การซื้อของชุมชนท้องถิ่น ของใกล้ตัวที่เรามองข้าม อาจช่วยโลกได้มากกว่าที่คิด

ยิ่งซื้อของในชุมชนท้องถิ่น ยิ่งมีส่วนในการลดมลพิษที่เกิดจากการขนส่ง ช่วยโลกทางอ้อม และยังสามารถพัฒนาชุมชนได้ในทางตรงด้วย

ถ้าจะต้องไปซื้ออาหารหรือวัตถุดิบสักอย่าง 

สบู่ แชมพูสระผม หรือเสื้อสักตัว

คุณจะนึกถึงที่ไหนเป็นที่แรก ?

ห้างร้านต่างๆ อาจจะเป็นสถานที่แรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวของเรา หากว่าเราต้องการจะซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง แน่นอนว่านั่นเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคนและไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร เพราะมันเป็นศูนย์รวมสินค้าที่ครบครันและเข้าถึงได้ง่าย แถมยังมีให้เลือกหลากหลายอีกต่างหาก

ทว่ายังมีอีกหนึ่งทางเลือกดีๆ ที่นอกจากคุณจะได้ของที่ต้องการแล้ว ยังสามารถช่วยโลกได้อีกด้วย 

การอุดหนุนสินค้าใน ‘ชุมชน’ แถวบ้านของคุณนั่นเอง !

เพราะโดยปกติแล้วสินค้าที่วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้า ส่วนมากมาจากโรงงานหรือแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทำการผลิตสินค้าคราวละเยอะๆ เพื่อส่งให้ร้านค้าปลีกทั่วประเทศหรือนอกประเทศ เมื่อต้องผลิตเยอะก็ต้องใช้ทรัพยากรตามกำลังการผลิต ทั้งยังมีมลพิษจากการผลิตสินค้านั้นๆ 

แม้กระทั่งสินค้าการเกษตรอย่างผักหลากชนิด ปศุสัตว์มากสายพันธุ์ หากต้องปลูกหรือเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ก็มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม จากการใช้ทรัพยากรน้ำสะอาดหลักล้านลิตรหรือล้านคิว ไปถึงการป้องกันแมลงด้วยสารเคมีด้วยเช่นเดียวกัน

แต่ ‘ตลาด’ แถวบ้านก็ใช่ว่าจะไม่มีซะหน่อย

แน่นอนสินค้าจากอุตสาหกรรมทั้งหลายแหล่ได้แทรกซึมเข้าไปแทบทุกหน่วยธุรกิจแล้ว ขนาดตลาดใกล้ๆ บ้านของเราไม่ว่าจะในเมืองหรือนอกเมือง ก็มีสินค้าจากแหล่งผลิตขนาดใหญ่ทั้งของไทยและต่างประเทศปนอยู่ด้วย อย่างเช่นผักสวยๆ บนแผง เนื้อหมูสีแดงสดบนเขียง

ฉะนั้นแล้วการอุดหนุนสินค้าในชุมชนแถวบ้าน หมายความถึงสินค้าที่มาจากชาวบ้านในชุมชนจริงๆ เช่น ผักในสวนที่ชาวบ้านปลูกกันเอง ผักตามฤดูกาล เสื้อผ้าข้าวของจากสมาคมผู้สูงอายุ หรือวิสาหกิจชุมชนที่ใช้วัตถุดิบเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน การเป็นฐานการผลิตขนาดย่อมๆ ทำให้ปล่อยมลภาวะและสร้างขยะน้อยกว่าระดับอุตสาหกรรม

นอกจากจะไม่ใช่อุตสาหกรรมมหึมาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล ผลิตภัณฑ์จากชุมชนโดยมาก มักจะเป็นของออแกนิกที่มาจากธรรมชาติอยู่แล้ว คนซื้อก็สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าเหล่านั้น จะไม่มีสารสังเคราะห์ที่อันตรายมาปนเปื้อน 

เพียงแค่เราหันมาอุดหนุนสินค้าจากชุมชนกันมากขึ้น ก็สามารถลดกำลังการผลิตจากอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ยิ่งซื้อของในชุมชนท้องถิ่น ยิ่งมีส่วนในการลดมลพิษที่เกิดจากการขนส่ง ผลพลอยได้อย่างอื่น นอกจากการสร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นทุนไปพัฒนาต่อ ยังสามารถกระชับความสัมพันธ์ของคนในระแวกให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ด้วยการร่วมแรงช่วยกันสินค้านั่นเอง

ยิ่งไปกว่าการช่วยโลกทางอ้อมแล้ว ยังสามารถพัฒนาชุมชนได้ในทางตรงด้วย

อ้างอิง

https://www.greenbusinessbenchmark.com/archive/buying-local-goods-pros-cons

https://www.lgcet.com/blog/the-environmental-benefits-of-shopping-locally

https://uwaterloo.ca/food-services/blog/post/how-can-buying-locally-benefit-environment

Credit

Related posts

วังการี มาไท สตรีเคนยาผู้ผลักดันให้ผู้หญิงสร้างพื้นที่สีเขียวให้โลกและตัวเอง

จากเป้าหมายต้นไม้ 30 ล้านต้นในเคนยา สู่ชีวิตที่อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรม

Rare Finds Bookstore and Cafe ร้านหนังสือผสมคาเฟ่ในเชียงใหม่ที่อบอวลด้วยกลิ่นกาแฟ-หนังสือ-ของสะสม และเป็นพื้นที่กลางที่ให้คนมาพบกัน

บรรยากาศร้านสุดโฮมมี่ที่เต็มไปด้วยของคัดจากใจ และเป็นพื้นที่สบายๆ ให้ผู้คนที่แวะเวียนมา

‘อะไรอยู่ในท้องเต่า’ เพจที่ใช้ขยะมาเล่าเรื่องของเต่าและปัญหาในท้องทะเล

ของเหล่านี้มนุษย์เป็นคนใช้ แต่ใยไปจบอยู่ในท้องเต่า

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า