ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity) คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกัน
ด้วยสารพันธุกรรมที่รับมาจากบรรพบุรุษผ่านทาง “ยีน” (Gene) นั่นเอง แล้วความหลากหลายของยีนนี่แหละ ที่เป็นเหมือนกับสีสันตกแต่งโลกของเราให้สวยงามขึ้นไปอีก
หนึ่งในความหลากหลายของยีนที่เราจะมาคุยกันวันนี้ก็คือ ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ภาวะโครโมโซมเกินในคู่ที่ 21 ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย และทางสติปัญญา ถึงดาวน์ซินโดรมจะยังรักษาไม่ได้ แต่ผู้ที่เผชิญภาวะนี้ก็สามารถดูแลตัวเองได้ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะพวกเขาต่างก็มีพัฒนาการเหมือนกับคนทั่วไป เพียงแค่ช้ากว่าเท่านั้น
ดังนั้นขอแค่ความเข้าใจจากครอบครัวและสังคม ภาวะดาวน์ซินโดรมก็จะเป็นอีกหนึ่งเฉดสีที่สวยงามบนโลกของเรา
นอกจากมนุษย์แล้ว ภาวะแบบนี้ก็มีในสัตว์ได้เหมือนกัน ใครเคยเสิร์ชคำว่า “สัตว์ที่เป็นดาวน์ซินโดรม” กันบ้าง ภาพที่ขึ้นมาคงแปลกตาน่าดูเลยใช่ไหม หลายคนอาจจะรู้สึกว่าน่ารัก น่าเอ็นดู จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ส่งผลต่อทั้งร่างกาย และจิตใจของสัตว์ต่าง ๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่มีอาการคล้ายกับดาวน์ซินโดรมกัน
#เสือขาว เจ้าเคนนี่ (Kenny) เสือขาวสุดโด่งดัง ที่มีหน้าตาแตกต่างจากเสือตัวอื่น ๆ ทั้งจมูกที่สั้นกว่าปกติ ใบหน้ากว้าง ตาห่าง และลักษณะอื่น ๆ บวกกับท่าทีที่เป็นมิตร สัตวแพทย์จึงลงความเห็นว่าเคนนี่น่าจะมีภาวะดาวน์ซินโดรม ที่จริงแล้วอาการของเคนนี่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างสายเลือดเดียวกัน (Inbreeding) เพื่อคงขนสีขาวอันเป็นเอกลักษณ์เอาไว้ จนเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น และทำให้เคนนี่มีอาการคล้ายกับดาวน์ซินโดรมในมนุษย์
#แมว แมวเป็นสัตว์อีกชนิดที่มีอาการคล้ายดาวน์ซินโดรม เช่น แมวน้อยออตโต (Otto) จากประเทศตุรกี ซึ่งมีหน้าตาแตกต่างจากแมวทั่วไป และยังมีอายุสั้นเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งสัตวแพทย์ก็เห็นว่าน่าจะมาจากอาการนี้ หรือแมวเหมียวมอนตี (Monty) ที่ต้องทุกทรมานจากโครโมโซมที่ผิดปกติ ทั้งอาการฉี่รดที่นอน ใบหน้าที่แตกต่างจากแมวทั่วไป แต่มอนตีก็ยังเป็นแมวอีกตัวที่ครองใจโลกอินเทอร์เน็ตไว้ได้
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับแมวก็คือ ถึงเจ้าเหมียวจะมีอาการคล้ายกับดาวน์ซินโดรมมาก แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่พวกมันจะเผชิญกับภาวะแบบเดียวกับมนุษย์ เพราะเจ้าเหมียวไม่มีโครโมโซมคู่ที่ 21 นั่นเอง
#เอพ ลองมาดูตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดอย่าง เอพ (Ape) หรือลิงไม่มีหาง อย่างเช่น อุรังอุตัง กอริลล่า ชิมแพนซี หรือชะนี ซึ่งมีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับมนุษย์มาก ๆ เพราะเหล่าเอพมีโครโมโซม 24 คู่ ใกล้เคียงกับมนุษย์ที่มี 23 คู่
ที่สำคัญที่สุดในปี 2017 มีการค้นพบว่าลิงชิมแพนซีตัวหนึ่งมีโครโมโซมคู่ที่ 22 เกินมา ทำให้เกิดข้อบกพร่องด้านการเจริญเติบโต ปัญหาเรื่องหัวใจ และบางอาการที่คล้ายกับดาวน์ซินโดรมในมนุษย์
ถึงเหล่าสัตว์ที่เรานำมาแชร์กัน จะมีอาการเหมือนกับดาวน์ซินโดรมมาก ๆ แต่ก็ยังไม่ชัวร์ว่าอาการทั้งหมดนี้คือดาวน์ซินโดรมแบบเดียวกับมนุษย์ มีเพียงบันทึกเกี่ยวกับความผิดปกติของโครโมโซมในลิงชิมแพนซีเท่านั้นที่ดูจะใกล้เคียงที่สุด แต่ก็ยังยืนยันไม่ได้ว่านั่นคือภาวะเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทไหน จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ที่กำลังเผชิญสภาวะที่ “แตกต่าง” จากสังคมส่วนใหญ่ ก็ไมได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องถูกทอดทิ้ง หรือถูกมองว่าเป็นตัวตลก หากสังคมเข้าใจในความแตกต่าง มองเห็นความสำคัญ และปกป้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม โลกของเราก็คงเต็มไปด้วยเฉดสีแห่งความหลากหลายที่แสนสวยงามไม่เหมือนใคร