Not Just Labor : งานที่ให้รูปถ่ายในโทรศัพท์เล่าเรื่องแรงงานผ่านความเป็นมนุษย์ - EnvironmanEnvironman

Not Just Labor : งานที่ให้รูปถ่ายในโทรศัพท์เล่าเรื่องแรงงานผ่านความเป็นมนุษย์

มากกว่าการถูกเป็นแรงงาน คือเข้าใจถึงความรู้สึก ความฝัน ความหวังในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

สิ่งที่ดึงดูดเราให้ไปเยือนนิทรรศการนี้คือคำโปรยที่บอกว่า ‘งานแสดงทั้งหมดนี้เป็นภาพถ่ายที่ถูกถ่ายจากโทรศัพท์มือถือของแรงงานกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย’ 

เราเชื่อว่าภาพถ่ายเป็นสิ่งบอกเล่าเหตุการณ์และความรู้สึกนึกคิดได้ สำหรับในนิทรรศการนี้ก็เช่นกัน ภาพถ่ายทั้งหมดดูจะเป็นภาพที่ไม่หวือหวา เป็นเพียงภาพในชีวิตประจำวัน ชวนให้ความรู้สึกคล้ายกับเวลาเปิดดูอัลบั้มรูปในโทรศัพท์ของใครสักคน มันมีทั้งรูปท้องฟ้า ต้นไม้ ความสวยงามที่เราเจอแล้วอยากถ่ายเก็บมันไว้ในแต่ละวัน หรือรูปอาหารมื้ออร่อยที่ได้กินกับที่บ้าน ภาพของคู่รัก ลูก หรือครอบครัว ในวันที่ได้เจอหน้ากัน  ไปจนถึงวันสุดท้ายก่อนจะจากลาเพราะการพลัดถิ่นมายังประเทศเพื่อทำมาหากิน

นิทรรศการนี้จัดโดย SEA Junction จัดแสดง: 14 – 26 พฤษภาคม 2567 ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) โดยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของแรงงานกัมพูชาและเมียนมาที่อาศัยอยู่ในภูเก็ต พังงา และจันทบุรี เพื่อทำงานในอุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเล ในมุมมองของแรงงานพลัดถิ่นที่ต้องมาทำงานไกลบ้าน มากกว่าการเห็นเขาเป็นแรงงานในระบบ นิทรรศการนี้ก็ระบุว่าอยากให้ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นภาพสะท้อน ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่พวกเรามีร่วมกัน การยอมรับในศักยภาพของพวกเขา เพื่อนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียม เคารพในศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ทุกคน

ความเชื่อมโยงจากท้องทะเลสู่จานอาหารที่เราบริโภคในทุก ๆ วัน เราอาจไม่เคยรู้เลยว่ากุ้ง หอย ปู ปลาที่เราบริโภคนั้นมาจากไหน ใครเป็นคนหยิบจับมาให้เรากินหรือพวกเขาจะต้องเจออะไรบ้างกว่าจะได้มาซึ่งอาหารทะเลแต่ละครั้ง แต่อย่าพึ่งเข้าใจผิด นิทรรศการนี้ไม่ได้มาเล่าให้เราฟังว่าอาหารทะเลไทยปลอดภัยแค่ไหน อย่างไร

หากแต่ทำให้เราเห็นชีวิตของคนเบื้องหลังอาหารทะเล

แม้เราไม่เคยรู้จักหรือได้ยินเรื่องของแรงงานเจ้าของภาพถ่ายในนิทรรศการเหล่านี้มาก่อน แต่ภาพถ่ายและคำสัมภาษณ์ก็เป็นเหมือนประตูที่เชื่อมเราให้ได้รู้จักพวกเขาแบบไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอเข้าแล้ว

ความเหนื่อยล้าของแรงงานประมง

ศักยภาพและประสบการณ์ของกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมประมงเป็นเรื่องที่เราควรยอมรับ ด้วยความที่เป็นงานที่ต้องใช้แรงและมีความเสี่ยง สำหรับกลุ่มคนที่ออกเรือก็ต้องทำงานในช่วงกลางคืนด้วย บางครั้งก็ต้องออกเรือหลายวันกว่าจะได้กลับมา 

“ทำงานบนเรือได้เงินดีกว่าก็จริง แต่จำเป็นต้องทำงานช่วงกลางคืน พอกลับเข้าถึงฝั่งยังต้องเลือกปลาต่อ ทำให้มีเวลานอนน้อยลง” (-Ye Ling Aung)

ในการทำงานบนฝั่งก็ยังมีขั้นตอนที่ช่วยทำให้อาหารทะเลสมบูรณ์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น จากคำสะท้อนของแรงงานในนิทรรศการก็พบว่าเป็นงานที่ค่อนข้างส่งผลต่อสุขภาพของพวกเขา

“การแกะปูสำคัญมากต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลในจังหวัด … ถ้าช่วงไหนจับปูได้น้อยก็จะได้ประมาณ 2 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าไม่มีปูก็ไม่มีงาน ไม่มีรายได้”

คำบอกเล่าของ Ma Yu Yu แรงงานจากทวาย เล่าว่าตนเองเคยทำงานแกะปูมาก่อน แต่ตอนนี้ต้องเปลี่ยนมาทำอาชีพแม่บ้าน เพราะเริ่มทำงานแกะปูไม่ไหว

“งานแกะปูเป็นงานที่เหนื่อย ต้องใช้สมาธิและต้องนั่งทั้งวัน ซึ่งทำให้เจ็บเข่าเจ็บขามาก”

แล้วความสุขอยู่ที่ใดในทะเลที่กว้างใหญ่นี้?

ท่ามกลางทะเลที่กว้างไกลไร้ขอบเขต ชีวิตถูกรายล้อมไปด้วยคลื่นลม ฝูงปลา แสงแดด ธรรมชาติเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสุขแบบเรียบง่ายให้พวกเขาในแต่ละวันที่ผ่านไปพร้อมกับความเหนื่อยล้า

“เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว ผมได้เริ่มทำงานบนเรืออวนดำ วิวบนเรือสวยมากและผมอยากให้คนอื่นได้เห็นด้วย ตอนที่ผมว่างจากงานบนเรือ ผมจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปและโพสต์ลง Facebook เพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชมด้วยกัน” (-Pyae Sone Aung)

‘แล้วชาพม่าจะเยียวยาทุกสิ่ง’

ประโยคนี้เจ้าของรูปไม่ได้กล่าว แต่เป็นประโยคที่เราคิดในใจซะเอง ภาพนี้เข้าถึงใจเราเป็นพิเศษ อาจเพราะความเป็นแฟนคลับตัวยงชาพม่าและเป็นชาเลิฟเวอร์ของตัวเองด้วย ชวนให้ความรู้สึกเหมือนเวลาเราเจอวันทำงานที่เหนื่อยล้าแล้วให้ชาไทยเยียวยาจิตใจ มันก็คงเป็นแบบนั้นเช่นกัน : )

‘ความรัก ความฝัน’  กำลังใจในการทำงานของแรงงานพลัดถิ่น

หากเลือกได้คงไม่มีใครอยากย้ายไปทำงานไกลบ้าน แต่สำหรับแรงงานพลัดถิ่นในไทยเหล่านี้กลับไม่มีทางเลือก หลายบทสัมภาษณ์ในนิทรรศการนี้ เราสังเกตได้ว่าบทสนทนาส่วนใหญ่มักเล่าถึงคนสำคัญในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก ครอบครัว หรือกัลยาณมิตรที่สนิทสนมกัน

‘ถ้าผมถูกหวยก็จะส่งเงินเพิ่มให้พ่อแม่ที่ทวาย’

‘ฉันต้องการที่จะมาอยู่กับพ่อแม่ที่ภูเก็ตมาตลอด … ดีใจที่ตอนนี้ได้อยู่ด้วยกันแล้ว

ความสุขสำหรับพวกเขาคือการได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง 

เฉกเช่น Hnin Wutt Yi Moe แรงงานอายุ 19 ปี เจ้าของภาพถ่ายนี้ที่ได้กลับมาเจอพ่อแม่ของเธอ

‘ฉันต้องการที่จะมาอยู่กับพ่อแม่ที่ภูเก็ตมาตลอด … ดีใจที่ตอนนี้ได้อยู่ด้วยกันแล้ว ตอนเห็นแม่กับน้องชายเดินด้วยกันก็รู้สึกอยากถ่ายรูปพวกเขาขึ้นมา’

