สิ่งแวดล้อม กับ Slow Fashion แค่ยืดอายุผ้า ก็ยืดเวลาโลก

เมื่อการซื้อเร็วตามเทรนด์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การซื้อช้า ใช้ซ้ำ ควรเป็นทางออกใหม่

คุณเป็นคนหนึ่งที่จะไม่ยอมให้บนหน้าไอจีของคุณมีรูปที่ใส่เสื้อผ้าซ้ำกันรึป่าว ?

ถ้าเป็นแบบนั้น คุณอาจจะเผลอสนับสนุน Fast Fashion ทางอ้อมอยู่ก็ได้…

ค่านิยมการใส่เสื้อผ้าไม่ซ้ำ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายโลก  ด้วยการ Overconsumption หรือ การบริโภคมากเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักให้วงการอุตสาหกรรมเติบโตเป็น (Ultra)Fast Fashion ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันเทรนด์ ขั้วตรงข้ามอย่าง Slow Fashion ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแก้เกมส์ทำลายโลกของฝั่งแฟชั่นสายฟ้าฟาดนั้นด้วย 

“ปัญหาเดิมๆของ Fast Fashion “

Fast Fashion มากับค่านิยมการใส่เสื้อผ้าใหม่ไม่ซ้ำ #ไม่มีไม่ได้แล้ว #เทรนด์ใหม่เดือนนี้ #ไปเที่ยวเอฟชุดเพิ่มดีกว่า จนอาจทำให้เราแก้ปัญหาผิดโจทย์ และบานปลายเป็นภัยร้ายทำลายโลก

“เสื้อตัวนี้อีกแล้วหรอ”

ประโยคสะท้อนค่านิยม การไม่ใส่ชุดซ้ำๆ ที่ปลูกฝังพฤติกรรมให้คนในสังคม ไม่อยากจะใส่เสื้อตัวเดิมบ่อยๆ และแก้ปัญหาด้วยการซื้อเสื้อผ้าใหม่อยู่เสมอ 

มันจึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้วงการแฟชั่นจะต้องออกคอลเลกชั่นเสื้อผ้าใหม่ๆ ในราคาถูก เดือนละครั้งหรืออย่างหนักก็สัปดาห์ละครั้งเสียด้วยซ้ำ และมีการผลิตเป็นปริมาณมากในทุกคอลเลกชั่น แน่นอนว่าอุตสาหกรรมนี้ ผลาญทรัพยากรธรรมชาติไปไม่น้อยเลย เพราะมันปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 10% จากทั่วโลก แถมยังใช้น้ำมากเป็นอันดับ 2 เลยทีเดียว

เริ่มตั้งแต่การผลิตผ้า ทั้งผ้าใยสังเคราะห์ที่ต้องใช้น้ำและเคมีในกระบวนการผลิต อย่างโพลีเอสเตอร์ที่มีสารตั้งต้นเป็นน้ำมัน เมื่อคิดจากกระบวนการผลิตทั้งหมดแล้ว เสื้อยืดเพียงหนึ่งตัวปล่อยคาร์บอนถึง 5.5 กิโลกรัมเลยทีเดียว หรือแม้แต่ ’ฝ้าย’ ที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ เมื่อผลิตมากเกินไปก็ทำร้ายโลกไม่ต่างจากการจากโพลีเอสเตอร์เลย เพราะใช้น้ำปริมาณมากในการปลูกฝ้าย แถมยังมีการใช้ยาฆ่าแมลงอีก

นอกจากนั้นแล้วโรงงานผลิตเสื้อผ้าก็ต่างสร้างมลพิษทางน้ำด้วยกันทั้งนั้น ด้วยการปล่อยน้ำเสียที่ถูกเจือปนด้วยโลหะหนักกรดคาร์บอลิก และสารเคมีชนิดอื่นๆ จากกระบวนการผลิต รวมไปถึงพวกไมโครไฟเบอร์ทั้งจากการผลิตและการซักผ้า ที่แม้จะมองไม่เห็นแต่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหลายชนิดในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่ามันไหลลงสู่ทะเล เพราะมันอาจใช้เวลาเป็นร้อยปีเพื่อย่อยสลาย

“ใช้แบบ Slow คุณภาพยืนยาว โลกยั่งยืน”

คงไม่น่าโกรธหากมันถูกนำไปใช้ให้คุ้มกับทรัพยากรที่เสียไป แต่เพราะคุณภาพผ้าแบบFast Fashion ไม่ได้เอื้อให้ใช้ได้ยืนยาว หรือบางตัวก็ไม่ถูกขายออกไปด้วยซ้ำ และหลายครั้งมันก็ลงเอยเป็นขยะที่ไม่นิยมไปรีไซเคิล เลยถูกทิ้งอยู่ในกองภูเขาขยะเสื้อผ้าแทน

