กรุงเทพฯ…เมืองเทพสร้าง
วลีดังที่ใครหลายคนน่าจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง และอาจจะเลื่องลือมากพอๆ กับชื่อเสียงในเรื่องของ ‘ปัญหารถติด’ และ ‘มลพิษทางอากาศ’ ที่ชาวกรุงต้องประสบกันเป็นกิจวัตรประจำวัน จนอาจจะทำให้นึกสงสัยว่า เทพสร้างเมืองนี้ไว้ยังไง ทำไมถึงมีแต่ปัญหา ?
หากจะบอกว่าเทพสร้างคงไม่ถูกต้องนัก
เพราะการวางผังเมืองแต่ต้น และทิศทางการพัฒนาของเมืองก็ไม่ได้เป็นไปดั่งใจเทพเสียเท่าไหร่
การพัฒนาเมืองที่ผิดแผนเทพ ต้นเหตุรถติด
ต้องเท้าความก่อนว่า ประเทศไทยเป็นเมืองการเกษตรมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ก็เป็นผลผลิตทางการเกษตรหรือของป่า ฉะนั้นแล้วนอกจากใจกลางเมืองกรุงแล้ว พื้นที่รอบนอกส่วนมากก็มักจะเป็นท้องไร่ท้องนา จนวันที่กรุงเทพฯ เริ่มเข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรม และเขตเมืองเองก็ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงเริ่มมีการขยับขยายพื้นที่ออกไปรอบนอกอย่างชานเมืองและปริมณฑล แต่แน่นอนว่าความเจริญยังคงมุ่งไปยังจุดศูนย์กลางอย่างตัวเมืองอยู่ เทพ(รัฐ) จึงทำการตัดถนนเส้นหลักเป็นการนำร่องกระจายความเจริญ รวมถึงการวางแผนแบบถนน เพื่อให้แต่ละเส้นมีความเชื่อมต่อกัน
ทว่า การสร้างถนนให้เชื่อมกับถนนหลัก ไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนมากนัก เพราะติดปัญหาด้านงบประมาณและการเวนคืนที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงทำการสร้างถนนเส้นเล็กๆ ที่เชื่อมกับถนนเส้นหลักด้วยตัวเอง เพื่อความสะดวกในการเดินทางและแบ่งที่ขาย ซึ่งการแบ่งพื้นที่ยิบย่อยเหล่านี้เอง สาเหตุที่ทำให้เกิด ‘ซอยตัน’ ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อไปไหนได้ ถนนในกรุงเทพฯ จึงเหมือนกับเขาวงกตที่มีถนนเส้นหลักเป็นทางออกเพียงเส้นเดียว เลยทำให้เกิดความแออัด เพราะปริมาณถนนรองรับจำนวนรถไม่ได้
ปัญหารถติด-ซอยตัน-ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงต่อกันทั้งหมด ในแง่ที่ว่า เมื่อเส้นทางสัญจร ไม่ได้เอื้อให้ระบบขนส่งสาธารณะได้ทำงาน และประชาชนไม่ได้เข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ง่ายนัก จึงต้องมีรถส่วนตัวเพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิต และรถทุกรูปแบบไม่ว่าจะรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือรถสาธารณะ ก็ต้องวนกลับไปใช้ถนนหนึ่งเดียวเส้นนั้น จนทำให้เกิดความแออัดและกลายเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างเรื่องรถติดนั่นเอง จากข้อมูลของ INREX กล่าวว่า ใน 1 ปี คนไทยจะต้องเสียเวลากับรถติดมากถึง 67 ชั่วโมงต่อปี หรือ ประมาณวันละ 11 นาทีเลยทีเดียว
วังวนมลพิษ…จากรถติดในเมืองกรุง
เมื่อผังเมืองไม่เอื้ออำนวย รถติดในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เทพไม่ได้ตั้งใจลิขิตไว้ เพราะผลพวงจากรถติดไม่ได้กระทบแค่กับวิถีชีวิตและการเดินทางของคนเมือง แต่กลับส่งผลไปถึงสิ่งแวดล้อม และวกกลับมาทำลายสุขภาพของเราได้อีกครั้ง ในรูปแบบของ PM 2.5 และฝุ่นควันอื่นๆ ที่เราสูดดมเข้าปอดกันอยู่ทุกวัน
เป็นที่รู้กันดีว่าในระหว่างที่รถวิ่ง หรือในตอนที่เครื่องยนต์กำลังติดอยู่นั้น ก็จะมีการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิง และปล่อยออกมาในรูปแบบของก๊าซ หรือ ‘ไอเสีย’ ถ้าไอเสียเหล่านี้มาจากรถสัก ร้อยสองร้อยคัน คงไม่ครณาฟ้าอากาศที่กว้างใหญ่ แต่สถิติจากกรมขนส่งทางบกชี้ว่า ในปัจจุบันนี้ยอดรถจดทะเบียนสะสมในกทม. มีประมาณ 12 ล้านคัน
หากลองคิดคร่าวๆว่า รถทั้งหมดออกมาโลดแล่นพร้อมกัน แล้วปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจก คันละ 1.17515 กิโลกรัมคาร์บอน (เฉลี่ยจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจักรยานยนต์ และรถเครื่องยนต์ดีเซล) ระยะทางเพียง 10 กิโลเมตร จะมีคาร์บอนถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศถึง 14,101,800 กิโลกรัมคาร์บอน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกๆ วัน และยังไม่รวมเวลาที่รถต้องติดแง็กอยู่เฉยๆ วันละ 11 นาทีด้วย
แล้วปัญหาก็วนกลับมาสู่ร่างกายเรา ในรูปแบบของอากาศที่เราใช้หายใจ โดย Thai PBS ได้เปรียบเปรยไว้ว่า ในปี 2566 ชาวกรุงสูดดม PM 2.5 เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่วันละ 1,370 มวนเลยทีเดียว
หรือถ้าจะไม่ใช้รถส่วนตัว แล้วหันมาใช้รถสาธารณะกันละ ?
นับว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้จริงไม่ง่ายเลย เราแทบทุกคนรู้ดีว่าหากไม่ใช่รถไฟฟ้า
ที่ราคาแพงแทบจะเท่าข้าวหนึ่งมื้อ การโดยสารด้วยขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นไม่ใช่เรื่องที่น่าภิรมย์นัก มันไม่เคยดึงดูดให้เรารู้สึกอยากใช้งานเลย ไม่ว่าจะด้วยความสบาย หรือความทั่้วถึง
โดยเฉพาะกับถนนเส้นเล็กเส้นน้อยตามเขตชานเมืองหรือถิ่นอาศัยของผู้คน ที่ไม่ได้มีความเชื่อมต่อกับถนนเส้นหลักโดยตรง และเป็นไปได้ยากมากที่จะมีขนส่งสาธารณะกระแสหลักอย่างรถไฟฟ้ามาอยู่ใกล้ๆ แบบที่เดินห้านาทีสิบนาทีแล้วถึงสถานีเลย
แม้ว่าบริการขนส่งสาธารณะกระแสหลัก จะเข้าไม่ถึงตรอกซอยต่างๆ ในชุมชน แต่ชาว
เมือง ก็มีตัวช่วยอย่าง รถ Feeder ที่เป็นเหมือนกับเส้นเลือดฝอย คอยแทรกซึมไปยังถนนเส้นเล็กเส้นน้อย แต่ทว่าก็เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนต้องแบกภาระไปอีกทอด หรือถ้าจะเลือกการเดินแทน ก็ต้องไปเล่นเกมส์เปิดแผ่นป้ายบนฟุธบาท ที่ไม่รู้ว่าจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่
นอกจากที่ประชาชนจะต้องแบกภาระค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ต้องแบกรับมลพิษไปด้วย เพราะมีรถ Feeder จำนวนไม่น้อย ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลซึ่งปล่อยมลพิษมาก แต่รัฐก็มีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ด้วยการเริ่มเปลี่ยนรถ Feeder บางส่วนให้เป็นในรูปแบบของไฟฟ้า แต่ยังคงเป็นส่วนน้อยในบรรดารถเส้นเลือดฝอยเหล่านั้น
การเพิ่มรถ Feeder เข้ามาในระบบขนส่งสาธารณะ ก็เพื่อให้มันช่วยกระจายคนไปในที่ ที่รถโดยสารกระแสหลักไปไม่ถึงเพราะติดซอยตัน ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดี ที่มันเข้ามาช่วยเสริมความสะดวกให้กับประชาชนได้ แต่ถ้าหากว่าต้นทางปัญหา อย่างผังเมืองผลงานเทพสร้างของเรา ถูกวางระบบมาเพื่อส่งเสริมการเดินทาง การจัดวางถนนมีความเชื่อมต่อกัน รัฐเองก็คงไม่ต้องเพิ่มรถสาธารณะยิบย่อย และชาวเมืองอาจจะไม่ต้องเสียเงินหลายต่อ หรือซื้อรถส่วนตัวมาใช้เลยก็เป็นได้
ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหน ผังเมืองก็ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น
แค่สิ่งแวดล้อมจริงหรือ ?
วัฏจักรมลพิษจากการจราจรในกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นจากการวางผังเมืองอย่างไม่เป็นแบบแผน ผลกระทบของมันไม่ได้เดินทางออกไปไหนไกล ทั้งหมดล้วนแล้วแต่จะวนกลับมาหาเรา ทั้งในเรื่องของวิถีชีวิต เวลาที่เสียไป กระทั่งสุขภาพ หรือแม้ว่าในวันนี้เราจะยังไม่เห็นถึงความร้ายกาจของผลกระทบต่างๆ แต่ในอนาคตสิ่งเหล่านั้น จะยิ่งฉายภาพชัดกว่าเดิมมาก เหมือนกับการวางผังเมืองในอดีตส่งผลกับเราในปัจจุบัน
กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองที่เทพสร้าง
แต่ในตอนนี้สิ่งที่เราต้องการ คงจะมีเพียงคนที่มี ‘ฝีมือระดับเทพ’ มายุติวังวนมลพิษแห่งนี้เสียที
อ้างอิง
(สถิติรถติด) https://inrix.com/scorecard-city-2022/?city=Bangkok&index=32#form-download-the-full-report
(งานวิจัย EPA) https://www.epa.gov/transportation-air-pollution-and-climate-change/carbon-pollution-transportation
(การปล่อยคาร์บอนของรถ 1 คัน) https://info.apexcircuit.com/?p=15923
(TPBS คนไทยสูบฝุ่นเท่าสูบบุหรี่) https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-12
(กรมการขนส่งทางบก) https://web.dlt.go.th/statistics/
(ต้นตอปัญหารถติด) https://www.salika.co/2018/12/10/truth-about-traffic-problem-in-bangkok/
(ทำไมกรุงเทพถึงมีซอยตันเยอะ) https://urbancreature.co/blind-alley/
(มหานครซอยตัน) https://theurbanis.com/insight/01/09/2020/2651
(กทม. ปลดล็อกเส้นทางใหม่ เปิดพิกัด BMA Feeder รถไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า บริการฟรี)
https://www.thansettakij.com/business/economy/594630
(กรมควบคุมมลพิษ ชี้ “รถเครื่องยนต์ดีเซล” สาเหตุหลัก PM2.5) https://www.thaipbs.or.th/news/content/298552