‘RECYCLE DAY Thailand’ แพลตฟอร์มที่เชื่อว่าการแยกขยะต้องง่ายและทำได้ทุกวัน

เห็นด้วยกับพวกเขาไหมว่า ต้นทางแยกขยะดีเท่าไหร่ กลางทางและปลายทางก็ง่ายมากขึ้นเท่านั้น?

หากมีแบบสอบถามหนึ่งถามคุณว่า “คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้กำจัดการขยะยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในประเทศไทย?” สำหรับคำถามนี้ เราเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงมีคำตอบที่เหมือนหรือต่างกันไปไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกในการแยกตั้งแต่ต้นทาง บรรจุภัณฑ์ไม่ชัดเจน กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวด ฯลฯ 

แต่ก่อนจะรีบสรุปคำตอบในแบบสอบถามนี้ ในวันนี้ เราอยากชวนทุกคนมาสำรวจคำตอบจาก ‘RECYCLE DAY Thailand’ ธุรกิจที่เป็นเพื่อนร่วมทางลงมือจัดการขยะไปด้วยกัน โดยพวกเขาเชื่อว่าหากต้นทางมีการแยกขยะได้ดีมากเท่าไหร่ การจัดการที่กลางทางและปลายทางก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น 

แต่ แต่ ก็จะยังมีคำถามสำคัญตามมาคือ 

“แล้วจะทำอย่างไรให้คนต้นทางอยากแยะขยะได้มากที่สุดล่ะ?”

นี่คือหนึ่งในจุดที่คุณชนัมภ์ ชวนิชย์ CEO & Co-Founder ของ Recycle Day Thailand หยิบมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มว่าด้วย “การทำให้เรื่องแยกและส่งต่อขยะนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด”

เหมือนกับชื่อ ‘Recycle Day’ ที่เขาหยิบมาตั้งเป็นชื่อธุรกิจโดยล้อกับโมเดลวันเก็บขยะในต่างประเทศที่มีกำหนดเป็นวัน ๆ ไป  แต่สำหรับ  ‘RECYCLE DAY Thailand’ ที่หยิบชื่อมาปรับใช้นั้น เพราะเขาอยากให้การแยกขยะนั้นเกิดขึ้นได้ทุกวันและให้ผู้คนสามารถส่งต่อวัสดุได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาอย่างครบวงจร

เอาล่ะ เชื่อว่าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยกันบ้างว่าแพลตฟอร์มนี้ทำงานยังไง จะช่วยให้การจัดการขยะที่บ้านเราง่ายขึ้นได้จริงรึเปล่า เราขอพาทุกคนไปรู้จักกับแพลตฟอร์ม ‘RECYCLE DAY Thailand’ กันได้ในบทความนี้เลย

เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดการขยะในไทย คุณชนัมภ์เล่าว่าก่อนหน้านี้ได้เคยมีประสบการณ์งานด้านนี้มาอยู่ก่อนแล้ว และสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือกระบวนการกลางทางและปลายทางในการจัดการขยะของไทยค่อนข้างมีความพร้อมอยู่ระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนให้มากขึ้นคือต้นทาง เพราะหากต้นทางไม่ได้แยกแล้ว การจะนำวัสดุเหล่านั้นไปจัดการต่อก็กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในการจะจัดการขยะต้นทางให้ดีคือ การไม่สะดวกไปส่งต่อหรือถ้าแยกแล้วก็ไม่รู้จะไปส่งต่อที่ไหนให้เขาจัดการได้ถูกต้อง 

จุดนี้จึงเกิดมาเป็นบริการจัดการขยะที่แทบจะครบวงจรบนแอพฯ Recycle Day

สิ่งที่ Recycle Day ให้ความสำคัญที่สุดคือการอำนวยความสะดวกให้คนอยากเข้าร่วมมากขึ้น แพลตฟอร์มนี้จึงตั้งใจรวบรวมบริการทั้งการเรียกรถไปรับตามสถานที่และการรวบรวมข้อมูลจุดดร็อปตามห้างสรรพสินค้าเอาไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งคนที่สะดวกที่บ้านและคนที่สะดวกวนมาดรอปตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ 

