คุยกับ ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ แคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยสร้างไทย ชวนมาชำแหละปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย ในวันที่รัฐไทยมีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และต้องการผู้มีวิสัยทัศน์จริง ๆ คำว่าสิ่งแวดล้อมมันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเรา

#GREENCHECK: คุยกับ ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ แคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยสร้างไทย ชวนมาชำแหละปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย ในวันที่รัฐไทยมีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และต้องการผู้มีวิสัยทัศน์จริง ๆ คำว่าสิ่งแวดล้อมมันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราไปโฟกัสแต่ละจุดก็จะทำให้เราไปเพิกเฉยในบางเรื่องที่มันอาจสอดคล้องกัน

อย่างในเรื่องผืนป่า อีกนัยยะหนึ่งคือส่งผลต่อฝนที่ตกไม่ตรงตามฤดูกาล ภาคเกษตรก็เสียหายเพราะน้ำไม่เพียงพอ ฝนที่ตกไม่ทั่วฟ้า ตกหนักบางแห่งก็มีผลต่อปัญหาดินถล่ม บวกกับการทำไร่เลื่อนลอยก็จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ป่าไม้หายไป

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ศิธา ทิวารี จากสนามเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ 2565 แต่วันนี้เรามาชวนเขาคุยอีกครั้งในฐานะ ‘แคนดิเดตนายกฯ’ จากพรรคไทยสร้างไทย ว่าด้วยมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องให้ความสำคัญทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ความเป็นอยู่ของผู้คน และการจัดการนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยการขับเคลื่อนเหล่านี้ต้องอาศัยกลไกที่จริงจัง ใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา รวมถึงสร้างความตระหนักให้ผู้คนเข้าใจถึงปัญหาได้มากกว่านี้

การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรเริ่มจากตรงไหน?

เมื่อพูดถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นหรือปัญหาต่าง ๆ หากไม่มีคนให้ข้อมูลหรือชี้ให้เห็น ผู้คนก็อาจจะไม่ตระหนักถึง เช่น เรื่องของมลภาวะ คนที่จะสามารถไปประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นรู้ได้ มีงบประมาณในการใช้ต่าง ๆ เนี่ยเป็นภาครัฐ เพราะฉะนั้น ถ้าภาครัฐมีความจริงจังในการแก้ไข ผู้คนก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ที่สำคัญต้องใช้งบประมาณอย่างถูกต้องในการเข้าไปบริหารจัดการ

ตอนนี้เรามีกระทรวงที่ดูแลสิ่งแวดล้อมโดยตรงและมีงบประมาณสูงมาก ซึ่งแยกออกมาจากกระทรวงเกษตรเพราะต้องการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อแยกออกมาแล้ว ภารกิจที่ทำนั้นกลับไม่ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวการทุจริตของผู้บริหารระดับสูงในกรมเหล่านี้เรื่องการรับสินบน ซึ่งอะไรก็ตามที่มีการจ่ายใต้โต๊ะแบบนี้แสดงว่ามันมีกระบวนการที่จะเข้าไปขัดขวางภารกิจหลักของหน่วย จึงต้องจ่ายใต้โต๊ะเพื่อปิดตาข้างหนึ่ง

อย่างในเรื่องพื้นที่ป่า พื้นที่สงวน พื้นที่อุทยานทางทะเลหรืออะไรต่าง ๆ ที่ควรจะอนุรักษ์ เขาก็อนุรักษ์ แต่อนุรักษ์ในลักษณะไหน? อนุรักษ์ในเชิงที่ว่าใครขึ้นเกาะเก็บเงิน รวมถึงใครที่จะมาสัมปทานบนเกาะอาจจะต้องไปจ่ายเงินใต้โต๊ะ แม้กระทั่งเรือที่จะไปจอด เขาก็ให้จอดเยอะไม่ได้เพราะจะก่อให้เกิดมลภาวะ แต่ปรากฏว่าเรือที่ไปจอดได้คือเรือที่ไปจ่ายเงินอีก ไปจนถึงเรื่องการจำกัดฤดูกาลท่องเที่ยว หากเปิด 12 เดือนแล้วธรรมชาติอ่อนแอก็ควรจะลดลงไหม เช่น เปิด 8 เดือน 4 เดือนก็ว่าไป

เรื่องของการจัดการขยะล่ะ?

