‘พะยูน’ หรือ ‘หมูน้ำ’ (Dugong) และอีกหลากหลายชื่อเพื่อนบ้านตัวกลมของชาวเลริมชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ที่มีหน้าตาและรูปร่างที่อ้วนท้วมน่ารัก ตามฉบับที่คนไทยเอ็นดู แต่เพื่อนที่น่ารักตัวนี้อาจจะอยู่กับเราต่อไปไม่ได้นานนัก เพราะจำนวนประชากรของพวกเขากำลังดิ่งลงอย่างไม่หยุดยั้ง…
ตั้งแต่ฉันยังเรียนอยู่ชั้นประถม ในคาบเรียนวิทยาศาสตร์คุณครูสอนให้ฉันท่องจำรายชื่อสัตว์สงวนของไทยราว 19 ตัว บางตัวก็สูญพันธ์ไปแล้ว และบางตัวก็เหลือน้อยเต็มที เจ้าหมูน้ำถูกจัดอยู่ในประเภทหลัง ที่ถูกบรรจุอยู่ในรายชื่อสัตว์สงวนใน พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็นับสามทศวรรษได้ที่ประเทศไทยพยายามจะ ‘อนุรักษ์’ พะยูน
เป็นพะยูนไทยต้องอดทน/สถานการณ์พะยูนไทย
ในช่วงก่อนที่จะมีกฎหมายควบคุมการทำประมงและกฎหมายปกป้องสัตว์สงวน พะยูนจำนวนมากต้องตายด้วยกิจกรรมของเพื่อนร่วมโลกอย่างมนุษย์ อย่างการทำประมงด้วยอวนลาก อวนรุน หรือทำประมงในเขตสามไมล์ทะเล แต่หลังจากที่มีการควบคุมการกระทำเหล่านี้ด้วยกฎหมาย ทั้งพ.ร.บ. การประมง พ.ศ.2490 และพ.ร.บ.บัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2490 และอนุสัญญา CITES จึงทำให้กิจกรรมของมนุษย์ไม่ใช่สาเหตุหลักที่คร่าชีวิตเพื่อนหมูน้ำอีกต่อไป
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทะเล และรองคณบดี คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ในช่วงก่อนปี 2565 พะยูนในไทยตายปีละ 12 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 5 ตัว แต่ในช่วง 2 ปีให้หลัง (พ.ศ.2565-2567) เราได้เสียประชากรพะยูนไปเฉลี่ยปีละ 36 ตัว เรียกได้ว่ามากกว่าช่วงก่อนหน้าถึงสามเท่าตัว และสาเหตุหลักก็เป็นเพราะ ‘ขาดอาหาร’
จากการชันสูตรซากพะยูนที่ตายในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า พวกมันมีชั้นสะสมของไขมันลดลง มีร่างกายที่พ่ายผอม และส่วนใหญ่มีน้ำหนักอาหารเพียง 1% ทั้งที่โดยปกติแล้วมันจะต้องกินอาหารเป็นปริมาณ 3% ของน้ำหนักตัวรวมไปถึงอาการอื่น ที่ฟ้องว่าพวกมันกำลังขาดอาหารเป็นอย่างมากเช่นการสะสมของลิ่มเลือดและชั้นไขมันในหัวใจ
แม้ว่าจะมีลักษณะอ้วนกลมแต่นั่นไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าพวกมันอุดมสมบูรณ์
พะยูนในประเทศไทยตอนนี้กำลังประสบวิกฤตขาดแคลนอาหารเป็นอย่างมาก เพราะ ‘แหล่งหญ้าทะเล’ ที่้เป็นอาหารหลักของพวกเขากำลังเสื่อมโทรมอย่างหนัก จากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ดินที่ร้อนประหนึ่งแผงหญ้า ตะกอนดินจากบนฝั่งที่มาพร้อมกับห่าฝนที่ตกนานผิดปกติไหลลงมาทับหญ้าเหล่านั้น ซึ่งเป็นผลทอดยาวมาจากสภาวะโลกรวนที่เราต่างรู้กันดีว่าใครคือต้นเหตุของมัน
วิกฤตชีวิตพะยูนกับสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้
ตั้งแต่ปี 66 มาจนถึงตอนนี้ แม้ยังไม่ได้มีการสำรวจจำนวนประชากรพะยูนอย่างชัดเจน แต่จากการชีวิต
พะยูนร่วงโรยดั่งใบไม้ร่วง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้น ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง บอกกับเราว่า เราอาจจะสูญเสียสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นอีกชนิดหนึ่งไปได้เพราะในตอนนี้ประเทศไทยอาจจะเหลือไม่ถึงร้อยตัว เราอาจต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ในการทำให้จำนวนประชากรกลับมาเท่าช่วงก่อนหน้า
