ฝีดาษลิง โควิด-19 อาจพบได้แรงและบ่อยขึ้น เพราะโลกรวนและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม? Environman

ฝีดาษลิง โควิด-19 อาจพบได้แรงและบ่อยขึ้น เพราะโลกรวนและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม? 

70 ปีที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักไวรัสเหล่านี้ เพราะอะไรถึงทำให้มันกลายเป็นหายนะใหญ่?

ฝีดาษลิง, โควิด-19 และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จะพบบ่อยมากขึ้นและรุนแรงขึ้นท่ามกลางภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม 

ภายในไม่กี่วันที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเกิดการระบาดของไวรัส ‘ฝีดาษลิง’ โดยมีผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกากลางซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลก็คือ ครั้งนี้เกิดการระบาดในวงกว้างไปยังประเทศที่ไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน เช่น บุรุนดี เคนยา ราวันดา และยูกันดา (รายงานล่าสุดระบุว่าพบในสวีเดนด้วยเช่นกัน)

และล่าสุด (21 สิงหาคม) ไทยเราพบ ‘ผู้ป่วยสงสัย’ ฝีดาษลิง Clade 1 รายแรกในไทยแล้ว ซึ่งเป็นชาวยุโรปที่มีประวัติการเดินทางมาจากทวีปแอฟริกาก่อนหน้านี้ และกำลังรอผลตรวจยืนยันสายพันธุ์ว่าเป็น Clade 1B หรือไม่

นักวิจัยกล่าวว่าไวรัสประเภทติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic diseases) เช่น ไวรัสฝีดาษลิง หรือโควิด-19 จะกลายเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยขึ้น เนื่องจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ ทำให้มนุษย์และสัตว์มีโอกาสสัมผัสกันได้มากขึ้น และอาจทำให้ไวรัสมีโอกาสพัฒนาตัวเองกลายเป็นโรคใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม

“การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงเกิดขึ้นในบางส่วนของแอฟริกาอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินไม่เพียงแต่แอฟริกาเท่านั้น แต่สำหรับทั้งโลก” ดิไม โอโกอินา (Dimie Ogoina) ประธานคณะกรรมการองค์การอนามัยโลก กล่าว

Credit : WHO

“mpox ซึ่งมีต้นกำเนิดในแอฟริกาถูกละเลยเรื่อยมา และต่อมาก็ทำเกิดการระบาดทั่วโลกในปี 2022 ซึ่งตอนนี้ได้เวลาแล้วที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” เขาเสริม 

ป่าไม้ที่หายไป

ตั้งแต่ปี 1990 ป่าไม้ทั่วโลกได้ถูกตัดไปคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1 พันล้านเอเคอร์แล้ว โดยคิดเฉลี่ยเป็นปีละ 25 ล้านเอเคอร์ในช่วง 2015-2020 โดยมีแนวโน้มลดลงจาก 40 ล้านเอเคอร์ต่อปีในช่วง 1990 กระนั้นมันก็ได้สร้างผลกระทบขนาดใหญ่ตามมา นั่นคือ สัตว์ป่าต้องสูญเสียบ้านของพวกมันไป 

“คุณเพิ่งเห็นผลของการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์และมนุษย์ มันทำให้สัตว์ป่าและมนุษย์ต้องสัมผัสกันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนได้มากขึ้นตามมา” Lanre Williams-Ayedun รองประธานอาวุโสฝ่ายโครงการระหว่างประเทศของ World Relief ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรด้านความยั่งยืน กล่าว

ป่าไม้ที่หายไปทำให้สัตว์เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการอพยพ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของเชื้อโรคในโฮสต์ตามธรรมชาติด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาของเชื้อโรค เนื่องจากพวกมันมีโอกาสในการเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ และสิ่งมีชีวิตใหม่ ๆ ท้ายที่สุดแล้วพวกมันก็อาจแพร่เชื้อได้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

“ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อมันมีโอกาสทำซ้ำหลายครั้ง เชื้อโรคก็จะปรับตัวให้เข้ากับสายพันธุ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น” Williams-Ayedun กล่าว 

การศึกษาของสหประชาชาติระบุเอาไว้ว่าโรคติดเชื้อที่รู้จักกันดีในมนุษย์ประมาณ 60% และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ทั้งหมด 75% นั้นมาจากการติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าเป็นการติดต่อต่างสายพันธุ์กัน เช่นโรคอีโบลา โรคซิกา โควิด-19 ซึ่งตั้งสมมติฐานว่ามาจากค้างคาว รวมถึงฝีดาษลิงด้วยเช่นกัน

แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ไวรัสส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักเมื่อเทียบกับ 70 ปีที่แล้ว สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วเพียงใด ไม่เพียงแต่จะมีเชื้อโรคใหม่ ๆ มากขึ้น แต่ไวรัสเหล่านั้นยังกระโดดจากสัตว์สู่มนุษย์บ่อยขึ้นด้วย 

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็เกี่ยวข้องกับโรคอันตรายด้วยเช่นกัน

