สิ่งแวดล้อมกับ “เห็ดเผาะ” ที่ไม่ได้เกิดแค่ในป่า : บริโภคเห็ดเผาะอย่างไรให้ยั่งยืนทั้งป่าและคน

“เผาป่าหาเห็ด” คงไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้อง เพราะเจตนาของคนที่เข้าไปหาเห็ดไม่ใช่การตั้งใจเผาป่า แต่คือการเผาใบไม้เพื่อช่วยให้มองเห็นเห็ดได้ง่ายขึ้น ทว่า การเผาเพียงเล็กน้อยทำให้บานปลายกลายเป็นไฟไหม้ป่าได้

เมื่อต้นฤดูฝนวนมาก็นับว่าเป็นสัญญาณแห่งการกลับมาของเห็ดแสนอร่อยที่มีชื่อว่า “เห็ดเผาะ” เห็ดเม็ดกลมขนาดเล็ก เนื้อสัมผัสกรุบกรอบ อร่อยจนใครหลายคนติดใจ แต่ใช่ว่าจะหามากินกันได้ง่าย ๆ เพราะเจ้าเห็ดเผาะมักจะอยู่ในดินใต้ตามโคนต้นไม้ใหญ่ในป่า ซึ่งพบได้ในป่าทุกภาคของประเทศไทย แต่จะพบได้มากในภาคเหนือและภาคอีสาน

ความเป็นที่นิยมกลายเป็นสิ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น เพราะมันมีมูลค่าสูงและไม่ใช่ว่าใครต่อใครจะสามารถเข้าป่าไปขุดหามาได้ ชาวบ้านบางกลุ่มใช้โอกาสนี้หาเห็ดเผาะจากในป่ามาขายเพื่อหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ด้วยความยากในการหานั้น หากจะต้องคุ้ยเขี่ยตามต้นไม้ทีละต้นอาจจะต้องเสียเวลาเป็นวัน ๆ แถมปริมาณที่ได้มาอาจจะไม่คุ้มกับแรงที่เสียไป ด้วยเหตุนี้เองบางคนจึงเลือกจะใช้ทางลัดอย่างการเผาใบไม้ เพื่อทำลายเศษใบไม้ผิวดิน ความสะดวกในการมองเห็นเห็ดเม็ดน้อย ๆ จนทำให้เกิดเหตุบานปลายกลายเป็นไฟไหม้ป่าได้

เมื่อดูจากสถิติของส่วนควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในปี พ.ศ.2566 พบว่ามีพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้ไปถึง 79,724.2 ไร่ จากการหาของป่า ทว่าตัวเลขอาจจะไม่ได้ทำให้เห็นภาพความเสียหายได้มากมายนัก เพราะนอกจากพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไป เรายังต้องสูญเสียความสมดุลของป่าไปด้วย ทั้งพันธุ์พืช แหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่ของสัตว์น้อยใหญ่ ที่ถูกทำลาย รวมไปถึงควันไฟที่ส่งผลกระทบไปกว้างและไกลเกินขอบเขตป่า

แต่… หากจะใช้คำว่า “เผาป่าหาเห็ด” คงไม่ใช่คำที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเจตนาของคนที่เข้าไปหาเห็ดคงไม่ใช่การตั้งใจเผาป่า เพียงแต่ว่าเห็ดเผาะที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน จะผุดขึ้นมาให้เห็นได้ง่ายหลังจากผ่านการเผาไปแล้ว และทำให้เก็บได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

#ทางที่สะดวกอาจไม่ใช่ทางเดียวกับทางที่ถูกต้อง

 การเผาหน้าดินอาจจะทำให้เห็นเห็ดได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่ถ้าหากถูกเผาหลายๆ ครั้ง เชื้อเห็ดที่อยู่ใต้ดินบริเวณนั้นจะถูกทำลายไปด้วยจนทำให้ในฤดูกาลหน้า ไม่มีเห็ดให้เก็บอีกต่อไป ยิ่งไปกว่าเชื้อเห็ดที่หายไป สรรพชีวิตอื่นๆ ในป่าก็อาจถูกทำลายไปด้วย

#แล้วจะต้องทำอย่างไรให้ยั่งยืน ?

 เพื่อแก้ปัญหาไฟไหม้จากการหาของป่า และสร้างแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนมากกว่าการเข้าไปหาเห็ดในป่าเป็นครั้งคราวให้ชาวบ้าน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงทำการเผยแพร่แนวทางการ “เพาะพันธุ์เห็ดเผาะ” ให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีวิธีการง่ายๆ ที่ใครก็สามารถทำได้เพียงแค่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเห็ดเผาะเสียก่อน

โดยธรรมชาติแล้วเส้นใยของเห็ดเผาะ จะอาศัยอยู่กับรากของต้นไม้ เพราะฉะนั้นแค่มีต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นในป่ายาง สวนหน้าบ้าน หรือแม้แต่กล้าไม้ที่กำลังจะเติบใหญ่ ที่ไหนก็สามารถเพาะเห็ดเผาะได้ทั้งนั้น  แค่เติมเชื้อเห็ดลงไปในดินรอบต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็รอรับผลผลิตได้เลย และยิ่งต้นไม้เติบโตได้ดี ปริมาณเห็ดก็จะดีตามไปด้วย เพราะต้นไม้จะเป็นเหมือนบ้าน ที่เห็ดเข้าไปพักพิงอาศัย

อย่างที่ในป่าอนุรักษ์มีเห็ดเผาะเป็นจำนวนมาก นั่นก็เพราะว่าสภาพแวดล้อมในป่า มีความอุดมสมบูรณ์ และเอื้ออำนวยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เลยทำให้เห็ดเผาะที่อาศัยอยู่กับต้นไม้ได้รับผลนั้นไปด้วย 

เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของเห็ดเผาะแล้ว เพียงแค่เราสร้างบ้านที่ดีไว้ให้กับเหล่าเห็ด เท่านี้ก็จะสามารถทำให้เราผลิตเห็ดเผาะด้วยตัวเองเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องรอเห็ดที่เกิดในป่าและไม่จำเป็นจะเข้าไปสุ่มหาในป่าอนุรักษ์เลย 

วิธีการเพาะพันธ์ุเห็ดเผาะนี้ ไม่เพียงแค่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย 

สามารถอ่านวิธีการเพาะพันธุ์เห็ดเผาะอย่างละเอียดได้ที่ เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช https://www.facebook.com/DNP1362/posts/pfbid0296yL5bikZBkwU1zRev3BkSNT6263jKpsWAzyDZG47fjFfGZ4te1GjPBo5tKt84vSl

Credit

Related posts

Yuru Camp อนิเมะที่ดูแล้วอยากเก็บกระเป๋าออกไปตั้งแคมป์

อนิเมะฮีลใจสายรักธรรมชาติ ที่ดูแล้วผ่อนคลายจนอยากเก็บกระเป๋าไปเข้าป่า

‘กาแฟเดอม้ง’ แบรนด์กาแฟรักษาป่า จากคนต้นน้ำในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ จ.น่าน

“เมล็ดกาแฟไทยที่คุณภาพดีที่สุด” ที่ส่งต่อความอร่อยและความรักและใส่ใจในธรรมชาติที่พวกเขาพึ่งพา

เสื้อผ้าชาวกะเหรี่ยงสวยจากธรรมชาติ เย็บด้วยกี่ ย้อมสีด้วยเปลือกไม้ ใช้ผ้าฝ้ายทุกผืน

เสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์สะท้อนวิถีชีวิตอันเป็นหนึ่งเดียวกับโลก ใช้วัตถุดิบและสีย้อมจากธรรมชาติ 100% รับประกันย่อยสลายได้เองทุกผืน

สโลว์ไลฟ์ : ให้ธรรมชาติช่วยให้ชีวิตคุณช้าลง

ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เร่งรีบ พื้นที่สีเขียวจะช่วยให้คุณมีเวลาที่สมดุลมากขึ้น