#GREENCHECK: คุยกับ “วัน-ภาดาท์ วรกานนท์” ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย พื้นที่กรุงเทพฯ ว่าด้วยมลพิษในกรุงเทพฯ ชั้นใน ขยะ-น้ำเน่า-ฝุ่นควัน สู่นโยบายพลิกเศรษฐกิจด้วยพลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้เราต้องแก้ไปพร้อม ๆ กับการสร้างรายได้และให้โอกาสผู้คน
ปัญหาหนึ่งที่เจอคือเรื่องของขยะ กรุงเทพฯ เราเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสตรีทฟู้ด แต่กลับไม่มีถังขยะรองรับบนท้องถนนเท่าไหร่
เรื่องที่เร่งด่วนที่สุดยังมองว่าเป็น ‘ปัญหามลพิษฝุ่น’ วันใดที่ค่าฝุ่นมันไปถึงระดับสีแดง สีม่วง เราแทบออกจากบ้านไม่ได้เลย
มันก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนไปไม่ได้ ลูกหลานก็ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ สุดท้ายก็ออกไปทำมาหากินไม่ได้อยู่ดี
คุยกับ “วัน-ภาดาท์ วรกานนท์” กับนโยบายบ้านภูมิใจไทยที่เน้นแก้ไขปัญหามลพิษและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการผลักดันยานยนต์พลังงานสะอาด เปลี่ยนรถเมล์ควันดำสู่รถเมล์ไฟฟ้าและผลักดันมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและลดภาระค่าใช้จ่ายผู้คน
มองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรผ่านการทำงานในพื้นที่บ้าง?
ในฐานะของผู้แทนราษฎรที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ เธอเล่าให้ฟังว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ การรับฟังและทำความเข้าใจในบริบทของสังคมและพื้นที่อย่างในกรุงเทพมหานครเขตพญาไท-ราชเทวี-จตุจักร ที่เป็นย่านใจกลางเมืองก็ต้องเจอทั้งปัญหามลพิษ ปัญหาขยะ ไปจนถึงปัญหาด้านสาธารณสุข
ปัญหาหนึ่งที่เจอคือเรื่องของขยะ กรุงเทพฯ เราเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสตรีทฟู้ด แต่กลับไม่มีถังขยะรองรับบนท้องถนนเท่าไหร่ เป็นผลจากนโยบายในยุคก่อน ๆ ที่ลดจำนวนลง ทำให้ตามมาซึ่งการทิ้งขยะอย่างปล่อยปะละเลยและส่งผลต่อพี่ ๆ เจ้าหน้าที่กทม.ที่ทำงานยากขึ้น ได้รับบาดเจ็บจากการเก็บขยะ ไม้ลูกชิ้นเสียบบ้าง ของมีคมบาดบ้าง หรือเจอขยะปนเปื้อนที่ทิ้งไม่เป็นที่ สิ่งเหล่านี้ก็เกิดจากพฤติกรรมคนและถังขยะที่ไม่เอื้อด้วย
รวมไปถึงปัญหาด้านที่อยู่อาศัย กายภาพของพื้นที่เมืองที่มีคอนโดมีเนียมเกิดขึ้นเยอะมากทำให้วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป ทั้งแสงแดดและทิศทางลมที่ชาวบ้านเคยพึ่งพิงก็ถูกบดบังหายไป บ้านหลายหลังก็ได้รับผลกระทบเกิดรอยร้าวและทรุดจากการตอกเสาเข็ม รวมถึง ‘แฟลต’ ที่มีผู้อาศัยค่อนข้างแออัด ตามมาซึ่งการใช้น้ำเยอะ บริโภคเยอะในเวลาเดียวกัน เมื่อระบบระบายน้ำไม่ดี การจัดการขยะไม่ดี ก็นำมาซึ่งปัญหาสุขอนามัยที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนได้
ดังนั้นแล้ว การทำงานเป็นผู้แทนคนในพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรับฟัง ทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาให้พวกเขา โดยเฉพาะความเดือดร้อนที่เกิดจากมลพิษเหล่านี้
จงให้คะแนนการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ เมื่อเทียบกับระดับโลก? (5 คะแนน)
เรื่องสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังมองว่าให้แค่ 2 คะแนน เพราะเรายังมีช่องว่างที่ยังพัฒนาได้มากกว่านี้อีกเยอะมากและรัฐควรรณรงค์หรือให้ข้อมูลมากกว่านี้
2 คะแนนที่ให้นั้นมาจากความสำเร็จก่อนหน้านี้ที่มีความพยายามบางส่วนในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดหรือนโยบายอื่น ๆ เช่น การยกเลิกแจกถุงพลาสติกเมื่อปี 2563 แม้ช่วงแรกคนจะไม่ชิน แต่สักพักก็ปรับตัวได้ ทำให้เห็นว่าถ้าภาครัฐเอาจริง ประชาชนก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลง
ส่วน 3 คะแนนที่ยังขาดนั้นมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมีช่องว่างที่ยังให้พัฒนาได้อีก ภาครัฐควรรณรงค์ ให้ความรู้อย่างจริงจังและลงมืออย่างชัดเจนกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจและปรับตัวไปพร้อมกันได้ อย่างช่วงโควิด-19 มีขยะพลาสติกที่เพิ่มจากอาหารเดลิเวอรี่เยอะมาก ซึ่งตอนนั้นเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะสุขภาพสำคัญที่สุด แต่ตอนนี้เมื่อสถานการณ์กลับมาเอื้อมากขึ้น ทั้งผู้ผลิต ร้านค้า และผู้บริโภคก็ควรจะต้องมองหาบรรจุภัณฑ์ที่คงทน แบบใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ เพื่อให้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดและลดปัญหาขยะฝังกลบที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มองว่าควรแก้อย่างเร่งด่วน?
เรื่องที่เร่งด่วนที่สุดยังมองว่าเป็น ‘ปัญหามลพิษฝุ่น’ วันใดที่ค่าฝุ่นมันไปถึงระดับสีแดง สีม่วง เราแทบออกจากบ้านไม่ได้เลย มันก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนไปไม่ได้ ลูกหลานก็ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ เรื่องนี้ต้องแก้ไขทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และทุกจังหวัด อย่างปัญหาฝุ่นในกทม. เอง รถยนต์ รถเมล์ และมอเตอร์ไซค์ควรเปลี่ยนจากน้ำมันดีเซลมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นได้ส่วนหนึ่ง
ปัญหามลพิษในพื้นที่อื่น ส่วนหนึ่งก็มาจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน แต่นี่ไม่ใช่เวลาที่เราจะมานั่งถามกันว่ามาตรการคืออะไร สิ่งสำคัญคือบังคับใช้มาตรการที่มีอยู่อย่างไรให้เกิดขึ้นจริง เช่น การกำหนดฤดูกาลเผานั้นสุดท้ายก็มีการชิงเผาช่วงก่อนและหลังฤดูกาล ทำให้เห็นว่ามาตรการนี้ไม่ได้ช่วยอย่างยั่งยืน
และควร ‘กระจายอำนาจ’ ให้ส่วนท้องถิ่นได้ดูแล แทนที่จะรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ให้คนในพื้นที่ได้เป็นคนคิดว่ามาตรการที่เหมาะที่สุดคืออะไร ตั้งที่ประชุมโดยประกอบด้วยคนในพื้นที่ คนที่ได้รับผลกระทบ ผู้มีอำนาจส่วนท้องถิ่น และส่วนกลางอาจนั่งเป็นหัว เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น
พรรคภูมิใจไทยเราให้ความสำคัญทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและผู้คน อย่างเรื่องมลพิษฝุ่นนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง เด็ก 4-5 เดือนมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หลายคนเป็นมะเร็งปอดทั้งที่ไม่ได้สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงโรคไต เรื่องสุขภาพเหล่านี้ภูมิใจไทยก็มีนโยบายฟอกไตฟรี รักษาะมะเร็งฟรี เป็นหลักประกันให้ประชาชนและคนในครอบครัว
ด้านพลังงาน เรามีนโยบายการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด เช่น การเปลี่ยนรถเมล์ควันดำสู่รถเมล์ไฟฟ้าที่นำร่องไปแล้ว 1,250 คัน และการผลักดันมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่จะช่วยลดสัดส่วนการใช้พลังงานสกปรกในระยะยาว เป็นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเป็นการเชื่อมโยงกับด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ที่จะช่วยลดภาระค่าน้ำมันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังเน้นให้มีการสร้างรายได้จากพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์รูฟที่ให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้งาน และผู้ขายพลังงานในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะสามารถลดค่าไฟได้อย่างน้อย 450 บาท/ครัวเรือน ส่วนไฟฟ้าที่เหลือก็สามารถขายคืนให้กับรัฐได้ เป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับพ่อแม่พี่น้องในที่สุด
ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต?
สำหรับทิศทางสิ่งแวดล้อมในอนาคตนั้น วันมองว่าจริง ๆ แล้วทุกนโยบายหรือทุกการเปลี่ยนแปลงมีความท้าทายหมดเพราะต้องมาปรับใช้กับผู้คนหมู่มาก ถ้าคนไม่เห็นความสำคัญ ไม่ได้ตระหนักถึงความอันตรายก็จะไม่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมมือกัน แต่ถ้าเข้าใจก็จะร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงได้
รวมถึงเรื่องงบประมาณนั้นเราไม่ได้ล้าหลัง มีครอบคลุมหมด แต่ปัญหาคือคนที่ใช้งบประมาณและกฎหมายไม่ได้ทำให้มันเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด แน่นอนว่าถ้าไม่มีทุจริตคอรัปชันอย่างเป็นอยู่แล้ว การใช้งบประมาณกับการแก้ปัญหาจะทำได้ดีกว่านี้
ภาครัฐก็ต้องถามตัวเองว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยัง เช่น การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดในแต่ละหน่วยงาน งบที่ใช้อาจมากกว่านิดหน่อย แต่งบวันนี้ก็คืองบที่จะต้องใช้จัดการมลพิษในอนาคต หากเปลี่ยนตอนนี้ก็จะคุ้มค่ามากกว่าแน่นอน รวมถึงความร่วมมือของภาครัฐและประชาชนก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วย
สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/EZXdWqxt7m0