จะชดเชยยังไง… ?  เมื่อการเที่ยวกระทบสิ่งแวดล้อม

เมื่อการท่องเที่ยวก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ละประเทศ แต่ละสถานที่เลยต้องมีกิจกรรมชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

อยากเที่ยวให้สุดใจ แต่ก็อยากไปแบบยั่งยืน #ไปไหนดี ?… ปี 2024 เป็นปีที่ผู้คนทั่วโลกเข้าใจบทบาทของตัวเองในการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจอย่างวิจัยจาก Booking.com ที่ชี้ว่า นักท่องเที่ยวกว่า 3 ใน 4 ต้องการเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นในปีนี้ และผลสำรวจจาก Expedia Group ที่เผยว่านักเดินทางกว่า 90% มองหาตัวเลือกที่ยั่งยืน

กระแสการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มมีมาตรการรับมือกับการท่องเที่ยว นโยบายใหม่ ๆ เหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว ป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นขึ้น Environman อยากมาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวรอบโลก ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวสายยั่งยืนทุกคนในช่วงสิ้นปี พร้อมฉลองคริสต์มาส-ปีใหม่ พร้อมรับเทรนด์ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อโลกในปี #2025

เกาะซาบา: มรกตแห่งแคริบเบียน มีของดีก็ต้องรักษาไว้

เกาะซาบา (Saba) หนึ่งในเทศบาลพิเศษที่เล็กที่สุดของเนเธอร์แลนด์ เป็นแชมป์การท่องเที่ยวยั่งยืนในแคริบเบียน สร้างความประทับใจด้วยความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การเดินทางมายังเกาะซาบาต้องอาศัยเครื่องบิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เกาะแห่งนี้ได้ชดเชยด้วยโครงการอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตพลังงานได้ประมาณ 40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด มีระบบรีไซเคิลครบวงจร มีเขตอุทยานทางทะเลรอบเกาะที่นอกจากจะรักษ์โลกแล้วยังเหมาะแก่การดำน้ำ และการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง มีตัวอย่างธุรกิจสีเขียวอย่างร้านอาหารบนเกาะ Rendezvous ที่ใช้เทคโนโลยีไฮโดรโปนิกส์เพาะปลูก ลดการใช้น้ำถึง 80% 

ในปี 2023 Saba Bank ได้รับการประกาศให้เป็นจุดแห่งความหวังหรือ Hope Spot จากองค์กรอนุรักษ์ทางทะเลนานาชาติ Mission Blue เพราะเป็นพื้นที่สำคัญต่อสุขภาพของมหาสมุทร นอกจากนี้ เกาะซาบายังเป็นที่ตั้งของห้องปฏิบัติการทางทะเลแห่งแรกในหมู่เกาะ Windward ของแคริบเบียนดัตช์ 

เหมือนกันกับเกาะซาบา หลายเมืองและประเทศทั่วโลกได้ดำเนินมาตรการแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตัวอย่างเช่น  เซนต์คิตส์และเนวิส ประเทศในแถบแคริบเบียนที่มีโครงการ “Plastics Be Gone” ลดการใช้พลาสติก 30% สหราชอาณาจักร แบนผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายประเภท ฝรั่งเศส และ กรีซ เพิ่มมาตรการควบคุมการใช้พลาสติกจากข้อกำหนดสหภาพยุโรป มาตรการเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

วาเลนเซีย สเปน: เมืองสีเขียวแห่งยุโรป

เมืองวาเลนเซีย ประเทศสเปน ได้รับรางวัล European Green Capital Award ปี 2024 เป็นรางวัลเมืองที่มุ่งมั่นปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว

เมืองวาเลนเซียมีเป้าหมายผลิตพลังงานไฟฟ้า 100% จากพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2025 และมีพื้นที่สีเขียวกว่า 5 ล้าน ตารางเมตร นอกจากนี้ ยังมี Huerta พื้นที่เพาะปลูกผักผลไม้ 120 ตารางกิโลเมตร ส่งเสริมอาหารท้องถิ่น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการรับประทานอาหารนอกบ้านและสนับสนุนการทำอาหารเอง ในแง่การเดินทางก็มีการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะและพื้นทางเดินเท้า วาเลนเซียยังมีทางจักรยานยาว 200 กิโลเมตร

มีหลายเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะและทางจักรยานดีเยี่ยม ช่วยส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างโคเปนเฮเกนมีชื่อเสียงด้านการขี่จักรยาน มีทางจักรยานที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองที่มีทางจักรยานยาวกว่า 400 กิโลเมตร ทำให้การขี่จักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่นิยมมากที่สุด หรือปารีสที่เพิ่มเส้นทางจักรยานและบริการเช่าจักรยาน Vélib’ ที่มีสถานีทั่วเมือง

เฮลซิงกิ ฟินแลนด์: เมืองยั่งยืนอย่างรอบด้านอันดับหนึ่ง

เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่ยั่งยืนสูงสุดในโลกโดย GDS-Index โครงการวัดและประเมินความยั่งยืนของเมืองท่องเที่ยวและอีเวนต์

เมืองเฮลซิงกิมุ่งพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวและการจัดอีเวนต์ ซึ่งมีการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน เฮลซิงกิสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 51% และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 80% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ เมืองยังมีพื้นที่สีเขียวมากมาย โดยมีพื้นที่สีเขียว 9,339 เฮกตาร์ ต่อประชากร 100,000 คน

ไม่ต้องรอนโยบายรัฐ โรงแรมสิวาเทล: ท่องเที่ยวได้ แบบที่รับผิดชอบ

ในภาคธุรกิจของประชาชนก็ไม่น้อยหน้า โรงแรมสิวาเทล กรุงเทพ ได้รับรางวัล Global Responsible Tourism Award สาขา Increasing Local Sourcing จาก International Centre for Responsible Tourism (ICRT)

โรงแรมสิวาเทลจัดซื้อวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรท้องถิ่นกว่า 60 รายในเครือข่าย Farmer Friends Network สนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืนตลอด 8 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันนับเป็น 70% ของวัตถุดิบที่ใช้ นอกจากนี้ โรงแรมยังมีโครงการ Sivatel Sustainable Market เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการนำผลิตภัณฑ์งานฝีมือและอาหารท้องถิ่นมาจำหน่ายภายในโรงแรม

อีกหนึ่งโครงการคือ From Kitchen to Chicken ลดขยะอาหาร โดยนำเศษอาหารจากครัวไปผลิตเป็นอาหารเลี้ยงหนอนดำ ต่อยอดเป็นโปรตีนเลี้ยงไก่ในฟาร์มท้องถิ่นที่เป็นซัพพลายเออร์เนื้อไก่ให้โรงแรมด้วยเป้าหมายให้ขยะโรงแรมสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยูนิฟอร์มของพนักงานยังผลิตโดยแบรนด์แฟชั่นไทยที่ยึดมั่นในความยั่งยืนและส่งเสริมช่างฝีมือไทย

สังเกตุได้ว่า เมืองที่ได้รางวัลการท่องเที่ยวสีเขียวเหล่านี้ ไม่ได้เพียงแต่มีนโยบายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว แต่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้วิถีชีวิตของคนในเมืองสีเขียวขึ้นไปพร้อมกันนั่นเอง 

สิ้นปีนี้ และตลอดปีหน้า ชวนทุกคนมาเป็นนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและชุมชน เพื่อให้การเดินทางของเราสร้างความสุขทั้งตัวเราเองและโลกใบนี้

ไปเที่ยวแล้วก็อย่าลืมแชร์กันนะ ว่ามีที่เที่ยวสีเขียวที่ไหนน่าไปบ้าง!

ที่มา

https://www.bbc.com/travel/article/20240109-10-destinations-welcoming-sustainable-travellers-in-2024

https://news.booking.com/cost-vs-conscience-bookingcom-delves-into-the-dilemma-dividing-sustainable-travel-in-2023

https://www.gds.earth/destination/helsinki/2024

https://blueandgreentomorrow.com/news/countries-that-have-banned-single-use-plastic/

Credit

Environman

Environman คือหนึ่งในสื่อออนไลน์ที่นำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคืออยากทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ไม่เฉพาะการเป็นสังคมออนไลน์ที่แข็งแกร่ง แต่หวังให้ความรู้นำไปสู่การลงมือทำเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้จริง

Related posts

KBank ชวนธุรกิจอาหารปรับตัวอย่างไร ในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การลด Food Waste

ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมและแรงกดดันจากกฎระเบียบโลก KBank ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรสำคัญเพื่อช่วยธุรกิจอาหารเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

Hug Organic ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของคนไทยที่ดีต่อกาย ดีต่อใจ ใช่ต่อโลก

“เราอยากเป็นสื่อกลางของความรักที่ทุกคนมอบให้กันผ่านผลิตภัณฑ์ฮัก ออร์แกนิก”

‘RECYCLE DAY Thailand’ แพลตฟอร์มที่เชื่อว่าการแยกขยะต้องง่ายและทำได้ทุกวัน

เห็นด้วยกับพวกเขาไหมว่า ต้นทางแยกขยะดีเท่าไหร่ กลางทางและปลายทางก็ง่ายมากขึ้นเท่านั้น?

พา ‘ต้นไม้ของเรา’ สู่ตลาด เพิ่มช่องทางซื้อ – ขาย สร้างรายได้แก่เกษตรกร

อีกหนึ่งโครงการส่งเสริมอาชีพ และคืนความสมบูรณ์ให้ป่าของชุมชน อ.สันติสุข จ.น่าน

จากมือชาวเล ถึงจานชาวกรุง ผ่านตัวเชื่อมสัมพันธ์อย่าง ‘บริษัทปลาออร์แกนิก’

ร้านปลาออแกร์นิก จำหน่ายอาหารสดๆ จากทะเล โดยชาวประมงพื้นบ้านทั่วไทย ที่ได้มาด้วยวิถี ‘รักษ์’ ธรรมชาติ และ ‘รัก’ ผู้บริโภคด้วย