สิ่งแวดล้อมกับ “ราคาอาหารที่สูงจนอาจเอื้อมไม่ถึง” บทลงโทษจากภาวะโลกรวนที่แฝงอยู่ในทุกวัน - EnvironmanEnvironman

สิ่งแวดล้อมกับ “ราคาอาหารที่สูงจนอาจเอื้อมไม่ถึง” บทลงโทษจากภาวะโลกรวนที่แฝงอยู่ในทุกวัน

โลกไม่ได้เดือดแค่ที่ขั้วโลก แค่ราคาอาหารหน้าบ้านก็พุ่งขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปแล้ว

‘ภาวะโลกร้อน’ หรือ ‘ภาวะโลกรวน’ 

เรามักจะเห็นคำนี้เป็นภาพของหมีขั้วโลกยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวบนแผ่นน้ำแข็งที่รายล้อมไปด้วยน้ำแข็งที่ละลาย ซึ่งทำให้อาจจะมีความรู้สึกเล็กๆ ว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว เพราะว่าเราไม่ใช่หมีตัวนั้นที่ยืนอยู่

แต่จะว่าไปก็มีบางเรื่องที่ทำให้เราอาจจะได้สัมผัสกับวิกฤติสภาพอากาศด้วยปลายนิ้วมือของตัวเองอย่างไม่ทันได้สังเกต 

“มะพร้าว” ราคาพุ่งเป็นประวัติการณ์ ลูกเดียว 65-80 บาท เกิดอะไรขึ้น? 

“มะนาว” ราคาพุ่งผลละ 7 บาท อากาศร้อน-แล้งผลผลิตออกน้อย 

นี่เป็นตัวอย่างพาดหัวข่าวในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ถ้าใครประกอบกิจการร้านอาหาร หรือจับจ่ายใช้สอยในตลาดอยู่เป็นประจำ น่าจะได้สัมผัสกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

กลายเป็นว่าในตอนนี้เรื่องของ ‘ภาวะโลกรวน’ที่ตอนนี้กลายเป็นโลกเดือด ไม่ได้อยู่แค่ขั้วโลกเหนืออีกต่อไป ทว่า กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่ใกล้แค่เพียงปลายนิ้วมือกดโอน

น่าแปลกใจว่าสภาพอากาศกับเงินในบัญชีของเรา มันไปเชื่อมโยงกันได้ยังไง ? 

เพราะมันเหมือนเป็นการวาดรูปหัวเสือแต่ไปจบที่หางแมว ทว่าความจริงแล้ว ห่วงโซ่นี้ไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด

อาหารจานโปรดของเรา  เมื่อดูแล้วมีส่วนประกอบทั้งเนื้อสัตว์ ผักต่างๆ และเครื่องปรุงที่ช่วยเติมรสอร่อย เมื่อมองแยกแต่ละองค์ประกอบได้แล้ว ก็จะชวนให้นึกตามไปถึงจุดเริ่มต้นของวัตถุดิบเหล่านั้น อย่างเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์ม และผักที่มาจากสวนต่างๆ สิ่งเหล่านี้เองที่ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ร้อนเสียจนรวน

#สำหรับภาคการเกษตร คงจะคาดเดาได้ไม่ยาก เพราะเป็นประเภทที่อ่อนไหวต่อสายลม แสงแดด และสายน้ำอยู่แล้ว หากน้ำลด แดดหด หรือลมเปลี่ยน ก็ส่งผลให้พืชพันธุ์ต่างๆ เปลี่ยนตามไปได้ไม่ยาก ทั้งในส่วนของรสชาติและปริมาณที่ผลิตได้

แต่กับพวก #สัตว์เศรษฐกิจ ที่การควบคุมดูแลส่วนใหญ่อยู่ในมือมนุษย์มันจะไปเกี่ยวอะไรด้วย ? จริงอยู่ที่สัตว์ในฟาร์มก็จะได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว แต่บางทีก็มีเรื่องที่เหนือการควบคุมของมนุษย์ อย่างเรื่องอุณหภูมิที่แปรเปลี่ยนกระทบกับชีวิตสัตว์โดยตรง อย่างเช่น เดือนเมษายนของปีที่แล้ว นักวิชาการด้านปศุสัตว์ ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับเรื่องของ ‘ไข่ไก่’ โดยให้ข้อมูลว่า ด้วยอากาศที่ร้อนจัดทำให้แม่ไก่เกิดความเครียด จนไม่อยากอาหาร ส่งผลให้บริโภคอาหารได้น้อยลง และทำให้ออกไข่ได้ไม่มากเท่าเดิม แถมยังฟองเล็กลงอีกด้วย 

แต่นอกจากผลกระทบทางตรงแล้ว ก็ยังมีผลกระทบทางอ้อมด้วย เราต้องไม่ลืมว่าในวงจรชีวิตสัตว์ ก่อนที่จะกลายมาเป็นอาหาร มันก็ต้องกินอาหารเช่นเดียวกัน ซึ่งแหล่งอาหารของสัตว์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็คือ ‘พืช’ จึงจำเป็นจะต้องไปพึ่งพาอาหาร อันเป็นผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ 

เมื่อผลผลิตทางการเกษตร มีไม่พอแต่วงการปศุสัตว์ยังจำเป็นจะต้องพึ่งพาพืชผลเหล่านั้นอยู่ ความต้องการซื้อที่มีมากกว่า ความต้องการขาย ก็เป็นแต้มต่อให้ผู้ขายสามารถอัพราคาสินค้าของตัวเองได้ ใครที่มีเงินจ่ายก็เป็นผู้ชนะไป แต่ก็กลายเป็นว่าราคาต้นทุนตั้งแต่แรกเริ่ม ก็ตั้งอยู่สูงเสียแล้ว

ผลจากสภาวะโลกรวนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นบวกกับภัยแล้งแคลนน้ำ ที่ปั่นป่วนวงการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ซึ่งเป็นกลุ่มสิ่งบริโภคขั้นพื้นฐานที่ทุกคนจำเป็นกินอย่าง ‘อาหาร’ มันจึงกลายเป็นราคาที่ต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อออกสตาร์ทมาด้วยราคาที่สูงตั้งแต่แรกเริ่ม ผนวกกับค่าขนส่ง พ่อค้าคนกลาง การแปรรูป ผ่านกระบวนการหลายทอดหลายต่อกว่าจะถึงผู้บริโภคในขั้นสุดท้าย ราคาก็สูงลิ่วจนค่าครองชีพขึ้นตามไม่ทันแล้ว

กลายเป็นว่ากลไกเหล่านี้อาจจะค่อยๆ กีดกันคนบางกลุ่ม ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงอาหารก็เป็นได้

หากสถานการณ์ของสภาวะโลกรวน ยังคงดำเนินอยู่อย่างนี้ต่อไป กลไกตลาดก็คงจะหมุนตามไปเรื่อยๆ จนคนเข้าถึงอาหารได้น้อยลงไปอีก เพราะปริมาณอาหารลดลงอย่างต่อเนื่องชัดเจน และถ้าจะบอกว่าถ้าของมันแพงเราก็ไปหาจากที่อื่นก็ได้ ป่าก็ยังมี ทะเลก็ยังอยู่ ก็คงจะต้องลองพิจารณาดูแล้วว่า แหล่งอาหารธรรมชาติเหล่านั้น จะอยู่กับเราได้อีกนานสักเท่าไหร่ ในวันที่อุณหภูมิไม่มีแนวโน้มจะลดลง พร้อมกับความผันผวนของอากาศที่เราคาดเดาไม่ได้

ขนาดไก่ในฟาร์มที่มีอาหารมาเสิร์ฟถึงที่ ยังเครียดเสียจนกินข้าวไม่ลง แล้วสัตว์ที่หาอาหารตามธรรมชาติเองจะเป็นยังไง พืชและสัตว์บางชนิดมีโอกาสจะสูญพันธุ์เพราะโลกร้อนจนเดือด สถานการณ์เลวร้ายที่สุด อาจเป็นการที่เราไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารจากธรรมชาติได้อีกต่อไป (ที่แม้แต่ปลาหมอคางดำก็คงไม่เหลือให้เราจับ)

จนสุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นว่า ผู้ที่มีสิทธิ์อยู่รอด คือคนที่จ่ายไหว

ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าราคาค่าอาหารของคุณเริ่มสูงขึ้น สิ่งที่คุณเคยกินหาได้ไม่ง่ายเหมือนเก่า นั่นอาจจะหมายความว่ากลไกของมัน กำลังทำงานอยู่ก็ได้

ท้ายที่สุดแล้วถ้าเราไม่เริ่มหันกลับมามองโลกในตอนนี้หรือยังคงนิ่งเฉยได้อยู่ เรื่องนี้คงขยับเข้ามาใกล้เรามากกว่าเดิมแน่ๆ และเชื่อเลยว่าคุณเองก็คงไม่อยากให้วันที่เราไม่มีอาหารกินมาถึงอย่างแน่นอน

อ้างอิง

https://techsauce.co/sustainable-focus/climate-change-pushes-the-price-of-agricultural-products-up

https://www.prachachat.net/local-economy/news-1552254

https://www.thaipbs.or.th/news/content/338088

https://mgronline.com/news1/detail/9660000034468

https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2722069

Credit

Related posts

Yuru Camp อนิเมะที่ดูแล้วอยากเก็บกระเป๋าออกไปตั้งแคมป์

อนิเมะฮีลใจสายรักธรรมชาติ ที่ดูแล้วผ่อนคลายจนอยากเก็บกระเป๋าไปเข้าป่า

เบื้องหลังการจัดพื้นที่คทช. ให้ชาวบ้านทำเกษตรและฟื้นฟูป่าที่เคยทรุดโทรม

พื้นที่ คทช. จัดสรรเพื่อให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้ แต่ต้องฟื้นฟูป่าคืน เพื่อให้ ‘คนก็ไม่ตาย ต้นไม้ก็โต’ เลยต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วย

Make-up Overdose ‘ของมันต้องมี’ แต่มีแล้ว ‘ต้องใช้’ ด้วย

เมื่อเครื่องสำอางไลน์ใหม่ออกมา การซื้อมาเติมเรื่อย ๆ ตามกระแส อาจไม่ต่างกับอะไร Fast Fashion

เกเลพู : ‘เมืองแห่งสติ’ ของภูฏานและอนาคตของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เมืองแห่งการฝึกสติแห่งใหม่ของภูฏาน ที่จะเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยการผสมผสานความยั่งยืนเข้ากับการฝึกสติ สะท้อนให้เห็นการท่องเที่ยวของภูฏานที่หยั่งรากลึกในความเป็นอยู่ที่ดีท่ามกลางแวดล้อมธรรมชาติ