ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับ ‘แม่น้ำโขง’ กำลังเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งมาจากการไหลของกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังมีข้อมูลจากดาวเทียมที่ชี้ชัดถึงสาเหตุของภัยแล้ง ชาวบ้านตามริมน้ำโขงต่างต้องเผชิญกับความยากลำบาก เมื่อน้ำเปลี่ยนชีวิตก็เปลี่ยน กระแสน้ำโขงที่เห็นกันทุกวันนี้ ไม่ใช่กระแสธารตามธรรมชาติ น้ำที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ปลาลดน้อยลง ระบบนิเวศผันผวน และวิถีชีวิตท้องถิ่นที่จางหาย
ประเด็นดังกล่าวได้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์สารคดี ‘Lost in Mekong’
Lost in Mekong เป็นภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องครอบครัว ๆ หนึ่ง ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้อีกต่อไป อันมีผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของแม่น้ำโขง โดยเล่าผ่าน ‘ลวงมอง’ วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านริมน้ำโขง
จุดเปลี่ยนสำคัญบนผืนน้ำแห่งนี้คือ ‘การเกิดขึ้นของเขื่อน’ จากเขื่อนเพียง 1 แห่ง นำไปสู่เขื่อนมากกว่า 20 แห่ง บนลำน้ำสายสำคัญ
เขื่อนเกิดขึ้นได้อย่างไร บนผืนน้ำนานาชาติ
แม่น้ำโขง ถือได้ว่าเป็นสายน้ำแห่งนานาชาติ มีเส้นทางไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เมียนมา (พม่า) ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แต่ละประเทศต่างพยายามที่จะใช้ประโยชน์ในระดับมหาภาคจากสายน้ำแห่งนี้ 1 ในนั้น คือ การผลิตกระแสไฟฟ้า นำไปสู่โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าบนผืนน้ำ
เขื่อนแห่งแรกถูกสร้างขึ้นที่จีน เสร็จสิ้นเมื่อปี 1993 ก่อนจะมีเขื่อนผุดขึ้นมาอีกจำนวนมาก ปัจจุบันในจีนมีเขื่อนบนแม่น้ำโขงมากถึง 14 แห่ง และอีก 11 แห่ง ถูกตั้งหรือมีแผนก่อสร้างในเมียนมา ลาว ไทย และกัมพูชา รวมทั้งสิ้น 25 แห่ง ประเทศไทยก็มีแผนสร้างเขื่อนอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ เขื่อนปากชม จ.เลย กับ เขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี
“น้ำที่เห็น เป็นน้ำจากเขื่อน”
คุณเจษฎา ขิมสุข (คุณเจษ) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี Lost in Mekong ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Environman ถึงประสบการณ์ช่วงถ่ายทำ ชาวบ้านในชุมชนบอกกับคุณเจษว่ากระแสน้ำที่เห็นในแม่น้ำตอนนี้ เป็นผลมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อน ชาวบ้านเล่าว่าแต่เดิมช่วงฤดูนี้ (ช่วงที่ถ่ายทำภาพยนตร์) กระแสน้ำจะไม่เชี่ยวแบบที่เห็น พอปล่อยน้ำมาทีก็ท่วม ส่วนช่วงที่ไม่มีการปล่อยน้ำก็แล้ง สังเกตได้จากระดับน้ำที่ต่ำหรือสูงกว่าปกติ การมีเขื่อนที่ต้นน้ำส่งผลอย่างมากกับการไหลของกระแสน้ำ รวมไปถึงจำนวนของปลาด้วย
ลวงมอง คืออะไร ?
ลวงมอง เปรียบเสมือนผืนนาบนผืนน้ำ มรดกตกทอดของชาวบ้านที่ส่งต่อกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านจะใช้พื้นที่เหล่านี้เพื่อทำประมงเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปลาชุกชุม เจ้าของลวงมองสามารถปล่อยเช่าหรือขายให้กับชาวบ้านในชุมชนได้ ทั้งนี้ แม้จะมีการซื้อขายและทำประมง ภายในชุมชนก็จะมีกฎระเบียบอยู่ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ลวงมอง เช่น กำหนดช่วงเวลาที่ทำประมงได้
ทว่า กระแสน้ำที่เปลี่ยนไป อันมีผลมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อน ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำได้ ลวงมอง อันเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงกำลังสั่นคลอนเต็มที
“น้ำเชี่ยวแต่ไม่มีปลา”
แม้น้ำจะเชี่ยว ปริมาณน้ำจะสูงขึ้น แต่จำนวนปลากลับน้อยจนแทบไม่มี คุณเจษเล่าว่าตนกับทีมงานลงพื้นที่ไปอยู่กับชาวบ้านนาน 6 วัน แต่ไม่ได้กินปลาจากแม่น้ำโขงเลย ปลาที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้านแทบไม่มี เราไปอยู่แค่ 6 วัน เรายังคาดหวังที่อยากจะกินปลาในแม่น้ำ แล้วชาวบ้านที่เขาอยู่ตรงนั้น มันคืออาชีพและรายได้ของเขา การที่ไม่มีปลาให้จับ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพประมงต่อได้ รายได้ไม่มี อาหารไม่มี สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านไป
สอดคล้องกับบทความวารสารของ BBC Thailand พร้อมบทสัมภาษณ์กับ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ระบุว่าเขื่อนกั้นน้ำบนลำน้ำโขง ส่งผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำ เขื่อนทำให้ระดับน้ำลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสัตว์ในแม่น้ำจะปรับตัวไม่ทัน และทำให้พวกมันเสียชีวิตในที่สุด
ขณะที่ ข้อมูลทางดาวเทียมจากศูนย์วิจัย Stimson Center ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 เผยว่าสภาวะภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง เป็นผลมาจากเขื่อนกักเก็บน้ำของทางการจีน โดยมีผลเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ตอนบนแม่น้ำโขงในประเทศจีนที่มีความชุ่มชื้นในดินสูงกว่าพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำโขงในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนว่าพื้นที่ต้นน้ำจากจีนไม่ได้ประสบภัยแล้งเฉกเช่นเดียวกับพื้นที่ปลายน้ำ
ขณะเดียวกัน กรมประมง ได้เผยแพร่รายงานประมาณการผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงของประเทศไทย พ.ศ. 2564 – 2566 โดยมีข้อมูลส่วนหนึ่งระบุว่าสภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำจืดโดยรวมของประเทศมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เกิดภัยแล้งบ่อย โดยเฉพาะลำน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนนัวจาตู้ของจีน ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำโขง และเขื่อนไชยะบุรีที่ลาว
เขื่อนทั้งสองแห่งกักเก็บน้ำและลดระดับการระบายน้ำจากเขื่อน ส่งผลให้แม่น้ำโขงแห้งลงตั้งแต่ อ.เชียงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ลงมาถึง อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย ไปจนถึง จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี เกิดการเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติ เมื่อ พ.ศ. 2562 น้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างบางส่วนมีระดับน้ำต่ำสุกตลอดทั้งปี ระบบนิเวศเปลี่ยนไปจากอดีต พ่ออแม่พันธุ์สัตว์น้ำเปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ ทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำลดลงเป็นอย่างมาก
คุณเจษเสริมว่าหลังภาพยนตร์ฉาย ‘ยังไม่มี’ หน่วยงานไหนที่เข้ามาพูดคุย แต่หน่วยงานที่เข้ามาคุยกับคุณเจษมากที่สุด คือ สื่อ เนื่องจากประเด็นเรื่อง ‘ลวงมอง’ ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงในสารคดีที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงมากนัก ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเสมือนสร้างการรับรู้ให้กับประเด็นดังกล่าวต่อสังคม
