‘หมิว–กมลชนก’ หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งแบรนด์ Wastic Thailand เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ว่า รวมตัวกันจากกลุ่มเพื่อนซี้ที่มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน 4 คน และโจทย์คืออยากผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์หรือสิ่งที่คนใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยมีคอนเซปต์ของการรักษ์โลกที่อยากจะยืดอายุการใช้งานวัสดุพลาสติกบนโลกนี้
ซึ่งนอกจากความตั้งใจในเรื่องของความยั่งยืนแล้ว พวกเขายังให้ความสำคัญกับเรื่องของการออกแบบ เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากดีไซน์ดี ฟังก์ชั่นได้ สุดท้ายแล้วสินค้าที่ชุบชีวิตขวดพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนรักษ์โลก แต่จะกระจายไปได้ไกลและสร้างอิมแพคต่อสังคมไปได้อย่างไร้ขอบเขตขึ้นไปอีก
แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นได้จริง ๆ ! แม้จะมีกิมมิกในเรื่องความยั่งยืนที่หยิบเอาพลาสติกใช้แล้วมาอัพไซเคิลเป็นแว่น แต่กลุ่มลูกค้าจำนวนไม่น้อยก็เป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจซื้อเพราะดีไซน์และเหตุผลทางสุขภาพเช่นกัน
วันนี้เรามาทำรู้จักและฟังมุมมองแนวคิดจาก Wastic Thailand แบรนด์แว่นกันแดดไทยที่อยากเป็นตัวเลือกความยั่งยืนต่อโลกและอยากส่งมอบความคุ้มค่าในการใช้งานให้กับผู้บริโภคด้วย
เพราะไม่อยากให้ Fast Fashion ทำร้ายโลกไปมากกว่านี้
คุณหมิวเล่าย้อนไปถึงความตั้งใจแรกเริ่มของแบรนด์คืออยากสร้างสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่น หรือของตกแต่งบ้าน ที่ช่วยสนับสนุนเทรนด์แฟชั่นแบบยั่งยืนให้มากขึ้น ด้วยความที่ว่าในปัจจุบันมีปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นจาก Fast Fashion มากขึ้น จึงอยากผลิตสินค้าสักอย่างที่เป็นหนึ่งในตัวเลือกสินค้าที่ช่วยปิดช่องตรงนี้ได้
“อย่างตัววัสดุพลาสติกที่เราหยิบมาใช้ เราไม่อยากใช้คำว่าขยะพลาสติกเท่าไหร่ เพราะดูเหมือนว่าเราไปลดค่าของมัน ทั้งที่ความจริงแล้วพลาสติกมันมีอายุการใช้งานที่นานมาก ๆ เป็นร้อยปี แต่มันขาดแค่การดึงกลับมาใช้ใหม่ให้เป็นวงจร ดึงกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นเท่านั้นเอง”
ด้วยความที่ทั้งสี่คนมีแพชชั่นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ตรงกัน และมีโจทย์คืออยากหยิบเอาพลาสติกมายืดอายุการใช้งาน ก็เลยเกิดเป็นแบรนด์ Wastic ซึ่งเริ่มจากการปล่อยผลิตภัณฑ์หลักคือแว่น และตามมาด้วยสินค้าอื่น ๆ คือหมวกแกป หมวกบักเกตด้วย ซึ่งทั้งหมดยังคงคอนเซปต์เรื่องของการอัพไซเคิล และหลักการดึงวัสดุกลับมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ใหม่
จากโจทย์เรื่องความยั่งยืนก็เชื่อมมาที่ว่าอยากให้เป็นสินค้าอะไรที่คนใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้คนเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น
กว่าจะมาเป็น Wastic Thailand
“จุดเริ่มต้นของ Wastic มันมาแค่จากเล็ก ๆ ที่คุยกันหน้าตู้เย็นกับรูมเมทวันนั้นเลย”
แบรนด์ Wastic (อ่านว่า วาส-ติก) เริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนซี้ 4 คน ได้แก่ หมิว–กมลชนก , โบ–อริสรา , มุก– สินีนาฏ และ ลิลลี่–รสลิน ที่รู้จักกันเมื่อครั้งเรียนปริญญาโทเรื่องการจัดการขยะพลาสติกทางทะเลมาด้วยกัน (Marine Plastic Abatement ที่ Asian Institute of Technology)
“ย้อนกลับจุดเริ่มต้นคือ พวกเราสี่คนรู้จักกันตอนที่ได้ทุนไปเรียนที่ AIT เป็นป.โทสาขาการจัดการขยะพลาสติก ด้วยความที่ทุกคนมีความสนใจด้านนี้อยู่แล้ว วันหนึ่ง เราก็คุยกับพี่รูมเมทเราซึ่งเขาทำรีเสิชจบเรื่องแปลงฝาขวดน้ำเป็นแว่น ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าโตแล้วอยากจะลองหาธุรกิจทำ อยากมีพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจด้วย ก็เลยพูดกับเขาว่า ถ้าพี่โบว์จะเอาไปต่อยอดเป็นธุรกิจเมื่อไหร่ หมิวเอาด้วย บวกด้วย ซึ่งมันก็เริ่มมาจากเล็ก ๆ ที่คุยกันหน้าตู้เย็นกับรูมเมทวันนั้นเลย
หลังจากนั้นก็ชวนอีกสองคนมาทำ ซึ่งมุกก็จะถนัดทำคอนเทนต์ ด้านครีเอทีฟใด ๆ ส่วนมิลลี่ก็จะเป็นคนคอยดูเรื่องดีไซน์บูธ ดีไซน์แว่น การขึ้นแบบ 3D ส่วยเราก็จะถนัดเรื่องตัวเลขมากกว่า ทั้งหมดนี้ก็เหมือนเป็นการหยิบเอาแพชชั่นและความถนัดของทุกคนมาเริ่มทำเป็นธุรกิจ”
แพชชั่นสร้างอินโนเวชั่น
แม้ความตั้งใจของทั้งสี่คนจะมีเป้าหมายเรื่องของความยั่งยืนที่ตรงกัน แต่ในขั้นตอนการผลิตจริงก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกันอยู่หลายขั้นตอน ก่อนที่จะออกมาเป็นสินค้าแบรนด์ Wastic ที่ทุกคนเห็นกัน
เมื่อถามถึงขั้นตอนที่ยากที่สุดที่กว่าจะออกมาเป็นแว่นตาหนึ่งชิ้น คุณหมิวตอบว่าคือกระบวนการตอนทดลองนำวัสดุมารีไซเคิลเนื่องจากแต่ละประเภทมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เวลาพูดถึงการ ‘นำพลาสติกมารีไซเคิล’ อาจฟังดูเหมือนไม่ซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วมีดีเทลยิบย่อยอีกมาก จึงต้องใช้เวลานานในการลองผิดลองถูกเพื่อให้ได้ชนิดพลาสติกที่เหมาะสมที่สุด
อย่างในรุ่นแรก จะเป็นแว่นที่ทำจากฝาขวดน้ำ ซึ่งเป็นพลาสติก HDEP, TPE ที่จะเอามาบด หลอม และนำไปขึ้นแม่พิมพ์เป็นทรงแว่น แต่ปรากฏว่ามันเปราะบางมาก ไม่เหมาะต่อการใช้งาน ก็ต้องเปลี่ยน จนปัจจุบันก็ปรับมาเป็นใช้พลาสติกประเภท PET หรือเม็ดพลาสติกจากขวดน้ำ ที่มีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่า
ลูกค้าคือใครกัน
ตอนแรกตั้งใจทำมาเจาะกลุ่มคนรักษ์โลกเลยมั้ย ? คำถามที่ติดอยู่ในหัว
ด้วยความที่สินค้าของ Wastic ถูกผลิตมาจากพลาสติกใช้แล้ว เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าตอนเริ่มแบรนด์นั้นวางกลุ่มเป้าหมายไว้เป็นกลุ่มคนที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมหรือเน้นใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษไหม ซึ่งตรงนี้คุณหมิวขยายว่ากลุ่มเป้าหมายตอนแรกก็มองว่าที่กลุ่มคนรักษ์โลกเป็นหลัก เพราะจะเป็นกลุ่มที่เข้าใจเราได้เร็วและอยากจะซัพพอร์ตแบรนด์อยู่ระดับหนึ่งแล้ว แต่อีกเป้าหมายหนึ่งคืออยากให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไปด้วย โดยการออกแบบดีไซน์ให้สวย น่าใส มีดีไซน์ที่คนทั่วไปสามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้
เมื่อมาลองลงสนามจริงกลับกลายเป็นว่าสินค้าไปได้ไกลกว่าที่คิด เพราะมีกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มคนที่แคร์เรื่องสุขภาพเข้ามาเป็นลูกค้ากลุ่มหลักด้วย “ตอนแรกเราตั้งว่าจะให้คนที่วัยรุ่น วัยทำงานหน่อย 20-35 ประมานนี้ ด้วยความที่เราเป็นแว่นแฟชั่น ไม่ใช่แว่นสายตา แต่พอเปิดขาย กลายเป็นว่ามีกลุ่มลุกค้าแบบ 50+ ก็มาซื้อเยอะมาก เกือบครึ่งเลยด้วยซ้ำ มันทำให้เราเข้าใจว่านอกจากแฟชั่นแล้ว กลุ่มผู้ใหญ่ที่เขาเลือกใส่เพื่อเรื่องของสุขภาพก็มีเยอะมาก เช่น บางคนไปผ่าตัดต้อมาก็มาให้แนะนำว่าใส่รุ่นไหนดี
“เรื่องของราคา ก่อนจะตั้งราคากัน เราก็ไปรีเสิชมาว่าแว่นตาอัพไซเคิลของต่างประเทศของขายกันอยู่ที่ 3,000-5,000 บาท ถ้าจะนำเข้ามามันก็แพงมาก”
“ถ้าเราตั้งราคาสูงไป ลูกค้าก็อาจจะเข้าถึงราคานี้ไม่ไหว สิ่งที่เราอยากขับเคลื่อนมันก็ไปไม่ได้อยู่ดี”
จึงเป็นที่มาขอการตั้งราคาสินค้าที่ต่ำกว่า 2,000 บาท เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น อย่างสินค้ารุ่นแรกก็จะอยู่ที่ 990 บาท ทั้งนี้ก็จะมีทั้งคนที่อุดหนุนแว่นพร้อมเลนส์ หรือบางคนที่ซื้อไปแค่กรอบแล้วเอาไปตัดค่าสายตาเองก็มีเหมือนกัน
สุดท้ายแล้วเรื่องของการรักษ์โลก เราไม่อยากให้คนต้องรู้สึกกดดันว่า ฉันไม่ใช้ของรักษ์โลกแล้วฉันไม่รักษ์โลกหรอ Wastic เลยพยายามทำสินค้าที่อยากให้คนรู้สึกว่าน่าใช้ อยากซื้อ โดยมีเรื่องของการดูแลโลกเป็นกิมมิกมากกว่า
ในเรื่องของการบริโภคเอง ในชีวิตประจำวันคนอาจจะเผลอหรือบังเอิญไปใช้ซิงเกิลยูสพลาสติกเพื่อความสะดวกสบายในการบริโภคในเวลานั้น ๆ โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่ แต่พลาสติกหลายอันก็มีอายุที่ถูกใช้งานน้อยมาก บางทีใช้ห้านาทีก็ต้องทิ้งแล้ว ก็ฝากไว้ว่าอยากให้ตระหนักมากขึ้นก่อนจะเลือกใช้ด้วย เดี๋ยวนี้ก็มีผู้ประกอบการไทยหลายเจ้าที่หันมาออกแบรนด์ที่รักษ์โลก ก็อยากให้ลองเปิดใจสนับสนุนกันดู