ในตอนนี้ทั้งภาครัฐและองค์กรต่างๆ จึงทำได้เพีงตั้งรับวิกฤตนี้และประคับประคองสถานการณ์ ด้วยมาตรการ 4 ข้อหลักๆ เพื่อลดอัตราการตายให้เป็นศูนย์ให้ได้ ดังนี้
ประกาศพื้นที่คุ้มครองและบังคับใช้มาตรการ อย่างเช่น การประกาศ 13 พื้นที่ในอ่าวพังงาให้เป็นพื้นที่คุ้มครองซึ่งจะห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมที่เป็นภัยคุกคามต่อพะยูน ไม่ว่าจะเป็น จำกัดเครื่องมือประมง จำกัดการสัญจรหรือความเร็วเรือ จำกัดกิจกรรมสันทนาการ รวมไปถึงการควบคุมมลพิษด้วย
สำรวจพะยูนและประเมินหญ้าทะเลให้เป็นปัจจุบัน โดยการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อสำรวจประชากรพะยูนและปริมาณหญ้าทะเล ใน 7 พื้นที่จากสตูลไปจนถึงระนอง
ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิต เมื่อพบพะยูนแล้ว การดำเนินการขั้นถัดไปคือการเข้าช่วยเหลือพวกมันโดยตรงด้วยการให้อาหารทดแทนในธรรมชาติ และการอนุบาลพะยูนที่มีการป่วย ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมทางทรัพยากรด้านอื่นๆ อย่างการพัฒนาศูนย์ช่วยชีวิตตรัง
ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารหลักของพะยูน โดยมุ่งหมายให้มีการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในธรรมชาติให้ได้หนึ่งพันไร่ต่อปี ด้วยนวัตกรรม ความรู้ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม และอาจจะนำเอากลไกในเรื่อง Carbon Credit มาใช้ในส่วนนี้ด้วย
ในฐานะคนห่างไกลทำอะไรได้บ้าง ?
ทั้งตัวผู้เขียนและผู้อ่านหลายๆ คน อาจจะไม่ใช่คนที่อยู่ติดริมทะเลหรือเป็นเพื่อนบ้านที่สนิทชิดใกล้กับเหล่าพะยูน จนอาจจะเผลอนึกไปว่าเราคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แม้สักนิด แต่ทว่า ชาวเมืองกับริมเลแท้จริงแล้วใกล้กันเพียงหนึ่งสายธาร ทั้งแม่น้ำ ลำคลอง หรือบ่อบึง ต่างก็เชื่อมกันเป็นโยงใยและมีปลายทางเป็นทะเลซึ่งก็คือบ้านของเจ้าหมูน้ำทั้งหลาย
ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ชาวเมืองจะทำเพื่อช่วยชีวิตเพื่อนๆ ได้ ก็คงเป็นการไม่สร้างขยะหรือมลพิษลงแหล่งน้ำ อย่างในช่วงลอยกระทงที่ผ่านมา แม้ว่าพะยูนจะไม่ได้กินกระทงเข้าไปโดยตรง แต่วัสดุจากกระทงก็อาจจะกลายเป็นขยะที่สร้างมลพิษและเป็นอันตรายต่อพวกมันได้อยู่ดี นอกเหนือไปจากการไม่สร้างมลพิษทางน้ำ เราก็ไม่ควรที่จะสร้างมลพิษด้านอื่นๆ ที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกรวนด้วย แม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่วิธีการช่วยเหลือพะยูนโดยตรง แต่สิ่งที่พวกมันกำลังเผชิญอยู่ ก็เป็นผลทางอ้อมจากปัญหาที่มนุษย์ก่อเช่นเดียวกัน
“ระบบนิเวศในปัจจุบันนี้ มีความเปราะบางมากๆ อย่างที่เราเห็น สภาพหญ้าทะเลที่มันหายไปเสื่อมสภาพไปอย่างนี้ ฉะนั้นการที่เราจะช่วยเขาได้โดยไม่ทำอะไรให้เกิดภาวะมลพิษเพิ่มขึ้น” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว
พบเห็นซากพะยูน ต้องทำอย่างไร?
อีกสิ่งที่ทำได้เมื่อพบเห็นพะยูน ไม่ว่าจะเป็น ป่วย หรือตายเป็นซาก แจ้งได้ที่
เพจ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สายด่วน 1362 หรือ ThaiWhales
หรืออยากร่วมทีมสำรวจบินโดรน นักวิทยาศาสตร์พลเมือง คอยติดตามพะยูนรอบภูเก็ต ติดต่อไปทาง Theerasak Saksritawee หรือ Dr. Kongkiat Kittiwatanawong
อ้างอิง