เคยลองนับกันเล่น ๆ ดูไหมว่าไปงานอีเวนต์ครั้งนึง เราซื้อของกินในงานไปเท่าไหร่ แล้วมีขยะที่เกิดจากการบริโภคเหล่านั้นตามมาซักกี่ชิ้นกันนะ?
ขึ้นชื่อว่าคนไทย ไปไหนก็มีแต่ของอร่อยทั้งนั้น! แต่จะกินทั้งทีก็มีขยะจากแพคเกจจิงหีบห่อที่เลี่ยงไม่ค่อยจะได้ แล้วจะทำยังไงถ้าอยากกิน แต่ก็ไม่อยากสร้างขยะเยอะ แล้วจะแบกกล่อง แบกแก้วส่วนตัวไป ก็อาจไม่ใช่ทุกที่ที่สะดวก?
Eco Crew คือกลุ่มคนเข้ามาช่วยแปะรอยรั่วการสร้างขยะพลาสติกจากแพคเกจจิงในอีเวนต์ที่มักถูกใช้เพียงไม่กี่นาทีผ่านการสร้างบริการยืม-คืนแก้วและถ้วยชามตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ ซึ่งพวกเขาก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนจุดเชื่อมตรงกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ยังกินอร่อยและยังรักษ์โลกได้เหมือนเดิม
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือการเกิดขึ้นของ Eco Crew มาจากเหล่าชาวไอทีที่ยังไม่รู้จะทำอะไร แต่มีแพชชั่นเดียวกันคือการทำในสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนและสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นสิ่งที่ทำได้จริง เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนระยะยาว แม้จะเป็นการข้ามสายจากที่เคยทำกันมา แต่จากบทสนทนาที่ได้คุยกับ โด-ณัฐพล อินคล้าย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง EcoCrew Thailand ก็ทำให้พบว่าไม่ใช่การเปลี่ยนซะขนาดนั้น หากแต่เป็นหยิบเอาสกิลด้านไอทีที่เคยมีมาปรับเสริมกับโมเดลธุรกิจที่พวกเขากำลังทำกันอยู่มากกว่า
โดเล่าว่า ความสนใจแรกที่ตรงกันของคนในทีมคือ การเริ่มต้นทำอะไรก็ได้ที่จะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เข้ากับเทรนด์ในปัจจุบัน และมีความไปได้ทางธุรกิจในระยะยาว ซึ่งเขาก็มองว่าสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่ตรงกับ 3 ประเด็นนี้ เมื่อมองเห็นแล้วรู้ว่าทําได้ปั้ป ตรงกับที่วางไว้ ก็ลุยกันโลด โดยใช้เวลารีเสิชกันประมาณ 3 เดือน จนปล่อยออกมาเป็นตัวระบบที่เข้าไปช่วยลดปริมาณขยะจากการบริโภคในอีเวนต์
ในช่วงแรกที่กำลังเริ่มมองหาอะไรทำ จริง ๆ ก็มีธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมประเภทอื่น แต่ด้วยความที่ยังติดปัญหาด้านกฎหมายเลยพักกันไป จนมาปิ๊งไอเดียโมเดลนี้จากการไปเดินงานอีเวนต์หนึ่งแล้วเห็นว่าเครื่องดื่มและอาหารที่คนซื้อกินในงานก็ทิ้งจบอยู่ในงานแค่นั้น เลยจุดประกายให้กลับมาคิดว่าจะแก้ปัญหายังไงได้บ้าง
สิ่งสำคัญคือออกแบบบริการยังไงให้ใช้ง่ายที่สุด
สิ่งหนึ่งที่ชาว Eco Crew ยึดเป็นหลักในการรันโมเดลของตัวเองคือ “การทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและทำง่ายที่สุด” แต่การจะได้มาซึ่งไอความ ‘ง่ายที่สุด’ เนี้ยก็ไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ แต่ก็ต้องอาศัยสกิลความช่างสังเกต ส่วนหนึ่งก็มาจากประสบการณ์ในแวดวงไอทีที่พวกเขาคุ้นเคย ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมผู้คนเพื่อนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับผู้ใช้ หรือ User ให้ได้มากที่สุด
“จริง ๆ ผมมองว่าคนไทยเข้าใจได้ง่ายนะ แล้วคนไทยเป็นคนที่ชินกับพวกสตรีทฟู้ด การกินร้านอาหารที่เป็นแบบพวกนี้อยู่เป็นประจํา ซึ่งเขาก็จะไม่ได้มีข้อกังวลเรื่องอื่น ๆ มากนัก เช่น เรื่องของความสะอาด ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีเรื่องนี้เยอะ
ซึ่งเราก็ออกแบบการใช้ให้มันง่ายที่สุดต่อผู้ใช้ เท่าที่เจอนั้นหลาย ๆ คนแทบจะไม่มีคําถามอะไรมากเลย เราแค่อธิบายว่าโอเค ถ้าเป็นแบบนี้ ค่าบริการ 5 บาทนะ มีค่ามัดจํา 20 บาทนะ ถ้าเขาเอาแก้วมาคืน ก็ได้มัดจําคืนไปแค่นั้นเลย”
ขั้นตอนการยืมในอีเวนต์คือเวลาลูกค้าเดินเข้ามา เราก็สแกนตัวตัวคิวอาร์ที่แก้วได้เลย คิวอาร์นั้นก็จะเป็นตัวติดตามข้อมูลว่าแก้วนี้ใช้ไปกี่รอบแล้ว มีอายุการใช้งานเท่าไหร่ เลขนี้ใช้อยู่หรือเปล่า คืนมาแล้วหรือยัง หรือตอนนี้สเตตัสเป็นยังไง เราก็จะสแกนเข้าสู่ระบบแล้วพอลูกค้ามาคืนเราก็แค่สแกนรับคืน ระบบก็จะไปตัดสต๊อกของมันเอง”
สิ่งหนึ่งที่เป็นกุญแจสำคัญทั้งหน้าบ้านและการทำงานหลังบ้านคือ การทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ซับซ้อนน้อยที่สุด เมื่อการใช้บริการง่ายก็ยิ่งดึงดูดใจกลุ่มคนใหม่ ๆ สนใจมากขึ้น รวมถึงการทำงานหลังบ้านของชาว Eco Crew เช่นกัน โดเล่าให้ฟังว่าในทีมก็จะทำงานกันโดยใช้แนวคิด Agile เข้ามาช่วยเป็นหลัก คือแต่ละคนรับผิดชอบในส่วนของตัวเองและช่วยกันดูภาพรวม การออกบูธแต่ละครั้ง ก็จะเป็นเรื่องปกติที่จะต้องคอยสังเกตผู้ใช้ หรือพูดง่าย ๆ คือ สังเกตกลุ่มคนในงานว่า คนจะซื้ออะไร เดินเข้า-ออกตรงไหนกันบ้าง เพื่อดูว่าเราจะออกแบบจุดวางคืนอยู่ตรงไหนเพื่อให้คนมองเห็นและเข้ามาใช้บริการได้มากที่สุด หรือมีข้อควรปรับปรุงตรงไหนที่เป็นข้อกังวลของผู้บริโภคที่ทำให้เขายังไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา จากนั้นก็นำมาปรับกันเพื่อให้อัตราการยืม-คืนแก้วมีมากที่สุด
ในเชิงธุรกิจล่ะ? อะไรที่ทำให้มั่นใจในการเริ่มทำโมเดลนี้?
“จริง ๆ ตอนแรกความกลัวมีอยู่แล้วล่ะ แต่ปัญหาคือถ้าเราไม่ทํามันก็ไม่มีใครทํา ปัญหามันก็จะอยู่อย่างนั้น คาอยู่อย่างนั้น ไม่มีใครจัดการ หรือแค่เรื่องว่าในงานอีเว้นท์ต้องมีการจัดการยังไง ขยะไม่เกินเท่าไหร่ ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ด้วยซ้ํา ทั้งที่งานเหล่านี้คนมาใช้งานแค่หนึ่งชั่วโมง ครึ่งชั่วโมง หรือ 5 นาทีด้วยซ้ำ แล้วก็ทิ้ง สุดท้ายเราเลยมองข้ามความกลัวแล้วก็มาทําดีกว่า”
จากช่วงแรกเรทการคืนแก้วก็อยู่ที่ 50% เอง แต่ว่าช่วงหลัง ๆ มา อัตราการคืนก็คือร้อยเปอร์เซ็นต์ ละอย่างที่บอกว่าเราก็พยายามปรับให้มันเหมาะกับพฤติกรรมคนเรื่อย ๆ ดูจากพฤติกรรมผู้ใช้ โอเค ไม่โอเคตรงไหน ทำไมถึงเอาแก้วกลับบ้าน ไม่ยอมเอาคืน อะไรแบบนี้ ก็นำมาปรับระบบกันไป
ตั้งใจว่ากลุ่มลูกค้าของ Eco crew จะเป็นกลุ่มไหน?
“กลุ่มที่เราเข้าไปจอยด้วยก็จะมีทั้งอีเวนต์ที่จัดโดยภาครัฐและเอกชนในหลายรูปแบบ เช่น งานวิ่งมาราธอน งานนิทรรศการ งานสัมมนา ประชุมต่าง ๆ ไปจนถึงงานออกบูธตลาดด้วย”
ในบรรดาอีเวนต์ทั้งหลายที่โดไล่เรียงมาก็ทำให้เราพอจะเห็นภาพว่าจริง ๆ แล้วเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นอยู่ในทุกที่ ในทุกกิจกรรมมนุษย์ เพียงแค่อาจเป็นเรื่องที่มักถูกมองข้ามไป แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งความเซอร์ไพรส์คือการที่รู้ว่ากลุ่มลูกค้าหลาย ๆ คนที่ร่วมงานกับ Eco Crew นั้น มักจะเป็นกลุ่มที่อาจจะไม่ใช่องค์กรสายกรีนที่ประกาศตัวว่าสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วขนาดนั้น แต่เมื่อเข้าไปคุยด้วยแล้วถึงได้รู้ว่าจริง ๆ ทุกคนคำนึงถึงเรื่องนี้ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันยังไง
“สามสิ่งที่ธุรกิจมักจะคำนึงถึงคือ ราคา ขยะ และภาพลักษณ์ ซึ่งเราก็ออกแบบมาให้ตอบโจทย์ทั้งสาม”
จากระยะเวลาหลายเดือนที่ชาว Eco Crew ได้เริ่มธุรกิจนี้มาก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่ธุรกิจมักจะกังวลก็คือเรื่องของ ราคา ขยะ และภาพลักษณ์ ซึ่ง Eco Crew ก็ออกแบบรูปแบบการใช้งานมาให้ตอบโจทย์กับกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ โดยที่ราคายังเท่าหรือน้อยกว่าเดิม เพิ่มเติมคือบริการทำความสะอาดให้ด้วย และไม่ทิ้งขยะเอาไว้
“โดยปกติถ้าเวลาที่มีจัดอีเวนต์อะไรซักอย่าง แล้วแต่ละองค์กรเขาซื้อภาชนะเอง ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.5-3 บาท หรือถ้าเป็นภาชนะรักษ์โลกก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก ข้อแรกคือตัวราคาที่เราทำนั้นถูกกว่าภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เขาจะต้องซื้อตามท้องตลาด สองคือบริการเราช่วยลดขยะแน่นอน และสามคือภาพลักษณ์ที่เขาจะได้ เขาก็สามารถพูดได้ว่างานเขาเป็นงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย”
แล้วเราควรแก้ปัญหาพลาสติกกันยังไงดี?
“เรื่องแบบนี้ต้องแก้ตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก” คือคำที่โดสรุปได้อย่างชัดเจน สิ่งหนึ่งที่เราเห็นตรงกันคือ หากการกำหนดที่ต้นทางไม่ชัดเจนและไม่มีการร่วมมือของแต่ละฝ่าย ทั้งต้นทางผู้ผลิตและปลายทางผู้บริโภค สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นยากมาก
“เรื่องของมลภาวะจากพลาสติกมันเยอะมากอย่างที่เห็น คือแต่ละปีเราผลิตออกมาเยอะมาก และทุกฝ่ายก็พยายามจะแก้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่แก้มันได้ ต้นเหตุเรื่องการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งก็ต้องไปแก้ตั้งแต่ต้นเหตุ แก้ตั้งแต่กระดุมเม็ดแรก”
“ไม่ใช่แค่บอกว่าเราใช้แก้วแบบย่อยสลาย แต่มันย่อยสลายได้ที่เรียกว่าเงื่อนไขในการย่อยสลายคือต้องย่อยสลายในดินที่มีความร้อน 120 องศางี้ ดินที่ไหนจะร้อนขนาดนั้น” โดยกตัวอย่างการแก้ไขปัํญหาที่ดูจะไม่ตรงจุดเท่าไหร่
“ผมมองว่าถ้าจริง ๆ จะแก้ ก็ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุหรือว่าที่ผู้ให้บริการเอง เราไม่สามารถให้ผู้บริโภคคอยมานั่งรับภาระอย่างเดียวได้ มันเป็นเรื่องที่ต้องแก้กันทั้งคู่ แก้ทั้งสองฝั่งคือผู้บริโภคก็ต้องมีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ด้วย ผู้ให้บริการก็ต้องทําในเรื่องนี้แบบจริง ๆ ด้วย”
แน่นอนว่าพอเป็นบทสนทนาที่เกี่ยวกับปัญหาพลาสติกในประเทศไทย เราก็จะเห็น ‘ความแกง’ ที่ซ่อนอยู่เยอะมาก! แต่บทสนทนาวันนี้ก็ยังทำให้เราเห็นความหวังใหม่ ๆ ของผู้คนที่หันมาลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในแบบของตัวเองอย่างที่ชาว Eco crew กำลังลงมือทำให้เราเห็น