กลายเป็นว่าแฟร์ต่อคนซื้อ ดีต่อคนขาย ส่วนสิ่งแวดล้อมกลับตายลงตามความรวดเร็วของแฟชั่น

เพราะความเร็ว ร้าย ทะลุโลกร้อนของมัน จึงทำให้มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยและเริ่มต่อต้านสิ่งนี้ด้วยแนวคิดตรงกันข้ามที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว 

Slow Fashion เข้ามาแก้เกมส์ Fast Fashion โดยใจความสำคัญของมันก็คือ ‘ใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่ให้ได้นานที่สุด’ เรียกได้ว่า หากมันไม่พังจนซ่อมไม่ได้จึงจะซื้อใหม่ แต่ก็มีรายละเอียดยิบย่อย อย่างการเลือกซื้อเสื้อผ้าในแหล่งที่เรามั่นใจว่ามันจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ที่มาของเส้นใยผ้า แหล่งที่ผลิต และสิ่งคำคัญคือความคงทน

“Checklist ใช้ให้คุ้ม”

ใครอยากจะก้าวเข้าสู่ความเป็น Slow Fashion อย่างเต็มตัวก็ลองทำตามเช็คลิสต์นี้ได้

– ทำความรู้จักกับชนิดผ้าต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจการใช้งาน และที่มาของผ้าแต่ละชนิด

– ดูรายละเอียดการตัดเย็บของเสื้อผ้า ว่ามีความแข็งแรงและทนทาน

– พยายามถนอมเสื้อผ้าด้วยการซักและดูแลอย่างถูกวิธี

– ลองช่อมเสื้อที่ชำรุดก่อนทิ้ง

– สนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมใหญ่ ที่มีการผลิตจบในชุมชน

การทำตามเช็คลิสต์ให้ครบทุกข้อก็คงไม่ไหว เพราะราคาเสื้อผ้าคุณภาพดีก็มีราคาสูง ยิ่งเฉพาะกับของแฮนด์เมด แต่ก็มีทางเลือกอื่นอย่างเช่น การซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือการเช่าชุดเพื่อถ่ายรูปแต่กถ้าจะให้ดีที่สุด คือ เราไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ แต่ใช้เสื้อผ้าในตู้ที่เรามีอยู่มามิกซ์แอนด์แมชท์เป็นชุดที่ไม่ซ้ำกันได้ เมื่อไม่มีคนสนับสนุนด้วยการซื้อ ก็ไม่มีคนทำออกมาขาย ซึ่งจะส่งผลปริมาณการผลิตลดลงไปเอง 

หรือในอีกทางการที่เราแสดงจุดยืนว่าเราไม่สนับสนุนการผลิตเสื้อผ้าแบบนี้ และร่วมกันส่งเสียงนี้ไปให้ถึงเหล่าผู้ผลิต อาจจะทำให้พวกเขาเปลี่ยนวิธีการผลิตไปในรูปแบบที่ดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

และสิ่งสำคัญคือเราต้องเปลี่ยนค่านิยมและมุมมองสำหรับการใส่เสื้อผ้าซ้ำไปมา ว่ามันไม่ใช่ความเชยหรือความล้าสมัยอีกต่อไป เพราะในตอนนี้คนที่ไม่รักษาสิ่งแวดล้อมต่างหาก ที่จะกลายเป็นคนที่ตกเทรนด์ 

แค่ยืดอายุผ้า ก็ยืดเวลาโลก

อ้างอิง

https://www.fairplanet.org/story/how-the-fashion-industry-pollutes-our-water

https://www.greenpeace.org/thailand/story/10127/plastic-slow-fashion/

https://www.theguardian.com/fashion/2019/aug/01/slow-fashion-how-to-keep-your-favourite-clothes-for-ever-from-laundering-to-moth-proofing

Credit

Related posts

โลกจะเป็นอย่างไรในอีก 30 ปี หากเรายังนิ่งเฉย

โลกนั้นกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบนิเวศที่สำคัญของโลกพังทลายลงจนไม่สามารถค้ำจุนชีวิต

Wastic Thailand – แบรนด์แว่นกันแดดไทยที่อยากให้คนหลงรักในดีไซน์ไปพร้อม ๆ กับรักษ์โลก

จุดเริ่มต้น เป้าหมาย และการเติบโต ของแบรนด์แว่นกันแดดไทยที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล

จากแพขยะ สู่ บ้านพลาสติกของสิ่งมีชีวิตในกองขยะขนาดใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อสัตว์น้ำใช้แพขยะเป็นที่อยู่อาศัย อาจทำให้กลายพันธุ์รุกรานต่อระบบนิเวศใกล้เคียง

สโลว์ไลฟ์ : ให้ธรรมชาติช่วยให้ชีวิตคุณช้าลง

ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เร่งรีบ พื้นที่สีเขียวจะช่วยให้คุณมีเวลาที่สมดุลมากขึ้น