จิบกาแฟคุยกับคนญี่ปุ่น ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนต่างชาติคิดไม่ถึง

นานาเรื่องคนกับสิ่งแวดล้อม ในมุมคนญี่ปุ่นในไทยกับ ‘Takahiko Honda’ ผู้ก่อตั้ง Econok

“We have to do what we can do today”

Takahiko Honda

เราได้มีโอกาสชวนผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Econok คุณ Takahiko Honda คนญี่ปุ่นที่มาใช้ชีวิตในประเทศไทยกว่า 5 ปี มาพูดคุยด้วยกันตัวเป็น ๆ ที่ร้านกาแฟ Mana Chujai สถานที่นัดพบประจำของ Environman เรามาถึงร้านก่อนเวลานัดพบประมาณ 10 กว่านาที แต่พอมาถึงก็บังเอิญที่คุณ Takahiko ลงจากรถมาพร้อมกับคุณผู้ช่วยพอดี โมเมนต์นั้น ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยเห็นหน้าคุณ Takahiko มาก่อนด้วยซ้ำ พอเห็นเขามองมาพร้อมกับส่งยิ้มอ่อน ๆ แบบสำรวมก่อนเปิดประตูเข้าร้าน เรากลับรู้โดยสัญชาตญาณได้เลยทันทีว่า ‘นี่ต้องเป็นแขกของเราวันนี้แน่ ๆ’ และจากรอยยิ้ม เราก็คิดว่าคุณ Takahiko ก็คงอาจคิดเหมือนกัน

‘เรียกผมว่าทากะก็ได้ครับ’

คุณทากะหลังจากวางกระเป๋าและทักทายทางเราเสร็จแล้วก็ขอตัวไปสั่งกาแฟร้อน ระหว่างรอเครื่องดื่มมาเสิร์ฟ ทางเราก็ได้พูดคุยแนะนำตัวกันพอหอมปากหอมคอ ท่าทางถ่อมตัวและน้ำเสียงสบาย ๆ เป็นกันเองทำให้เราคลายความประหม่าไปได้บ้าง เหนือสิ่งอื่นใด เรามีคำถามอยากรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นหลายอย่างเลย แต่ไม่ใช่แค่เรื่องนานาสาระทั่วไปในญี่ปุ่น…

แต่คือเรื่องสิ่งแวดล้อม

เวลาพูดถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม ถ้าถามว่าญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องอะไรที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น การแยกขยะ 

แน่นอนว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบเรื่องกฎระเบียบและความมีวินัยในการแยกขยะ ไม่ว่าเด็ก คนสูงวัย หรือหนุ่มสาวออฟฟิศ ทุกคนล้วนแยกขยะอย่างถูกต้องและเคร่งครัด เราก็เลยสงสัยส่วนตัวว่านอกเหนือจากเรื่องขยะแล้ว ญี่ปุ่นทำอะไรอีกบ้าง เผื่ออยากลองเทียบ ๆ กับไทยดูว่ามันเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้าง แต่คุณทากะกลับบอกว่า

“การมาเปรียบเทียบว่าประเทศไหนตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมากหรือน้อยกว่ากันเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์และไม่แฟร์เท่าไหร่ เพราะปัญหาพวกนี้ล้วนซับซ้อนและประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างในแบบของตัวเอง”

ซึ่งพอฟังอย่างนั้น ก็เห็นด้วยกับคุณทากะ ด้วยเหตุนี้ เราเลยตั้งใจถามคำถามที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นผ่านมุมมองของคนที่เกิดและโตที่นั่นแทนว่า แล้วจริง ๆ แล้ว คนญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไร

คุณทากะยกกาแฟขึ้นจิบพร้อมกับรอฟังคำถามแรก…

การบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมด้านไหนที่คุณทากะคิดว่าญี่ปุ่นทำได้มีประสิทธิภาพที่สุด

“ถ้าได้ยินคำถามนี้ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็คงตอบว่าระบบการแยกขยะ แต่ผมขอตอบในแบบที่ต่างออกไปครับ

การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนพูดง่ายแต่ทำยากมากครับ อ้างอิงจากดัชนีชี้วัดพลังงานของ World Energy Trilemma ที่ครอบคลุมทั้งความมั่นคงทางพลังงาน ความเป็นธรรมทางพลังงาน และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เป็นอะไรที่ท้าทายมากสำหรับหลาย ๆ ประเทศในการสร้างสมดุลทั้งสามด้านนี้ไปพร้อม ๆ กัน ญี่ปุ่นที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติน้อยเคยพึ่งพาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโรงงานนิวเคลียร์มาโดยตลอดจนกระทั่งเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และสึนามิถล่มเมื่อปี 2011 ทำให้โรงงานนิวเคลียร์ต้องปิดตัวไป ตั้งแต่นั้นเราก็ไม่มีทางเลือกอื่นมากนักและต้องหันมาพึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแทน ถึงแม้ว่าผมจะไม่สนับสนุนให้คนใช้พลังงานถ่านหิน แต่ต้องขอพูดนิดนึงว่าเทคโนโลยีถ่านหินสมัยนี้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเมื่อก่อนแล้ว ซึ่งก็เป็นการพัฒนาที่มีประโยชน์มาก ๆ ถ้าเทียบกับเงื่อนไขที่เรามี แต่อย่างไรแล้ว ผมก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปล่อย CO2 มากเป็นอันดับ 5 ของโลกเมื่อปี 2021 และผมก็ยังยืนยันว่าต้องมีการหยุดใช้พลังงานถ่านหินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ดัชนีชี้วัดพลังงานของ World Energy Trilemma
ที่มา World Energy Council

คนญี่ปุ่นจริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน มี Eco-anxiety ในหมู่คนญี่ปุ่นบ้างหรือเปล่าคะ

“ผมคิดว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนญี่ปุ่นไม่ได้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่ แม้ช่วงหน้าร้อนในญี่ปุ่นจะร้อนสุด ๆ ฝนก็ตกหนักมาก ๆ และยังมีหิมะตกหนักในบางพื้นที่ แต่ก็มีคนญี่ปุ่นแค่ส่วนน้อยที่กังวลเกี่ยวกับปัญหา Climate Change ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากการที่คนไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนญี่ปุ่นจะไม่แคร์เลยนะครับ 

ผมต้องขออธิบายนิดนึงว่า ตอนที่เรายังเด็ก พวกเราจะถูกสอนอยู่เสมอว่าต้องกินข้าวให้หมดจาน เพราะการกินอาหารเหลือถูกมองว่าไม่มีมารยาท และไม่ให้ความเคารพต่อชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน นอกจากนั้น  เรายังถูกสอนให้ปิดไฟทุกครั้งเมื่อไม่ใช้เพื่อประหยัดพลังงาน และยังมีคำสอนอีกหลายอย่างที่ฝังอยู่ในตัวเราทุกคนจากวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเรามาตั้งแต่ยังเด็ก แม้จะไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรกก็ตามทีครับ”

แปลว่าวัฒนธรรมความเชื่อที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนี่ช่วยได้มากเลยในเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมใช่ไหมคะ?

“ผมเชื่ออย่างนั้นครับ แต่ว่า ก็อย่างที่ผมได้พูดไปก่อนหน้าว่ามันเป็นเรื่องที่คนเขาก็ไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรก และคนจำนวนมากก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่พวกเขาทำกันมามันดีต่อสิ่งแวดล้อมยังไง”

ตัวอย่างแนวทางการแยกขยะในเมืองมินะโตะ จังหวัดโตเกียว

แล้วพอจะมีวัฒนธรรมหรือค่านิยมอื่น ๆ ที่ช่วยโลกได้อีกไหมคะ

“คนญี่ปุ่นมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ เวลามีประเด็นหรือกฎระเบียบที่สังคมเห็นพ้องต้องกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเมื่อไหร่ ทุกคนจะปฏิบัติตามแนวทางใหม่อย่างเคร่งครัดเลยล่ะครับ เอาแคมเปญ ‘Cool-Biz’ ที่ออกโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมช่วงกลางปี 2005  เพื่อลดการใช้พลังงานจากการใช้แอร์ให้น้อยลงเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ โดยช่วงแรก ๆ ก็ดำเนินการภายในออฟฟิศกระทรวงกันก่อน โดยให้ปรับอุณหภูมิห้องให้อยู่ที่ 28 องศา รวมถึงให้พนักงานสวมใส่เสื้อผ้าที่บางลงในช่วงหน้าร้อน เพื่อให้ทุกคนทำงานในช่วงที่อากาศอบอ้าวได้สบายขึ้น ภายหลังก็ได้มีการขยายไปยังภาคเอกชนด้วย ผลลัพธ์ก็คือ ในช่วงฤดูร้อน เราก็เลยแทบจะไม่เห็นพนักงานออฟฟิศในญี่ปุ่นใส่ชุดสูท ผูกเนคไทเลยครับ”

ตัวอย่างการรณรงค์แคมเปญ Cool Biz ในญี่ปุ่น (Photo: flickr) ป้ายระบุว่า “สวัสดีทุกคน เก็บเนคไทของพวกคุณไว้ แล้วผู้หญิงในออฟฟิศจะได้ไม่ต้องพึ่งผ้าห่ม” สื่อได้ว่า การแต่งตัวที่สบายมากขึ้นจะช่วยให้ไม่ต้องเปิดอุณหภูมิแอร์ในออฟฟิศที่ฉ่ำ ๆ 

พูดถึงวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นแล้ว อยากรู้ว่าตั้งแต่อยู่ไทยมา มีพฤติกรรมหรือนิสัยอะไรที่ทำให้คุณทากะรู้สึกเซอร์ไพรส์บ้างรึเปล่าคะ 

“คนไทยทำผมรู้สึกเซอร์ไพรส์หลาย ๆ เรื่องเลยล่ะครับ (หัวเราะ) ถ้าให้ผมเลือกแค่หนึ่งอย่างคงเป็น นิสัยชอบถ่ายรูป ล่ะมั้งครับ คนไทยชอบเก็บบันทึกทุกโมเมนต์ในชีวิตแล้วก็แชร์ลงโซเชียลมีเดีย แต่พฤติกรรมแบบนี้สิ้นเปลืองไฟฟ้ามาก เพราะทั้งการถ่ายรูป การส่งข้อความ การโพสต์ และการจัดเก็บไฟล์เหล่านี้ล้วนต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้วพวกรูปภาพและวิดีโอก็ยิ่งเร่งให้แบตเสื่อม เพราะยิ่งถ่ายเยอะ ก็ต้องชาร์จแบตบ่อยขึ้น เรื่องที่ไม่น่าสบายใจเท่าไหร่สำหรับผมคือการที่รูปภาพที่ถูกถ่ายมาแล้วส่วนใหญ่คนก็ไม่หันกลับไปดูอีก แต่โทรศัพท์ก็ยังต้องใช้พลังงานในการจัดเก็บไฟล์พวกนี้ไว้อยู่ แม้การลงคอนเทนต์จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่มูลนิธิ Econok ของเราก็จะพยายามไม่ลงเนื้อหาที่เป็นภาพเคลื่อนไหวเพื่อลดการใช้พลังงานครับ

“สำหรับผมแล้ว พฤติกรรมเช่นนี้เป็นมากกว่าแค่ปัญหาความไม่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม แต่มันยังดึงความสนใจของเราออกมาจากสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ในชีวิตด้วย”

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราชมภาพที่ตราตรึงใจอย่างพระอาทิตย์ตกดิน หรือตอนพลุกระจายอย่างสวยงามบนท้องฟ้า คนส่วนใหญ่มองภาพเหล่านี้ผ่านกล้องโทรศัพท์แทนที่จะมองจากตาจริง ๆ เพราะอยากจะบันทึกโมเมนต์เหล่านี้ไว้เพื่อดูทีหลัง ไม่ก็เพื่อจะเอาไปโพสต์ลงโซเชียล หรืออย่างเวลาพวกเขาไปกินข้าวตามร้านอาหารหรือคาเฟ่ ก็จะต้องถ่ายรูปเก็บเอาไว้เสมอ บางคนยิ่งหนัก กินอาหารไม่หมดอีก เพราะตั้งใจมาเพื่อถ่ายรูป ไม่ได้มาเพื่อกิน ถือว่าได้รูปก็พอใจละ นอกจากนั้นแล้ว พ่อแม่บางคนยังบังคับให้ลูกโพสต์ท่าต่าง ๆ เพื่อตัวเองจะได้ถ่ายรูปไปลงโซเชียล แล้วพอถ่ายเสร็จ พ่อแม่พวกนี้ก็หันไปสนใจโทรศัพท์แทนจนลืมลูก ระหว่างที่ผู้ใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ ก็ปล่อยให้เด็กเล่น Youtube หรือเล่นเกมรอ และก็ไม่ได้เป็นกับแค่เด็กเท่านั้น กับสัตว์เลี้ยงก็มีทำแบบนี้เหมือนกันครับ

ในยุคดิจิตอลแบบทุกวันนี้ คนแทบจะไม่ได้สัมผัสและรู้สึกกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายมากครับ ตอนที่ผมยังเด็ก ไม่มีเลยพวกสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และครอบครัวส่วนใหญ่รวมถึงครอบครัวผมก็ไม่มีแม้กระทั่งกล้องถ่ายรูป พอมองย้อนกลับไป ผมก็รู้สึกดีใจที่ตอนนั้นพ่อแม่ไม่ได้ซื้อมันมาถ่ายผมเต้นกับน้องหรือกับเพื่อนของผม ผมในตอนนี้คงไม่กล้าดูคลิปพวกนั้นแน่ ๆ  สำหรับผมแล้ว แค่รูปถ่ายไม่กี่รูปก็เพียงพอที่จะใช้หวนรำลึกถึงช่วงเวลาในอดีตแล้ว ความทรงจำดี ๆ ที่ผมจำได้ก็มีทั้งภาพตอนที่ผมเล่นบาสเกตบอลกับพ่อและน้องชายของผม ตอนที่ไปเที่ยวกับครอบครัว และเล่นสนุกไร้สาระกับเพื่อน ๆ ความทรงจำล้ำค่าเหล่านี้ถูกเก็บเอาไว้อย่างดีในสมองของผม ไม่ใช่ในสมาร์ทโฟน เราทุกคนต่างมีเลนส์กล้องที่ดีที่สุดกับตัวอยู่แล้ว: สองตาของเรา ดังนั้นแล้ว ผมอยากขอให้ทุกคนสนุกกับอาหารที่กินหรือวิวที่เห็นโดยไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟน ใช้เวลาเล่นและพูดคุยกับลูก ๆ ให้มากขึ้น เพราะโมเมนต์เหล่านี้จะกลายเป็นความทรงจำที่ล้ำค่าสำหรับพวกเขาในอนาคตมากกว่าภาพและวิดีโอในโทรศัพท์พวกนั้นครับ”

แล้วคนญี่ปุ่นไม่ค่อยถ่ายภาพลงโซเชียลแบบคนไทยหรอคะ

“คนญี่ปุ่นก็ถ่ายนะครับ แต่อาจไม่ได้ถี่เท่าคนไทย ฮ่าๆ”

แล้วพอจะมีพฤติกรรมไหนของคนญี่ปุ่นที่คล้าย ๆ กันไหมคะ ที่ดูจะไม่รักษ์โลกสักเท่าไหร่

เจอคำถามนี้ไป แขกของเราก็คิดหนัก และบอกว่าขอเวลาคิดสักพัก ให้เราคุยสัพเพเหระกับคุณผู้ช่วยของเขาไปก่อน โมเมนต์นี้ เราถึงกับรู้สึกผิดก็เลยขอโทษไป แต่คุณทากะก็ยืนยันว่าเป็นคำถามที่ดีและก็โอเคที่จะตอบแต่แค่ต้องการเวลาสักพักสำหรับไตร่ตรองก่อนจะพูดออกไปเพื่อให้มีความถูกต้องที่สุด จะเห็นว่าเขาใส่ใจกับทุกคำตอบจริง ๆ

“อืม ผมคิดว่าคงเป็นนิสัยรักความสะอาดเกินความจำเป็นละมั้งครับ ที่นู่นจะมีร้านขายยากับพวกสกินแคร์อย่าง Matsumoto Kiyoshi เยอะมาก คนญี่ปุ่นจะมีสกินแคร์หลายขั้นตอนมากครับ บางทีมันก็มากเกินไป ซึ่งของพวกนี้เป็นสารเคมีหมดเลย เวลาเราชำระล้างออกไป น้ำพวกนี้ก็ไหลไปหาสิ่งแวดล้อมข้างนอก ผมมองว่ามันสร้างมลพิษให้ธรรมชาติโดยไม่จำเป็นน่ะครับ ผมนี่สบู่ก้อนเดียวใช้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมก็รักความสะอาดนะ แต่ก็ไม่ได้หมกมุ่นเท่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ผมเลยมองว่าพฤติกรรมนี้มันดูไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่ครับ”

แล้วถ้าอยากจะใช้ชีวิตแบบรักษ์โลกที่ญี่ปุ่น มันยุ่งยากหรือต้องจ่ายแพงหรือเปล่า

“ผมไม่คิดว่าการใช้ชีวิตแบบรักษ์โลกในญี่ปุ่นจะยุ่งยากหรือแพงอะไรมากนะครับ แต่ถ้าคนขาดความรู้ความเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมหรือพลังงานมันทำงานยังไง มันก็เป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้ที่คนจะใช้ชีวิตแบบนั้นได้ครับ ดังนั้นผมเลยคิดว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่”

แล้วคิดว่าคนญี่ปุ่นควรมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมด้านไหนบ้างคะ

“ผมอยากให้พวกเขาขยายความรู้ความเข้าใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและใส่ใจกับสถานการณ์ของโลกมากกว่านี้ พอเป็นด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว คนญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับแค่การแยกขยะกับรีไซเคิล แม้การทำสิ่งเหล่านี้จะสำคัญเหมือนกัน แต่มันก็เป็นแค่การแก้ปัญหาเพียงแค่ด้านเดียว ยิ่งไปกว่านั้น คนจำนวนมากก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการรีไซเคิลทุกครั้งก็ใช่ว่าจะรักษ์โลก ถ้าไม่ได้ทำอย่างถูกวิธี ผมบอกกับเพื่อนผมอยู่เสมอว่าถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์และไม่ได้จำเป็นที่จะต้องศึกษาลงลึกในด้านพวกนี้ แต่การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องจะช่วยทำให้เราใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและรักษ์โลกได้”

คำถามสุดท้ายแล้ว อยากรู้ว่าสถาบันการศึกษากับครอบครัวในญี่ปุ่นผลักดันเรื่องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนคะ

พวกเราโควทคำพูดจาก Frederick Douglass นักพูดชาวอเมริกันชื่อดังเอาไว้บนหน้าเว็บไซต์ของพวกเรา Econok ไว้ว่า

“It is easier to build strong children than to repair broken men”

“เราเชื่อว่าสมัยนี้ “เด็กมีความสามารถในการโน้มน้าวพ่อแม่ของพวกเขาได้” ผู้ใหญ่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเพราะสมัยเมื่อก่อน ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ตอนนี้เด็กญี่ปุ่นเริ่มเรียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ตั้งแต่ระดับประถม ซึ่งเป็นก้าวที่ดีมากในการสร้างรากฐานความยั่งยืนในอนาคตครับ”

มองจากไกล ๆ ก็ยังเห็นถึงแพชชั่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ผู้ชายคนนี้อยากทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง ‘มูลนิธิอีโคนก’ ที่อยากผลักดันเรื่องการลดใช้พลังงานที่เน้นในองค์กร บริษัท และการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยโปรเจกต์สำคัญที่มูลนิธิเน้นคือ เรื่องการเปิดอุณหภูมิแอร์ที่เหมาะสม (Stay Cool Save Energy) รวมถึงเรื่องชุดเครื่องแบบพนักงาน (Dress Light Every Day)”  ซึ่งทาง Environman ก็มีโปรเจกต์ทำร่วมกับ Econok ในครั้งต่อ ๆ ไปในประเด็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะเป็นยังไง ต้องรอติดตาม

Photo: Econok

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จและแยกย้ายกันไป คุณทากะก็ส่งอีเมลน่ารัก ๆ มาหา Environman เพื่อขอบคุณสำหรับการนัดพบกันครั้งนี้พร้อมกับฝากทิ้งท้ายถึงโปรเจกต์เรื่องการอนุรักษ์พลังงานที่พวกเราตกลงทำร่วมกัน และยังบอกอีกว่าได้เขียนบล็อกคล้ายกับไดอารี่ที่บันทึกเรื่องราวที่พวกเราที่พวกเราได้มาพูดคุยกัน ทำให้เห็นว่าชายญี่ปุ่นคนนี้ไม่ได้แคร์แค่เรื่องพลังงาน แต่ยังใส่ใจคนอื่นจากใจจริง

ที่มารูปภาพ

https://www.worldenergy.org/transition-toolkit/world-energy-trilemma-framework

Credit

Natticha Intanan

Related posts

Yuru Camp อนิเมะที่ดูแล้วอยากเก็บกระเป๋าออกไปตั้งแคมป์

อนิเมะฮีลใจสายรักธรรมชาติ ที่ดูแล้วผ่อนคลายจนอยากเก็บกระเป๋าไปเข้าป่า

ฟางเส้นสุดท้ายก่อน 14 ตุลา: คดีลอบล่าสัตว์ป่าของอภิสิทธิ์ชนคนรวย

ซากกระทิง 16 สู่เสือดำ 61 สังคมไทยเรียนรู้อะไร?

เสียงคนเชียงรายเมื่อภัยธรรมชาติซัด เขื่อนซ้ำ ทิ้งไว้เพียงอนาคตที่ไม่แน่นอน

น้ำท่วมจากไปทิ้งไว้เพียงร่องรอยความเสียหายและอนาคตที่ไม่รู้ทิศทางให้คนในพื้นที่

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า