โรงงานกำจัดขยะใกล้ชุมชน ‘วินโพรเสส’ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ทางออกอาจไม่ใช่แค่การเยียวยา
เมื่อช่วงเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเดินทางไปที่ ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานกำจัดขยะที่มีชื่อว่า ‘วินโพรเสส’ โรงงานร้างซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ไปเมื่อเดือนเมษายน ปี 2567
เมื่อมองจากสวนที่อยู่ติดกัน เราเจอโรงเรือนขนาดใหญ่ที่มองเข้าไปแล้วก็เห็นแต่เศษซากอารยธรรมกากขยะอุตสาหกรรม ทั้งถุงยางที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ถังโลหะสนิมเขรอะกองพะเนินอยู่ แม้ว่าจะเกิดเหตุอัคคีภัยขนาดใหญ่ไปแล้ว แต่จำนวนขยะเหล่านี้ยังดูเหมือนพึ่งนำมาทิ้งไว้ได้ไม่นานเพราะมันยังคงมีมากเหลือเกิน

ใกล้ๆกันนี้ มีสวนเกษตรของ ‘ลุงเทียบ’ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานมากที่สุด เพราะสวนของเขาอยู่ห่างจากโรงงานแค่เพียงหนึ่งคันดินกั้นเอาไว้ ทว่า คันดินที่สูงราวภูเขาขนาดย่อมนั้นก็กั้นการรั่วไหลของสารเคมีไม่ได้ ภาพฝั่งของโรงงานและฝั่งของสวนเกษตรดูไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพราะทั้งสองฝั่งนั้นมีเพียงดินที่เป็นพิษ และน้ำที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้อย่างไม่น่าสงสัยพร้อมกับต้นไม้แห้งๆ บนผืนดินสีกึ่งส้มกึ่งดำกึ่งเขียวที่ดูด้วยตาเปล่าก็รู้ได้ว่ามันคงเป็นสารเคมีที่แทรกซึมมาจากอีกฝั่ง

หลังจากที่ได้เข้าไปในตัวโรงงานแล้ว กลิ่นฉุนของสารเคมีลอยมาก่อนที่ตาเราจะเห็นต้นตอของกลิ่น และสักพักเราจึงได้รู้ซากกากขยะที่เราเห็นในตอนแรกนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความน่ากลัว เพราะภายในโรงงานยังมีถังบรรจุสารเคมีขนาด 1,000 ลิตร ตั้งเรียงรายกันนับร้อยนับพันถัง สารอันตรายหลายชนิดกองรวมอยู่ที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเก่า น้ำเสีย หรือสารเคมีอื่นๆ ที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีโซนบ่อปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ดูคล้ายกับบ่อเลี้ยงปลาหลายบ่อ แต่ภายในบ่อไม่ใช่น้ำใสแต่เป็นน้ำเสียที่ไม่รู้ว่ามีสารอะไรปนเปื้อนอยู่ในนั้นบ้าง มีแม้กระทั่งตะกรันอะลูมิเนียม (Aluminium dross) ตั้งอยู่ทื่อๆ แบบไม่มีผ้าใบสักผืนมาคลุมไว้ ในโรงเรือนโปร่งๆ เพราะกำแพงคงหายไปพร้อมกับไฟในคราวนั้น ทั้งที่มันเป็นสารที่อันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในระแวกใกล้เคียง แล้วโรงงานที่เป็นแหล่งรวมของอันตรายพวกนี้มันมาอยู่ข้างสวนชาวบ้านได้ยังไง ?