“ภรรยาผมเป็นคนไทย ในรูปกำลังทำผมตอนไปเที่ยวงานสงกรานต์  ลูกสาวผมมีบัตรประชาชนไทย ในรูปเธอทำมือหัวใจให้ผมถ่ายเก็บสื่อถึงความรัก”

ความรักและความฝันมักเป็นกลไกขับเคลื่อนสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ แต่สำหรับแรงงานพลัดถิ่นเหล่านี้ก็อาจไม่ได้โชคดีได้อยู่ใกล้คนรักของพวกเขาทุกคน นอกจากการต้องอยู่ห่างไกลคนรักแล้ว ในวาระสุดท้ายของชีวิตอาจเจอการจากลาที่ไม่มีโอกาสได้บอกลากัน อย่างเรื่องราวของแรงงานกัมพูชา เพื่อนของ Som Rong ที่เธอเล่าว่าเพื่อนเสียชีวิตตอนที่ทำงานในไทย แต่ครอบครัวของพวกเขาไม่สามารถเดินทางมาร่ำลากันครั้งสุดท้ายได้

“แรงงานที่เสียชีวิตที่เมืองไทย ญาติพี่น้องทางกัมพูชาจะมาร่วมงานศพไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรไม่มีหนังสือเดินทาง และต้องใช้เงินเยอะ” เธอเล่า

…จุติ จุตัง อะระหังจุติ… 

คำบาลีที่นิยมภาวนาเมื่อเผาศพ แปลใจความได้คร่าว ๆ ว่า  ขอให้จากไปอย่างสงบสุข ละซึ่งกิเลสได้เช่นพระอรหันต์เถิด

ในวันที่เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมประมง ความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่มากกว่าทรัพยากรสัตว์น้ำหรือทัองทะเลที่เราจะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ ‘แรงงาน’ หรือเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนที่เป็นด่านหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ 

นิทรรศการนี้อาจไม่ได้ช่วยให้คุณมองเห็นสิ่งแวดล้อมในทะเลที่สวยงาม ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงโดยตรง แต่เชื่อเถอะว่าการที่ได้เห็นว่า ชีวิตของชาวประมงต้นทางที่เป็นคนส่งต่ออาหารทะเลให้พวกเราได้อยู่ดีมีสุข โดยที่ไม่ได้โดนกดขี่ ก็คงจะทำให้เรารู้สึกใจชื้นขึ้นเป็นแน่

นอกเหนือจากสิทธิด้านแรงงานที่พวกเขาควรได้รับอย่างถูกกฎหมาย ภาพในฝันของอุตสาหกรรมประมงที่ไร้ซึ่งการกดขี่ การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการค้ามนุษย์แล้ว

การถูกมองด้วยความเข้าอกเข้าใจในฐานะ  ‘เพื่อนมนุษย์’ ด้วยกัน การได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความรัก ความฝัน และศักยภาพของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคนบนโลกอย่างไม่มีพรมแดน

สำหรับใครที่สนใจ นิทรรศการนี้จัดถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 บริเวณชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) หรือติดตามกิจกรรมอื่น ๆ ได้เพจ SEA Junction 

Credit

Chayanit S.

Related posts

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

พา ‘ต้นไม้ของเรา’ สู่ตลาด เพิ่มช่องทางซื้อ – ขาย สร้างรายได้แก่เกษตรกร

อีกหนึ่งโครงการส่งเสริมอาชีพ และคืนความสมบูรณ์ให้ป่าของชุมชน อ.สันติสุข จ.น่าน

เบื้องหลังการจัดพื้นที่คทช. ให้ชาวบ้านทำเกษตรและฟื้นฟูป่าที่เคยทรุดโทรม

พื้นที่ คทช. จัดสรรเพื่อให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้ แต่ต้องฟื้นฟูป่าคืน เพื่อให้ ‘คนก็ไม่ตาย ต้นไม้ก็โต’ เลยต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วย

ความตายที่เงียบงัน : ธรรมชาติกำลังสูญเสียเสียง และมันเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

ธรรมชาติเงียบเสียงลงมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังสูญหายไป