเหล่านี้ให้พวกเรากันด้วย

Credit

Chayanit S.

เป็นคนกรุงเทพฯ ชอบเดินเที่ยวเมือง ฟังเพลงซ้ำ ๆ นั่งโง่ ๆ ดูคนคนใช้ชีวิต :-)