เขื่อนแก่งเสือเต้น ทาง(ไม่)ออก น้ำท่วมลุ่มน้ำยม - EnvironmanEnvironman

เขื่อนแก่งเสือเต้น ทาง(ไม่)ออก น้ำท่วมลุ่มน้ำยม

การสร้าง ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ ถูกปลุกให้ตื่น หลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แล้วมันจะแก้ปัญหาได้ จริงหรือไม่

“มันคงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าอยู่ดีๆ เราก็สร้างเขื่อนแล้วก็เอาน้ำมาท่วมป่า แล้วเราก็ไปช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกน้ำท่วม เอาไปไว้อีกที่หนึ่ง”  – สืบ นาคะเสถียร 

คำที่ สืบ นาคะเสถียร พูดไว้ตอนทำภารกิจอพยพสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน โดยมีอีกหนึ่งประโยคทองเป็นคำคู่มาด้วยกันว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า เพราะพวกเขาพูดไม่ได้” ในระหว่างที่อุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงค่อยๆ จมลงไป และสุดท้ายภารกิจช่วยเหลือสัตว์ป่าในครั้งนี้ ไม่ประสบความสำเร็จเพราะสามารถช่วยสัตว์ป่าได้เพียง 15% จากจำนวนทั้งหมด ไม่เพียงแค่ชีวิตสัตว์ที่สูญสิ้นไป แต่เราสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและห้องเรียนขนาดใหญ่ไปด้วย นับว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทยที่เราควรเรียนรู้และจดจำ

ทว่าเหตุการณ์นี้กำลังจะฉายภาพซ้ำที่ ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และผู้ที่ออกมาต่อต้านก็ไม่ใช่สัตว์ที่ต้องให้ใครมาพูดแทน แต่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นคนตัวเป็นๆ พวกเขายังคงต้องตะโกนร้องเพื่อปกป้องบ้านตัวเองจากการสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น ฝ่าเสียงเรียกร้องจากคนบางกลุ่มที่บอกให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก

เขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นโครงการที่ชาวบ้านสะเอียบต่อสู้เพื่อคัดค้านมานานกว่า 30 ปี โดยโครงการนี้ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังครั้งแรกในรัฐบาล ผล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ก็ต้องพ่ายให้กับความเข้มแข็งในการต่อต้านของเช้าบ้านในพื้นที่จนทำให้ดำเนินการสร้างเขื่อนไม่สำเร็จ แต่โครงการสร้างเขื่อนนี้ยังไม่สลายไปอย่างถาวร เพราะยังคงมีการ ปลุกผี ขึ้นมาทุกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยอ้างว่าเขื่อนจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมแถบลุ่มน้ำยมโดยเฉพาะกับจังหวัดแพร่ พะเยา และสุโขทัยได้ 

ล่าสุดในปี 2567 ยังคงมีการปลุกผีแก่งเสือเต้นขึ้นมาใหม่ เป็นชนวนเหตุให้ชาวบ้านออกมารวมกลุ่มและแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยเผาหุ่นคนที่ต้องการจะปัดฝุ่นโครงการนี้ โดยคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้พูดถึงโครงการนี้ว่า “ถึงเวลาที่เราต้องมาพูดเรื่องแก่งเสือเต้นกันอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาสร้างอะไรไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันสองฝ่าย ระหว่างพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในขณะเดียวกันก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหรืออะไรต่างๆ” 

แต่เขื่อนที่ว่านี้มันจะเป็นประโยชน์แก่คนหมู่มากจริงๆ  หรือเป็นเพียงผลกำไรของคนเฉพาะกลุ่มกันแน่

ทางเดินที่ผิดทางของการแก้ปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ายังมีคนบางส่วนที่คิดว่า ถ้ามันสามารถแก้ปัญหาให้คนหมู่มากได้ เราก็ควรจะสร้าง ถึงแม้จะอ้างเช่นนั้น ทว่าโดยเนื้อแท้ของเขื่อนแก่งเสือเต้นเอง มันไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำยมได้อย่างตรงจุด 

“ต่อให้มีเขื่อนแก่งเสือเต้น สุโขทัยก็จะน้ำท่วมอยู่ดี” คำกล่าวของอาจารย์สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาคทรัพยากรน้ำ คณะวิศวะ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ และหลังจากนั้นอาจารย์ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำที่อยู่ในแม่น้ำยมหรือที่เรียกกันว่าน้ำท่ามากกว่า 3,000 ล้านลูกบากศ์เมตร จากทั้งหมด 19 ลำน้ำสาขา แต่ที่ตั้งของเขื่อนแก่งเสีอเต้นสามารถกักน้ำที่อยู่บริเวณเหนือเขื่อนได้ราว 900 ล้านลูกบากศ์เมตรเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าปริมาณน้ำบริเวณใต้เขื่อนที่แก่งเสือเต้นไม่สามารถกักเก็บได้ จะยังคงไหลไปท่วมสุโขทัยและจังหวัดอื่นๆ ได้อยู่ดี 