มหากาพย์ของโรงงานกำจัดขยะวินโพรเสส
เริ่มต้นที่ปี 2554 จากการที่ชาวบ้านชุมชนหนองพะวาได้คัดค้านการดำเนินกิจการของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด หลังจากที่บริษัทได้ซื้อที่ดินมาจากเอกชนด้วยความกังวลว่ากิจการกำจัดขยะดังกล่าว อาจกระทบต่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน
ปี 2555 มีชาวบ้านจำนวน 213 ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงาน ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่ได้ออกใบอนุญาตในการจัดตั้งโรงงานให้แก่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด
ทว่า ในปี 2556 กลับมีกลิ่นเหม็นบริเวณโดยรอบโรงงาน แม้ว่าจะไม่มีการอนุญาตให้จัดตั้งกิจการกำจัดขยะที่นี่ ชาวบ้านหนองพะวาจึงได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองให้เข้ามาตรวจสอบ และตรวจพบว่าภายในโรงงานมีการขุดหลุมฝังกลบจำนวน 3 บ่อ พร้อมกับการคัดแยกขยะต่างๆ การอัดก้อนกระดาษ การแปรรูปน้ำมันเครื่อง มีโรงเก็บของ 5 โรงที่เก็บขยะหลายประเภท เช่น น้ำมันเครื่องใช้แล้ว เศษพลาสติก เศษและผงเหล็ก ฯลฯ
อีกทั้ง ยังมีการตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยบริเวณหลุมที่ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงด้วย โดยการกระทำนี้ไม่เคยได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานฯ จึงทำให้ชาวบ้านออกมาชุมนุนมเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบ
หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้ออกคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ผิดกฎหมายและให้ขนย้ายของเสียและวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่โดยเร็ว
ปี 2557-2559 บริษัท วิน โพรเสสฯ ยังคงพยายามขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งก็ถูกชาวบ้านคัดค้านอีกเช่นเดิม
ปี 2560 โรงงานที่เคยเถื่อนกลับกลายเป็นโรงงานกำจัดขยะอย่างถูกกฎหมาย เพราะได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงงานพร้อมด้วยใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตราย
หลังจากนั้นสถานการณ์ความเสียหายและผลกระทบก็เริ่มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ทั้งกลิ่นเหม็นของสารเคมีและน้ำเสียจากโรงงาน โดยกรมมลพิษได้เข้าตรวจสอบพบสารเคมีหลายชนิดปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ซึ่งหลายชนิดมีปริมาณเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ระบุไว้ในประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งทองแดง นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว และปรอท

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวจึงดำเนินการฟ้องผู้รับผิดชอบ
การรายงานข่าวของข่าว 3 มิติ ได้สรุปไว้ว่า คดีที่บริษัท วิน โพรเสส และกรรมการมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบหลังจากถูกตัดสินแล้วมีทั้งหมด 5 คดี ดังนี้
1. จ่ายเงินชดใช้เยียวยาให้แก่ชาวบ้าน เป็นจำนวนประมาณ 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี รวมถึงให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากคดีแพ่งที่ชาวบ้านหนองพะวาร่วมกันฟ้อง (คำพิพากษาเมื่อ 13 ธันวาคม 2565)
2. จ่ายค่าฟื้นฟูและบำบัดภาพแวดล้อมในพื้นที่ 1,700 ล้านบาท จากคดีแพ่งที่ฟ้องโดยกรมควบคุมมลพิษ (คำพิพากษาเมื่อ 2 กันยายน 2567)
3. สั่งจำคุก นายโอภาส บุญจันทร์ กรรมการบริษัทวิน โพรเสส 9 เดือน คดีครอบครองวัตถุอันตราย (คำพิพากษาเมื่อ 17 ธันวาคม 2567)
4. ชดใช้ค่าเสียหายให้ อบต.บางบุตร เป็นจำนวนเงิน 39,625,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ฟ้องโดยอบต.บางบุตร (คำพิพากษาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2568)
และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ศาลจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาให้ ปรับบริษัทอีก
350,000 บาท และให้จำคุก นายโอภาส บุญจันทร์ อีก 5 ปี 15 เดือน รวมถึงให้หน่วยงานรับผิดชอบในการกำจัดของเสียโดยให้ บริษัทและนายโอภาสเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
มาถึงตรงนี้เราอยากจะชวนผู้อ่านมาย้อนนึกถึง สภาพของโรงงานและสวนของลุงเทียบเมื่อตอนต้น นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นมากับตาเมื่อเดือนธันวาที่ผ่านมานี้เอง เท่ากับว่าตั้งแต่ที่ศาลออกคำตัดสินเมื่อปี 2565 ทางโรงงานไม่ได้มีความรับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเรื่องการกำจัดของเสียในโรงงานหรือการเยียวยาให้กับผู้เสียหาย ทั้งยังมีพิรุธเพิ่มเติมจากเหตุการไฟไหม้โรงงานครั้งล่าสุด ในวันที่ 27 มกราคม 2568 เพราะเจ้าหน้าที่พบว่ามีถังน้ำมันที่ถูกเปิดใช้งานถึง 2 ถัง ภายในบริเวณที่เกิดเหตุ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อาจเป็นความตั้งใจ

สุดท้ายแล้วสิ่งที่กรณีวิน โพรเสสทิ้งไว้ให้เรา คือชนวนแห่งความสงสัย
เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ ‘วิน โพรเสส’ ผู้ซึ่งดำเนินกิจการในฐานะที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘โรงงานเถื่อน’ ที่ไม่ได้รับอนุญาตและลักลอบดำเนินกิจการทิ้งขยะสารพิษใกล้บ้านคน ถึงแม้จะมีคำสั่งให้ขนย้ายของเสียและวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่ในปี 2556 แต่โรงงานกลับไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ถึงกระนั้นโรงงานกลับกลายเป็นโรงงานที่ถูกกฎหมายในปี 2560 โดยที่ชาวบ้านได้คัดค้านมาโดยตลอด แม้ว่าผู้กระทำผิดจะถูกตัดสินให้ได้รับโทษทั้งในคดีอาญาและชดเชยค่าเสียหายในคดีแพ่งแล้ว ทว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา การดำเนินคดีทางอาญาของนายโอภาส บุญจันทร์ ถือเป็นที่สิ้นสุดลงเพราะเขาได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด จึงต้องรอติดตามว่านอกจากนายโอภาสแล้วกรรมการโรงงานคนอื่นจะมีใครต้องโทษทางอาญาหรือไม่ ส่วนคดีแพ่งนั้นยังคงดำเนินต่อไป
ท้ายที่สุดแล้วในกรณีโรงงานขยะพิษแห่งนี้ การเยียวยาไม่ใช่ทางออกที่ควรเกิดซ้ำไปซ้ำมา เมื่อปัญหาเหล่านี้ไม่ควรมีทางเข้าตั้งแต่แรก และ‘วิน โพรเสส’ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างที่เกิดขึ้นเท่านั้นยังคงมีอีกหลายพื้นที่ที่่ยังคงต้องเผชิญเรื่องราวแบบเดียวกัน
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราต้องตั้งคำถามไปยังผู้มีอำนาจรัฐ ว่าในการทำงานของพวกเขามีจุดไหนที่ผิดพลาดไป จนทำให้ชาวบ้านหนองพะวาต้องทนอยู่กับอาณาเขตมลพิษเป็นสิบปี
เป็นขั้นตอนการออกใบอนุญาตหรือเปล่า ?
เป็นเรื่องของการตรวจสอบโรงงานหรือเปล่า ?
เป็นเรื่องของข้อมูลที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ?
เป็นเรื่องของกฎหมายที่ยังไม่รัดกุมมากพอ หรือเป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ?
เป็นเรื่องที่รัฐต้องให้คำตอบและแก้ไขต่อไป
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิตไว้ ณ ที่นี้
อ้างอิง
ตามหาความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม…ถอดบทเรียนทัวร์มลพิษ
13 ปี “วิน โพรเสส” พิพาทมลพิษปนเปื้อน “หนองพะวา” | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
ศาลระยอง สั่ง ‘วิน โพรเสส’ ชดใช้ 1.7 พัน ล. ฟื้นสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนพิษ | The Active
สรุปคดี ‘วิน โพรเสส’ กับ ปัญหามลพิษที่ยืดเยื้อมานานกว่าทศวรรษ
https://www.thaipbs.or.th/news/content/348953