อย่างไรก็ตาม ลวงมอง ไม่ได้มีแค่ในไทย ประเทศลาวเองก็มี และใช้ชื่อลวงมองเหมือนกัน แถบจังหวัดอื่นในไทยก็มีวัฒนธรรมคล้าย ๆ ลวงมองด้วยเช่นกัน เพียงแค่อาจจะมีชื่อเรียกต่างกัน ฉะนั้น จึงไม่ใช่ปัญหาแค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่มันคือปัญหาของผู้คนบนลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่ได้รับผลกระทบร่วมกัน
ลวงมอง เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แต่วิถีชีวิตชุมชนก็กำลังเลือนลาง บางครอบครัวจำเป็นต้องให้ลูกออกจากโรงเรียน เพราะสูญเสียรายได้จากประมงที่หายไป ต้องส่งลูกไปทำงานไกลบ้านเกิด เพื่อช่วยหารายได้เข้าครอบครัว
ทั้งนี้ นโยบายหรือมาตรการแก้ไขจากภาครัฐ ยังมีความไม่ชัดเจน แม้สมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) จะเคยมีการร้องเรียนผ่านจดหมายถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 (รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) โดยมีเนื้อหาหลัก คือ ต้องการให้เกิดการเจรจาระดับทวิภาคีกับทางจีนและลาว รวมไปถึงชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนลาว แต่ก็ไม่มีการตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวจากรัฐบาล
กล่าวคือ มาตรการของรัฐไทยที่ผ่านมา ยังคงคลุมเครือต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง ขณะเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 67 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้มีการส่งจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน (รัฐบาลปัจจุบัน) เพื่อขอให้ทบทวนและยกเลิกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนต่างประเทศ นับเป็นความหวังครั้งใหม่ที่อาจได้เห็นมาตรการที่จริงจังเกิดขึ้น
ภาพยนตร์สารคดี Lost in Mekong ยังถ่ายทอดความรู้สึกของชาวบ้านออกมาอย่างน่าเศร้าใจ ลูกสาวให้สัมภาษณ์ว่า
“อยากกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง”
ประโยคดังกล่าวไม่ใช่แค่อยากกลับบ้าน แต่เธออยากกลับไปใช้ชีวิต เพราะลวงมองที่หายไป ทำให้ทางครอบครัวต้องส่งลูกสาวไปทำงานที่ จ.ระยอง เพื่อหารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว การทำงานในเมืองไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ แต่เป็นการออกไปหาปลากับพ่อ นั่งเรือทอดยาวไปตามลำน้ำโขง จับปลาขึ้นมากินและค้าขายต่างหาก เป็นวิถีชีวิตที่เธอใฝ่หา ทว่า มันกลับไม่มีอีกแล้ว
ภาพของโขดหินพร้อมกระแสน้ำอันเชี่ยว ฉายขึ้นบนผืนผ้าใบยักษ์ เรากำลังรับชมพื้นที่ลวงมองที่ปัจจุบันมันไม่ใช่ลวงมองอีกต่อไป เหลือแค่น้ำกับโขดหิน แบบที่เราเห็นบนบนหน้าจอภาพยนตร์
นี่เป็นเพียงครอบครัวเดียวที่ถูกนำมาตีแพร่ให้เราได้รับรู้ผ่านสารคดี แต่ยังมีครอบครัวอีกจำนวนมากที่เผชิญหน้ากับความยากลำบากไม่ต่างกัน พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด แม่น้ำโขงเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ และชีวิตของพวกเขา
ตอนนี้ชีวิตในแม่น้ำโขงได้ลดลงแล้ว
ชีวิตของคนตามริมน้ำโขงก็กำลังจะหายไป
พวกเขาต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งวิถีดั้งเดิมอันเป็นรากเหง้าของชาวบ้าน พวกเขาต้องการรักษาความอุดมสมบูรณ์บนผืนน้ำ เพื่อให้ลูกหลานได้มีอาชีพมีอาหารทำกิน ประเทศใดประเทศหนึ่งจะมาอ้างตนเป็นกรรมสิทธิ์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่สมควรเกิดขึ้น เพราะลำน้ำโขงเป็นสายน้ำแห่งชีวิต สายน้ำที่ล่อเลี้ยงทั้งผู้คนและสัตว์ต่าง ๆ
อ้างอิง:
https://ipdefenseforum.com/th/2023/12/เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจ/
https://greennews.agency/?p=20880
https://greennews.agency/?p=31764
https://www.bbc.com/thai/thailand-49072092
https://www.thaiclimatejusticeforall.com/archives/3539
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341973
https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20210705093649_1_file.pdf