‘คิดถึงเด็กคนนั้นในวันวานจัง’ ชวนรู้จักภาวะ Nostalgia อาการคิดถึงวันวานแบบสุขเศร้าเคล้าน้ำตาที่ช่วยฮีลใจในวันที่การเป็นผู้ใหญ่ยิ่งไม่สนุก
“การเป็นผู้ใหญ่ มันไม่ง่ายเลย มันไม่คุ้นไม่เคย ยิ่งคิดยิ่งเหนื่อยใจ ไม่มีเวลาเหลือ ไว้ฝันไว้คิดถึงใคร โตแล้ว ต้องทำอย่างไร..” ใครทันเพลงนี้ก็แปลว่าเราก็ไม่เด็กแล้วน้าา แหะ
ผู้ใหญ่ในวันนี้ ใช่คนเดียวกับเด็กในความทรงจำวันนั้นไหมนะ? วันเด็กวนมาทีไรก็เป็นเหมือนโอกาสให้เราได้กลับไปทักทาย ‘เด็กคนนั้น’ ที่อยู่ในใจเราอีกครั้งทุกที ความสดใส ใจดี สนุก ร่าเริง รอยยิ้มที่อยู่ในรูปถ่ายที่คุ้นตา หรือเสียงร้องคลอไปกับเพลงที่คุ้นเคย ความสุขแบบนั้นยังอยู่ดีหรือเปล่า? หรือความทุกข์ที่เราเคยพบเจอ วันนี้มันจางหายไปหรือยังนะ?
ภาวะ Nostalgia คืออะไร?
ภาวะ Nostalgia ถูกคิดค้นขึ้นเป็นคำศัพท์และใช้เป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ในปี ค.ศ. 1688 โดย Johannes Hofer แพทย์ชาวสวิส โดยมีรากศัพท์มาจากคำภาษากรีก Nostos (การกลับบ้าน) + Algos (ความเจ็บปวด) ซึ่งใช้นิยามอาการคิดถึงบ้านแบบผิดปกติที่เป็นการนิยามไปในเชิงลบ
จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 20 Nostalgia ได้ถูกใช้นิยามภาวะอารมณ์ที่รวมทั้งแง่บวกและลบ โดยเชื่อว่าการคิดถึงอดีตเหล่านั้นยังมีผลดีต่อสุขภาพจิตที่จะช่วยลดความเครียดในชีวิตปัจจุบัน เพิ่มความสุขและความยืดหยุ่นที่ส่งผลดีต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้
ในปัจจุบันภาวะ Nostalgia จึงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในการใช้เรียกอาการที่เกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นให้คิดถึงความทรงจำในวันวาน ซึ่งเจ้าก้อนความถวิลหาอดีตนี้มักเต็มไปด้วยความสุขเศร้าเคล้ากันไปจากการได้คิดถึงช่วงเวลาดี ๆ ที่อบอุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็เศร้าใจเพราะไม่มีทางที่จะหวนคืนช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อีกแล้ว
เช่น การคิดถึงอดีตจากการได้ฟังเพลงที่คุ้นเคย เจอกลิ่นในวัยเด็ก ดูหนัง อ่านหนังสือที่ชอบ ไปจนถึงการย้อนดูรูปถ่ายในวันวานที่ทำให้เห็นช่วงเวลาแห่งความสุข จนเราก็อดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ช่วงเวลาตอนนั้นมันช่างดีกว่าตอนนี้ที่เต็มไปด้วยภาระ ความเครียด และชีวิตที่ต้องจริงจังขึ้นซะเหลือเกิน
Nostalgia กับการสำรวจตัวเองจากความทรงจำในวันวาน
ในอีกทางหนึ่ง นักจิตวิทยาระบุว่าภาวะ nostalgia ยังส่งผลในเชิงบวก โดยช่วยให้เราได้ ‘ทบทวน’ ตัวเองผ่านการเชื่อมโยงกับความรู้สึกนึกคิด ความฝันในวันวาน (Nostalgic Self-Exploration) เช่น การมีเวลาได้ตกตะกอนกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในตอนนี้นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน เพื่อใคร หรือสิ่งที่เรากำลังทำนั้นมันกำลังมา ‘ถูกทาง’ เหมือนกับที่ตัวเองเคยคิดไว้ในวันวานหรือเปล่า ซึ่งหากเป็นมุมมองในเชิงบวกก็จะทำให้เรายิ่งมีแรงขับเคลื่อนต่อไปเพราะเห็นถึงเป้าหมายและความตั้งใจที่เคยวางไว้ในอดีต แต่ในกรณีที่ไม่ใช่ก็อาจทำให้เห็นว่าเส้นทางที่เรากำลังเดิน อาจไม่ได้เชื่อมโยงกับความฝัน ความตั้งใจในวันวาน หรือยิ่งไปกว่านั้นก็อาจจะพรากความสุขในตัวเองไป การทบกวนเหล่านี้ก็จะทำให้มนุษย์เราเลือกทางเดินที่จะไปต่อได้อย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น
ความสุขในวันวานเป็นเหมือนยาช่วยบำรุงหัวใจ
การคิดถึงความทรงจำที่ดีในวันวานยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราให้ข้ามผ่านช่วงเวลาทุกข์ใจในชีวิตไปได้อย่างง่ายดายขึ้น โดยทำให้เกิดความภูมิใจในตัวเองหรือที่เรียกว่า Self-Esteem จากการนึกถึงความสุขความสำเร็จในวันวาน หรืออาจเป็นการสัมผัสถึงความรัก ความอบอุ่นที่เราเคยได้รับจากคนรอบตัว จนทำให้เรามีทัศนคติที่ดีกับตัวเองมากขึ้น และได้รับรู้ว่าเราได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ไม่ได้โดดเดี่ยว ตัวคนเดียวในสังคม หรืออย่างน้อย ๆ ก็ได้ทบทวนว่าชีวิตในอดีตเราก็เคยประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง
ด้วยการเปลี่ยนผ่านของชีวิตตามช่วงวัยที่เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็มักตามมาด้วยภาระหน้าที่และความเครียดเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เราหลงลืมความฝัน ความหวังที่มี หรือกระทั่งการมีความสุขง่าย ๆ แบบที่เราเคยมีในวัยเด็ก แต่แท้จริงแล้ว เด็กคนนั้นยังคงอยู่ในใจเราเสมอ แม้จะไม่มีวันได้ช่วงเวลาที่อบอุ่นเหล่านั้นกลับมา แต่การได้ย้อนคิดถึงก็ทำให้เราเชื่อมโยงกับความรู้สึกในวันวานและไม่เคยลืมว่าสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้
ว่าแล้วก็ลองหันกลับไปถามเด็กคนนั้นยังในใจเรากันดู
“ความฝัน ความหวังที่เราเคยมี มันยังอยู่ดีไหมนะ?”
ที่มา
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1364661316000267
https://www.discovermagazine.com/mind/nostalgia-and-thinking-about-the-future-can-be-good-for-you
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0191886915300507