เรื่องของการจัดการขยะก็จำเป็นต้องใส่ไปในหลักสูตรของโรงเรียน ถ้าเราปลูกจิตสำนึกของผู้คนตั้งแต่เด็ก เด็กกลับบ้านไปเขาก็จะไปบอกผู้ปกครองต่อ อย่างลูกผมนั้น รับถุงพลาสติกเยอะ ๆ ก็ไม่ได้ ไม่แยกขยะก็ไม่ได้ เพราะโรงเรียนเขาสอนมา แต่ผมคิดว่ามันมีไม่ถึง 1% ของโรงเรียนในไทยที่จะโฟกัสเรื่องนี้ ดังนั้น ในหลักสูตรเราต้องบรรจุเข้าไปในหลักสูตร

อย่างที่เราได้เห็นแล้วว่าทุกวันนี้ ถ้าเราไม่แยกขยะ ขยะทั้งหมดก็จะถูกส่งไปกำจัดที่เดียว ทั้งที่ขยะส่วนหนึ่งสามารถทำเงินได้ เอาไปทำปุ๋ยได้ เมื่อขยะปนกันไปหมดก็ต้องเผาทิ้งหมด ก่อให้เกิดมลภาวะสูงและต้นทุนในการเผาก็จะเพิ่มขึ้น ต้องไปลงทุนสร้างโรงเผาอีก

และสิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือ ประเทศไทยเป็นพื้นที่ทิ้งขยะโลก เพราะประเทศที่แยกขยะได้ดีก็มีพลาสติกตกเกรดจากการแยกขยะเยอะ ซึ่งพอมีเยอะเกินความจำเป็นเขาก็ส่งมาเมืองไทย เมื่อก่อนมีการห้ามนำเข้าแต่เดี๋ยวนี้มีบริษัทนำเข้าเยอะมากและราคาถูก ถูกขนาดที่ว่าคนที่ปั่นสามล้อไปรับซื้อขวดรับซื้อพลาสติกจะหมดจากบ้านเมืองเราไปแล้วเพราะว่าเขาไม่คุ้มค่า เนื่องจากว่าบริษัทที่ผลิตพลาสติก เขาก็รับซื้อขยะพลาสติกอัดแท่งจากต่างประเทศมาใช้ เพราะต้นทุนถูกกว่าให้คนไปเก็บขยะกลับมารีไซเคิล ทำให้การรับซื้อแทบไม่มีหรือราคาถูกมาก ๆ ขยะในประเทศไทยก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเพราะไม่ได้มีใครเก็บไปรีไซเคิล

ภาพจาก FB: น.ต.ศิธา ทิวารี – Sita Divari

ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้?

ผมให้ความสำคัญกับปัญหาด้านมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ทางพรรคมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งและเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในทุกส่วน เพราะสิ่งแวดล้อมคือสภาพทั่วไปที่เราดำรงชีวิตอยู่ ตั้งแต่การสูดอากาศที่มีมลพิษ บริโภคอาหารที่มีสารเคมีก่อมะเร็ง หรือสิ่งที่จะทำให้ร่างกายเรามีปัญหาในอนาคต เจ็บป่วยต้องไปรักษาพยาบาล มันมีผลทั้งสิ้น 

เรื่องของ PM2.5 ทางพรรคเรามองว่าต้องเป็นวาระแห่งชาติเพราะเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก และก่อนหน้านี้มีการเพิกเฉยมาเป็นเวลานาน ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูแล เพราะการที่คนส่วนใหญ่มาอยู่รวมกัน แน่นอนว่าแต่ละคนก็ทำอะไรที่ตนเองสบาย ไม่ได้คิดถึงผลกระทบกับคนจำนวนมากในระยะยาว เพราะฉะนั้นภาครัฐจำเป็นที่จะต้องออกกฎเกณฑ์ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย 

อย่างทางภาคเหนือมีความรุนแรงมาก มีตัวชี้วัดที่เห็นได้ว่า คนที่อยู่ในภาคเหนือนั้นมีโอกาสเป็นโรคทางปอด เป็นถุงลม หรือแม้กระทั่งมะเร็งปอดสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ นี่จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล อย่างพฤติกรรมที่ทำให้เกิดภาวะ PM2.5 มันเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเผาไหม้ อันเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดสำหรับภาคเหนือ ซึ่งการเผาไหม้ในประเทศมีสัดส่วนประมาณไม่ถึง 40% แต่มาจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 60% โดยตัวเลขพบว่าเป็นเรื่องภาคเกษตรที่จงใจที่เผาและเป็นบริษัทใหญ่ของไทยที่ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเกินกว่าครึ่งหนึ่ง นี่ก็จะเป็นอีกส่วนที่เราต้องเข้าไปดูแลแก้ไข

จงให้คะแนนการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ เมื่อเทียบกับระดับโลก? (5 คะแนน)

ให้อยู่ที่ 1.9 จาก 5 คะแนน 

อ้างอิงจากเมื่อปี 2022 มหาวิทยาลัย Yale มีการประเมินผลงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหมด 180 ประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 108 ได้ทั้งหมด 38/100 คะแนน ถ้าลองคิดเป็นสัดส่วนคร่าว ๆ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.9/5 คะแนน คือไม่ถึง 2 คะแนน เป็นเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานและสมควรที่จะต้องแก้ไข 

แล้วอีกเกือบ 3 คะแนน เราจะพัฒนาอย่างไรได้บ้าง?

เราต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา และต้องการผู้มีวิสัยทัศน์จริง ๆ คำว่าสิ่งแวดล้อมมันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่แวดล้อมตัวเรา เพราะฉะนั้นถ้าเราไปโฟกัสแต่ละจุด เราก็จะทำให้เราไปเพิกเฉยในบางเรื่องที่มันอาจสอดคล้องกัน 

อย่างลูกผมเวลาอธิบาย เขาก็บอกว่าแค่เราทิ้งถุงพลาสติกลงในแม่น้ำลำคลอง มันก็จะมีผลต่อเนื่องมหาศาล คือคุณครูที่โรงเรียนเขาสอนเลยว่า พอไหลลงทะเลแล้วไปก่อให้เกิดอะไร เช่น อาจมีสัตว์ที่คิดว่าเป็นแมงกะพรุน พอมันไปกินถุงพลาสติกแล้วมันก็ตาย พอตายแล้วก็ทำให้ปริมาณแพลงก์ตอนเกิดเยอะขึ้น พอเยอะขึ้นก็ทำให้เกิดผลเสียไปจนกระทั่งไปถึงภาวะโลกร้อนได้ คือมันเกี่ยวพันเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นผมมองว่าเราต้องแก้ไขในทุกเรื่องไปพร้อม ๆ กัน

อย่างเรื่องผืนป่า อีกนัยยะหนึ่งคือส่งผลต่อฝนที่ไม่ตรงตามฤดูกาล ภาคเกษตรเสียหายเพราะน้ำไม่เพียงพอ บางทีตกหนักแค่บางแห่งก็ทำให้ดินถล่ม บวกกับการทำไร่เลื่อนลอยก็จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ป่าไม้หายไป เราควรสร้างผืนป่าทดแทนคืนธรรมชาติ พราะตอนนี้ต้นไม้ถูกทำลายไปกว่า 66% จากเมื่อ 50 ที่แล้ว การสร้างพื้นที่ป่านั้น ไม่ว่าจะเป็นป่าเดิมหรือพื้นที่สีเขียวในเมืองใกล้ผู้คนก็ต้องสร้าง และควรตั้งเป้าเลยว่าจะชดเชยจาก 25% ของทั้งประเทศสู่  40% – 50% โดยอาจใช้การปลูกป่าก็ได้ ผมเชื่อว่าหากภาครัฐขอความร่วมมือจากเอกชนก็สามารถช่วยกันได้ เพราะเอกชนรายใหญ่ ๆ ใช้งบ CSR ปีนึงเป็นพัน ๆ ล้าน เราก็อาจให้เครดิตเขาหรือนำมาชดเชยเป็นอย่างอื่นก็ได้

เรื่องการจัดสรรพื้นที่ก็ต้องดูว่า พื้นที่ไหนใช้เพาะปลูก ตรงไหนชาวบ้านทำมาหากิน แล้วกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน แต่ทุกวันนี้แผนที่ของบ้านเรายังไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้วก็ใช้กันคนละฉบับหมด ทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันเต็มไปหมด

นโยบายสิ่งแวดล้อมแบบไทยสร้างไทย?

พรรคเรามีนโยบายผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาด และคืนพื้นที่ป่าให้กับประเทศไทยอย่างจริงจัง

เราเป็นพรรคที่ผลักดันพ.ร.บ.อากาศสะอาดเข้าสภา ตอนนี้กฎหมายพ.ร.บ.อากาศสะอาดของพรรคเข้าไปรออยู่ในสภาเรียบร้อยแล้วแต่มีการยุบสภาไป ซึ่งเมื่อมีสภาใหม่ เมื่อเรามี ส.ส. เข้าไปนั่งในสภาเนี่ยก็พร้อมที่จะหยิบขึ้นมาแล้วยื่นเรื่องต่อประทานสภาได้เลยเพื่อจะบรรจุในวาระแล้วก็ผลักดันให้เกิด ซึ่งผมเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองก็น่าที่จะสนับสนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด นี่ถือว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่จะต้องทำให้ได้  

นอกเหนือจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การประมง การจราจรที่ก่อให้เกิดมลภาวะ และการฟื้นฟูป่าไม้ที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องมีการชดเชยพื้นที่ป่า จัดสรรพื้นที่ทำกินใหม่ เช่น พื้นที่เกษตรกรรมอันไหนที่เป็นป่าเสื่อมโทรมก็กำหนดไว้ว่าต้องนำกลับมาทำให้สมบูรณ์ หรือพื้นที่ตรงไหนที่ใช้งานได้ก็จัดสรรให้เกษตรทำกินไป 

รวมถึงปัญหาภาพใหญ่คือ การปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นมากในโลก อย่างเรื่องของคาร์บอนเครดิต ท้ายที่สุดแล้วการค้าขายระหว่างประเทศในอนาคตจะต้องมีเรื่องคาร์บอนเครดิตขึ้นมาเกี่ยวข้องแน่นอน โดยภาพรวมทั้งโลกได้มีการคุยกันแล้ว และในการประชุมของสหประชาชาติก็มีการหยิบยกเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราก็ต้องติดตามข่าวว่าในอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น หากแต่ละประเทศไม่ร่วมมือกันในการที่จะลดประมาณคาร์บอนที่ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเข้ามาให้ความสำคัญเช่นกัน

ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต?

ในอนาคต ประเด็นการก่อมลภาวะจากภาคเอกชนนั้นต้องมีมาตรการที่เข้าไปกำกับดูแลเอกชนรายใหญ่ที่สร้างมลภาวะหรือก่อให้เกิดคาร์บอนอย่างจริงจัง เช่น หลายอย่างในปัจจุบันไม่ได้มีการเก็บเงินในอัตราเดียวกับประชาชน อย่างค่าธรรมเนียมเก็บขยะ แต่ละบ้านก็โดนเก็บในอัตราอาจจะ 80-100 บาทแล้วแต่ แต่ว่าพอเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่ปล่อยขยะมากกว่าบ้านเรือนเป็นพัน ๆ เท่า แต่เขาจ่ายมากกว่าเราแค่ไม่กี่บาท ทำให้รัฐจะต้องเสียเงินสนับสนุนมากขึ้น 

เรื่องเหล่านี้ถ้าเราทำได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการที่ปล่อยน้ำเสีย ปล่อยควัน อะไรต่าง ๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็จะมีการกำกับที่ดี พื้นที่ก่อสร้างที่จะสร้างมลภาวะต่าง ๆ ก็จะเข้าไปควบคุมได้    

ต้องอาศัยการลดมลภาวะจากทุกภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรม การเดินทาง และอื่น ๆ  รวมถึงประชาชนเองต้องไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ลดพฤติกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไปจนถึงความร่วมมือในการปลูกต้นไม้ให้เพียงพอที่จะสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนทั่วไปได้

ส่วนในระยะยาวนั้น ทุกคนต้องช่วยกันและปลูกจิตสำนึกของคนตั้งแต่ในวัยเรียนจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นเจ้าของกิจการ เป็นเจ้าของธุรกิจ ผมเชื่อว่าเราก็จะสามารถทำให้สำเร็จได้ ในหลาย ๆ ประเทศก็สามารถทำได้สำเร็จ ทั้งญี่ปุ่นหรือเกือบทุกประเทศในยุโรปก็ทำได้ดี

สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่  https://youtu.be/WitK4LQB-Uo

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

เหนื่อยนัก ให้ธรรมชาติฮีลใจ

ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว

เมืองดัตช์ จากเมืองที่จักรยานเป็นภัยคุกคามสู่เมืองปั่นดีระดับโลก

เพราะประเทศแห่งการปั่น ไม่ได้สร้างในวันเดียว!

Hug Organic ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของคนไทยที่ดีต่อกาย ดีต่อใจ ใช่ต่อโลก

“เราอยากเป็นสื่อกลางของความรักที่ทุกคนมอบให้กันผ่านผลิตภัณฑ์ฮัก ออร์แกนิก”

สิ่งแวดล้อม กับ Slow Fashion แค่ยืดอายุผ้า ก็ยืดเวลาโลก

เมื่อการซื้อเร็วตามเทรนด์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การซื้อช้า ใช้ซ้ำ ควรเป็นทางออกใหม่