คุยกับ “เต้-วิกรม เตชะธีราวัฒน์” ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ค่าฝุ่นเชียงรายวิกฤต เราต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่ผลักไสหรือโทษประชาชน

ว่าด้วยปัญหาฝุ่นหน้าบ้านสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมไทยเมื่อเทียบกับระดับโลก ปัญหาฝุ่นเชียงรายรุนแรงแค่ไหน? ชาวบ้านในพื้นที่หันไปพึ่งใครได้บ้าง?

#GREENCHECK: คุยกับ “เต้-วิกรม เตชะธีราวัฒน์” ผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ค่าฝุ่นเชียงรายวิกฤต เราต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่ผลักไสหรือโทษประชาชน

“นี่ (การจัดการฝุ่น) คือการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวของภาครัฐ ทั้งการให้ความรู้ การจัดการ และการใช้งบประมาณ หลายครั้งรัฐทำตัวเป็นผู้ปกครองมาสั่ง มาตำหนิคนที่อยู่ใต้ปกครองเพียงอย่างเดียว”

“ความไม่จริงจังของภาครัฐก็ส่งผลไปสู่การลงมือทำของภาคประชาชน เมื่อรัฐไม่ได้สนับสนุนหรือผลักดันอย่างจริงจัง ประชาชนก็อาจจะละเลยได้ เพราะมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นหรือเร่งด่วนอะไร” 

ชวน ‘เต้-วิกรม’ พรรคเพื่อไทยคุยว่าด้วยปัญหาฝุ่นหน้าบ้านสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมไทยเมื่อเทียบกับระดับโลก ปัญหาฝุ่นเชียงรายรุนแรงแค่ไหน? ชาวบ้านในพื้นที่หันไปพึ่งใครได้บ้าง? และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแบบเพื่อไทยที่ต้องไปพร้อมกับด้านเศรษฐกิจ (อ่านต่อใต้แคปชันภาพถัดไป)

โค้งสุดท้ายก่อน #เลือกตั้ง66 ชวนมาเช็คความกรีนของแต่ละพรรคกันแบบรัว ๆ ไปกับ ‘GREENCHECK’ บทสัมภาษณ์ตัวแทนพรรคการเมืองในประเด็นสิ่งแวดล้อม มาดูกันว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ตรงไหนในนโยบายแต่ละพรรคกันบ้าง ติดตามกันได้หลังจากนี้ที่เพจ Environman เท่านั้น 

มองยังไงกับการจัดการปัญหาฝุ่นในตอนนี้?

“นี่ (การจัดการฝุ่น) คือการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวของภาครัฐ ทั้งการให้ความรู้ การจัดการ และการใช้งบประมาณ หลายครั้งรัฐทำตัวเป็นผู้ปกครองมาสั่ง มาตำหนิคนที่อยู่ใต้ปกครองเพียงอย่างเดียว” 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เชียงรายเป็นสิ่งที่หนักหน่วงในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่เข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง บางมาตรการก็ไม่ได้ช่วยลดปัญหาได้จริง เช่น การกำหนดฤดูกาลเผา กลับกลายเป็นว่าผู้คนก็มาเร่งเผากันก่อน-หลังช่วงที่กำหนดทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงไปอีก 

หรืออย่างในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อย่างที่เราเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ออกมาฉีดน้ำดับฝุ่นเพราะเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้นั้นก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้รับการสื่อสารและแนะนำอย่างถูกต้อง ภาครัฐปล่อยให้ประชาชนอยู่แบบเลยตามเลย ไม่มีแอพฯ​ คอยแจ้งเตือนภัยค่าฝุ่น รวมถึงเครื่องฟอกอากาศ หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่ประชาชนต้องหาซื้อด้วยตัวเอง

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน?

“สิ่งนี้ไม่ว่าจะรวยดีมีจนแค่ไหน ชอบพรรคการเมืองไหน แต่ทุกคนต้องเจอภัยเหมือนกัน อย่างเรื่องของมลพิษทางอากาศควรถูกประกาศเป็นวาระแห่งชาติ นี่เป็นภัยที่ทำร้ายเราได้ 24 ชั่วโมง ยิ่งกว่าภัยโควิด-19 ที่ผ่านมา เพราะคนเราจะไม่สูดอากาศหายใจก็ไม่ได้ ในมุมมองของพรรคเพื่อไทยเองมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องพื้นฐานของทุกคน อย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่เอง เรื่องอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราต้องมี แต่ตอนนี้หลายคนไม่สามารถออกไปไหนได้ เพราะออกไปก็เป็นภัยอันตรายต่อชีวิต แพ้จนเลือดกำเดาไหล ภูมิแพ้กำเริบ หรือยิ่งกว่านั้น”  

อย่างนี้แล้วชาวบ้านหันหน้าไปพึ่งใครได้บ้าง

“ในความเป็นจริงนั้น ผู้คนส่วนมากมักหันไปร้องเรียนกับผู้แทนหรือผู้มีอำนาจที่อยู่ใกล้พวกเขามากที่สุดก็คือส.ส.ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นนี่แหละ เพราะพวกเขาเจอตัวได้มากที่สุด อย่างที่หลายคนชอบแซวว่ามักจะหาตัวส.ส. หรือผู้แทนได้แค่ตามงานบวช งานแต่ง หรือวาระต่าง ๆ ของคนในพื้นที่ นั่นก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่อยากสะท้อนอีกมุมมองหนึ่งคือ การไปงานเหล่านี้เป็นโอกาสที่ได้เจอผู้คน เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มาพูดคุย เสนอแนะ/ร้องเรียนปัญหาที่พบเจอให้เราฟัง และหลาย ๆ ครั้งเองพรรคเพื่อไทยก็ได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อนำไปปรับปรุงที่ต่อยอดนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเช่นกัน”

จงให้คะแนนการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ เมื่อเทียบกับระดับโลก? (5 คะแนน)

ผมมองว่าให้อยู่ที่  2/5 คะแนน

เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมของไทยเมื่อเทียบกับมาตรฐานระดับโลกแล้ว ขอให้เพียง 2 คะแนน สาเหตุที่ให้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งเพราะมองว่าภาครัฐยังไม่ได้มีการลงมืออย่างจริงจังกับเรื่องนี้ ยังไม่มีการตั้งกระทรวงที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและรัฐบาลก็ไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและชัดเจน แม้แต่ พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนก่อนหน้านี้ก็ยังค้างอยู่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในสภา เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้เซ็นอนุมัติโดยอ้างว่าติดค้างในเรื่องของพ.ร.บ.การเงิน

ความไม่จริงจังของภาครัฐก็ส่งผลไปสู่การลงมือทำของภาคประชาชน เมื่อรัฐไม่ได้สนับสนุนหรือผลักดันอย่างจริงจัง ประชาชนก็อาจจะละเลยได้ เพราะมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็นหรือเร่งด่วนอะไร เรื่องเหล่านี้จึงต้องเริ่มทั้งหน่วยงานรัฐและประชาชน ถ้ารัฐให้ความสำคัญ ประชาชนและองค์กรอื่น ๆ ก็จะขยับตาม ควรมีการลงมือทำอย่างจริงจังและให้ความรู้ประชาชนเพื่อปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน?

“แน่นอนว่าเป็นเรื่องมลพิษฝุ่นเพราะอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนต้องมี ในมุมของพรรคเพื่อไทยมองว่าเรื่อง #มลพิษฝุ่น ต้องมองที่ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่ผลักภาระหรือโทษประชาชนว่าไม่ช่วยกันหรือเป็นต้นเหตุเผาป่า โดยพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายแก้ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันดับต้น ๆ พร้อมกับด้านเศรษฐกิจ โดยมองเป็นระยะสั้น-กลาง-ยาว คือ 

  • ระยะสั้น: ต้องรับมือเบื้องต้น แจกหน้ากากอนามัย เคลื่อนย้ายผู้คนออกจากพื้นที่ พร้อม ๆ กับการแก้ที่ต้นตอของปัญหาว่าการเผาไหม้เกิดจากอะไร เช่น ไม่มีแหล่งทำลายและการแบกรับต้นทุนที่สูง 
  •  ระยะกลาง: บังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสากรรมอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อควบคุมโรงงานที่สร้างมลพิษ 
  • ระยะยาว: เจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากฝุ่นภาคเหนือกว่าเกือบ 1 ใน 3 มาจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงในภาคคมนาคมต้องสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นได้จริงทั้งระบบ ไม่ใช่การขายผ้าเอาหน้ารอดที่ไม่มีการส่งเสริมระบบที่เพียงพอ

รวมถึงเรื่องของพ.ร.บ.อากาศสะอาดที่จะต้องผลักดันให้ถูกบังคับใช้ได้จริง ต้องมีการตั้งกระทรวงดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งในปัจจุบันปัญหาฝุ่นก็ยังไม่มีหน่วยงาน ไม่มีงบประมาณ หรือบุคลากรที่มาดูแลโดยตรง เป็นเพียงการรับมือตามฤดูกาล ให้ปกครองส่วนท้องถิ่นไปดูแล แต่คำถามคือพวกเขาจะเอางบประมาณจากไหน? ค่าออกเวร ค่าแรง ค่าน้ำ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ นี่คือสิ่งที่รัฐต้องรับผิดชอบแต่ไม่กลับช่วยเหลือใด ๆ เลย ”

นโยบายสิ่งแวดล้อมแบบเพื่อไทย?

“พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน การบริหารจัดการน้ำ และการแก้ปัญหาสิทธิทำกินของพี่น้องที่อาศัยในพื้นที่ป่า เราต้องให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ ไม่ใช่ว่าป่าต้องไปก่อนคนหรือคนไปก่อนป่า สิ่งเหล่านี้ต้องพิสูจน์อย่างเป็นธรรมได้ด้วยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ 

อีกทั้งเรื่องการนำพื้นที่รกร้างมาจัดสรรให้ผู้คนได้ใช้ทำกิน โดยอาจมีการทำสัญญาร่วมกันว่าพวกเขาจะต้องปลูกไม้ ดูแลผืนป่าเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศในพื้นที่ การทำแบบนี้ก็จะช่วยลดอัตราการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่ารกร้างที่ไม่มีคนดูแลไปในตัวด้วย

รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมรับมือกับภัยแล้งและภัยน้ำท่วมที่เคยเกิดในยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนถูกรัฐประหารในปี 2557 จนทำให้นโยบายขาดความต่อเนื่อง แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ให้ความสำคัญในการดึงโครงการเหล่านี้กลับมา ตั้งกระทรวงจัดการน้ำโดยตรง และให้ความสำคัญเรื่องการผันน้ำจากชลประทานไปสู่พื้นที่ของเกษตรกรให้ใช้ได้อย่างเพียงพอ

ในแง่การทำงาน พรรคเพื่อไทยก็มีการตั้งทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นดร.ปลอดประสพ สุรัสวดีประธานคณะกรรมการนโยบาย PM 2.5 รวมถึงนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ ก็มารวมตัวกันเพื่อดำเนินนโยบายรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างเร่งด่วน”

ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต?

“ผมมองว่าในปัจจุบันเรื่องสิ่งแวดล้อมในไทยยังขาดการส่งเสริมความเข้าใจอยู่มาก ด้วยความที่ประเทศไทยเราอาจให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ มากกว่า ทำให้สิ่งแวดล้อมถูกมองเป็นประเด็นรอง หากไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็อาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญมากนัก

อย่างกรณี #มลพิษฝุ่น ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ คนก็เข้าใจและรับรู้มากขึ้นเพราะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสุขภาพ ท้ายที่สุดแล้ว ผมมองว่า ถ้าประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นก็จะเกิดความเข้าใจ ตระหนัก และหันมาลงมือทำมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องลงมือทำเลยเพราะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาไม่สามารถแก้ไขได้ในเดือนสองเดือนหรือวันสองวัน และที่สำคัญนั้นต้องเริ่มไปพร้อมกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อให้เกิดการลงมือทำอย่างจริงจัง”

สามารถไปปติดตามสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่  https://youtu.be/Xzkem1r0ySA

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

คุยกับช้างน้อย-กุญชร The Cloud กับฝันที่อยากให้เที่ยวไทยไประดับโลก

ครั้งแรกของ Amazing Green Fest ว่าด้วยเที่ยวยั่งยืนหลายเชด

สารคดี ‘Lost in Mekong’ กับจิตวิญญาณแห่งแม่โขงที่กำลังจางหาย 

การเข้ามาของเขื่อนไฟฟ้าที่กระทบทุกสรรพสิ่ง

สิ่งแวดล้อมกับ “ราคาอาหารที่สูงจนอาจเอื้อมไม่ถึง” บทลงโทษจากภาวะโลกรวนที่แฝงอยู่ในทุกวัน

โลกไม่ได้เดือดแค่ที่ขั้วโลก แค่ราคาอาหารหน้าบ้านก็พุ่งขึ้นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปแล้ว

‘Local Alike’ ธุรกิจท่องเที่ยวที่หยิบวิถีชุมชนมาให้คนไปเรียนรู้มากกว่าเสพย์ความสวยงามให้ตื่นตาตื่นใจ

โจทย์คือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้าใจวิถีชุมชน มากกว่าเป็นความตื่นตาตื่นใจแล้วจบ