ย้อนกลับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 22 พฤษภาคม 2565 หลายคนคงจำกันได้กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งไปแบบถล่มทลาย อีกทั้งเป็นที่จดจำในแง่การสร้างมาตรฐานการหาเสียงแบบใหม่ การทำงานแบบใหม่ที่แข็งแกร่ง ลุย เป็นกันเอง รับฟังคนทำงานและชาวเมืองมากขึ้น
ในแง่ชาวกรุงเทพฯ อย่างเรา ก็ยอมรับตรง ๆ ว่าคาดหวังกับการเข้ามาทำงานของทีมผู้ว่าฯ ชุดนี้ไม่น้อย ก่อนหน้านี้ชาวกทม.ต้องรอกว่าเกือบ 10 ปี เลยทีเดียว กว่าจะได้กลับมาเลือกตั้งอีกครั้ง นับจากภาวะไม่ปกติที่ทำให้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2556 นู่นแหนะ (โชคดีมากที่เราเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ และหวังว่าในอีกหลายจังหวัดจะได้มีผู้แทนของตัวเองในเร็ว ๆ นี้)
หลังจากรับตำแหน่งไม่กี่วันถัดมา ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็ได้เปิดตัว ทีมชัชชาติ ชุดแรกที่จะมาเป็นเพื่อนร่วมงานพัฒนาเมืองร่วมกัน ซึ่งภายในรายชื่อจาก 1 ใน 18 คนนั้น ปรากฏเป็นชื่อของ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ด้วย
จากวันนั้นก็ถือเป็นวันที่พลิกโฉมมนุษย์กรุงเทพฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ สู่บทบาทรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน
การตัดสินใจมารับตำแหน่งนี้ มันอาจเหมือนการต้องลาออกจากงานเก่ามาเริ่มต้นงานใหม่ เริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ที่ดูท้าทายไหมนะ? เราสงสัย แต่สุดท้ายบทสนทนาก็ทำให้เราเห็นความยินดีและพร้อมมาก ๆ ของเขาที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ เขาบอกว่าเป็นเหมือน ‘งานในฝันที่ทำมาทั้งชีวิต’ เพียงแต่มาอยู่ในบทบาทของภาครัฐ และมีทรัพยากรคนมาช่วยกันมากขึ้นก็เท่านั้น
โจทย์สำคัญนอกเหนือจากการทำงาน ทำงาน ทำงาน ของทีมกทม.ชุดนี้ ศานนเล่าว่าคือการทำอย่างไรให้ รับฟังผู้คนได้มากขึ้น ให้ประชาชนกับคนทำงานได้สื่อถึงกันเหมือนกับเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมกับเส้นเลือดฝอย ซึ่งก็มีกลไกหลายอย่างไม่ว่าจะ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์), ผู้ว่าสัญจร ไปจนถึงในพาร์ทของเขาเองกับการตั้งเพจ หวังสร้างเมือง ที่หวังจะให้เป็นพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของการสร้างเมือง และเป็นคอมมูนิตี้ที่ให้คนมาคุย มาดู มาแชร์ข้อมูลกัน เพราะเขาเชื่อว่า เมืองที่น่าอยู่นั้นสร้างให้เสร็จภายในวันเดียวไม่ได้ แต่เราทุกคนช่วยกันทำให้ดีขึ้นในทุกวันได้
ว่าแล้วก็ชวนไปคุยกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน ผู้ดูแลด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวกีฬา การพัฒนาสังคม สวัสดิการ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มาคุยกันผ่านแว่นมนุษย์กรุงเทพฯ ว่าด้วย เมืองที่ดี ในแบบของแต่ละคน และบทบาทของเขาที่อยากทำให้เมืองนี้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน เป็นเมืองที่ดีต่อสุขภาพกายและใจ และดีขึ้นได้ในทุก ๆ วัน
ทำความรู้จักในฐานะมนุษย์กรุงเทพฯ กันก่อน
ช่วยเล่า ‘กรุงเทพฯ’ ในความทรงจำให้ฟังหน่อย
“ผมเกิดและโตที่กรุงเทพฯ .. ตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ย้ายบ้านไปกว่าห้ารอบ” แม้ประโยคหลังจะเซอร์ไพรส์เรามากหน่อย แต่ก็รู้สึกว่าคน ๆ นี้น่าจะรู้จักกรุงเทพฯ หลากหลายซอกซอยอยู่ไม่น้อย
ศานนเล่าว่า ตอนเด็กอาศัยอยู่เขตดุสิตและเรียนที่ร.ร.เซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นย่านใกล้บ้าน ก็เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์หรือรถเมล์ได้ค่อนข้างสะดวก แต่เมื่อชีวิตเกิดต้องโยกย้ายไปเป็นชาวลาดพร้าวก็เริ่มเจอกับชั่วโมงเร่งรีบ ไปเรียนก็ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้า จนโยกย้ายไปเป็นชาวเมืองนนท์ฯ ก็เจอสภาวะเดียวกัน ซึ่งจังหวะชีวิตเหล่านี้ก็ทำให้เขาเห็นว่า เมือง ก็มักจะมีช่วงเวลาเร่งรีบ (Busy Time) ที่เราเองก็อาจจะต้องหาจังหวะการใช้ชีวิตที่เหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิตของเราให้เจอ
ตลอดช่วงชีวิตของเขาในเมืองนี้ สิ่งหนึ่งที่โตไปพร้อม ๆ กัน คือ การเดินทาง ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามเวลา ศานนท์เล่าว่า เมืองนี้มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ความเป็นเมืองถูกกระจายขยายออกไป ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็เชื่อมต่อกันได้มากขึ้น ซึ่ง การเดินทางที่ง่ายขึ้น นี่แหละ ที่เป็นหัวใจสำคัญให้ผู้คนเชื่อมถึงกัน ออกไปใช้ชีวิตได้ และย่านต่าง ๆ ห้างต่าง ๆ ก็เริ่มผุดขึ้นตามแต่ละมุมเมือง
มนุษย์กรุงเทพฯ + ความสนใจในกรุงเทพฯ = ?
สมการนี้อาจไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับทุกคน แต่สำหรับศานนท์แล้ว ด้วยความคุ้นชินกับเมืองนี้ประกอบกับความสนใจในเรื่องเมือง ชุมชุน และผู้คน ทำให้เขาได้กลายเป็นทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ประกอบธุรกิจ ฯลฯ ที่ได้มีส่วนพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองให้น่าอยู่ ยั่งยืนและผู้คนมีส่วนร่วมกับ ‘บ้าน’ ของพวกเขามากขึ้น
“ผมชอบที่จะชวนคนในบ้านลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง มาทำอะไรให้บ้านเขาดีขึ้นด้วยตัวเขาเอง” ประโยคนี้ดูเหมือนจะสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ก็อธิบายความเป็นเขาได้ดี
“ตอนชนะเลือกตั้ง ท่าน (ผู้ว่าฯ ชัชชาติ) ก็ชวนมาร่วมทีม ก็เป็นอะไรที่ปฏิเสธยาก และเป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว ผมพูดกับเพื่อนเสมอว่ามันเป็นเหมือนงานในฝันที่เราทำมาทั้งชีวิต ก่อนหน้านี้ที่ได้ทำงานร่วมกันกับทีม Better Bangkok เรารู้สึกสนุก ได้มีส่วนร่วม ได้ทำ ได้แนะสิ่งที่เราอยากทำ ท่านก็รับไปทำนโยบาย พอยิ่งมาทำในบทบาทภาครัฐ ยิ่งมีทรัพยากรมากขึ้น
ผมว่าหัวใจมันไม่ใช่ภาครัฐในการเปลี่ยนแปลง มันเป็นชุมชนเหมือนเดิม แต่เราจะทำยังไงให้รัฐหันมามองชุมชนและผู้คนมากขึ้น นี่ก็เป็นบทบาทที่ผมอยากให้ภาครัฐเป็นแบบนั้นมากขึ้น”
แล้วในมุมมองของมนุษย์กรุงเทพฯ คนนี้ เมืองที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ?
“สำหรับผม ในเชิงกายภาพ คงเป็นการเดินทางที่ง่าย มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีอาหาร สิ่งต่าง ๆ ที่ราคาถูก อยู่อาศัยได้ง่าย มีธรรมชาติ สวนสาธารณะ มีที่ออกกำลังกาย ที่พักผ่อนหย่อนใจ
.. มีสวัสดิการที่ดี ไม่ต้องต่อสู้กับระบบทุนนิยม หาเงินมากเกินไป และมีโรงพยาบาลที่ดูแลเราได้ตั้งแต่เราเกิดจนตาย มีครอบครัวที่อบอุ่น .
ส่วน เมืองที่ดี ในความรู้สึก อาจจะเป็นเมืองที่ รับฟังเรา สื่อสารกับเราได้ง่าย ให้รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ห่างหรือสูงจนเกินไป หรือถ้ามีอะไรที่อยากบอกเมืองนี้ก็มีคนที่รับฟังเราได้ ถ้าเราเจออะไรไม่ดีหรืออยากจะทำอะไรให้ดีก็บอกได้ เป็นเมืองที่ทำให้เรามีหวังและอยากอยู่ในเมืองนั้น
“ถ้าเมืองนี้ทำให้เราภูมิใจ ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะอยากทำให้เมืองนี้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน“
หรืออย่างคำว่า เมืองที่น่าอยู่ นอกจากการจะทำให้เรื่องพื้นฐานให้ดีแล้ว การทำให้เมืองมีชีวิต มีความสนุก ชุบชูจิตใจผู้คนได้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งหนึ่งที่ทีม กทม. ให้ความสำคัญมากคือเรื่องของ สุขภาพจิต ของผู้คน
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็ชวนเรานึกถึงกิจกรรมดนตรีในสวน กรุงเทพฯกลางแปลง หนังสือในสวน ดูดาวกลางกรุง ฯลฯ ที่เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะเคยไปสักครั้งหรืออาจจะเล็ง ๆ ไว้บ้าง สำหรับเราแล้ว กิจกรรมพวกนี้ก็ไม่ใช่แค่เครื่องชุบชูจิตใจ แต่ในหลายครั้งก็เป็นเครื่องค้นหาความชอบ ความถนัดให้ตัวเองหรือเด็ก ๆ เยาวชนอีกหลายคน รวมถึงเป็นแหล่งรวมพลคนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน
“เราเหนื่อยมาละ 5 วัน เสาร์อาทิตย์ก็ควรจะมีอะไรที่ชุบชูจิตใจหน่อย เราอยากให้มีกิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมในเมืองที่ชุบชูชีวิตคนในเมืองมากขึ้น เช่น ดนตรีในสวน กรุงเทพกลางแปลง กิจกรรมงานศิลปะ การจัดไฟตอนกลางคืน ฯลฯ
ในทางตรงคือช่วยสร้างเศรษฐกิจให้คนออกจากบ้านมาใช้สอยมากขึ้น และในทางอ้อมคือมันทำให้คนรู้สึกว่าเมืองนี้มีสีสัน สนุก มีอะไรที่เขาสามารถเข้าถึงได้ แล้วไม่ใช่ลิมิตแค่คนบางกลุ่ม แต่เราทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นย่านชุมชน ห้างสรรพสินค้า พื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าได้ฟรี ไม่เก็บเงิน
เรื่องพวกนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่ที่จะช่วยปลูกฝังให้คนยังรู้สึกมีหวัง ภูมิใจในเมืองนี้ ให้มันมีอะไรที่ยังชุบชูชีวิต”
เมืองน่าอยู่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่เราช่วยกันให้ดีขึ้นได้ในทุกวัน
“ทุกวันนี้บางคนรู้สึกหมดหวังกับเมือง ข้าวของแพง เดินทางไม่ง่าย ที่อยู่อาศัยต้องเช่า ธรรมชาติก็น้อยลงทุกวัน เรื่องเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่หมดหวังกับเมืองและอยากย้ายไปอยู่เมืองใหม่ที่มันดีเลย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถพลิกให้เกิดเมืองที่ดีขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่อาจทำได้คือปลูกฝังการศึกษาตั้งแต่เด็ก”
“แต่เดิมเราอาจจะเอาอุตสาหกรรมตั้ง แล้วผลิตคนตามความต้องการของตลาด ซึ่งอุตสาหกรรมมันเปลี่ยนบ่อยมาก ทุกวันนี้อาชีพนับไม่ถ้วน เพราะงั้นสิ่งที่เราควรมุ่งเน้นในการศึกษาอาจเป็นการทำให้เขาเข้าใจในตัวเอง รู้ว่าสกิลที่มีคืออะไร แล้วเดี๋ยวสกิลนั้นจะไปต่อยอดอาชีพให้กับเขาได้โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าอาชีพนั้นจะต้องเป็นวิศวะ หมอ สถาปนิกใด ๆ ก็ตาม เมื่อเขาเข้าใจก็จะภูมิใจในตัวเอง แล้วมันจะเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้เขาอยากอยู่ในเมืองนี้ หรือภูมิใจที่จะมีชีวิตต่อไปได้”
“และความโชคดีของเมืองนี้คือการที่ คนยังมีความหวัง”
“อย่างที่บอกว่า เมืองนี้มันไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้แบบพลิกฝ่ามือ มันจะต้องพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ต่อให้เราไปมองเมืองที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้ เขาก็มีปัญหาเหมือนกัน
ผมเคยคุยกับเพื่อนจากเดนมาร์ก เราก็ชวนคุยว่าเมืองคุณมีความสุขอันดับต้น ๆ เลยนะ เขาก็บอกว่า เขาไม่เห็นรู้สึกแบบนั้น รู้สึกแต่ว่าเมืองเขาคนไม่ค่อยคุยกัน ข้าวของแพง คือเขาก็มีปัญหาของเขา แต่ของบ้านเราเองก็ยังมีปัญหาที่เบสิคอยู่อย่างทางเท้า น้ำท่วม จราจร รอระบายที่ต้องแก้ คือเราก็ต่างมีปัญหาที่มันต่างกัน”
“อย่างเพจ ‘หวังสร้างเมือง’ นี่เกิดจากว่าพอทำงานมาระยะหนึ่ง เราก็เหนว่ามีความคาดหวังและความร่วมมือเยอะมาก ซึ่งก็ยังเชื่อว่ามันมีอีก บางเรื่องเรานั่งคุยกันบนโต๊ะเล็กๆ ก็รู้สึกว่าจริง ๆ น่าจะมีคนอีกมากที่เคยทำ รู้เรื่องนี้ดีกว่า หรือรู้เรื่องชุมชนตัวเองดีกว่า เลยอยากสร้างกลไกที่ให้มีส่วนร่วมกับเขาได้ ก็เลยมีช่องทางเพจนี้ขึ้นมา ชื่อเพจ “หวังสร้างเมือง” จริง ๆ ก็ล้อ ๆ กับนามสกุลผม หวังสร้างบุญ เราก็มาปรับกันตลก ๆ ให้รีเลทกับตัวเองจนเป็น “หวังสร้างเมือง”
“สิ่งหนึ่งที่ผมว่ากรุงเทพฯ โชคดีกว่าเมืองอื่น ๆ เลยคือ เรายังมีคนที่มีหวังกับเมืองนี้มาก ผมไปเจอใครก็มีแต่บอกว่ามีอะไรให้ช่วยไหม เขาอยากช่วยเรื่องนั้นนี้ เรื่องท่อระบายน้ำ เรื่องจักรยาน เรื่องจะทำไงให้คนเลิกใช้รถ มาใช้จักรยาน หรือทำยังไงให้ชุมชนดีขึ้น ทุก ๆ วันผมจะเจอคนแบบนี้เยอะมาก เพจนี้เลยอยากให้เป็นช่องทางพูดคุยกับคนที่ยังมีหวังกับเมือง พยายามจะพูดคุยกับเขา
“เราเลยรู้สึกว่าโชคดีที่ยังเจอคนที่มีหวัง เราอยากทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเมืองนี้กำลังดีขึ้น อาจจะไม่ใช่แบบพลิก แต่ก็กำลังดีขึ้น ๆ ในทุก ๆ วันแน่นอน”