คุยกับ “ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา” แคนดิเดตนายกฯ พรรคชาติไทยพัฒนา ว่าด้วย ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ต้องแฝงอยู่ในทุกเรื่องของทุกกระทรวง และทุกคนต้องเปลี่ยนมุมมอง-ปรับนิสัยผู้บริโภค

ว่าด้วย ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ต้องแฝงอยู่ในทุกเรื่องของทุกกระทรวง และทุกคนต้องเปลี่ยนมุมมอง-ปรับนิสัยผู้บริโภค

GREENCHECK: คุยกับ “ท็อป-วราวุธ ศิลปอาชา” แคนดิเดตนายกฯ พรรคชาติไทยพัฒนา ว่าด้วย ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดี’ ต้องแฝงอยู่ในทุกเรื่องของทุกกระทรวง และทุกคนต้องเปลี่ยนมุมมอง-ปรับนิสัยผู้บริโภค

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยากที่สุดคือการแก้ความคิดของผู้คน ตราบใดที่ 66 ล้านคนยังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิมก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทุกคนต้องเข้าใจความหนักหนาสาหัสของปัญหาด้วยว่ามันมีผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร

ทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพฯ มา 4 ปี เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกมาตลอด …  ผมจึงมองว่านโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นจะต้องไม่ใช่นโยบายที่เป็นสิ่งแวดล้อมโดด ๆ ออกมา แต่จะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อมที่แฝงในแต่ละสาขา เช่น นโยบายด้านเกษตร การศึกษา เศรษฐกิจ คมนาคม ฯลฯ

โค้งสุดท้ายก่อน #เลือกตั้ง66 เราชวน ‘ท็อป-วราวุธ’ มาคุยกันว่าด้วยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม จากมุมมองแคนดิเดตนายกฯ พรรคชาติไทยพัฒนาและในฐานะผู้มีประสบการณ์นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ว่าด้วยการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ไม่สามารถตบมือข้างเดียวให้ดังได้

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยากที่สุดนั้นคือการแก้ความคิดของผู้คน ตราบใดที่พี่น้องทุกฝ่าย 66 ล้านคน ยังคิดแบบเดิม ยังทำแบบเดิมไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากทั้งภาครัฐและภาคประชาชน การที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันแก้ปัญหาได้นั้น ทุกคนต้องเข้าใจความหนักหนาสาหัสของปัญหาด้วยว่ามันมีผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร

ยกตัวอย่าง เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่มีมาตรการยกเลิการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งออกมาก็มีดราม่ามากมาย แต่ทำไมเวลาเราไปเมืองนอก เราพกถุงผ้าเหมือนประเทศเขาได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำที่จะนำไปสู่การลดใช้ถุงพลาสติกแบบ Single use ได้ในที่สุด  ไม่ใช่ว่าไม่ให้มีเลย แต่ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งบาง ๆ หรือถุงก๊อบแก๊บนั้นหนาประมาณ 35 ไมครอน ก็ขอให้ไม่ใช้แล้วเปลี่ยนมาเป็นแบบหนาสัก 70-80 ไมครอนแทน มันก็จะสามารถใช้ซ้ำได้ อย่างน้อยซัก 5 รอบก็ถือว่าเราช่วยลดขยะไปได้ 5 ชิ้น 

หรือกรณีต้องจ่ายเงินค่ารับถุงพลาสติก ก็มีบางคนไม่เข้าใจและมองว่าทำไมกระทรวงทรัพย์ฯ ไปเข้าข้างนายทุน ไปห้างแล้วต้องซื้อถุงใส่ของอีก ก็เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนมุมมอง ไม่ใช่จะคิดว่าคุณเสียเงินเพื่อซื้อถุงพลาสติก แต่ต้องมองว่านี่คือค่าปรับที่คุณจะต้องเสียสำหรับการลืมเอาถุงส่วนตัวมา

ปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั้นจริงๆ เป็นเรื่องของการเปลี่ยนนิสัยคน การบริโภค การใช้วัตถุทั้งหลาย อาจเริ่มจากการพกกระบอกน้ำส่วนตัว อย่างผมเองก็พกตลอดจากที่ตอนแรกเราพกแค่อยากเป็นตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้ก็ติดเป็นนิสัย ถ้าพวกเราทำได้ ปีนึงก็จะประหยัดแก้วพลาสติกไปเป็นร้อย ๆ ล้านชิ้นเลยทีเดียว

จงให้คะแนนการดูแลสิ่งแวดล้อมแบบไทย ๆ เมื่อเทียบกับระดับโลก? (5 คะแนน)

ให้แค่ 2 คะแนน

โดย 2 คะแนนนี้มาจากภาคประชาชนและภาครัฐที่ลงมือทำกันมาระดับนึงแล้ว เช่น การแก้ปัญหาไฟป่า เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของเราเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บกันไปหลายราย ที่ผ่านมาเราทำงานกันอย่างเต็มที่ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น การใช้มาตรการ Carrying Capacity (มาตรการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว) ที่พลิกโฉมการท่องเที่ยวอุทยานในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็ยังไม่พอ ต้องทำให้หนักและเยอะกว่านี้

3 คะแนนที่หายไปนั้นคือ การที่ภาครัฐต้องเข้มข้นและให้ความสำคัญมากกว่านี้

จากการทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมา 4 ปี เราให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกมาตลอด ซึ่งคำว่าสิ่งแวดล้อมอาจจะดูผิวเผินเกินไปเพราะจริง ๆ แล้วเราคำนึงไปถึง ‘ความยั่งยืน’ ที่จะรักษาอะไรให้อยู่ไปได้นาน ๆ ผมจึงมองว่านโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดีนั้นจะต้องไม่ใช่นโยบายที่เป็นสิ่งแวดล้อมโดด ๆ ออกมา แต่จะต้องเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่แฝงในแต่ละสาขา เช่น นโยบายด้านเกษตร การศึกษา เศรษฐกิจ คมนาคม ฯลฯ 

ในส่วนพี่น้องประชาชน ข้อแรก ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ว่าจะนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างใดก็แล้วแต่ มันจะกระทบกับวิถีชีวิตของทุกคน เราต้องยอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเกิดมาจากความสะดวกสบายของทุกคน เช่น การทิ้งขยะเกลื่อนกลาด การใช้ถุงพลาสติก Single-use ก็ตาม ดังนั้น การจะกำจัดถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้หมดไปหรือการใช้กำจัดเรื่องฝุ่นมลพิษให้หมดไปก็ตาม มันก็ต้องแก้ที่การลดความสะดวกสบายและอาจจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมา แต่ต้นทุนเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องจ่ายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังให้แค่ 2 คะแนน เพราะทุกฝ่ายต้องทำงานหนักกว่านี้และทุกคนต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่ามันจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตเรา และการแก้ปัญหาเหล่านี้ภาครัฐตบมือข้างเดียวก็ไม่ดัง แต่ภาคประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือด้วย

ทางออกปัญหามลพิษฝุ่นที่ยังรุนแรงในหลายพื้นที่?

สำหรับปัจจัยเรื่องฝุ่น PM2.5 จากภายนอกประเทศนั้น ทุกวันนี้ภูมิภาคอาเซียนเรามี ASEAN Transboundary Haze Pollution Agreement (ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน) ประกาศใช้อยู่ อย่างในประเทศสิงคโปร์ก็ออกกฎหมายนี้เพื่อแก้ปัญหาควันเผาต้นปาล์มที่มาจากอินโดนีเซียซึ่งฝั่งอินโดนีเซียเองก็อ้างว่าเผาในอินโดนีเซียก็จริง แต่เป็นสินค้าที่สิงคโปร์เข้ามาลงทุนทั้งนั้น จึงเป็นเหตุให้สิงคโปร์ออกกติกาว่าเขาจะลงโทษคนของตนเอง ถ้าหากไปลงทุนในอินโดฯ หรือมีส่วนให้เกิดการเผาตามมา

ผมคิดว่าแนวคิดนี้ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้ามีบริษัทไทยที่ไปทำการเกษตรหรืออื่น ๆ อันทำให้เกิดการเผาไหม้ในประเทศเพื่อนบ้าน กระทบต่อวิถีชีวิตชาวไทย บริษัทเหล่านั้นก็ต้องรับผิดชอบในทางใดก็ตาม อาจจะเป็นการปรับหรือทางอื่น ๆ ก็ต้องมีกฎหมายชัดเจน

ส่วนการแก้ไขปัญหาในประเทศ แค่ในเมืองหลวงเราเห็นแล้วว่า กว่า 70% มาสาเหตุมาจากท้องถนน ดังนั้น การดูแลรักษาเครื่องยนต์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเข้มงวดมาตรฐานรถยนต์จะต้องเข้มงวดให้มากกว่านี้เป็นเท่าตัว อาทิ รถคันไหนมีควันดำแล้วยังออกมาวิ่งได้เนี่ย ก็ต้องมีการลงโทษทั้งรถและ ตรอ. (สถานตรวจสภาพรถเอกชน) ที่ดูแลรถคันนั้นด้วยว่าคุณปล่อยให้ผ่านมาได้อย่างไรทั้งที่ต้องตรวจสภาพรถทุกปี สิ่งนี้ก็ต้องเข้มงวดมากขึ้น 

อีกปัญหาที่ต้องยอมรับคือ ระบบขนส่งสาธารณะเราไม่มีขนส่งย่อยที่เชื่อมไปถึงชุมชนหรือบ้านของผู้คนเท่าที่ควร ดังนั้น เราต้องทำให้รถขนส่งสาธารณะที่มีอยู่นั้นครอบคลุมและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นไม่ว่าจะทางเรือ รถ ราง ก็จะช่วยลดปริมาณรถยนต์ที่มีอยู่ใบนท้องถนนและช่วยให้เขาเดินทางได้สะดวกมากขึ้น

ปัญหาการจัดสรรที่ดินและการอนุรักษ์ป่าไม้?

ในส่วนของพื้นที่ประเทศไทย เราต้องเข้าใจว่าพื้นที่ในปัจจุบัน 323 ล้านไร่ มันไม่ใหญ่ไปกว่านี้แล้ว ซึ่งเราต้องการมีพื้นที่สีเขียวให้ได้อย่างน้อย 55% ที่ประกอบไปด้วย ป่าธรรมชาติ 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่อีก 5% เพื่อให้ดูดซับคาร์บอนได้ที่ประมาณ 120 ล้านตัน และจะทำให้ไทยเข้าสู่สถานะ Net Zero GHG ในปี 2065 ตามที่ได้ตั้งเอาไว้ 

ในปัจจุบัน จำนวนพี่น้องประชาชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ที่ดินมีเท่าเดิม หัวใจสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ที่ดินทำกิน 1 ไร่ สามารถเลี้ยงปากท้องคนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ที่สำคัญสุดคือ ยิ่งคนเพิ่มขึ้นและถ้าทุกคนต้องการมีที่ดินเป็นของตัวเอง เราจะไปเอาที่ดินจากไหน

ดังนั้นการจัดการที่ดินนั้นจึงจำเป็นจะต้องเท่าเทียมและเท่าถึง และแนวทางคทช.ที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบันนี้คือการให้สิทธิทำกินและส่งต่อให้กับลูกหลานได้แต่ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์ ไม่สามารถซื้อขายได้ ในเรื่องที่ดินตรงไหนที่รัฐไปทับซ้อนกับเอกชนหรือพี่น้องประชาชน เราก็ต้องแก้ปัญหา ต้องคืนสิทธิ์ให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ยากไร้ ให้เขามีโอกาสทำกินได้

นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบชาติไทยพัฒนา?

นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมในมิติการเกษตรนั้นเป็นนโยบายหลักของพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเราเน้นเกษตรกรรมแบบใหม่ที่ขายคาร์บอนเครดิตได้เพื่อให้เงินในกระเป๋าของพี่น้องชาวนาเพิ่มขึ้น ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรให้ใช้ปุ๋ยน้อยลง เช่น การนำสารอินทรีย์มาทำการเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หรือที่เรียกว่า Green Agriculture หรือการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องมีน้ำเสีย ไม่มีสารเคมีตกค้างอยู่ในผลผลิตทางการเกษตรเวลาเอาไปจำหน่าย 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรตามที่เราเสนอคือการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง คือช่วงที่ข้าวเริ่มตั้งท้อง เรารีดน้ำออกจากนาให้หมด มันจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้เกือบ 70% ก็จะได้ผลผลิตข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable Rice) และช่วยเรื่องการเพิ่มผลผลิตได้กว่าไร่ละ 30%  

