หลายคนคงเคยเห็นมีมน้องช้างบุกห้องครัวสุดโด่งดังที่ใครเห็นก็ต้องฮา เคยได้ดูคลิปลูกช้างตกท่อระบายน้ำ ร้องเสียงดังเรียกแม่ช้างเฝ้าไม่ห่าง สร้างความสะเทือนใจไม่น้อย หรือเห็นข่าวช้างบุกพังบ้านเรือน ทำลายพืชผลผลิตของชาวบ้าน ทำเอาหวาดระแวงแบบสุด ๆ
ไม่ว่าจะเป็นข่าวฟีลไหน ก็เรียกได้ว่าปัญหาช้างป่า ยังเป็นปัญหาค้างคาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แถมนับวันก็ดูจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากข่าวช้างประสบอุบัติเหตุบ่อยขึ้น ช้างปล้นรถขนอ้อยบ่อยขึ้น ถึงดูผิวเผินแล้วอาจจะขำ แต่สาเหตุที่ทำให้ช้างทำแบบนี้ อาจทำให้หลายคนขำไม่ออกก็ได้
ปัญหาของช้างป่าและมนุษย์ สร้างความสูญเสียให้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งพืชผลทางการเกษตร บ้าน อาคาร ไปจนถึงชีวิตของมนุษย์และช้างเอง ถ้าจะอธิบายสาเหตุเรื่องปัญหาช้างป่าให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่อง “อาหาร”
ช้างเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ต้องการอาหารมากถึง 200-400 กิโลกรัมต่อวัน แน่นอนว่าถ้าหาอาหารและน้ำได้น้อยลง พวกเขาก็ต้องเดินทางออกไปหาแหล่งอาหารที่สมบูรณ์กว่า ซึ่งนำไปสู่การเข้าสู่ชุมชนที่มนุษย์อาศัยอยู่ และเกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นมานั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อช้างป่า
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ช้างมีแหล่งอาหารไม่เพียงพอ มองได้ 2 เรื่อง หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้แหล่งน้ำลดน้อยลง ทุ่งหญ้าโล่งที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของช้างก็ลดลงไปด้วย ไปจนถึงดินโป่งซึ่งเป็นดินที่มีแร่ธาตุที่จำเป็นก็เริ่มหายไป ทำให้ช้างต้องออกเดินทางหาแหล่งอาหารใหม่ ๆ และสองคือจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจนเกิดการขยายตัวของเมือง การบุกรุกป่าอย่างผิดกฎหมาย ไปจนถึงผู้มีอิทธิพลที่ลักลอบทำลายป่า ต่างก็เป็นการทำลายแหล่งอาหารของช้างทั้งนั้น ขณะที่ตรงกันข้ามกับอาหารที่น้อยลง ช้างป่าในไทยกลับมีจำนวนมากขึ้น และหาอาหารกันไกลมากขึ้น แล้วที่สำคัญช้างเองก็เป็นสัตว์ที่หาแหล่งอาหารได้เก่งมาก เมื่อเจอพื้นที่ที่เหมาะแล้ว ก็จะกลับไปหาอาหารที่เดิม เราจึงได้เห็นข่าวช้างปล้นรถขนอ้อย หรือช้างทำลายพื้นที่เพาะปลูกกันอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง
ถึงจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนในพื้นที่ที่มีช้างป่าอาศัยอยู่เยอะ อย่างจังหวัดติดแนวป่าภาคตะวันออก เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี สระแก้ว หรือในภาคอื่น ๆ ต่างก็ได้รับความเดือดร้อน ส่วนช้างเองก็ต้องสูญเสียชีวิต เพียงเพราะต้องการหาอาหารเท่านั้นเอง
ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่ได้รับความสนใจถึงขั้นมีนโยบายหาเสียงในช่วงเลือกตั้งเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น การศึกษาแนวทางการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในเดือนตุลาคม 2562 โดยสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่การทำนโยบายเพื่อใช้หาเสียงในปี 2566 ที่ผ่านมานี้ ก็มีการหยิบยกนโยบายเรื่องปัญหาช้างป่าขึ้นมาเช่นกัน
สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นช้างหรือมนุษย์ ต่างก็มีความต้องการเดียวกันคือ “บ้าน” ที่อบอุ่น มีน้ำมีอาหารสมบูรณ์ อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องเดินทางหาบ้านที่ดีกว่าไปเรื่อย ๆ การแก้ปัญหาเรื่องช้างป่า จึงเป็นภาพใหญ่ที่ต้องมองกันตั้งแต่นโยบาย มากกว่าแค่การล้อมรั้วกันช้างเท่านั้น
อ้างอิง :