เมื่อพูดถึงสามย่าน คุณนึกถึงอะไร? ห้างสรรพสินค้า ถนนบรรทัดทองที่มีของอร่อย ร้านขนมหวาน ร้านหม่าล่ามากมาย หรือสวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมืองอย่างนั้นไหมนะ? เราเชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบในใจที่แตกต่างกันออกไป และสำหรับคนรุ่นก่อนก็เช่นกัน ‘สามย่าน’ ในความทรงจำของพวกเขาอาจมีภาพจำที่ต่างออกไปจากปัจจุบัน
แผนการพัฒนาพื้นที่ย่านสวนหลวง-สามย่าน ระหว่างปี 2561-2580 เป็นแผนแม่บทที่เกิดจากการผลักดันของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ภายใต้แนวคิด “Sam Yan SMART CITY” ที่ต้องการผลักดันให้ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ “โดยเป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม”
ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้ดูสารคดี “The Last Breath of Sam Yan” ที่กำกับ-เขียนบทโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และอำนวยการสร้างโดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ 2 นิสิตจุฬาฯ ในเวลานั้น เนื้อหาว่าด้วยการต่อสู้ของกลุ่มคนที่ร่วมกันคัดค้านการรื้อถอนและย้าย “ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง” ออกจากบริเวณเดิม ตามคำสั่งของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เพื่อก่อสร้างโครงการพัฒนา และมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 4.6 พันล้านบาทแก่ผู้ดูแลศาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
ในสารคดีมีการหยิบยกประเด็น ‘Gentrification’ มาใช้เล่าในกรณีศึกษาของชุมชนสามย่าน จากเดิมที่เคยเป็นชุมชนตึกแถว แต่ในปัจจุบัน ชุมชนเหล่านี้ถูกรื้อถอนและเปลี่ยนผ่านเป็นห้างสามย่านมิตรทาวน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ และร้านอาหารอีกมากมายอย่างที่เห็นได้ตามถนนบรรทัดทอง
Gentrification คืออะไร?
ตามคำแปลจากพจนานุกรมของ Oxford ระบุว่า Gentrification คือ กระบวนการที่พื้นที่เขตยากจนในเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยมีผู้คนที่มีฐานะร่ำรวยย้ายเข้ามา มีการปรับปรุงตึกที่อยู่อาศัย และดึงดูดธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะทำให้ผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันต้องย้ายออกไป
สำหรับในภาษาไทย บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายถึงความหมายของ Gentrification ผ่านบทความบนเว็บไซต์ Decode ว่าเป็น “การทำให้เป็นย่านผู้ดี ที่เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในเมืองจากพื้นที่ที่คนที่สถานะดีกว่าเข้าไปใช้พื้นที่แทนชนชั้นล่างหรือคนชายขอบที่เคยใช้พื้นที่อยู่เดิม”
แน่นอนว่าการพัฒนาเหล่านี้ เต็มไปด้วยความสวย สะดวกสบาย ตอบโจทย์การพัฒนารุ่นใหม่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและชื่นชอบในปัจจุบัน แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการเช่นกันว่า การพัฒนาเช่นนี้อาจทำให้เมืองเติบโตเป็นเชิงเดี่ยว ซึ่ง ‘ไร้ซึ่งความหลากหลาย’ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จนสุดท้ายก็จะกีดกันผู้คนที่กำลังจ่ายไม่พอ สู้ค่าครองชีพไม่ไหวออกไปจากพื้นที่แห่งนี้
อีกทั้งในแง่วัฒนธรรม รากเหง้าของชุมชนจะเลือนหายเพราะพื้นที่ถูกแปรสภาพไปเป็นสิ่งอื่นที่ตอบโจทย์ผลกำไรมากกว่า ซึ่งข้อสังเกตเหล่านี้ถูกฉายภาพให้เราเห็นได้ชัดมากขึ้นทีละเล็กละน้อยจากสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่สามย่านที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิเช่น อาคารพาณิชย์ กิจการดั้งเดิมในพื้นที่ที่หายไป ไปจนถึงสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนในชุมชนที่เป็นกรณีศึกษาให้เราได้อย่างชัดเจน
ไร้ Right to the city
การมีส่วนร่วมกำหนดพื้นที่ที่ขาดหาย
แน่นอนว่าหากมองในแง่กฎหมายคงเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างชอบธรรม เพราะเจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงและกำหนดทิศทางในพื้นที่ของเขาว่าอยากจะทำอะไร พัฒนาเป็นอย่างไร
และเมื่อมองต่อมาอีกสักนิด “คุณคิดว่าคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่นี้ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดการพัฒนาพื้นที่ด้วยหรือไม่?” หากพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวแบบปิดเสียทีเดียว เป็นพื้นที่เปิดที่มีผู้คนทำมากิน แวะเวียนมาใช้ชีวิต รวมถึงชาวบ้านดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บนที่ดินผืนนั้นมายาวนาน เพราะคนที่ได้รับผลกระทบในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่และรอบ ๆ พวกเขาจึงควรมีสิทธิในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางเมือง (Right to the city) แม้จะเป็นเพียงผู้เช่าหรือผู้ที่มาทำงานอยู่ตรงนี้ก็ตาม เพราะนี่คือสิ่งที่กระทบชีวิตและบ้านของพวกเขาเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน หากเราไปย้อนดูแนวคิดของ ‘Sam Yan SMART LIVABLE CITY’ บนเว็บไซต์ของ PMCU จะเห็นว่ามีการระบุถึง แนวคิด ‘SMART PEOPLE’ ว่า
““คน” คือทรัพยากรสำคัญที่มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้น PMCU จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคน การได้เลือกใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิด “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ “Life-long Learning”
ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้เพียงแต่เป็นการให้ความรู้ในเชิงวิชาการเท่านั้น แต่เราเชื่อในพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้แบบนอกกรอบ ที่ทุกคนในชุมชนสามารถที่จะเข้าถึงได้เท่า ๆ กัน และการสร้างสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ในทุก ๆ ฝีก้าว ทุกที่ ทุกเวลา ภายในย่านอันทรงสเน่ห์แห่งนี้”
(-อ้างอิงจาก https://pmcu.co.th/Sam Yan-smart-city/ )
ตัดสลับกลับมาที่ภาพการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสามย่าน พื้นที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่กำลังถูก(บังคับ)รื้อถอน ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ‘ทุกคนในชุมชน’ ในนิยามของการพัฒนานี้หมายถึงใครบ้าง และคำว่า ‘ชุมชน’ แบบใด ที่อยู่ในสมการนี้
หลังจากดูสารคดี The Last Breath of Sam Yan จบ เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็น่าจะสงสัยและมาตามรอย สืบหา “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” เช่นกัน เราเองเป็นหนึ่งในนั้น และพบกว่าในพื้นที่สามย่านนั้นมีทั้ง “ศาลเก่า” และ “ศาลใหม่” ซึ่งศาลเจ้าแม่ทับทิมดั้งเดิมที่เราเรียกว่าศาลเก่านี้หายากมาก เพราะหลบซ่อนตัวอยู่ในซอกที่ถูกรายล้อมด้วยไซต์ก่อสร้างอาคารสูงใจกลางสามย่าน (มุมด้านหน้าคือภาพเดียวกับที่เราเห็นบนโปสเตอร์สารคดี)
ส่วนศาลใหม่นั้น ตั้งอยู่บริเวณใกล้สวนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ตกแต่งด้วยดีไซน์แบบ ‘จีน ๆ’ หากมองดูเผิน ๆ ก็คงจะดูสวยงามไม่น้อย แต่หากใครได้ดูสารคดี The Last Breath of Sam Yan ก็จะพบว่ามีรายละเอียดในหลายจุดที่ทำให้เห็นว่าศาลนี้ดูจะเป็น ‘ประวัติศาสตร์ที่พึ่งสร้าง’ ขาดซึ่งความเชื่อมโยงกับรากวัฒนธรรมและความเชื่อที่ชาวบ้านเคารพสักการะ
ช่วงหนึ่งของสารคดีฉายให้เห็นถึงความ ‘อิหยังวะ’ ของการเปลี่ยนผ่านจากศาลเก่าไปสู่ศาลใหม่ แม้ทาง PMCU ระบุว่าได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและซินแสมาร่วมกระบวนการออกแบบและทำงานร่วมกันในหลายส่วนแล้ว แต่ในขณะเดียวกันทางชุมชนก็บอกว่า ซินแสที่หามานั้นเป็นชาวฮ่องกง ซึ่งมีความเชื่อคนละแบบกับความเชื่อทางจีนแต้จิ๋วที่ชุมชนนับถือ รวมถึงรายละเอียดด้านสถาปัตยกรรม เช่น ตัวสะกดภาษาจีนที่ตกหล่น ภาพประติมากรรมบนผนังที่รายละเอียดต่างไปจากศาลเดิม จนเกิดเป็นคำเปรียบเปรยจากซินแสฝั่งแต้จิ๋วที่มองว่าศาลนี้เป็น “อาคารไทยสำเนียงจีน”
ซึ่งก็นำมาซึ่งคำถามเดิมว่า นี่คือการพัฒนาเมืองที่คนมีส่วนร่วมแบบใด?
หรือจะเป็นเพียงคนใหม่และชุมชนใหม่ ‘ที่พึ่งสร้าง’ ที่สามารถมีส่วนร่วมได้?
“คุณทำใจให้เขาไล่คุณจากบ้าน
ที่คุณอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า
หรืออยู่มาหลายสิบปีได้ไหม?”
นี่คือหนึ่งในสิ่งที่วิทยากรเปรียบเปรยให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจน แน่นอนว่าเราอาจทำใจไม่ได้ แต่ทางเลือกสุดท้ายอาจมีเพียงการต้องยอมทำใจแล้วย้ายออก หรือต่อสู้จนถึงที่สุด อยู่ต่อ และเสี่ยงโดนเรียกค่าเสียหาย 4.6 พันล้านบาท เฉกเช่นที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อผู้ดูแลศาลเจ้า
ในกรณีของชุมชนสามย่าน และ “ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง” ทั้งพี่นก (ผู้ดูแลศาล) และกลุ่มนิสิต จุฬาฯ ที่ร่วมกันต่อสู้เรื่องนี้พูดอย่างตรงกันว่าไม่มีการมาสอบถามหรือร่วมหาทางออกใด ๆ มีเพียงการมาแจ้งหนึ่งครั้งว่าอาจต้องมีการย้ายศาลฯ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีการนำจดหมายมาให้และแจ้งว่าจะต้องย้ายออกภายในเวลาที่กำหนด โดยนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่มีการชี้แจงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณชนจากสำนักทรัพย์สินฯ รวมถึงไม่มีการชี้แจงจากผู้บริหารต่อกลุ่มนิสิตหรือชุมชนด้วย
สารคดีเรื่องนี้จึงไม่ใช่เพียงการส่งเสียงลมหายใจสุดท้ายของศาลเจ้าแห่งหนึ่ง หากแต่เป็นการตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจบนที่ดินแห่งนี้ในการสร้างผลกำไร มากกว่าสร้างประโยชน์ต่อชุมชน ผู้คน และนิสิตโดยรอบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง
‘ความเป็นหนึ่งเดียวกัน
คือสิ่งที่ทุนนิยมจะทำลายเราไป’
กลางวงทอล์คเล็ก ๆ หลังสารคดีฉายจบที่ Documentary Club แฟรงก์-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจุฬาฯ ที่มีส่วนในการร่วมปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เล่าถึงอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ความผูกพัน” ของผู้คนที่อาจหายไปจากการเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่ จากชุมชนไปสู่คอนโด ห้าง ร้านค้าที่ทุกคนเปรียบเสมือนแรงงานในระบบทุนนิยมและส่งผลสู่การขาดซึ่งปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเรียกว่า “Social Engineering” หรือ “การวิศวะกรรมทางสังคม” เมื่อพื้นที่เปลี่ยนก็ทำให้พฤติกรรมของคนในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อชุมชนถูกสลายไป ก็ไร้ซึ่งผู้คน ไร้ซึ่งการรวมตัว และความเป็นหนึ่งเดียว
ท้ายที่สุดเมื่อต้องการจะเรียกร้องหรือขับเคลื่อนอะไร การต่อสู้ก็อ่อนแอ ไม่สำเร็จผล เพราะไร้ซึ่งพื้นที่ให้ผู้คนได้รวมตัว อีกทั้งผู้คนดั้งเดิมก็หายไปหมดแล้ว เหลือเพียงแรงงานจากพื้นที่อื่นที่เข้ามาทำงาน มีเพียงผู้คน นิสิตที่แวะเวียนมาเดินห้าง ใช้ชีวิตและผ่านไป
สิทธิชุมชนที่มักถูกมองข้ามไป
จากแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่เป็นกระแสบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์เมื่อปี 2563 สู่สารคดี ‘The Last Breath of Sam Yan’ โดยผู้กำกับเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ออกฉายเมื่อปี 2566 สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นเพียงเครื่องถ่ายทอดเรื่องราวของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึง ‘สิทธิชุมชน’ ที่ผู้ควรในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือกำหนดทิศทางความเป็นไปของพื้นที่นั้น ๆ
ล่าสุด สารคดี ‘The Last Breath of Sam Yan’ เรื่องนี้ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 32 ในหมวด ‘ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม’ ปี 2567 โดย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในฐานะหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง ได้กล่าวในช่วงการขึ้นรับรางวัลว่า
“ขอบคุณทุกคน ทีมงาน น้องนัน คุณฟิล์ม พี่นก ผู้ดูแลศาลเจ้า และโดยเฉพาะคุณพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ที่ล่วงลับไปก่อน”
“การได้รางวัลนี้เป็นการยืนยัน เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการต่อสู้เพื่อรักษาชุมชนรอบ ๆ จุฬาฯ ของเรา รวมถึงชุมชนทุกที่ในประเทศไทยที่มีความสำคัญแต่ถูกละเลยมาตลอด สารคดีเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ สู้เพื่อสิทธิชุมชนต่อไปครับ ขอบคุณครับ”
‘เมืองแปลกหน้า’ ที่เราไม่รู้จักกัน?
หลังดูสารคดีเรื่องนี้จบ หนึ่งคำถามสุดท้ายที่ยังค้างอยู่ในใจเราคือ ‘แล้วการพัฒนาเมืองจะต้องเป็นไปอย่างไร ในโลกที่ระบอบทุนนิยมยังคงหมุนไปและการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ยังคงเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ไหนจะต้องตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่รอช้าไม่ได้อีกล่ะ?’
ใช่แล้ว เรายังคงไม่ได้คำตอบ, และเราเชื่อว่าในทุกพื้นที่ไม่มีคำตอบเรื่องนี้อย่างตายตัว และไม่มีการพัฒนาแบบใดที่นำไปใช้ได้กับทุกสิ่ง หากแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม การทำความเข้าใจในทุกสิ่งมีชีวิต บริบทในทุกมิติของพื้นที่นั้น ๆ เพราะมนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวบนโลก และเราก็ไม่ใช่จุดศูนย์กลางเดียวของจักรวาลนี้
‘เมือง’ ยังคงต้องอาศัยการเติมเต็มของธรรมชาติและผู้คนจากหลากหลายบทบาทอาชีพ
‘เมือง’ ยังคงต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์และหลากหลายให้ธรรมชาติยังคงหมุนไป
สุดท้ายแล้ว หากที่แห่งนี้มีเพียงแค่ตึกสูง มีเพียงผู้คนที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงานหาเลี้ยงชีพ ที่แห่งนี้อาจกลายเป็น ‘เมืองแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักกัน’ ไปในไม่ช้า
________
สำหรับใครที่สนใจ สามารถรับชมสารคดี ‘The Last Breath of Sam Yan’ ทาง Netflix ได้แล้ววันนี้
อ้างอิง
เสวนา “สิทธิการอยู่อาศัยและศิลปวัฒนธรรมในยุคเสรีนิยมใหม่” (Doc Club & Pub., 25 มิถุนายน 66)