ในทุกวันนี้ผู้คนเดินทางกันได้ไกลและบ่อยขึ้นด้วยวิธีง่าย ๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าตอนนี้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของก็มีโอกาสกลายเป็นแหล่งระบาดครั้งใหญ่ต่อไปได้ แต่เพื่อทำให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น ทีมวิจัยได้สำรวจข้อมูลในอดีตรวมเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน

Credit : WHO

“การวิจัยที่ผมทำนั้นค่อนข้างจะเป็นการคาดการณ์อนาคต” Luis Escobar ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาปลาและสัตว์ป่าของเวอร์จิเนียเทค กล่าว “แต่เรากำลังใช้ความพยายามอย่างมากในการสร้างอดีตขึ้นมาใหม่ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากศตวรรษที่แล้ว ในแง่ของโรคสัตว์ป่า สภาพอากาศ กฎหมายป่าไม้ในช่วง 100 ปีทีผ่านมา และด้วยข้อมูลดังกล่าว เราจึงเข้าใจได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในปัจจุบัน” 

เขาและเพื่อนร่วมงานได้ใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อคาดการณ์รูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอีก 50 ปีหรือ 100 ปีข้างหน้า ทว่าพวกเขาก็พบว่า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานขนาดนั้น การวิจัยเผยว่าแค่ 12-20 ปีข้างหน้า โรคระบาดจากสัตว์จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

เช่น โรคประจำถิ่นในประชากรค้างคาวของละตินอเมริกาอาจเริ่มแพร่กระจายไปยังอเมริกาใต้มากขึ้น เนื่องจากละตินอเมริกามีอากาศอบอุ่นขึ้น ทำให้ค้างคาวมีการอพยพที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันในสถานการณ์ที่ภาวะโลกร้อนได้ทวีความรุนแรงขึ้น ไวรัสที่พบในปลาก็จะระบาดจนส่งผลต่อปริมาณอาหารและเศรษฐกิจของมนุษย์

“ตอนนี้ฉันคิดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เน้นไปที่ ‘สิ่งที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เราจะเห็นน้ำท่วมหรือคลื่นความร้อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ’” ดร. Carl Fichtenbaum รองประธานฝ่ายวิจัยทางคลินิกด้านอายุรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซินซินนาติกล่าว “แต่ผู้คนไม่ได้มองมันในแง่ของสุขภาพและโรคของมนุษย์เสมอไป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก” 

บทเรียนสำคัญจากโควิด-19 และโรคฝีดาษลิงในปัจจุบันก็คือ โรคติดเชื้อส่วนใหญ่มีรากฐานมากจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ ซึ่งหมายถึงสุขภาพของโลกและมนุษย์ สิ่งนี้ต้องถูกพิจารณาไปควบคู่กับสุขภาพของสัตว์ป่า 

ไม่เพียงเท่านั้นมันยังชี้ให้เห็นว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นสร้างอันตรายได้มากเพียงใด ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีระเบียบในการคุ้มครองป่าไม้ แก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และยุติความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีโดยรวม โดยมุ่งเน้นไปยังระดับโลกเพื่อให้ทุกชีวิตได้อย่างกันอย่างปลอดภัยและสงบสุข

“ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นกันทั่วไปในตอนนี้ก็คือ การระบาดที่รุนแรงมากขึ้นอย่างโรคประจำถิ่นในระดับเล็กที่ดูลุกลามมากขึ้น เกิดบ่อยขึ้น และแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อย ๆ” ดร. Mike Ryan ผู้อำนวยการบริหารด้านภาวะฉุกเฉิกด้านสุขภาพของ WHO กล่าว “นั่นเป็นบทเรียนที่ไม่ใช่แค่สำหรับโรคฝีดาษลิงเท่านั้น” 

“แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราขาดการลงทุนในส่วนที่สัตว์และมนุษย์ต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่มีระบบพร้อมสำหรับการวิจัยและการแทรกแซง” เขาเสริม

ที่มา
https://www.npr.org/2022/09/29/1119561088/monkeypox-climate-change-zoonotic-diseases

https://www.sustainability-times.com/expert-opinions/who-explains-the-climate-change-link-to-monkeypox/#:~:text=The%20CDC%20says%20the%20precise,cross%20from%20animals%20into%20humans.

https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/may/25/monkeypox-disease-climate-change

https://www.euronews.com/health/2024/08/15/what-is-mpox-how-does-it-spread-and-why-has-it-been-declared-a-global-health-emergency

Photo 

สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIAID)

World Health Organization (WHO)

Credit

Related posts

สิ่งแวดล้อมกับ… วังวนมลพิษ ที่ผังเมืองลิขิตไว้ 

‘กรุงเทพ.. เมืองเทพสร้าง’ ที่การวางผังเมือง และทิศทางการพัฒนาไม่ได้เป็นไปดั่งใจเทพเสียเท่าไหร่

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

Make-up Overdose ‘ของมันต้องมี’ แต่มีแล้ว ‘ต้องใช้’ ด้วย

เมื่อเครื่องสำอางไลน์ใหม่ออกมา การซื้อมาเติมเรื่อย ๆ ตามกระแส อาจไม่ต่างกับอะไร Fast Fashion

แคดเมียม – สารเคมีอันตราย

สารโลหะหนักจำพวกเดียวกับปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม สังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม