หากคุณเคยดูซีรีส์ชื่อดังอย่าง ‘Game of Thrones’ ก็คงจะเคยเห็นสัตว์ประจำตระกูลต่าง ๆ และตัวที่น่าจดจำที่สุดก็คือสัตว์ของตระกูลสตาร์ค -ไดร์วูล์ฟ- หมาป่าสีขาวตัวใหญ่น่าขนลุกซึ่งมีตัวตนอยู่ในโลกแห่งความจริงเมื่อ 2.6 ล้านปีก่อน จากนั้นโลกก็ทำให้มันสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 10,000 ถึง 13,000 ปีก่อน
นับตั้งแต่นั้นมามนุษยชาติก็รู้จักมันผ่านฟอสซิลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยพลังของความรู้และเทคโนโลยีปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพชื่อ Colossal Biosciences ประกาศว่า พวกเขาได้ ‘คืนชีพ’ ให้กับหมาป่าโบราณ 3 ตัวคือ Romulus, Remus และ Khaleesi
“ทีมของเราได้นำดีเอ็นเอจากฟันที่มีอายุ 13,000 ปีและกะโหลกศีรษะที่มีอายุ 72,000 ปีมาสร้างลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟที่แข็งแรง” Ben Lamm ซีอีโอของ Colossal Biosciences กล่าวในแถลงการณ์ “เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ‘เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างเพียงพอ จะไม่แตกต่างจากเวทมนตร์’ วันนี้ ทีมงานของเราจะได้เปิดเผยเวทมนตร์บางส่วนที่พวกเขากำลังสร้างสรรค์อยู่”
แล้วพวกเขาทำได้ยังไง?
คำตอบคือ ‘เริ่มต้นจากแกะดอลลี่’
ใครก็ตามที่ติดตามข่าวสารวงการวิทยาศาสตร์มาเนิ่นนานก็จะทราบดีถึงเหตุการณ์โด่งดังในปี 1996 ที่นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างแกะตัวแรกจากการ ‘โคลนนิ่ง’ ซึ่งแกะตัวนั้นได้รับการตั้งชื่อว่า ‘ดอลลี่’ ทำให้ความรู้ในสาขาดังกล่าวเดินหน้าอย่างก้าวกระโดด
จนสามารถนำวิธีนั้นไปโคลนนิ่งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น หมู แมว กวาง ม้า หนู แพะ หมาป่าสีเทา(หมาป่าปัจจุบัน) สุนัข และอื่น ๆ อีกมากมายที่แม้จะประสบความสำเร็จแต่ก็ได้รับเสียงวิพากย์วิจารณ์ค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นวิธีที่รบกวนสวัสดิภาพสัตว์
ขั้นตอนการโคลนนิ่งแบบเดิมก็คือ เซลล์จะถูกนำออกมาจากตัวอย่างเนื้อเยื่อของสัตว์ที่จะโคลนนิ่ง จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จะแยกพันธุกรรมทั้งหมดของสัตว์ตัวนั้นออกมาจากนิวเคลียส์ แล้วใส่เข้าไปในใข่ของผู้บริจาคจากสปีชีส์เดียวกัน ‘ที่นิวเคลียสของมันถูกเอาออกไป’
ไข่ที่มีพันธุกรรมจากตัวที่เอามาจะถูกปล่อยเข้าไปแทนที่และปล่อยให้พัฒนาเป็นตัวอ่อน จากนั้นจึงย้ายเข้าไปในมดลูกของสัตว์แม่อุ้มบุญ ซึ่งในที่สุดก็จะให้กำเนิดสัตว์ตัวที่เหมือนกันทุกประการกับสัตว์ที่นำเซลล์มา แต่งานของไดร์วูล์ฟนั้นมีข้อแตกต่างที่สำคัญ
ให้กำเนิดไดร์วูล์ฟ
Colossal Biosciences กล่าวว่าเนื่องจากไดร์วูล์ฟนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว พวกเขาจึงมีวิธีเดียวในการนำพันธุกรรมของมันกลับมานั่นคือ จากฟอสซิล โดยพวกเขาได้วิเคราะห์จีโนม (Genome พันธุกรรมโดยรวมทั้งหมด) จากฟันและกะโหลกศีรษะโบราณเป็นอันดับแรก
จากนั้นจึงเปรียบเทียบจีโนมเหล่านั้นกับจีโนมของหมาป่าสีเทา ซึ่งเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของไดร์วูล์ฟ สิ่งที่พบก็คือความแตกต่าง 20 ประการในยีน 14 ตัว โดยยีนเหล่านั้นเป็นเอกลักษณ์ในไดร์วูล์ฟ ได้แก่ ตัวใหญ่กว่า ขนสีขาว หัวกว้างกว่า ฟันใหญ่กว่า ไหล่แข็งแรงกว่า ขาแข็งแรงกว่า และเสียงที่โดดเด่น
ต่อมา ทีมวิจัยได้เก็บเซลล์ต้นกำเนิดของหลอดเลือด (endothelial progenitor cells หรือ EPCs) ซึ่งสร้างเยื่อบุหลอดเลือดจากกระแสเลือดของหมาป่าสีเทาที่ยังมีชีวิตในปัจจุบัน วิธีนี้เป็นวิธีที่รบกวนสัตว์น้อยกว่าการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของโคลนนิ่งแบบเก่า
จากนั้นทีมงานได้ใช้เทคโนโลยีตัดต่อยืนที่เรียกว่า CRISPR ตัดเอายีน 14 ตัวออกจากเซลล์หมาป่าสีเทา แล้วใส่ยีน 14 ตัวที่เป็นเอกลักษณ์ 20 ประการของไดร์วูล์ฟซึ่งพบในฟอสซิลเข้าไป แต่เรื่องราวไม่ได้ง่ายเช่นนั้น
เนื่องจากยีนนั้นเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและมักแสดงผลหลายอย่าง ทาง Colossal Biosciences แถลงว่าไดร์วูล์ฟ 3 ตัวที่มีขนสีอ่อนมีอาการหูหนวกและตาบอด ทีมงานจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบยีนเพิ่มอีกสองยีนเพื่อปิดกั้นเม็ดสีดำและสีแดงให้ขนมีสีขาวทั้งหมด ซึ่งไม่ก่ออันตรายใด ๆ ต่อจีโนมหมาป่าสีเทา
เมื่อทำขั้นตอนดังกล่าวเสร์จแล้ว นิวเคลียสที่มีพันธุกรรมที่แก้ไขแล้ว จะถูกแยกออกจากเซลล์แล้วใส่เข้าไปในไข่จองหมาป่าสีเทาที่ถูกถอดนิวเคลียสออก ไข่จะได้รับการปล่อยให้เติบโตเป็นตัวอ่อนโดย 45 ตัวจะได้ย้ายเข้าไปในมดลูกหมาป่าที่ผสมพันธุ์ในที่กักขัง 2 ตัว
หลังจากผ่านไปได้ 65 วันการตั้งครรภ์ก็สิ้นสุดลงพร้อมกับให้กำเนิด Rolulus และ Remus ทีมวิจัยทำขั้นตอนซ้ำกับแม่อุ้มบุญตัวที่ 3 ซึ่งท้ายที่สุดก็ให้กำเนิด Khaleesi (การคลอดทั้งสามนี้เป็นการผ่าคลอด เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บระหว่างการคลอด ไม่มีแม่อุ้มบุญบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขั้นตอนนี้)
“พวกเขา(ไดร์วูล์ฟ)มีบุคลิกที่แตกต่างกัน” Paige McNickle ผู้จัดการฝ่ายเลี้ยงสัตว์ Colossal Biosciences กล่าว “Romulus เป็นเจ้าตัวเล็กที่กล้าหาญมากและเป็นตัวแรกที่ออกไปสำรวจด้วยตัวเอง แม้ว่าจะอายุเพียงไม่กี่วันก็ตาม”
“Remus ค่อนข้างสงวนตัวกว่ามากและจะทำตามคำแนะนำของ Romulus เมื่อพวกมันเติบโตขึ้น Remus ก็มีความมั่นใจมากกว่าและเป็นคนแรกที่จะสำรวจสิ่งใหม่ ๆ และพื้นที่ใหม่ ๆ”
ดังนั้นเมื่อพิจารณาขั้นตอนทั้งหมดจริง ๆ แล้วไดร์วูล์ฟเหล่านี้อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าพวกมัน ‘คืนชีพ’ ขึ้นมาจากการสูญพันธุ์ แต่เป็นหมาป่าสีเทาที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมให้มีความเป็นไดร์วูล์ฟ ถึงกระนั้นก็ตามความสำเร็จครั้งนี้ก็ยังถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์
อนาคตของการคืนชีพ
ยังไม่แน่นอนว่าไดร์วูล์ฟทั้ง 3 ตัวนี้หรือตัวอื่น ๆ ที่ Colossal Biosciences อาจสร้างขึ้นจะได้รับอนุญาตให้ผสมพันธุ์และสืบพันธุ์ไดร์วูล์ฟรุ่นต่อไปตามธรรมชาติหรือไม่ แต่ในตอนนี้พวกเขาได้ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดแบบฝังไว้ก่อนแล้วเพื่อป้องกัน ความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ทางชุมชนพื้นเมือง MHA Nation (Mandan, Hidatsa และ Arikara) แสดงความปราถนาที่จะให้ไดร์วูล์ฟเหล่านี้อาศัยอยู่ในดินแดนของพวกเขาในนอร์ทดาโคตา ทั้งนี้ Colossal Biosciences กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่
หากบริษัทประสบความสำเร็จในคืนชีพสัตว์ที่หายไปจากโลกใบนี้แล้วจริง ๆ พวกเขากล่าววิธีเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในวิธีที่ทรงพลังในการปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่กำลังถูกเบียดเบียนจากมนุษยชาติ และอาจรวมถึงสัตว์อื่น ๆ อย่างแมมมอธขนยาว แม้จะมีโอกาสเพียงเล็กน้อยแต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ลังเล
“ผมนึกถึงคำพูดอันโด่งดังของเท็ดดี้ รูสเวลต์” Matt James หัวหน้าฝ่ายสัตว์ของบริษัทกล่าวถึงประโยคของประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐฯ “ในช่วงเวลาที่ต้องเลือก สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือทำสิ่งที่ผิด แต่ที่สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือการไม่ทำอะไรเลย”
ที่มา
https://time.com/7274542/colossal-dire-wolf
https://time.com/7275439/science-behind-dire-wolf-return
https://edition.cnn.com/2025/04/07/science/dire-wolf-de-extinction-cloning-colossal/index.html
Photo: Colossal Biosciences/TMX