ในด้านการศึกษา เราจะต้องปลูกฝังคำว่าความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก ๆ อย่างเช่นที่สุพรรณบุรี เรามีโครงการ เยาวชนคนดีศรีสุพรรณ ตั้งแต่สมัยพ่อบรรหาร ศิลปอาชาเป็นคนเริ่ม เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ข้อที่สำคัญคือ รักษาความสะอาดบ้านเรือนและชุมชน และรักษาสิ่งแวดล้อมทุก ๆ ที่ในแผ่นดินไทย ซึ่งยังเป็นปัญหาที่หลอกหลอนประเทศไทยที่สุด จึงเห็นได้ว่าเรื่องเหล่านี้ควรผนวกเข้าไปอยู่ในการศึกษาตั้งแต่เด็กให้เขาเข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างไร จะเกิดผลอะไร และสุดท้ายเราให้โอกาสคนเก่งและคนรุ่นใหม่มานำประเทศ เอาความรู้ภูมิปัญญาที่มีมาใช้จริง

ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต?

หากเราถามถึงสังคมที่ดีขึ้นในวันที่ประเทศไทยไม่มีมลพิษ ไม่มีขยะ คุณภาพชีวิตที่ดี ความสุขต่าง ๆ ผมคิดว่าทุกคนมีภาพวาดของตัวเองเอาไว้อยู่แล้ว แต่กลับกัน ถ้าเรายังไม่ลงมือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมล่ะ สังคมจะเป็นอย่างไร? นี่ไม่ใช่ทางเลือกว่าเราจะทำหรือไม่ทำ แต่มันคือทางรอดที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตรอดไปถึงศตวรรษหน้า เพราะวันนี้ ระดับน้ำที่สูงขึ้นในทะเลทุกวัน ๆ ผมมั่นใจว่าอีกไม่เกิน 30 ปี น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เขตปริมณฑล รวมไปถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาในไทยแน่นอน 

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกนั้นเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะชะลอผลกระทบของ Climate Change อย่างแนวทางการทำงานของภาครัฐเอง ด้วยอำนาจของกระทรวงทรัพย์ฯ ที่ดูแลโดยตรงนั้นเราไปสั่งการข้ามหน่วยงานไม่ได้ ทุกหน่วยงานของราชการจึงต้องมีจิตใจที่เข้าใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นว่าเรื่องเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาหนัก ไม่ใช่ว่าฉันดูแลเรื่องนี้เรื่องเดียวแล้วเรื่องอื่นไม่สน เพราะสุดท้ายผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมมันจะไปกระทบกับงานของท่านไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง 

ท้ายที่สุด ทุกคนก็ต้องเข้าใจด้วยว่าปัญหามันมีส่วนเกิดมาจากคุณด้วย มันเกิดจากกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ที่ทำเรื่อย ๆ จนกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของภาครัฐ แต่เป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน แต่ทุกคนก็ต้องให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน

สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่  https://youtu.be/FNKeNrGhv0c

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

เหนื่อยนัก ให้ธรรมชาติฮีลใจ

ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว

สีเขียวบนธงไพร์ด ไม่ใช่แค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมแต่เป็นเรื่องของ “สิทธิ” ในการมี “ชีวิต” ของเราทุกคน

สีเขียวบน ‘ธงสีรุ้ง’ ในช่วง Pride Month ตัวแทนแห่ง ‘ธรรมชาติ’ และเสียงสะท้อนถึงเหล่าสิ่งมีชีวิต ทรัพยากร และสรรพสิ่งต่าง ๆ

ปัญหาช้างป่าใหญ่กว่าแค่เป็นข่าวให้เลื่อนผ่าน

เมื่อปัญหาของช้างป่าและมนุษย์ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ : มนุษย์กรุงเทพในบทบาทรองผู้ว่าฯ กับนิยามของ ‘เมืองที่ดี’

เพราะเขาเชื่อว่าเมืองที่ดีต้องทำให้คนมีหวังและยังอยากเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน