ทุกวันนี้หลายคนอาจเคยเห็นบรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “พลาสติกย่อยสลายได้” และคิดว่านี่เป็นทางออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนพลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี แต่พลาสติกชนิดนี้ดีจริงหรือไม่? แล้วมันช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือเปล่า? มาหาคำตอบกัน!

พลาสติกย่อยสลายได้คืออะไร?
พลาสติกย่อยสลายได้ มีทั้งแบบ “ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” (Biodegradable) และ “ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ” (Compostable) เป็นทางเลือกที่คิดค้นมาเพื่อใช้แทนพลาสติกทั่วไปที่ทำจากปิโตรเลียมหวังให้มันสามารถย่อยสลายได้เร็วขึ้น
#พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือ Biodegradable Plastic ทำจากส่วนผสมของพลาสติกกับวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ คือมีพืช เช่น อ้อย แป้งมันสำปะหลัง ฟางข้าวโพด เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่ง แตกตัวในธรรมชาติได้เร็วขึ้น ยังไงก็ตาม มันมีต้นทุนสูง เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไป ทำให้ยังไม่สามารถแทนที่ได้ทั้งหมด รวมทั้งความเข้าใจผิดของผู้บริโภค หลายคนคิดว่าพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพสามารถทิ้งได้ทุกที่ ทั้งที่จริงแล้วถ้าจะให้เกิดการย่อยอย่างสมบูรณ์ (น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์หรือมีเทน และชีวมวล) จะต้องมีสภาวะที่เหมาะสม (เช่น จุลินทรีย์ ความชื้น และความร้อน เป็นต้น แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้มีระยะเวลาหรือมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน) ถ้าพลาสติกนี้ถูกทิ้งในสภาวะแวดล้อมทั่วไป ไม่ว่าจะในหลุมฝังกลบ หรือรั่วไหลลงทะเล พลาสติกนี้ก็จะแตกตัวจากพลาสติกชิ้นใหญ่กลายเป็นชิ้นเล็ก กลายเป็นไมโครพลาสติก (Microplatic) พลาสติกจิ๋วชิ้นเล็ก ๆ ที่หลงเหลืออยู่ในธรรมชาติ ไม่ต่างจากพลาสติกทั่วไป

#พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือ Compostable ที่ผลิตจากพืช 100% สามารถนำมาทำเป็นพวกแพคเกจจิ้งได้ ข้อดีคือทำมาจากพืชที่ให้น้ำตาลอย่างข้าวโพด อ้อย มันฝรั่ง สามารถย่อยสลายภายใน 180 วัน เป็นแร่ธาตุและสารประกอบในธรรมชาติ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และชีวมวล แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการกำหนดมาตรฐานชัดเจน มีทั้งชนิดที่ทิ้งได้ในถังหมักปุ๋ยระดับอุตสาหกรรม และชนิดที่ทิ้งในเครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอินทรีย์ของบ้านเรา เราเลยจะทิ้งมันรวมกับเศษอาหารได้เลย แต่ถ้าอยู่ในธรรมชาติ ถูกทิ้งตามท้องถนน หรือไปจบที่หลุมฝังกลบ การย่อยสลายนี้อาจปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศโลก ไม่ต่างจากขยะอาหารทั่วไป

นโยบายการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
ปี 2023 โฆษกรัฐบาลเปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ รายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และใหญ่ที่สุดในเอเชีย เนื่องจากมีวัตถุดิบ อาทิ อ้อย และมันสำปะหลังภายในประเทศจำนวนมากเพื่อการผลิต และด้วยศักยภาพกำลังการผลิตของประเทศอยู่ที่ 95,000 ตันต่อปี และมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 75,000 ตันต่อปี โดยกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเป็นไปเพื่อการส่งออก ส่วนที่เหลือจำหน่ายภายในประเทศ
และตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ของประเทศไทย ก็ได้กล่าวถึงพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (Compostable Plastics) อย่างชัดเจน อาทิ มาตรการด้านการส่งเสริมสนับสนุนมาตรการภาษีด้านการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ผลิต หรือการสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จากกรณีศึกษาการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และประสบการณ์ในประเทศไทย เผยแพร่ทาง Asian Development Bank Briefs ปี 2023 โดย Piya Kerdlap และ James Baker พบว่า ปี 2022 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 25% ให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือบริษัทเอกชนในการซื้อและใช้พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี สำหรับการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีนโยบายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในบางประเทศ แช่น กัมพูชา ปี 2017 รัฐบาลกัมพูชาได้ตราพระราชกฤษฎีกา ลำดับที่ 168 เกี่ยวกับการจัดการถุงพลาสติก ซึ่งส่งเสริมพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและการลดการใช้ถุงพลาสติกในที่สาธารณะผ่านการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ถุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียได้ตราพระราชบัญญัติ ลำดับที่ 55/2020 เกี่ยวกับมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว สำหรับถุงพลาสติกปิโตรเคมีและถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับช้อปปิ้ง
มาเลเซีย ประเทศได้กำหนดเกณฑ์การติดฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพและ/หรือพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ รวมถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวมวลที่ใช้ในงานบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร รัฐบาลมาเลเซียกระตุ้นการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพผ่านการลดหย่อนภาษี
สำหรับ ฟิลิปปินส์ ได้มีการหารือภายในวุฒิสภาฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี 2008 เพื่อสอบถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยปรากฏอยู่ในนโยบายระดับรัฐบาลเมืองในคาลูกัน ในปี 2013 รัฐบาลเมืองคาลูกันได้ประกาศใช้กฎหมายควบคุมพลาสติก ที่ต้องทำเครื่องหมายอย่างชัดเจนว่าเป็นแบบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพหรือพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
แม้ว่าหลายประเทศจะมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดเป้าหมายเปอร์เซ็นต์ของพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติที่จะใช้ภายในหนึ่งปี โดยสาธารณรัฐเกาหลี ได้กำหนดเป้าหมายที่จะแทนที่พลาสติกปิโตรเคมีทั้งหมดด้วยพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายในปี 2050 และสนับสนุนให้มีการทำปุ๋ยหมัก แยกประเภท และรีไซเคิลไบโอพลาสติก ผ่านการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน หรือเผาด้วยการกู้คืนพลังงาน
บางประเทศไม่สนับสนุนพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
ในทางตรงกันข้าม ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และจีน ได้ประกาศห้ามใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ซึ่งแผนพลาสติกแห่งชาติปี 2021 ของออสเตรเลียมุ่งหวังที่จะยกเลิกพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งไม่ได้รับการรับรองหรือให้ข้อมูลที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับความสามารถในการย่อยสลายทางชีวภาพ
Stéphane Leconte ผู้ประสานงานเชี่ยวชาญของหน่วยงานอาหาร สิ่งแวดล้อม และอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของฝรั่งเศส ให้คำแนะนำว่าไม่ควรทิ้งพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพลงในถังปุ๋ยหมักที่บ้าน เนื่องจาก ชาวฝรั่งเศสมากกว่าหนึ่งในสามรีไซเคิลขยะในเครื่องหมักปุ๋ยที่บ้านหรือในชุมชน ซึ่งไม่สามารถรับประกันได้ว่าพลาสติกเหล่านี้จะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ในเครื่องทำปุ๋ยหมักที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะการทำงานของเครื่องนั้นควบคุมได้ยาก และอาจเกิดการปนเปื้อนจากส่วนประกอบต่างๆ ของวัสดุหรือจากไมโครพลาสติกที่เกิดจากการย่อยสลาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
จากพลาสติกสู่ไมโครพลาสติก
จากการศึกษาประสิทธิภาพในการย่อยสลาย และความเป็นไปได้ในการแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก โดยกรีนพีซและคณะเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ผ่าน 3 สภาพแวดล้อม ได้แก่ สภาพแวดล้อมทะเล เป็นเวลา 135 วัน สภาพแวดล้อมดิน เป็นเวลา 178 วัน และตู้ปลาที่เป็นสภาพแวดล้อมแบบปิด เป็นเวลา 161 วัน พบว่า บรรจุภัณฑ์แก้วกระดาษเคลือบพอลิบิวทิลีนซัคซิเนต (PBS) ซึ่งระบุว่าผลิตจากพืชสามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ มีอัตราการย่อยในทะเล 90% และฝังดิน 2% และพบไมโครพลาสติก ส่วนแก้วกาแฟพลาสติกที่ผลิตจากพลาสติก PLA ไม่มีการย่อยสลาย แต่พบไมโครพลาสติก จากสีพิมพ์ลายบนแก้วพลาสติก ถุงหูหิ้วที่ระบุว่า ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือ Biodegradable ไม่มีการย่อยสลาย แต่พบไมโครพลาสติก ถุงหูหิ้วที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี BIO Mat. (Environmentally Degradable plastic 100%) และกล่องพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่พบโมโครพลาสติก แต่ไม่มีการย่อยสลาย
แล้วมีทางเลือกอื่นแทนพลาสติกย่อยสลายได้ไหม?
ปี 2019 Lucy Hughes นักศึกษามหาวิทยาลัย Sussex คิดค้น MarinaTex นวัตกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งผลิตจากเศษปลาเหลือทิ้งและสาหร่ายทะเล สามารถย่อยสลายในอุณหภูมิปกติภายใน 1-2 เดือน และมีต้นทุนการผลิตต่ำใกล้เคียงกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ปี 2023 Hareesh Iyer และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ชนิดใหม่จากสาหร่าย Spirulina หรือ สาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น ได้แก่ ทนไฟ รีไซเคิลได้ และย่อยสลายเร็ว เทียบเท่ากับขยะอินทรีย์ทั่วไป นอกจากนี้ กระบวนการผลิตยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้วัสดุนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อีกด้วย พลาสติกชนิดนี้ยังมีความแข็งแรงกว่าพลาสติก Spirulina รุ่นก่อนถึง 10 เท่า ทำให้มีศักยภาพในการนำไปใช้แทนพลาสติกจากปิโตรเคมี
แม้ว่าพลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเหล่านี้จะเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงมีข้อจำกัด ในเรื่องความเปราะและความไวต่อปฏิกิริยากับน้ำ ซึ่งต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากสามารถแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ได้ พลาสติกย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจาก Spirulina และ MarinaTex อาจกลายเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่สามารถใช้ทดแทนพลาสติกแบบดั้งเดิมในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และของใช้ในชีวิตประจำวัน
พลาสติกย่อยสลายได้อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าพลาสติกทั่วไป แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สิ่งที่สำคัญกว่าคือการลดการใช้พลาสติกโดยรวม ใช้ซ้ำ และเลือกวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ถุงผ้า แก้วน้ำพกพา และวัสดุธรรมชาติที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะหากเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกและระบบจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทางเลือกนี้อาจเป็นเพียงภาพลวงหลอกตาที่ไม่ได้ช่วยโลกจริงๆ!
อ้างอิง:
https://www.adb.org/publications/case-bioplastics-experience-thailand
https://www.treehugger.com/australia-smart-ban-biodegradable-plastics-5116196
http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/the-fact-of-environmentally-degradable-plastics-edp/
https://3dprintingcenter.net/the-french-food-agency-recommends-a-ban-on-home-compostable-plastics/
https://www.washington.edu/news/2023/07/10/new-biodegradable-plastics-compostable-in-your-backyard
https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2023/01/pcdnew-2023-01-27_07-35-03_203228.pdf