นอกจากตำแหน่งการสร้างเขื่อนที่ไม่ฟังก์ชั่นกับการแก้ปัญหาแล้ว ในปัจจุบันนี้สร้างเขื่อนใหม่ขึ้นอีก ไม่ใช่ทางเลือกทีดีในการบริหารจัดการน้ำ เพราะจะต้องแลกมาด้วย ‘พื้นที่ป่า’ จำนวนมหาศาล ซึ่งขัดกับนโยบายการมีป่า 40% ของรัฐ หรือถ้าหากว่าจะไปใช้ พื้นที่เมือง ในการสร้าง รัฐมีมาตรการให้การเยียวยาที่เหมาะสมให้แก่ประชาชนที่ต้องเสียประโยชน์หรือไม่ แต่ไม่ว่าเลือกทางไหนก็คล้ายว่าจะไม่มีบทสรุปที่เป็นผลบวก เพราะโดยสรุปแล้วประเทศไทยในตอนนี้ไม่มีพื้นที่มากพอที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกต่อไปแล้ว ทางที่ดีนั้นเราควรจะหาวิธีใช้เขื่อนหรือสิ่งต่างๆ ที่ได้สร้างไว้ ให้เต็มศักยภาพของมัน รวมถึงเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้บริหารจัดการน้ำในประเทศด้วย

ถ้ามีเขื่อนแก่งเสือเต้น เราจะเสียมากกว่าแค่พื้นที่ป่า

จากการสัมภาษณ์คุณอาทิตย์ ขวัญยืน ลูกหลานชาวบ้านสะเอียบและหนึ่งในผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขาก็ได้เล่าว่าหากว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นได้รับไฟเขียวให้ดำเนินการสร้าง เริ่มแรกสิ่งที่เราจะต้องเสียไปเลยก็คือ บ้าน ของชาวบ้าน 4 หมู่บ้านหลักๆ นั่นก็คือ ดอนชัย ดอนแก้ว ดอนชัยสักทอง และแม่เต้น ประชาชนหลักพันคนจะต้องพลัดจากบ้านที่พวกเขาเติบโตมา พร้อมกับวิถีชีวิตของพวกเขาที่ถูกพรากไป 

เราจะเสียพื้นที่เกือบสามหมื่นไร่ ซึ่งต้นไม้ส่วนมากในพื้นที่นั้น เป็น ‘ไม้สักทอง’ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรฐกิจสูง ยิ่งกับต้นไม้ที่มีอายุหลายทศวรรษด้วยแล้ว ยิ่งประเมินค่าได้ยาก แต่เราจะเสียสิ่งนี้ให้กับผู้ที่ได้รับสัมปทานในการตัดไม้ ก่อนที่ป่าสักทองแห่งนี้จะกลายเป็นบ่อน้ำขนาดยักษ์ และยังไม่รวมถึงทรัพยากรสัตว์ป่าที่อยู่ในป่าล้านไร่นั้นด้วย

เราจะเสียรายได้หลักพันล้านบาทจากการทำลายแหล่งจากการทำลายแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งผลิตสุราชุมชนที่สร้างเงินให้ประเทศด้วยภาษีสรรพสามิต หมายความถึงการเสียแหล่งงาน แหล่งอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

ความสูญเสียทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่เราทุกคนจะต้องเสียไป เพื่อแลกกับกำไรของคนกลุ่มเดียว เราทุกคน จะต้องเสีย แต่จะมีใครบ้างที่ได้

สุดท้าย แม้ว่าตอนนี้โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจะยังไม่ถูกอนุมัติ และไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้จริง ทว่าการที่มันถูกหยิบยกขึ้นมาพูดใหม่อยู่เป็นระยะๆ ทำให้เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่ามันจะไม่ถูกสร้าง และยังคงต้องเฝ้าดูต่อไป

อ้างอิง

https://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=1967

https://thaipublica.org/2012/12/kaeng-sua-ten-dam/

https://www.seub.or.th/bloging/news/2023-284/

https://bit.ly/3NNi0fz (ThaiPBS)

https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/01/n36.pdf

การสัมภาษณ์

คุณอาทิตย์ ขวัญยืน ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร​์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Credit

Related posts

สิ่งแวดล้อมกับ “ราคาอาหารที่สูงจนอาจเอื้อมไม่ถึง” บทลงโทษจากภาวะโลกรวนที่แฝงอยู่ในทุกวัน

โลกไม่ได้เดือดแค่ที่ขั้วโลก แค่ราคาอาหารหน้าบ้านก็พุ่งขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปแล้ว

เสียงคนเชียงรายเมื่อภัยธรรมชาติซัด เขื่อนซ้ำ ทิ้งไว้เพียงอนาคตที่ไม่แน่นอน

น้ำท่วมจากไปทิ้งไว้เพียงร่องรอยความเสียหายและอนาคตที่ไม่รู้ทิศทางให้คนในพื้นที่

ความตายที่เงียบงัน : ธรรมชาติกำลังสูญเสียเสียง และมันเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

ธรรมชาติเงียบเสียงลงมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังสูญหายไป