‘Wastegetable’ ฟาร์มผักบนดาดฟ้าที่หาที่ไปให้กับขยะเศษอาหารใน กทม

ข้างบนห้าง Center One มีฟาร์มผักเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนขยะเศษอาหาร 50-70 ตันต่อปีให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับผักออร์แกนิกสำหรับคนในเมือง

ท่ามกลางอากาศร้อนแผดผิวและเสียงจราจรที่ติดขัดเบื้องล่างรอบอนุสาวรีย์ ใครจะรู้บ้าง ว่าถ้าเงยหน้ามองขึ้นมาข้างบน บนดาดฟ้าห้าง Center One มีสวนผักออแกนิกส์เล็ก ๆ ที่เติบโตจากขยะเศษอาหารปริมาณ 50-70 ตัน ในกรุงเทพมหานคร

สวนผักออร์แกนิกแห่งนี้มีชื่อเก๋ ๆ ว่า Wastegetable Farm ด้วยความร่วมมือจากกลุ่มคนที่เล็งเห็นถึงปัญหาขยะเศษอาหารกับห้าง Center One จนเกิดเป็นโมเดลฟาร์มผักที่เติบโตจากขยะเศษอาหารใน Food Court 

เป็นที่ทราบกันดีว่าขยะเศษอาหารตามห้างสรรพสินค้าหรือสำนักงานนั้นมีปริมาณมหาศาลต่อวันถ้าเทียบกับครัวเรือนแต่ละบ้าน ถึงแม้จะดีตรงที่มีการจัดการแยกอย่างเป็นระบบมากกว่า แต่ปริมาณขนาดนี้ มันคงจะดีกว่ามากถ้าจะนำมันไปสร้างประโยชน์อะไรสักอย่าง นี่จึงเป็นที่มาของการทำสวนผัก Wastegetable ใจกลางกรุงแห่งนี้

“ถ้าเป็นขยะเศษอาหารตามบ้านอะ มันมีคนเริ่มทำแหละ แต่ตามศูนย์การค้า โรงแรม มันจัดการยากกว่า บางที่ บางส่วนก็อาจเอาไปเลี้ยงปลาเลี้ยงหมูที่เขารับโดยตรง แต่ถ้าโรงแรมเล็กหน่อยหรือศูนย์การค้าที่ไม่ใหญ่มาก มันแทบจะลำบากมาก เพราะไม่คุ้ม เลยเป็นที่มาในการเอามาทดลองจัดการที่ต้นกำเนิดเลย การจัดการแนวนี้ ไม่อยากขอทุนมาจัดการ เลยคิดโมเดลเอาเศษอาหารไปต่อยอด สร้างมูลค่า ทำเป็นดินเป็นปุ๋ย ต้องการทำให้มันเป็นธุรกิจและแก้ปัญหาไปพร้อมกันได้ด้วย”

ธนกร เจียรกมลชื่น หรือ โจ๊ก ผู้จัดการสวนผักแห่งนี้มองว่าเราควรใช้พื้นที่ทุกตารางวาให้มีประโยชน์ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่แน่นไปด้วยบ้านเรือนและตึกระฟ้า ถ้าไม่ใช่ชานเมือง คงไม่ต้องพูดถึงที่ว่างที่จะใช้ทำแปลงเกษตร ดังนั้นพื้นที่ว่างบนดาดฟ้านี่แหละ เหมาะที่จะลองนำมาทำสวนผัก แล้วห้าง Center One ซึ่งร่วมทำโปรเจกต์ด้วยกัน ก็มีพื้นที่บนดาดฟ้าว่างพอดี เลยยกพื้นที่ตรงส่วนนี้ให้ทำโมเดลฟาร์มผักในเมืองให้เป็นจริงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ มากถึง 10,000 ตันต่อวัน  แต่แยกขยะเศษอาหารออกมาทำประโยชน์ได้เพียงแค่ 5% เท่านั้น

“จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาขยะเศษอาหารที่ กทม ยังไม่มีการจัดการที่ดีพอ ทิ้งปนกับขยะอื่น ๆ ทำให้จัดการยาก ต้องเอาไปฝังกลบหมด เลยอยากจัดการที่จุดกำเนิด”

Wastegetable Farm รับขยะเศษอาหารมาจากสองที่หลัก ๆ คือ จากศูนย์อาหารใน Center One และ ศูนย์อาหารสำนักงานสหประชาชาติ โดยได้ขยะจาก Center One 30-40 ตันต่อปี ในขณะที่ UN ประมาณ 20-30 ตัน รวม ๆ กันแล้ว มีขยะเศษอาหารกว่า 50-70 ตันถูกส่งมาทำปุ๋ยปลูกผักที่ฟาร์มแห่งนี้ แล้วที่นี่ทำการเกษตรแบบหมุนเวียนหรือ Circular Agriculture ที่เริ่มจากการนำเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ย นำปุ๋ยที่ได้ไปปลูกผัก เอาผักไปทำอาหาร และนำเศษอาหารที่เหลือในจานไปทำปุ๋ยต่อ ทำให้เกิดวัฏจักรที่ครบวงจรและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปลูกผักบนดาดฟ้าเหมือนปลูกผักในเตาอบ

ความที่หันไปด้านไหนก็เจอผนังตึกและกระจกทำให้อากาศไม่ถูกถ่ายเท มวลความร้อนก็อบอวลกันไม่ไปไหน ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการทำสวนผักบนดาดฟ้า โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สภาพอากาศรุนแรงขึ้น ทั้งฝนทั้งแดดทำให้ปัญหาความร้อนทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อการเติบโตของพืชผัก คุณโจ๊ก เล่าว่าการทำฟาร์มผักบนดาดฟ้าในเมืองเหนื่อยกว่าปลูกที่ต่างจังหวัดตรงที่สู้กับอากาศในเมืองเหนื่อยกว่าเพราะมีความรุนแรงกว่า ความร้อนที่สะท้อนมาจากตึกต่าง ๆ ทำให้รู้สึกเหมือนปลูกผักในเตาอบ

การปลูกผักทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ชัดมาก

ประกอบกับเราเห็นข่าวราคาผักชี มะนาว ปีนี้แพงขึ้นจากปีก่อน ๆ ถึง 40% เพราะอากาศแปรปรวนเลยลองถามคุณโจ๊กดูว่าแปลงผัก Wastegetable ได้รับผลกระทบจากปัญหา Climate Change ด้วยรึเปล่า จึงได้คำตอบว่า 

“หากเทียบกับการปลูกผักเมื่อ 5 ปีก่อน ช่วงนี้อากาศสวิงจัดมาก ส่งผลกระทบต่อการปลูกผักพอสมควร Climate Change ส่งผลต่อการเพาะเมล็ด การงอกของกล้าผัก อากาศที่รุนแรงทำให้ผักที่เคยปลูกได้ปลูกไม่ขึ้น เช่น ผักสลัด (อ่อนไหวต่อสภาพอากาศมากสุด) หรือแม้แต่กับผักเคลที่ปกติทนต่ออากาศร้อนได้มากกว่าผักสลัด”

คุณโจ๊กเสริมอีกว่าเพื่อรับมือกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเลยมีการปลูกผักที่หลากหลาย คละไปกับการปลูกผักสวนครัว ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสภาพอากาศในช่วงนั้น ๆ โดยแบ่งแปลงผักออกเป็น 4 แปลง ปลูกสลับกันไปให้ผักออกขายได้ทุกอาทิตย์

“ถ้าเป็นผักสวนครัวก็มี คะน้า กวางตุ้ง ผักโขม แรดิช บีทรูท โหระพา กะเพรา พริก มะเขือม่วง โดยพวกนี้จะขายเป็นต้น ที่นี่เน้นปลูกผักที่ใช้เวลาสั้นๆ สลับไปสลับมา ไม่ได้ปลูกสลัดตลอดทั้งปี หน้าร้อนปลูกสลัดไม่ไหวก็จะไปปลูกผักโขม คะน้า กวางตุ้งที่ทนแดดมากกว่า”

หากถามเรื่องการปลูกสวนผักในเมืองมีจุดเด่นตรงไหนที่สุด คุณโจ๊กก็ตอบว่าที่เห็นชัดที่สุดคงเป็นเรื่องระยะเวลาขนส่งที่สั้นลง ผักก็ถึงมือผู้บริโภคในคุณภาพที่ยังสดใหม่ อร่อยกว่า และอีกอย่างที่สำคัญคือช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนใน กทม ที่ห่างไกลจากแหล่งผลิตอาหารที่มักจะมาจากชานเมืองหรือต่างจังหวัด

“การปลูกผักในเมืองทำให้ผักถึงมือคนในเมืองได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดภัยพิบัติหรือโควิดหรือเหตุการณ์ที่ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างจังหวัดเกิดติดขัดหรือถูกชะลอ แบบนี้ถึงมีเงินก็ซื้อไม่ได้นะ ซึ่งการปลูกผักในเมืองอย่างน้อยก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารตรงนี้ได้”

ฟาร์มผักที่นี่มีทั้งลูกค้าประจำอย่างพงหลีภัตตาคารและประชาชนทั่วไป ปกติจะขายแบบออนไลน์แต่ถ้าจะเข้ามาซื้อถึงบนดาดฟ้าก็ทำได้ เสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่างคนในเมืองโดยมีเกษตรกรรมเป็นตัวกลางเหมือนที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด

ในวันที่กรุงเทพมหานครยังต้องรับมือกับปัญหาขยะที่ยังแยกให้เป็นระบบไม่ได้ เป็นสิ่งที่ดีที่ภาคส่วนประชาชนและภาคส่วนธุรกิจจะช่วยรัฐตรงส่วนนี้ โดยคุณโจ๊กกล่าวว่า ถ้ามีคนทำธุรกิจที่นำขยะเศษอาหารพวกนี้ไปทำประโยชน์เเยอะกว่านี้ได้ มันคงจะช่วยโลกได้มหาศาล

“ผมอยากเห็นฟาร์มผักบนดาดฟ้าว่าง ๆ มากขึ้น อย่างฟาร์มนึงใช้ขยะเศษอาหาร 40 ตัน ถ้ามี 100 ที่ ก็ได้ 4000 ตันละ มันก็จะลดขยะเศษอาหารไปที่บ่อฝังกลบได้มหาศาล อยากให้มีการจัดการขยะที่ชัดเจนขึ้น อยากให้คนเปลี่ยนแนวคิดแยกขยะชัดเจนเป็นระบบมากขึ้น มันจัดการไม่ยาก คุณอาจเอาขยะเศษอาหารในบ้านมาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ในบ้านหรือสวนสาธารณะได้ อยากให้เรียนรู้การจัดการขยะเศษอาหารอย่างถูกวิธี เพราะตอนนี้บ่อฝังกลบเหลือพื้นที่ไม่มากละ ถ้าเกิดมันเต็มอีก ก็ต้องไปหาที่ใหม่ ก็จะไปเบียดบังพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินของคนอีก”

ภาพอนาคตที่อยากสร้าง Waste Hub ที่ไม่ได้รับขยะเศษอาหารจากแค่ห้างและสำนักงานแต่ยังมาจากครัวเรือน ร้านอาหารเล็ก ๆ ด้วย

นอกจากการรับขยะเศษอาหารจากทั้ง 2 จุดแล้ว เมื่อถามว่ามีแพลนอยากรับขยะจากครัวเรือนทั่วไปไหม คุณโจ๊กก็บอกว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจ คิดว่าอาจทำเป็น Waste Hub แต่ต้องใช้พื้นที่ใหญ่หน่อย รวมรวมเอาเศษอาหารตามบ้านหรือร้านอาหารเล็ก ๆ เอามาจัดการทำปุ๋ย แต่ก็อาจต้องมีการจ่ายค่าบริการในการจัดการด้วย ซึ่งตรงนี้น่าห่วงว่าคนจะไหวไหมเพราะมันก็มีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง อย่างค่าขนส่งอะไรอย่างนี้ด้วย

การรับมือกับปัญหาขยะอาหารเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมแรงจากหลาย ๆ ภาคส่วน โดย Wastegetable ก็ทำเต็มที่ในภาคธุรกิจและวางแผนที่จะขยายสาขาไปยังดาดฟ้าอื่น ๆ ทั่ว กทม เพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการจัดการขยะเศษอาหารตามห้างร้านต่าง ๆ และเพิ่มพื้นที่ในการปลูกผักมากขึ้น 

คุณโจ๊กก็ทิ้งท้ายว่าถ้ามีคนทำธุรกิจแนวนี้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็จะดีมากเพราะยิ่งมีเยอะก็จะกำจัดเศษอาหารได้เยอะขึ้น และอาจมีแพลนสร้างเครือข่ายด้วยกันเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนกันและกันในอนาคต อีกทั้งบอกว่าถ้าได้ร่วมงานกับทางกรุงเทพมหานครก็จะดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายความว่าก็จะได้ขยะเศษอาหารไปจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปริมาณขยะส่งไปบ่อฝังกลบอีกด้วย

ใครอยากเข้าไปชม Wastegetable Farm ด้วยตัวเอง สวนผักแห่งนี้ตั้งอยู่บนดาดฟ้าห้าง Center One กลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่วนใครอยากซื้อผักออร์แกนิกจากที่บ้าน สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ทางแอปเดลิเวอรี่ต่าง ๆ นอกจากนั้น ทางฟาร์มยังมีจัด Workshop สอนทำปุ๋ยจากเศษอาหารและการปลูกผักในเมืองเป็นช่วง ๆ หากใครสนใจอะไรแนวนี้ รอติดตามจากเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Rooftop Farming – ฟาร์มบนดาดฟ้า ได้เลย

อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2782841

Credit

Natticha Intanan

Related posts

KBank ชวนธุรกิจอาหารปรับตัวอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การลด Food Waste

ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและแรงกดดันจากกฎระเบียบโลก KBank ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรสำคัญเพื่อช่วยธุรกิจอาหารเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

สีเขียวบนธงไพร์ด ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่เป็นเรื่องของ “สิทธิ” ในการมี “ชีวิต” ของเราทุกคน

สีเขียวบน ‘ธงสีรุ้ง’ ในช่วง Pride Month ตัวแทนแห่ง ‘ธรรมชาติ’ และเสียงสะท้อนถึงเหล่าสิ่งมีชีวิต ทรัพยากร และสรรพสิ่งต่าง ๆ

friends & forest: eco space พื้นที่ปลอดภัย ในวันที่โลกรวนมากขึ้นทุกวัน

น้ำท่วมจะกลัวอะไร ถ้าเรามีที่หลบภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สารคดี The Last Breath of Sam Yan กับการพัฒนาที่หลงลืมผู้คนและรากเหง้าชุมชน

Sam Yan Smart City นี้ดีสำหรับใคร? หาคำตอบผ่านแนวคิด Gentrification เปลี่ยนเมือง

โลกได้รับผลกระทบอะไร เมื่อ ‘เอลนีโญ’ สิ้นสุดแล้ว ‘ลานีญา’ กำลังเข้ามา

ลานีญากำลังมา ในขณะที่มนุษย์โลกก็ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โลกจึงไม่ได้หยุดพัก แต่มันจะรุนแรงขนาดไหน?