ซึ่งข้อดีของแอพฯ นี้ที่ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ จะได้รับคือการแลกรางวัลโดยใช้แต้มที่เราสะสมผ่านการหย่อนขยะแต่ละครั้ง 

หนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญของ Recycle Day คือการเป็นตัวกลางในการหาที่ทางไปต่อให้กับวัสดุแต่ละชนิด ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกกระจายไปสู่โรงงานแต่ละแห่งที่สามารถรีไซเคิลวัสดุเหล่านั้นได้อย่างถูกวิธี 

“สิ่งหนึ่งที่เราเจอบ่อยที่สุดคือพวกขยะจากเดลิเวอร์รี่ ไม่ว่าจะเป็นแก้วกาแฟ ช้อนส้อม หลอด” 

คุณชนัมภ์เล่าว่าขยะประเภทนี้คนส่งมาค่อนข้างเยอะ แต่ความโชคดีคือแต่ละคนที่นำมาส่งค่อนข้างมีความเข้าใจดี ล้างสะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนที่จะส่งมาส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

“สำหรับวัสดุแต่ละประเภท เราเชื่อว่าเราส่งต่อได้หมด หลายอันที่คิดว่าอาจจะจัดการไม่ได้แต่จริง ๆ มันก็ส่งต่อไปเผาเป็นเชื้อเพลิงได้ แต่ขอแค่แยกจากเศษอาหารและน้ำออกก่อนก็พอ”

Recycle Day เติบโตมาแล้วกว่า 7 ปี โดยใช้เวลาทั้งหมดค่อย ๆ พัฒนาแพลตฟอร์มของพวกเขาและขยายบริการให้ครอบคลุมเรื่องการจัดการขยะให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่า 7 ปี ก็ไม่ใช่เวลาน้อย ๆ เลยล่ะสำหรับงาน ๆ หนึ่ง ในฐานะคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน คำถามหนึ่งที่เราอดสงสัยไม่ได้เลยคือ.. 

“สิ่งที่ยากที่สุดตลอดการทำงานด้านนี้มา 7 ปีคืออะไร?” 

สิ่งที่คุณชนัมภ์ตอบคือ ‘การชวนให้คนมาเข้าร่วม’ ให้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเขาเล่าว่า กลุ่มเป้าหมายนี้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคร่าว ๆ คือ กลุ่มคนทั่วไปและกลุ่มองค์กร บริษัท ซึ่งสำหรับกลุ่มองค์กรนั้นตื่นตัวมากขึ้น ทั้งด้วยความสนใจและการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยั่งในธุรกิจ เพราะในแอพฯ จะมีการเก็บบันทึกข้อมูลการเข้าร่วมแต่ละครั้งไว้ องค์กรก็สามารถดึงรายงานตรงนี้ไปใช้ได้

แต่สำหรับกลุ่มบุคคลทั่วไป ก็จะเป็นแนวว่า คนที่สนใจก็สนใจเลย แต่คนที่ยังไม่สนใจก็ยังไม่เข้าร่วมเท่าไหร่ ตรงนี้เลยเป็นโจทย์ที่จะต้องทำยังไงให้เรื่องแยกขยะนั้นสนุกหรือน่าสนใจขึ้น Recycle Day จึงใช้วิธีการสะสมแต้มแลกรางวัลมาร่วมด้วยเพื่อกระตุ้นความสนใจให้คนอยากมาส่งต่อขยะกันมากขึ้นด้วย

บางเวลาก็เป็นนักออกแบบอีเวนต์ด้วย?

Recycle Day ไม่ได้เป็นแค่เพียงนักจัดการที่ช่วยส่งต่อวัสดุไปรีไซเคิล แต่ในอีกขาหนึ่งก็นับได้ว่าพวกเขาเป็น ‘นักออกแบบ’ ในอีเวนต์ต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางการแยกขยะในงานอีกด้วย  เช่น การจัดสัมมนา อีเวนต์กีฬา ไปจนถึงเฟสตัลดนตรี ซึ่งมีดีเทลยิบย่อยที่ต้องพูดคุยและออกแบบต่างกันไปในแต่ละงาน

“เราเริ่มเรื่องการเข้าไปช่วยจัดการขยะให้กับองค์กร อีเวนต์ต่าง ๆ เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีหลายหน่วยงานติดต่อมา ซึ่งเราก็มองว่ากิจกรรมไม่ว่าจะจัดที่ไหน มันก็เป็นการเพิ่มขยะให้พื้นที่นั้น ๆ ในตัวอยู่แล้ว พอมีอีเวนต์ก็เพิ่มขยะขึ้นมาหลายเท่า หลายที่ก็มองว่าอยากมีนโยบายที่รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะฉะนั้นก็เลยมองเรื่องของการจัดการขยะในงานกันมากขึ้น” คุณชนัมภ์เล่าถึงที่มาให้เห็นคร่าว ๆ

“ขั้นตอนการจัดการในอีเวนต์ก็ต้องเริ่มจากไปฟังความต้องการของเขาก่อนว่าตัวเขาอยากแยกแบบไหน และดูว่าภายในควรจะมีจุดทิ้งขยะ จุดถ่ายขยะยังไงบ้างเพื่อให้ครอบคลุม 

เวลาจะออกแบบงานแต่ละทีเราก็ต้องเซอร์เวย์ให้ชัดเจนว่ามีความต้องการอะไรบ้างอย่างคอนเสิร์ต งานอีเวนต์ก็ย่อมมีอาหารในงานแน่ ๆ ก็ต้องมีจุดแยกเศษอาหาร แยกน้ำเข้ามา เพื่อลดการปนเปื้อนสิ่งอื่น ๆ”

“ซึ่งความเปลี่ยนอย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือ ผู้จัดเขาเปลี่ยนชัด เราเห็นได้ว่าทุกคนมีเป้าหมายชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการทำอะไรและมีความรับผิดชอบจริง ๆ คนที่มาร่วมงานก็เข้าใจมากขึ้น เตรียมตัวมากขึ้น แม้จะยังไม่ 100% แต่เรื่องแบบนี้ก็ต้องใช้เวลากันไป”

แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจของ Recycle Day จะมีการพัฒนาและขยายบริการให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้คนหลากหลายกลุ่มมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาต้นทางในการจัดการขยะ แต่คุณชนัมภ์ก็มองว่าธุรกิจด้านความยั่งยืนนี้เป็นสิ่งที่จะเติบโตได้มากกว่านี้และกิจกรรมต่าง ๆ ก็มีโอกาสที่จะขยายไปได้มากขึ้น 

เพียงแต่โจทย์สำคัญที่เราทุกคนต้องเป็นคนช่วยกันตอบนั่นก็คือ ธุรกิจเหล่านี้จะขยายและเติบโตได้เร็วพอที่จะแก้ปัญหาสภาวะโลกรวนที่รุนแรงขึ้นยังกำลังจะกู่ไม่กลับหรือไม่ รวมถึงผู้บริโภคที่จะต้องให้ความร่วมมือและตระหนักถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย

Credit

Chayanit S.

Related posts

ให้เสียงจากธรรมชาติบำบัดใจ กับ นท-พนายางกูร

อัลบั้มใหม่ที่ว่าด้วยความเข้าใจชีวิต โดยมีธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจ

4 ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับหมาป่าที่เราอาจยังไม่รู้

เมื่อภาพจำของหมาป่าในวัยเด็กอาจทำให้เผลอเชื่อเรื่องเล่าว่าเป็นความจริงไปโดยไม่รู้ตัว

ปลูกต้นไม้ช่วยโลก? เพราะแค่ความตั้งใจดีอาจไม่เพียงพอ

ปลูกต้นไม้ไม่ได้ช่วยโลกเสมอไป แม้จะมีตั้งใจดี แต่อาจสร้างผลเสียกับป่า

แคดเมียม – สารเคมีอันตราย

สารโลหะหนักจำพวกเดียวกับปรอท ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม สังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม