เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ด้วยคนคนเดียวไม่ได้ แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทั่วโลกจนทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสะดวกสบายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแลกมากับทรัพยากรบนโลกที่กำลังจะหมด อุณหภูมิโลกที่ไต่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และจุดวิกฤติที่อาจจะรุนแรงจนกู่ไม่กลับในปัจจุบัน
นอกเหนือจากพลังของคนตัวเล็ก ๆ ที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อโลกแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการขยับของคนตัวใหญ่อย่าง ‘ภาคเอกชน’ ที่จะช่วยส่งเสริมให้การใช้ชีวิต กิน-อยู่-ใช้ ของผู้บริโภคนั้นเป็นมิตรกับโลกได้มากขึ้น
เมื่อ 25 มีนาคมที่ผ่านมา SC Asset ได้เปิดบ้าน ชวนเราไปดูความคืบหน้าภารกิจลดก๊าซเรือนกระจก 100,000 ตันคาร์บอน ภายในปี 2030 ในงาน SC Asset presents SCero Together ซึ่ง SC Asset หนึ่งในผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อสังหาริมทรัพย์เองได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะการชูแนวทาง “Sustainable Living” หรือ ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนในทุกกระบวนการก่อสร้าง ตั้งแต่การออกแบบ การจัดซื้อ ไปจนถึงการอยู่อาศัย
#SCeroMission เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 100,000 ตันคาร์บอน ภายในปี 2030
ในปัจจุบัน SC Asset มีการตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ให้ได้ 100,000 ตันคาร์บอนภายในปี 2030 และในปีนี้ มุ่งมั่นว่าจะลดให้ได้ 13,000 ตันคาร์บอน และขยับไปที่ 40,000 ตันคาร์บอนภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยในตอนนี้ สามารถลดการปล่อย GHG ไปได้แล้วกว่า 26,000 ตันคาร์บอน
ซึ่งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ SC Asset ไม่ได้มุ่งทำเพียงขาใดขาหนึ่ง แต่เริ่มเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ภาคส่วนของธุรกิจ ซึ่ง SC Asset ในปัจจุบันประกอบไปด้วย 2 ขาธุรกิจ คือธุรกิจบ้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอาคารคลังสินค้า-โรงงาน ซึ่งในสองขาธุรกิจนี้ก็มีการเริ่มขยับนโยบายต่าง ๆ ผ่านการออกแบบอาคาร การใช้วัสดุรักษ์โลก การใช้นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การติดตั้ง solar roof ในอาคารสำนักงาน, บ้านตัวอย่าง และการแยกขยะอย่างมีระบบ ไปจนถึงการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ โดยนำวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้างกลับมารีไซเคิล ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งขยะรีไซเคิลกลับสู่ระบบการผลิตแล้วกว่า 86,000 กิโลกรัม

กลยุทธ์ 3 green สู่เป้าหมาย SCero Mission
สิ่งหนึ่งที่คุณณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘คุณพงศ์’ ของพนักงานทุก ๆ คนเล่าให้ฟังในงาน SC Asset presents SCero Together คือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 100,000 ตันคาร์บอนนั้นจะถูกขับเคลื่อนไปด้วยกลยุทธ์ 3 green ได้แก่ green-well standard, green DNA และ green collaboration
green-well standard นั้นจะต้องทำให้มีมาตรฐานดีต่อโลกและดีต่อคนในทุกมิติ โดยครอบคลุมทั้ง 3 มิติ คือ eco-friendly การใช้วัสดุและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, energy efficiency การพัฒนาอสังหาฯ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, และ healthy living การออกแบบและเลือกใช้วัสดุเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้คน
green DNA คือการปลูกฝังให้เรื่องของความยั่งยืน รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นส่วนหนึ่งใน DNA ของพนักงาน SC Asset จนทำให้เกิดความตระหนักรู้และลงมือทำได้อย่างเข้าใจจริง
green collaboration การร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในทุกขั้นตอนกว่าที่จะมาเป็นอสังหาฯ ของ SC Asset ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การออกแบบ การจัดซื้อ การก่อสร้าง ไปจนถึงการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ โดยระบุว่า มูลค่าการจัดซื้อภายในอีก 5 ปีนี้ มากกว่า 95% จะต้องมาจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ว่าด้วยเทรนด์ green collaboration กรีนไปด้วยกัน กรีนไปได้ไกลในโลกธุรกิจ
หากต้องตอบคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมควรเริ่มแก้จากที่ใด ตัวเอง ภาครัฐ ภาคเอกชน?” เชื่อว่าคำถามนี้ก็คงจะทำให้คิดหนักหรือตายไมค์กันไปบ้างแน่นอน ไม่ใช่เพราะเราจะบอกว่าแต่ละคนไม่ลงมือทำ เพียงแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันมีอยู่เยอะมากและมีอยู่ในทุกส่วนกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ เราเลยต้องให้ทุกคนมาช่วยกันลงมือทำในส่วนที่ตัวเองถนัดกันยังไงล่ะ!
สำหรับโลกของภาคเอกชนก็เช่นกัน หากพูดถึงความรับผิดชอบแต่สิ่งแวดล้อมและสังคมขององค์กรต่าง ๆ แม้จะเป็นธุรกิจใหญ่แค่ไหน แต่ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาทุกเรื่องได้ด้วยตัวเองแน่นอน การจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีเป้าหมายใก้เคียงและร่วมมือช่วยเติมเต็มกัน จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เราคิดว่าควรมีให้เห็นมากขึ้นในโลกธุรกิจ แล้วมันก็ดูจะเป็น win-win situation ที่ต่างคนต่างจะได้ใช้ความถนัดส่วนตัวและบรรลุเป้าหมายของตัวเองด้วย
อย่าง SC Asset ล่าสุดได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรกว่าร้อยรายในการขับเคลื่อน SCero Mission ซึ่งมาช่วยกันเติมเต็มความเป็น green-well standard ทั้งในมิติ eco-friendly การใช้วัสดุและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, energy efficiency การพัฒนาอสังหาฯ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, และ healthy living การออกแบบและเลือกใช้วัสดุเพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้คน





ในวันที่โลกเปลี่ยน ธุรกิจจะปรับและรับมืออย่างไร?
วงเสวนา “Game Changers green Transitions พลิกโฉมธุรกิจ อสังหาฯ และอุตสาหกรรม สู่อนาคตไร้คาร์บอน” ในงานนี้ได้ชวนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนจากภาคการเงินมาร่วมวงคุยกันแบบสบาย ๆ แต่ได้ความรู้ไปเต็มอิ่มและเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ตั้งหลักรับมือกันได้อย่างง่ายขึ้น
ท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง เราจะเห็นได้ว่าทั้งในประเทศไทยหรือทั่วโลกเริ่มมีการใช้มาตรการทางกฎหมายและด้านการเงินเข้ามาเป็นกลไกบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คุณบุญรอด เยาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการบริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด อธิบายถึงสิ่งเหล่านี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ผู้คนควรปรับมุมมองคือ ‘ความยั่งยืนควรเป็นเรื่องของทุกส่วนและอยู่ในทุกอาชีพ’ เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับมาตรฐานที่โลกกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการรักษ์โลก การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในแต่อีกทางหนึ่งสิ่งนี้คือภาพกำไร ขาดทุน ที่จะกระทบกับธุรกิจของเราด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ นายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ตัวแทนจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ถึง CBAM กลไกภาษีคาร์บอนของสหภาพยุโรปที่เก็บจากผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนเข้มข้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปสหภาพยุโรปของผู้ประกอบการทั่วโลกแน่นอน ซึ่งแปลว่าในอนาคตธุรกิจต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจะต้องเก็บข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจตัวเองให้เป็นมาตรฐานเพื่อให้สามารถชี้แจงได้และถูกตรวจสอบได้ ป้องกันการถูกตัดโอกาสในเชิงธุรกิจและเสี่ยงต่อการเสียค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นจากมาตรการด้านการปล่อยคาร์บอน
โดย ดร. วิชัย ณรงค์วณิชย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ตัวแทนในส่วนภาคการเงินก็ยังแนะนำไปในแนวทางเดียวกันว่าผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือในการเก็บข้อมูลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของธุรกิจตนเอง และในปัจจุบันยังมีบริการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถคำนวณข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ต้องส่งเสียงให้เสียงถึงผู้บริโภค
ก่อนจะจบวงสนทนากันไป คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ได้ขมวดปมทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สิ่งหนึ่งที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ไวและเป็นวงกว้างมากขึ้นคือการที่ผู้ประกอบการทั้งหลายร่วมมือกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นและส่งเสียงนั้นออกมาถึงผู้บริโภค เพื่อให้พวกเขารู้ว่าต้นทางเริ่มขยับแล้ว มีองค์กรต่าง ๆ ที่พร้อมจะลงมือเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
เช่นเดียวกับคำพูดที่เราพูดไปต้นตอนว่า ‘ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ด้วยคน ๆ เดียวไม่ได้’ เพราะฉะนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงเราเองในฐานะผู้บริโภคด้วยเช่นกัน เพื่อให้ ‘green collaboration’ การร่วมมือกันรับผิดชอบต่อโลกนั้นเกิดขึ้นได้จริงและเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนระยะยาว